จากลูกชาวนาสู่เจ้าของธุรกิจผลิตรองเท้า ก้าวสู่มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของไต้หวัน มีทรัพย์สินราว 450,000 ล้านบาท

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
 
  
               
         สร้างความประหลาดใจไม่น้อยกับการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไต้หวันประจำปี 2021 โดยนิตยสารฟอร์บส์ ซึ่งบุคคลผู้มีฐานะมั่งคั่งอันดับ 1 ของไต้หวันมีชื่อว่า “จาง กงหยวน” ผู้โค่นแชมป์เก่าอย่างเทอร์รี่ เกา เจ้าของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนให้บริษัทแอปเปิ้ล นับเป็นครั้งแรกที่กงหยวน นักธุรกิจวัย 73 ปีมีชื่อติดอยู่ในโผบุคคลร่ำรวยของไต้หวัน ก่อนหน้านั้นแทบไม่มีใครได้ยินชื่อเขามาก่อน ไม่ว่าจะเป็นคนในจีนแผ่นดินใหญ่ หรือในไต้หวันเอง
               

         แม้จะเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรฮัวลี่ อินดัสเตรียล กรุ๊ป บริษัทผลิตรองเท้าที่รับจ้างผลิตรองเท้าให้กับแบรนด์ดังระดับโลกและมีลูกค้าประจำอย่างไนกี้ พูม่า ยูจีจี และแวนส์ โรงงานในเครือฮัวลี่ผลิตรองเท้าปีละกว่า 180 ล้านคู่ป้อนแบรนด์ดังเหล่านั้น แต่กงหยวนซึ่งเป็นผู้กุมบังเหียนบริษัทกลับไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสื่อ
               

          แต่หลังตัดสินใจนำธุรกิจเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เสิ่นเจิ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สถานะทางการเงินของกงหยวนและครอบครัวก็มั่งคั่งจนติดอันดับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยสุดในไต้หวันด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 13,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 450,000 ล้านบาท



               

         ใครจะคาดคิดว่าชายผู้เป็นลูกชาวนาและเคยทำงานในโรงงานผลิตรองเท้าจะดิ้นรนจนมีธุรกิจของตัวเอง จากจุดเริ่มต้นที่ขาดแคลนเงินทุนจนต้องดัดแปลงฟาร์มเลี้ยงหมูเป็นโรงงานผลิตรองเท้าเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ปัจจุบันธุรกิจเติบใหญ่ มีโรงงานผลิตรองเท้า 21 แห่งกระจายทั่วโลก สร้างรายได้ให้บริษัทมากถึง 2,100 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา  
               

           ไปดูกันว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เส้นทางสู่ความสำเร็จของจาง กงหยวนต้องผ่านอะไรมาบ้าง กงหยวนเกิดเมื่อปี 1948 ในครอบครัวเกษตรกรที่เมืองหยุนหลิน ไต้หวัน หลังเรียนจบจากวิทยาลัยเกษตรในวัย 18 ปี เขาก็เริ่มงานในตำแหน่งธุรการที่โรงงานผลิตรองเท้าผู้หญิงแห่งหนึ่ง
               

         ย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น อุตสาหกรรมผลิตรองเท้าในไต้หวันกำลังเฟื่องฟูอย่างมาก และในปี 1976 ไต้หวันก็กลายเป็นผู้ส่งออกรองเท้ารายใหญ่สุดของโลก จุดสูงสุดของการส่งออกรองเท้าไต้หวันเกิดขึ้นในปี 1986 ว่ากันว่ารองเท้าที่ 1 ใน 6 ของคนในโลกสวมเป็นรองเท้าที่ผลิตในไต้หวัน



               

          ด้วยประสบการณ์การทำงานในโรงงานรองเท้าทำให้กงหยวนคิดอยากมีธุรกิจผลิตรองเท้าบ้าง แต่ด้วยเงินทุนที่มีจำกัด เขาไม่สามารถสร้างโรงงานแบบทั่วไปได้จึงใช้วิธีแปลงฟาร์มเลี้ยงหมูใกล้นาข้าวทางตะวันตกของไต้หวันเป็นโรงงานผลิตแทน เนื่องจากเป็นโรงงานเล็กๆ ที่ทุนไม่มากและเพิ่งเริ่มต้น การจะได้สัญญาจ้างผลิตรองเท้าที่สร้างรายได้ดี เช่น รองเท้าฟุตบอล รองเท้าบาสเก็ตบอล รองเท้าเกณฑ์การผลิตสูงอื่นๆ และรองเท้าที่ผลิตซับซ้อนจึงเป็นไปได้ยาก
               

        กงหยวนจึงเลือกผลิตรองเท้าผ้าใบธรรมดาไปก่อนเนื่องจากวัตถุดิบมีราคาถูก และยางที่ใช้ผลิตก็มีเหลือเฟือ แต่ก็เป็นรองเท้าที่ทำกำไรให้น้อยสุดเมื่อเทียบกับรองเท้าประเภทอื่น ซึ่งหลายบริษัทเลือกที่จะไม่รับผลิต เรียกได้ว่าบริษัทของกงหยวนไปกว้านรับออร์เดอร์ผลิตรองเท้าผ้าที่ตกหล่นจากบริษัทอื่นมานั่นเอง ซึ่งหากมองในแง่ดีก็ทำให้เขาไม่มีคู่แข่ง และตราบใดที่บริษัททำได้ดี ธุรกิจก็จะอยู่รอดได้
               

         กงหยวนเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเติบโตในหมู่บ้านชนบท และธุรกิจที่ทำก็เป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมทุ่มเทให้กับเรื่องรองเท้าอย่างเต็มที่ ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องยากอะไรหากจะรับออร์เดอร์เหลือจากที่อื่น ประเด็นคือเราต้องมีความมุ่งมั่นในการสร้างผลงานให้ดีกว่าคนอื่น”



               

         และเพราะรองเท้าผ้าใบกำไรน้อยนี่เองที่ทำให้กงหยวนตั้งตัวได้ เมื่อบวกกับความวิริยะและการไม่หยุดพัฒนา ทำให้โรงงานรองเท้าเล็กๆ ของกงหยวนสามารถฝ่าฟันอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่าจนประสบความสำเร็จ และสามารถขยายโรงงานเพิ่มอีกหลายแห่งทั้งในไต้หวันและกวางตุ้ง
                 

          ในปี 1990 กงหยวนได้เปิดบริษัทเหลียงหนิง อินดัสเตรียลกับหุ้นส่วนในฮ่องกง และ 5 ปีต่อมา บริษัทดังกล่าวก็จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทซิมโฟนี่ โฮลดิ้ง ปี 2004 เขาตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่อีกแห่งที่เมืองจงชาน ใกล้กับฮ่องกง ใช้ชื่อบริษัทว่าฮัวลี่ ก่อนที่ภายหลัง เขาจะซื้อหุ้นในซิมโฟนี่ โฮลดิ้ง และควบรวมกับฮัวลี่จนเกิดเป็นฮัวลี อินดัสตรี กรุ๊ป
               

         ปัจจุบัน บริษัทในเครือฮัวลี่มีโรงงานผลิต 21 แห่งในไต้หวัน จีน เวียดนาม เมียนมา และสาธารณรัฐโดมินิกัน และได้สัญญาผลิตรองเท้าให้กับบริษัทรองเท้าระดับโลกหลายราย ขณะที่บริษัทฮงฟู อินดัสตรีซึ่งอยู่ในเครือก็ขึ้นแท่นโรงงานผลิตรองเท้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยมีบริษัทคอนเวิร์สเป็นลูกค้ารายใหญ่สุด





                ในขณะที่ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ฮัวลีกลับไม่ได้รับผลกระทบ ยังสามารถคงกำลังการผลิตและการส่งออกเช่นเดิม ปี 2020 ที่ผ่านมา บริษัททำรายได้รวม 13,900 ล้านหยวน ส่วนรายได้สุทธิอยู่ที่ 1,900 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8 เปอร์เซ็นต์ แม้จะประสบความสำเร็จเช่นนั้น แต่นายใหญ่ผู้คุมอาณาจักรฮัวลี่หาได้ให้ความสำคัญไม่ เขาทิ้งท้ายว่าความสำเร็จที่ว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาแต่อย่างใด เขาก็ยังเป็นเขาและเดินหน้าทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดเหมือนเดิม 
 


ที่มา : https://min.news/en/economy/0f6a6d94a49227233555367ded9f596f.html
www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3145780/founder-huali-sneaker-maker-nike-converse-and-vans-started?module=perpetual_scroll&pgtype=article&campaign=3145780
https://min.news/en/taiwan/782d5feb37713592c2862fa99c3344df.html
 
 
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน