ทายาทรุ่น 4 โรงงานแป้ง 63 ปี พลิกทำแป้งกลูเตนฟรีสำหรับเบเกอรี่ รับเทรนด์ร้อน เพิ่มมูลค่าถึง 8 เท่า!

TEXT : กองบรรณาธิการ 
PHOTO : Sava Flour





      รู้ไหมว่าพลเมืองที่แพ้กลูเตนในโลกนี้มีจำนวนเท่าไร? คำตอบคือ สูงถึงประมาณ 600-700 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก นั่นคือโอกาสธุรกิจที่ทำให้ “พันธวุฒ กาญจนประภาส” ซึ่งเรียนจบมาทางด้านเทคโนโลยีอาหาร (Food Technology) ทายาทรุ่น 4 ของ บริษัท ชอไชยวัฒน์ อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลัง ที่อยู่ในตลาดมานานกว่า 63 ปี ตัดสินใจร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ใช้งานวิจัยและพัฒนามาต่อยอดธุรกิจสู่ “Sava Flour” แป้งกลูเตนฟรีสำหรับผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ที่ทำจากมันสำปะหลัง จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากแป้งมันธรรมดาได้สูงถึง 8 เท่า แค่ 1 พาเลท ก็กำไรเท่า 1 ตู้คอนเทนเนอร์



               
               
นวัตกรรมรับเทรนด์โลก ตอบโจทย์โอกาสธุรกิจ
               

        ชอไชยวัฒน์ อุตสาหกรรม คือโรงงานทำแป้งมันสำปะหลังใน จ.ชลบุรี ที่อยู่ในตลาดมากว่า 63 ปี ปัจจุบันบริหารงานโดยรุ่นที่ 3 คือ “สมพงษ์ กาญจนประภาส” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชอไชยวัฒน์ อุตสาหกรรม จำกัด  พวกเขาส่งออกแป้งมันสำปะหลังจากไทยไปยังญี่ปุ่น อเมริกา และออสเตรเลีย มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณปีละ 60,000 ตัน เดิมเน้นตลาด OEM ขายกันเป็นตู้คอนเทนเนอร์ เรียกว่าเน้นขายปริมาณมาก แต่ทำกำไรได้น้อยนิด จนวันที่ทายาทรุ่น 4 เริ่มเข้ามาสานต่อธุรกิจ คือ  “กร” ,“พันธวุฒ” และ “เกศ” กาญจนประภาส รับตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายบริหาร, ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาสินค้า และผู้จัดการฝ่ายผลิต ตามลำดับ พวกเขาเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ โดยมุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าดั้งเดิมของครอบครัว
               

          ผลลัพธ์จากการคิดใหม่คือผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ “Sava Flour” แป้งกลูเตนฟรีสำหรับทำเบเกอรี่ แป้งอเนกประสงค์ปราศจากกลูเตนเจ้าแรกในไทย ซึ่งตัวแป้งมีปริมาณไฟเบอร์และสารอาหารที่เหมาะสม สามารถนำไปทำเบเกอรี่ได้หลากหลาย อาทิ คุกกี้ ชูครีม ชิฟฟอน แพนเค้ก เค้กกล้วยหอม มัฟฟิน ครัมเบิ้ล วาฟเฟิล บราวนี่ ชีสเค้ก โคนไอศกรีม เป็นต้น โดยสูตรผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. ส่วนกระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังในระดับอุตสาหกรรมได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โดยหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลังและแป้ง ร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


         “ในวงการแป้งมันสำปะหลังจะมีแป้งธรรมดา ก็คือพวกที่ใช้ทำแป้งราดหน้าอะไรอย่างนี้ กับอีกแบบคือแป้งมันดัดแปลง (Modified starch) ซึ่งจะใช้สารเคมี เลยถามอาจารย์ว่าพอจะมีตัวอื่นที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือไม่ เพราะว่าโรงงานของเราค่อนข้างอยู่ใกล้ชุมชนคือเราอยู่ที่พัทยาก็เลยเป็นโจทย์ให้ไป ประจวบเหมาะกับในตอนนั้นตัวแป้งมันสำปะหลังอเนกประสงค์ (Cassava Flour) ยังไม่ค่อยมีใครทำในเมืองไทย และคำว่ากลูเตนฟรีเริ่มเข้ามา เราเลยมองว่าน่าจะเป็นเทรนด์ต่อไปในอนาคต จึงตัดสินใจทำเรื่องนี้ ซึ่งเราเริ่มคุยกันเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน”


        วิชั่นจากการมองการณ์ไกลทำให้พวกเขาได้ผลิตภัณฑ์ใหม่มาอย่างถูกที่ถูกเวลา ตอบเทรนด์โลก และตอบโจทย์ธุรกิจ แม้จะต้องใช้เวลาวิจัยพัฒนาอยู่หลายปีก็ตาม



               
               
สินค้าใหม่ เพิ่มมูลค่าได้ถึง 8 เท่า


         จากสินค้าที่ขายกันเป็นตู้คอนเนอร์ ต่อราคากันเป็นระดับสตางค์ เมื่อมาทำสินค้านวัตกรรม ทายาทหนุ่มบอกเราว่า สามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงถึง 8 เท่า เทียบกันง่ายๆ ก็คือ แค่ 1 พาเลท กำไรก็เท่ากับ 1 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว


        “สินค้าเดิมของเราจะเน้นขายวอลลุ่มแต่ว่ามาร์จิ้นค่อนข้างบาง แต่ของใหม่ที่เราทำ เราขายในปริมาณที่น้อยกว่าก็จริง แต่ได้มาร์จิ้นสูงกว่า สมมติของเก่า 1 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ของใหม่ขายแค่ 1 พาเลท ก็ได้กำไรเท่ากัน” เขาเทียบให้เห็นภาพ 


       นอกจากกำไรที่เพิ่มขึ้น ยังรวมถึงโอกาสในการทำตลาด เขาบอกว่ามีตลาดหลักคือต่างประเทศ เพราะมีพลเมืองคนแพ้กลูเตนมากกว่าไทย ขณะที่ประเทศไทยจะเน้นทำตลาดไปยังกลุ่มแม่และเด็กเป็นหลัก


      “มองว่าในประเทศไทยเราจะโฟกัสไปยังกลุ่มตลาดแม่และเด็กเท่านั้น เพราะว่าเราเองเป็นแค่มดตัวเล็กๆ คงไม่สามารถไปแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่ที่เขาเป็นเจ้าตลาดได้ ฉะนั้นเราต้องรู้ตัวเองและโฟกัส” เขาบอกกลยุทธ์ที่เลือกจะไม่บุกตลาดแมส แต่เน้นตลาดเฉพาะกลุ่มเพื่อเข้าถึงลูกค้าที่ใช่


          Sava Flour ออกวางตลาดเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน โดยเน้นขายผ่านช่องทางออนไลน์ การออกงานแสดงสินค้า เช่น THAIFEX รวมถึง การทำตลาดไปยังกลุ่มเด็กแพ้ เช่น เข้าไปในชุมชนสมาคมเด็กแพ้ ฯลฯ เพื่อนำพาแบรนด์ไปอยู่ในจุดที่ตลาดต้องการนั่นเอง




 
ใช้นวัตกรรมเป็นธงนำธุรกิจ


       พันธวุฒ เรียนจบมาทางด้านเทคโนโลยีอาหาร (Food Technology) ดังนั้นการได้มาดูแลเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของโรงงาน จึงนับว่าตรงกับทักษะและความเชี่ยวชาญของเขา ซึ่งนอกจากแป้งทำขนมสำหรับคนแพ้กลูเตนแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งทำจากแป้งมันสำปะหลัง และพัฒนาให้ไร้น้ำตาลโดยใส่สารสกัดจากหญ้าหวานและหล่อฮังก๊วยเข้าไป เพื่อตอบเทรนด์สุขภาพตามจุดยืนในการพัฒนาสินค้าของพวกเขา


        “สินค้าของเราทุกตัวจะอิงกับเรื่องของสุขภาพทั้งหมด เพราะผมมองว่ามันเป็นอนาคตที่ยังไงคนก็ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพ ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้น แม้วันนี้ตลาดอาจจะยังเล็กอยู่ แต่เรามองว่าจะมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต”


       สำหรับแนวทางในการพัฒนาสินค้า นอกจากต้องตอบโจทย์สุขภาพแล้ว พวกเขายังให้ความสำคัญกับการตอบความต้องการของผู้บริโภคด้วย โดยสินค้านั้นต้องสามารถไปแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์อะไรบางอย่างของลูกค้าได้ รวมถึงอยู่ในราคาที่สามารถจับต้องได้  เพราะแม้เป็นสินค้านวัตกรรมแต่ถ้าแพงมากไป ก็ไม่สามารถขายได้อยู่ดี เขาสะท้อนความคิด


        วันนี้ พันธวุฒ อายุ 29 ปี เขาบอกว่าเข้ามาบริหารธุรกิจแบบเต็มตัวเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน แต่ก่อนหน้านั้นก็คลุกคลีอยู่กับธุรกิจครอบครัวมาตั้งแต่เล็ก เนื่องจากบ้านอยู่ติดกับโรงงาน เมื่อพ่อบอกว่าถ้าไม่สานต่อธุรกิจก็คงจบที่รุ่นพ่อ ทั้ง 3 พี่น้องจึงตัดสินใจกลับมาสานต่อกิจการครอบครัวกันทุกคน
 

        “ตอนแรกที่เข้ามาก็มีไม่เข้าใจกันบ้าง เพราะปกติธุรกิจของเราจะขายกันเป็นคันรถสิบล้อ แต่พอลูกๆ มาทำขายกันทีละกล่อง 2 กล่อง ผ่านออนไลน์ เขาก็สงสัยว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ จนหลังๆ พอฟีดแบ็กเริ่มดีขึ้น สินค้าได้รับการตอบรับมากขึ้นผู้ใหญ่ก็ค่อยๆ ยอมรับ เรียกว่าค่อยๆ ใช้ผลงานพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่พวกเราทำอยู่ดีกว่าเดิมอย่างไร” เขาบอก





        วันนี้รุ่นพ่อเริ่มค่อยๆ วางมือจากธุรกิจ ทายาทรุ่น 4 เลยได้พิสูจน์ตัวเองกันมากขึ้น เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต เขาบอกว่า จะเน้นขยายกำลังการผลิต Sava Flour ให้มากขึ้น โดยจากเดิมผลิตได้ที่ 1 ตันต่อวัน จะเพิ่มเป็น 80 ตันต่อวัน ยังคงมุ่งพัฒนาสินค้าใหม่ๆ และขับเคลื่อนธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ด้วยกำลังของพวกเขา


        “ผมอยากจะเห็นธุรกิจของเราอยู่ไปได้ยาวๆ ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ไม่ได้มองขนาดที่ว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์หรืออะไร เราไม่ได้มีวิชั่นขนาดนั้น เพราะว่าเราชอบธุรกิจที่สามารถตัดสินใจอะไรได้ทันที การเป็นธุรกิจแบบนี้ทำให้เราสามารถตัดสินใจได้เร็ว พูดคุยกันได้เร็ว อยากจะประชุมก็สามารถวิดีโอคอลกับทีมงานได้ทันที ซึ่งตอบโจทย์เราได้มากกว่า มองว่าที่ผ่านมาหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเราสามารถอยู่มาได้ถึง 4 เจเนอเรชัน เพราะคู่ค้าและลูกค้า ตามสโลแกนของบริษัทเราที่ว่า มีคุณ จึงมีเรา ซึ่งคุณในที่นี้ไม่ใช่แค่คู่ค้า หรือลูกค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวเกษตรกรที่เราต้องพึ่งพาอาศัยเขาด้วย ไม่มีพวกเขาก็ไม่มีเราเช่นกัน จึงมองว่าการให้ความสำคัญกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทำให้เราอยู่มาจนถึงวันนี้ได้”


        นี่คือตัวอย่างของธุรกิจรุ่นเก่า ที่ทำตัวเองให้เก๋าขึ้นด้วยนวัตกรรม พวกเขาเชื่อว่า “นวัตกรรม” จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ SME แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด และสามารถไปสู้กับเจ้าตลาดได้ เหมือนที่พวกเขากำลังพิสูจน์ให้เห็นแล้วในวันนี้
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน