รู้จัก “โพลาริส” น้ำดื่มขวดขุ่น 5 บาท ต้นกำเนิดน้ำดื่มติดแบรนด์ของไทย ที่หายจากตลาดไปนานนับ 10 ปี!

 TEXT : กองบรรณาธิการ



            

     ถ้าพูดถึงวิวัฒนาการน้ำดื่มบรรจุขวดของไทย ก่อนจะมาเป็นขวด PET ใสๆ อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ หลายคนคงพอรู้จักและเห็นหน้าค่าตากับน้ำขวดขุ่นราคา 5 บาท หรือที่ใครๆ ก็มักเรียกกันติดปากว่า “โพลาริส” เวลาสั่งซื้อก็มักจะเรียกว่า โพลาริสขวดหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วรู้ไหมว่าเจ้าขวดน้ำขวดขุ่นดังกล่าวนี้ เริ่มต้นมีการผลิตขึ้นมาในเมืองไทยครั้งแรกก็เมื่อ 64 ปีก่อน แถมยังเป็นต้นแบบน้ำดื่มบรรจุขวดของไทยที่ผลิตออกมาเป็นลักษณะแรกๆ ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าแบรนด์แรกที่ถือกำเนิดขึ้นนั้นคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก “Polaris” ที่ได้กลายมาเป็นชื่อเรียกน้ำดื่มขวดขุ่นของไทยเหมือนกับผงซักฟองที่มักเรียกกันว่า แฟ้บ, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เรียกกันว่า มาม่า มาจนทุกวันนี้นั่นเอง



 

ยี่ห้อแรกของไทย แต่ไม่ได้เริ่มจากคนไทย
 
               
       แต่รู้ไหมว่ากว่าจะติดตลาด กลายเป็นมาเป็นเจ้าตลาดน้ำดื่มในยุคนั้นได้ จนใครๆ ก็นำมาใช้เป็นชื่อเรียกผลิตภัณฑ์นั้น โพลาริส ไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นจากคนไทย
               

       ผู้ที่ให้กำเนิดและสร้างชื่อโพลาริสให้กลายมาเป็นที่รู้จักนั้น คือ Maxine Woodfield North” หรือที่ใครต่างเรียกว่า "แหม่มน๊อดท์" หญิงสาวชาวอเมริกันที่ได้เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2493
               

        โดยในสมัยนั้นที่น้ำท่ายังอุดมสมบูรณ์ น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ไม่เกิดน้ำเน่าเสีย หรือมลพิษทางน้ำอย่างทุกวันนี้ ชาวบ้าวส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ริมคลองก็มักจะใช้น้ำจากในลำคลองเพื่อชะล้างสิ่งต่างๆ น้ำดื่มก็เอามาจากน้ำฝนและน้ำประปากันทั้งนั้น จึงทำให้ไม่มีใครสนใจที่จะผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดออกมาขาย
               

       เมื่อเห็นโอกาสว่ายังไม่มีน้ำดื่มสะอาดบรรจุขวดขายในเมืองไทยเลย แหม่มน๊อดท์จึงได้คิดผลิตน้ำดื่มบริสุทธิ์ออกวางจำหน่ายและสร้างแบรนด์ขึ้นมาในชื่อว่า “Polaris” ซึ่งนำมาจากชื่อของดาวดวงหนึ่ง โดยถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 2500 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 แสนบาท และใช้ชื่อบริษัทว่า “ดาราเหนือ” โดยจัดตั้งเป็นโรงงานผลิตน้ำดื่มขึ้นมาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี แต่อย่างที่บอกว่าสภาพแวดล้อมในยุคนั้นยังคงบริสุทธิ์มีความเป็นธรรมชาติค่อนข้างสูง ทำให้ลูกค้ากลุ่มแรกๆ ที่นิยมซื้อไปดื่มก็คือชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานอยู่ในเมืองไทย ไปจนถึงบุคคลชั้นสูงต่างๆ



 

ประกาศสมัครสมาชิกนับพัน แต่ตอบกลับมาแค่คนเดียว!
 
               
        โดยช่วงแรกๆ ที่ทดลองทำตลาดกับผู้บริโภคชาวไทย แหม่มน๊อดท์เคยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เพื่อประกาศรับสมาชิกน้ำดื่ม ซึ่งในเวลานั้นมีสมาชิกผู้อ่านอยู่ราว 3,800คน แต่กลับมีผู้ตอบรับกลับมาแค่เพียง 3 คนเท่านั้น แถม 2 ใน 3 คนที่ส่งกลับมาก็ปฏิเสธ
               

       แต่ในที่สุดก็สามารถจัดตั้งธุรกิจ และดำเนินเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ จนกลายเป็นผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดแบรนด์แรกของไทยขึ้นมา จนใครๆ ก็ต่างพากันเรียกน้ำดื่มขวดขุ่นในยุคนั้นกันว่า โพลาริส ซึ่งแหม่มน๊อดท์เป็นผู้บริหารดำเนินการในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทคนเดียวมานานถึง 30 ปีด้วยกัน
               

        กระทั่งได้ “ฤธี อารีสรณ์” เข้ามาช่วยบริหารจัดการแทน โดยฤธี ก็ไม่ใช่คนไทยอีกเช่นกัน แต่เป็นคนฟิลิปปินส์ โดยนับเป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ 2 ของบริษัท ซึ่งก็ได้รับการทาบทามจากผู้บริหารของบริษัทให้เข้ามาช่วยดูแลอีกทีหนึ่ง
               

        โดยในยุคของฤธีนั้นได้นำพาแบรนด์น้ำดื่มโพลาริสและบริษัทดาราเหนือเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด รวมถึงมีการสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมากมาย เช่น การนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เปลี่ยนท้ายคำชื่อบริษัทเป็นมหาชนในที่สุด, การเปลี่ยนจากแบรนด์น้ำดื่มอย่างเดียวให้กลายมาเป็นผู้ผลิตน้ำโซดาจำหน่ายด้วย, การเพิ่มขนาดของสินค้าออกมาหลายไซส์ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของผู้บริโภคมากขึ้น ได้แก่ ขนาด 15 ลิตร, ขนาด 950 ซีซี ทั้งในขวดแก้วและขวดพลาสติก, ขนาด 500 ซีซี ทั้งขวดแก้วและขวดพลาสติกแบบวันเวย์ และขนาด 1,500 ซีซีแบบวันเวย์ ไปจนถึงการกระจายสินค้าออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้มากขึ้น



 

จากเบอร์ 1 สู่ผู้สูญหายจากตลาดนานนับ 10 กว่าปี
 
               
      การเติบโตของโพลาริสดำเนินมาถึงขีดสุด แต่เมื่อภายหลังได้เกิดปัญหาขึ้นภายในทั้งการเงิน การบริหาร อีกทั้งสงครามการแข่งขันก็ดูจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่เป็นบริษัทเครื่องดื่มอื่นๆ เริ่มเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ตลาดน้ำดื่ม แม้โพลาริสจะเคยเป็นเจ้าตลาดผู้มาก่อน เป็น Generic Name หรือชื่อแบรนด์ที่กลายมาเป็นชื่อเรียกแทนน้ำดื่มทั่วไปในท้องตลาด ความพยายามในออกออกผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายขึ้น เช่น โซดา น้ำผลไม้ เพื่อลดการเสียเปรียบ แต่เมื่อศึกเข้ามาจากหลายทิศทางในที่สุดโพลาริสก็ต้องปิดตัวลงออกจากตลาดนานนับสิบกว่าปี จนในที่สุดก็เริ่มกลับมาวางจำหน่ายในตลาดให้เห็นกันอีกครั้งเมื่อปลายปี 2558


       โดยผู้บริหารบริษัทดาราเหนือได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในช่วงที่กลับหวนคืนสู่ตลาดใหม่ๆ ว่า เป้าหมายจะไม่ได้มีแค่การผลิตน้ำดื่มเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะพยายามผลิตสินค้าออกมาตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ครบวงจรมากขึ้นด้วย เช่น น้ำหวาน กาแฟ นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ ฯลฯ โดยเริ่มต้นประเดิมด้วยน้ำหวาน Happy Boy ที่นำเข้าไปวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดก่อนเมื่อกลางปี 2559 แต่จนปัจจุบันเราก็ยังไม่ค่อยได้เห็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของบริษัทดาราเหนือออกมาสักเท่าไหร่นัก


        ในส่วนการกลับมาของแบรนด์น้ำดื่มโพลาริสมีการปรับปรุงในหลายจุดด้วยกัน ตั้งแต่ระบบการผลิตที่ทันสมัยขึ้น ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งโดยหันมาใช้เป็นขวด PET เพื่อช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง นอกจากนี้ยังมีการวางแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตในภูมิภาคต่างๆ เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า มีการปรับปรุงโรงงานเก่า และสร้างโรงงานใหม่ขึ้นมา


       สำหรับด้านการวางตลาดนั้น เริ่มมีการกระจายสินค้าสู่โมเดิร์นเทรดก่อน ตามด้วยร้านโชห่วย ร้านค้าชุมชนต่างๆ แน่นอนว่าไซส์แพ็กเกจจิ้งที่ทำออกมาก็มีหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเหมือนเช่นเดิม ตั้งแต่ขนาด 350 มิลลิลิตร, 600 มิลลิลิตร, 1,500 มิลลิลิตร และขนาด 6 ลิตร แถมยังมีแผนที่จะรุกช่องทางส่งตรงถึงหน้าบ้านด้วย ในเรื่องราคาก็เป็นอีกกลยุทธ์สำคัญที่โพลาริสคิดจะนำมาใช้เรียกพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดกลับคืนมาเช่นกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่แบรนด์อาจต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นมา เพื่อทำตลาดแข่งขันในยุคนี้ก็คือ การสร้างแบรนด์ และประชาสัมพันธ์ออกไปให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญกับการทำธุรกิจในทุกวันนี้ค่อนข้างมาก เพราะแบรนด์คู่แข่งต่างๆ ในท้องตลาดต่างก็ใช้กลยุทธ์การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ด้วยกันทั้งนั้น เพื่อช่วงชิงกลุ่มลูกค้าเข้ามาให้กับตัวเอง


       คงต้องจับตารอดูกันต่อไปสำหรับการกลับมาในครั้งนี้ของโพลาริส ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นต้นฉบับและเจ้าตลาดน้ำดื่มของเมืองไทยมาก่อน แต่ที่แน่ๆ สิ่งหนึ่งที่ยังอยู่และไม่เปลี่ยนไปไหน ก็คือ ไม่ว่าเห็นน้ำขวดขุ่นที่ไหน เราก็ยังคงจะเรียกว่า โพลาริส อยู่เสมอเหมือนเดิมนั่นเอง
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน