เปิดสถิติน่ารู้ ทำไมทุเรียน ราชาผลไม้กลายเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตาของไทย





       หนึ่งในผลไม้ที่ขึ้นชื่อของไทยคือ ทุเรียน ที่ไม่ใช่แค่รสชาติถูกปากคนไทยเท่านั้น แม้แต่ต่างชาติก็ยังยอมรับในผลไม้ชนิดนี้ทำให้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสามารถทำสถิติการส่งออกมีมูลค่ารายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 934.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 95.3 เปอร์เซ็นต์ (YoY) โดยมีจีนเป็นตลาดหลักเติบโตสูงถึง 130.9 เปอร์เซ็นต์ (YoY)


        จากตัวเลขส่งออกที่เพิ่มขึ้นประกอบกับกระแสความต้องการทุเรียนจากตลาดจีน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองการส่งออกทุเรียนสดของไทยในปี 2564 น่าจะเร่งตัวได้ราว 35-40 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่า 2,800-2,900 ล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นยอดส่งออกสูงสุดครั้งใหม่จากที่เคยทำไว้ในปีก่อนหน้า จนกลายเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจตัวใหม่รองจากยางพารา แซงหน้าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง



 

เปิดสถิติน่ารู้ ทุเรียน ผลไม้ที่น่าจับตาของไทย

 
  • การส่งออกทุเรียนสดมีมูลค่าแซงหน้าผลไม้อื่นๆ มาตั้งแต่ปี 2557
 
  • เดือนพฤษภาคม 2564 ทำสถิติรายเดือนสูงสุดที่ 934.9 ล้านดอลลาร์ฯ
 
  • ทุเรียนกลายเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจส่งออกสำคัญในลำดับที่ 2 รองจากยางพารา
 
  • แม้จะเจอโควิด แต่การส่งออกทุเรียนสดไทยปีที่ผ่านมาโตสวนกระแสถึง 41.5 เปอร์เซ็นต์
 
  • ปัจจุบันทุเรียนไทยครองตลาดจีนถึง 99 เปอร์เซ็นต์
 
  • ทุเรียนหมอนทองของไทยขายผ่านแพลตฟอร์ม ของจีนปีละประมาณ 200,000 ตัน
 
  • ไทยมีผลผลิตทุเรียนจำกัดประมาณ 1.1 ล้านตัน
 
  • ทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านจะเริ่มรุกทำตลาดต่างประเทศ แต่กำลังการผลิตยังมีน้อยและกว่าผลผลิตรุ่นใหม่จะเร่งตัวคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี




 
ปริมาณการผลิตทุเรียนไทยยังมีจำกัด
 
             
         แม้ปัจจุบันทุเรียนไทยครองตลาดจีนได้เกือบทั้งหมดถึงร้อยละ 99 แต่ด้วยปริมาณผลผลิตทุเรียนไทยที่มีจำกัดในปี 2563 ประมาณ 1.1 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ไทยส่งออกไปจีนรวมฮ่องกง 822,620 ตัน ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มมาจากพื้นที่ต่างๆ ของจีนที่รวมแล้วมีความต้องการนำเข้าปีละ 835,844 ตัน
               

        ดังนั้นจีนจึงมีการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ด้วย โดยประเทศที่น่าจับตาคือ
               

        เวียดนาม ส่งออกทุเรียนไปจีนปริมาณ 12,326 ตัน มีมูลค่า 29.7 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2563 (จาก 106 ตัน มูลค่า 0.2 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561)
               

        มาเลเซียส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 711 ตัน มีมูลค่า 5.7 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2563 (จาก 601 ตัน มีมูลค่า 4.6 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561)



               

ไทยต้องเน้นตลาดเชิงรุก
 
               
        แม้ทุเรียนไทยได้รับกระแสตอบรับดีอย่างต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตามจากนี้ไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยจะต้องเจอการแข่งขันมากขึ้นจากผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรควรทำคือเร่งทำตลาดเชิงรุก สามารถทำได้ดังนี้

 
  • ชูจุดขายด้านสายพันธุ์แปลกใหม่ของไทยให้เป็นที่รู้จักในจีน
 

        ช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดในระยะยาว นอกเหนือจากทุเรียนพันธุ์หมอนทองและชะนีของไทยที่นิยมอยู่แล้ว โดยล่าสุดจีนนำเข้าทุเรียนมาเลเซียสายพันธุ์มูซันคิง (Musang King) และสุลต่าน (Sultan) เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทั้งๆ ที่เข้าทำตลาดได้ไม่นาน ด้วยกลิ่นและรสชาติต่างกับสายพันธุ์ของไทย สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนที่พร้อมเปิดรับทุเรียนหลากหลายประเภท ซึ่งในระหว่างที่คู่แข่งต่างชาติก็อยู่ในระยะเริ่มต้นของการทำตลาดในจีน เป็นจังหวะดีที่เกษตรกรไทยควรเร่งเพิ่มกำลังการผลิตทุเรียนสายพันธุ์อื่นเพื่อเพิ่มตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ตลาดจีน แม้จะมีราคาสูงแต่ชาวจีนก็มีกำลังซื้อผลไม้เหล่านี้
 
 
  • การทำตลาดผ่านเครือข่ายโซเชียล
 

          ผ่านบัญชีทางการในวีแชท (Wechat Official Account) รวมถึงผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce ของจีน เป็นตัวช่วยนำสินค้าสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ผู้บริโภคชนชั้นกลางที่มีกว่า 300 ล้านคน ในพื้นที่ต่างๆ ของจีนอย่างทั่วถึง วิธีนี้จะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงและมีตัวช่วยในการขนส่งผ่านเครือข่ายขนส่งของผู้ประกอบการจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทุกวันนี้มีทุเรียนหมอนทองของไทยขายผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce ของจีนได้ปีละประมาณ 200,000 ตัน การขนส่งใช้เวลาเพียง 72-120 ชั่วโมงจากแหล่งผลิตถึงมือผู้บริโภค
 



 
  • การควบคุมคุณภาพในการปลูก
 

        ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวที่ให้รสชาติดีที่สุด ตลอดจนการขนส่งให้คงความอร่อย คงรสชาติดั้งเดิมจะเป็นตัวสร้างจุดเด่นให้แก่ทุเรียน อาทิ การทำตลาดของทุเรียนมาเลเซียใช้จุดขายที่นำผลผลิตมาจำหน่ายเมื่อผลสุกเต็มที่และนำส่งถึงมือลูกค้าทันที ทำให้มีรสชาติดีแม้จะมีราคาสูงจนจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าพรีเมียมแต่ชาวจีนก็เต็มใจซื้อ และทุเรียนมาเลเซียได้ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนไทยในจีนได้บางส่วน ขณะที่ทุเรียนไทยมีข้อได้เปรียบที่ใกล้ตลาดจีนอยู่แล้วหากพัฒนาสายพันธุ์และคุณภาพตลอดการผลิตทุกกระบวนการย่อมรักษาพื้นที่ตลาดไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับการปลูกให้ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือ GMP สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมทั้งวิธีปลูกแบบออร์แกนิกจะยิ่งสร้างจุดแข็งให้ทุเรียนไทยมีคุณภาพเหนือคู่แข่ง
 




             
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ