จากผู้ลี้ภัยสู่ผู้สร้างแบรนด์ ISTORY ใช้สตอรี่เพื่อนร่วมชาติเป็นจุดขาย ใช้แฟชั่นทำลายกำแพงการเมืองเกาหลี

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
           



        ในแต่ละปีจะมีชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์หลบหนีจากประเทศตัวเลขจำนวนนับพันคน เพิ่งจะช่วงเกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดนี่เองที่จำนวนลดน้อยลงเหลือหลักร้อยเนื่องจากมีการปิดพรมแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค บรรดาผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือ เมื่อไปลงหลักปักฐานยังประเทศที่สามก็จะได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ ให้มีชีวิตที่ดีกว่าเก่า และคงดีไม่น้อยหากได้เดินบนเส้นทางสายอาชีพที่ใฝ่ฝัน แถมยังเป็นผู้ประกอบการเอง หนึ่งในผู้โชคดีคนนั้นคือคัง จียุน ดีไซเนอร์สาววัย 31 ปี อดีตผู้แปรพักตร์จากรัฐบาลโสมแดง
               

        จียุนร่วมกับมารี โบส เพื่อนชาวเบลเยี่ยมที่เจอกันระหว่างเข้าค่ายอบรมการเป็นผู้ประกอบการก่อตั้งแบรนด์แฟชั่นชื่อ “ISTORY” จำหน่ายเสื้อและกระเป๋าผ้าที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยเสื้อแต่ละตัวจะติด elbow patches หรือแผ่นผ้ารองข้อศอกที่ออกแบบมาทั้งหมด 9 ลวดลาย และแต่ละลวดลายบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้แปรพักตร์เกาหลีเหนือแต่ละคน โดยผู้ซื้อสามารถสแกน QR code เพื่ออ่านเรื่องราวเหล่านั้นได้
               

         แรงบันดาลใจในการเป็นดีไซเนอร์ และออกแบบแฟชั่นมาจากช่วงที่จียุนยังอาศัยอยู่ที่เกาหลีเหนือ ตอนอายุ 15 ปี ครอบครัวของเธอได้เดินทางไปเที่ยวภูเขาเพ็กตูซึ่งอยู่ระหว่างชายแดนเกาหลีเหนือกับจีน เป็นครั้งแรกที่เธอได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นครั้งแรก และนั่นก็จุดประกายให้เด็กหญิงคนนี้



               

        สิ่งที่สะดุดตาสะดุดใจจียุนไม่ใช่ความสูง หรือหนวดเคราอันรุงรังของนักท่องเที่ยวคนนั้น แต่เป็นกางเกงยีนส์ขาดๆ ที่เขาสวมใส่อยู่ จียุนคิดในใจว่านักท่องเที่ยวคนนี้ต้องเป็นขอทานแน่เลย เธอจึงถามบิดาว่าทำไมถึงมีคนจรจัดไร้บ้านมาเดินเพ่นพ่านแถวภูเขาเพ็กตู หลังจากคิดหาคำตอบ บิดาจียุนก็ตอบลูกสาวไปว่าเสื้อผ้าที่นักท่องเที่ยวคนนี้สวมใส่ไม่น่าจะบ่งบอกถึงสถานะ แต่เป็นสไตล์การแต่งตัวมากกว่า
               

       จียุนจึงพบว่าเสื้อผ้าขาดๆ ที่คนจรจัดในประเทศเธอมักสวมใส่เมื่ออยู่อีกโลกหนึ่งอาจกลายเป็นแฟชั่นได้ เธอเริ่มสนใจด้านแฟชั่น แต่ที่ประเทศเกาหลีเหนือ สิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เธอได้ก้าวเดินบนเส้นทางสายแฟชั่นดีไซน์ นอกจากอุปสรรคด้านสังคม และสถาบันการศึกษาแล้ว ก็เป็นครอบครัวของเธอนี่เองที่คัดค้านสุดฤทธิ์ ความปรารถนาที่แรงกล้าอย่างต่อเนื่องทำให้จียุนขวนขวายที่จะมองออกไปนอกดินแดนที่ตัวเองอาศัยอยู่
               

       “ฉันเสพข้อมูลต่างๆ ผ่านภาพยนตร์ ละคร และนิตยสารจากเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ซึ่งเสื้อผ้าที่ผู้คนสวมใส่ทั่วไปมีดีไซน์ที่หลากหลายมาก หลังจากที่ค้นพบสิ่งนี้ ฉันก็หลงใหลแฟชั่นมากขึ้นๆ และเริ่มคิดว่าขืนยังอยู่ในประเทศตัวเอง ฉันคงไม่สามารถเรียนและประสบความสำเร็จได้เว้นเสียแต่จะออกไปนอกพรมแดน” จียุนเล่า



                 

       ปี 2009 จียุนก็ตัดสินใจหนีออกจากแผ่นดินเกิดไปยังจีน และ 10 เดือนถัดมาก็ถูกส่งตัวมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเกาหลีใต้ โดยปราศจากความลังเล จียุนเลือกเรียนสาขาเสื้อผ้าและสิ่งทอที่มหาวิทยาลัยฮันยาง กระทั่งปีที่แล้ว เธอตัดสินใจลงทะเบียนร่วมกิจกรรมในค่ายอบรมผู้ประกอบการอาซาน ซังโฮซึ่งจัดโดยมูลนิธิอาซาน นานัมอันเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือชาวเกาหลีเหนือที่มาตั้งถิ่นใหม่ รวมถึงสนับสนุนคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ และชาวต่างชาติในการเข้าสู่โลกธุรกิจ ที่ค่ายแห่งนี้เองที่จียุนได้พบและทำความรู้จักกับมารี โบส หญิงสาวจากเบลเยี่ยมที่มาตั้งรกรากที่เกาหลีใต้
               

       หลังจากที่กลายเป็นเพื่อนกัน ทั้งคู่ได้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าด้วยกันเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ใช้ชื่อว่า “ISTORY” โดยหวังจะบอกเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือผ่านแฟชั่น ทั้งนี้ จียุนได้พูดคุยกับผู้แปรพักตร์เพื่อเก็บข้อมูลก่อนนำมาออกแบบลวดลายที่เป็นตัวแทนของคนต้นเรื่อง ลวดลายนั้นจะไปปรากฏบนแผ่นรองข้อศอกบนแขนเสื้อ และบนถุงผ้า และด้านหลังของคอเสื้อจะพิมพ์ QR code ที่ลูกค้าสามารถสแกนเข้าไปอ่านเรื่องราวของผู้ลี้ภัยซึ่งมีทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาเกาหลี    



               

       สำหรับคนต้นเรื่องทั้ง 9 คนที่จียุนได้พุดคุยจนได้แรงบันดาลใจในงานดีไซน์เป็นคนจากหลากหลายอาชีพ อาทิ ช่างไฟฟ้า ไปจนถึงผู้กำกับภาพยนตร์ชวนเชื่อ หนึ่งในเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานแฟชั่นของจียุนเป็นเรื่องราวของอดีตนายหน้าพาคนหนีข้ามพรมแดนชื่อ ฮา จินอู ที่ครอบครัวทำอาชีพฟาร์มเลี้ยงกบส่งออกไปยังจีน และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จินอูกลายเป็นนายหน้าพาเพื่อนร่วมชาติหนีออกจากประเทศตัวเอง
               

       จินอูสามารถช่วยเหลือชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ได้มากกว่า 100 คนก่อนถูกรัฐบาลจับได้ จนตัวเขาต้องหนีตายออกจากเกาหลีเหนือเช่นกัน หลังจากที่พ้นมาได้ เขาเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเป็นคนขับรถบรรทุกอยู่นาน 2 ปี สำหรับเรื่องเล่าของจินอู ดีไซเนอร์จียุนสื่อผ่านภาพรถบรรทุกที่กำลังวิ่งด้วยความเร็วสูงผ่านดินแดนอันทุรกันดารไปยังแสงสีส้มของดวงอาทิตย์ที่กำลังอัสดงเพื่อแสดงให้เห็นถึงความฝัน ความหวัง และความทะเยอทะยาน 



               

      เนื่องจากปัญหาหนึ่งที่ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือประสบเมื่อย้ายไปอยู่เกาหลีใต้คือการเลือกปฏิบัติหรือแบ่งแยกชนชั้น จียุนจึงคิดว่าการแบ่งปันเรื่องราว ความฝัน การดิ้นรนต่อสู้ของชาวเกาหลีเหนือผ่านทักษะที่เธอถนัดน่าจะทำมุมมองที่มีต่อพวกเขาดีขึ้น ชุมชนเกาหลีเหนือแปรพักตร์ในเกาหลีใต้มีประมาณ 35,000 คน จียุนตั้งใจว่าจะทยอยนำเสนอเรื่องราวของทุกคนผ่านงานดีไซน์ของเธอ ในมุมมองของจียุน แฟชั่นดีไซน์ไม่เพียงเป็นงานที่เธอทำได้ดี แต่ยังเป็นสื่อที่ทำให้เข้าถึงผู้คนในสังคมเป็นวงกว้างได้ง่ายเมื่อใครสักคนสวมเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายจากแบรนด์ของเธอ    
 
 
        ที่มา : www.kocis.go.kr
 
 
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน