Patagonia แบรนด์แฟชั่นนอกคอก ที่ดังเพราะห้ามคนซื้อสินค้าตัวเอง และเปิดร้านขายเสื้อผ้ามือสองคู่ของใหม่

TEXT :    กองบรรณาธิการ
 

 
               

     “Patagonia” แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นเอาท์ดอร์สัญชาติอเมริกันที่มีสไตล์การทำธุรกิจไม่เหมือนใคร แถมยังพลิกกลับด้านการทำธุรกิจในหลายตำรา ตั้งแต่ที่ครั้งหนึ่งเคยประกาศลงโฆษณาหน้าหนังสือพิมพ์ว่าอย่าซื้อสินค้าของตัวเอง เพราะอยากให้ผู้บริโภคใช้สติในการซื้อสินค้ามากกว่าจะซื้อเพื่อความฟุ่มเฟือย หรืออย่างล่าสุดที่ออกมาจำหน่ายสินค้ามือสองของแบรนด์ควบคู่ไปกับการผลิตสินค้าใหม่ๆ ป้อนเข้าสู่ตลาด อะไรทำให้แบรนด์ที่มีอายุร่วม 40 กว่าปีนี้คิดต่างออกไป จนทำให้โด่งดังมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ ไปหาคำตอบพร้อมกัน
 

 
กลยุทธ์ 1 : ไม่อยากขาย แต่ยิ่งทำให้อยากซื้อ
 
               

     ย้อนไปเมื่อปี 2554 แบรนด์ Patagonia ได้สร้างความฮือฮาให้วงการแฟชั่น ด้วยการออกแคมเปญ “Don’t Buy this Jacket” หรือ “อย่าซื้อแจ็กเก็ตตัวนี้” ตีพิมพ์เต็มหน้าลงในหนังสือพิมพ์ The New York Times ในวัน Black Friday หรือวันช้อปปิ้งแห่งชาติของชาวอเมริกัน เพราะอยากให้ลูกค้าคิดก่อนซื้อและเลือกซื้อสินค้าด้วยความจำเป็น อย่าซื้อเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีแบรนด์เสื้อผ้าใดเคยทำมาก่อน
               





     จากปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น บวกกับราคาขายที่สูงเทียบเคียงกับสินค้าไฮเอนด์หลายแบรนด์ ทั้งที่เป็นแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับปีนเขาไม่ใช่สินค้าหรูหรา จึงทำให้ชื่อของ Patagonia กลายเป็นที่รู้จักและโด่งดังขึ้นมาทั้งในลูกค้ากลุ่มแอดเวนเจอร์ที่ชื่นชอบการใช้ชีวิตกลางแจ้งและกลุ่มลูกค้าทั่วไปด้วย ซึ่งจากการประกาศออกมาครั้งนั้นกลับทำให้ลูกค้ายิ่งอยากซื้อและอุดหนุน จนทำให้ยอดขายในปีนั้นของแบรนด์เพิ่มมากขึ้นกว่า 25 - 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว


     โดย Patagonia เป็นแบรนด์เสื้อผ้ากลางแจ้งที่ก่อตั้งขึ้นโดย อีวอง ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) นักปีนเขาชื่อดังที่หลงรักการปีนเทือกเขาต่างๆ ตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น จนภายหลังสามารถก่อตั้งธุรกิจขายอุปกรณ์และหมุดปีนเขาที่โด่งดังและใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาขึ้นได้ในปี 2513





     แต่แล้วภายหลังเพื่อเป็นการช่วยอนุรักษ์ภูเขาและธรรมชาติที่เขาหลงรัก เนื่องจากการตอกปักหมุดแต่ละครั้งอาจสร้างความเสียหายต่อร่องหินได้ เขาจึงตัดสินใจเลิกขายอุปกรณ์ดังกล่าวไป แม้จะเป็นอุปกรณ์ที่ขายดีมากที่สุดตัวหนึ่งก็ตาม


     จนกระทั่งหลายปีต่อมาเขาเริ่มมีความสนใจอยากหาเสื้อผ้าสำหรับใส่ปีนเขาที่ดี เพื่อไปปีนเทือกเขาพาทาโกเนียในอเมริกาใต้ จนในที่สุดจึงหันมาศึกษาและทดลองผลิตออกมาใช้เอง จนในที่สุดก็ได้กลายเป็นที่มาของการก่อตั้งธุรกิจแบรนด์เสื้อผ้าเอาท์ดอร์ขึ้นมาโดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า Patagonia ชื่อเดียวกับภูเขาลูกที่เขาอยากไปพิชิตครั้งนั้นนั่นเอง และจากนั้นมาชูนาร์ดจึงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ทำให้ไม่ว่าจะผลิตสินค้าใดออกมาก็ตามกระบวนการผลิตและวัตถุดิบที่เลือกใช้ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาก่อนเป็นอันดับแรก






     ไม่ว่าจะเป็นเนื้อผ้าที่ใช้ ก็ต้องเป็นฝ้ายออร์แกนิก 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดการใช้สารเคมีที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในโรงงานผลิตของแบรนด์เองก็มีการใช้พลังงานสีเขียวจากลมและแสงอาทิตย์เป็นหลัก เพื่อการประหยัดพลังงาน ไปจนถึงการเลือกใช้ซัพพลายเออร์ต่างๆ เอง ก็มักใช้หลักการค้าที่เป็นธรรมอย่าง Fair Trade ในการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายว่าจะทำให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งหมดในอนาคตอีกไม่ไกล ซึ่งปัจจุบันสามารถทำไปได้แล้วกว่า 1 ใน 3 ของสินค้าทั้งหมด


     นอกจากกระบวนการผลิตที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดแล้ว อีกหนึ่งวิธีที่ Patagonia คิดนำมาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ก็คือ การทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้สินค้าได้อย่างคุ้มค่าและยาวนานที่สุด สินค้าทุกชิ้นของแบรนด์ที่ผลิตออกมา จึงใส่ใจการผลิตอย่างละเอียด ทำให้มีความทนทาน สามารถใช้ได้นาน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้จะเป็นแบรนด์เสื้อผ้าเอาท์ดอร์ แต่ทำไม Patagonia จึงสามารถขายราคาเทียบเคียงกับแบรนด์ไฮเอนด์ต่างๆ ได้
 



 
กลยุทธ์ 2 : ขายของเก่า คู่ของใหม่
 

               
     จากความพยายามต่างๆ ที่ทำมานั้น จึงทำให้ล่าสุดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา Patagonia จึงได้ออกแพลตฟอร์มส่งเสริมการใช้สินค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ชื่อว่า “Worn Wear” บนหน้าเว็บไซต์ของตัวเอง เพื่อจำหน่ายเสื้อผ้ามือสองควบคู่กับการขายสินค้าใหม่ไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ Patagonia พยายามทำมาตลอดหลายปี เช่น มีการให้ลูกค้าส่งสินค้ามาซ่อมแซมหรือเปลี่ยนได้ โดยแบรนด์มองว่าวิธีการที่ส่งผลดีกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ก็คือ การใช้ของที่มีอยู่แล้วให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นการดีกว่าการผลิตขึ้นมาใหม่ แม้จะออกแบบมาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ตาม
               

     โดยในช่องทาง Worn Wear นั้น ลูกค้าสามารถกดคลิกเข้าไปเพื่อเลือกซื้อสินค้ามือสองได้ในราคาถูก นอกจากนี้ยังเปิดให้ลูกค้าสามารถนำสินค้าเก่าขายต่อได้ โดยจะแลกเป็นสินค้า เป็นเงินสด หรือเครดิตสำหรับการซื้อสินค้าครั้งต่อไปก็ได้ นับเป็นอีกปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีแบรนด์แฟชั่นใดเคยทำมาก่อนเลย ซึ่งมีการคำนวณออกมาว่าวิธีการดังกล่าวนั้นอาจช่วยยืดอายุการใช้งานเสื้อผ้าออกไปอีกโดยเฉลี่ย 2.2 ปี ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ของเสีย และน้ำได้ถึง 73 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว


     จากแนวทางดังกล่าวที่ Patagonia ทำจึงมีการคาดการณ์จาก thredUP ว่าหากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จอาจทำให้ตลาดสินค้ามือสองที่มีคุณภาพเติบโตมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่ามากกว่าตลาดแฟชั่นทุกวันนี้ในปี 2572 ก็เป็นได้!
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน