ทำธุรกิจยังไงให้กระแสไม่ตก ผู้บริโภคไม่ลืม 10 ปี เจคิว ปูม้านึ่ง ลูกค้ายังมั่นใจสั่งออเดอร์ละเป็นแสน

 

 

     ในปี 2565 คือปีที่ เจคิว ปูม้านึ่ง ผู้บุกเบิกธุรกิจซีฟู้ดเดลิเวอรีของเมืองไทย อยู่มาครบ 10 ปี พอดิบพอดี (ก่อตั้งเมื่อปี 2555) ท่ามกลางกระแสธุรกิจอาหารที่เปลี่ยนไปชนิดวันต่อวัน เรียกว่าแค่หลับตาตื่นเมนูยอดนิยมเมื่อวานนี้ก็อาจตกเทรนด์ไปแล้ว แต่ เจคิว ยังคงอยู่รอดและไปต่อ แถมยังขยายผลิตภัณฑ์ไปหลากหลาย ไม่ใช่แค่ขายในไทยแต่ยังส่งออกไปต่างประเทศอีกด้วย ผ่านมาสิบปียังมีลูกค้าที่กล้าสั่งออเดอร์ละเป็นแสน กินตั้งแต่ท้องลูกคนแรกจนวันนี้ลูกคนที่สองเข้าโรงเรียนก็ยังภักดีไม่เสื่อมคลาย ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมกระแสหมดธุรกิจถึงยังได้ไปต่อ มาฟังคำตอบจาก สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ ผู้ก่อตั้ง เจคิว ปูม้านึ่ง ที่เตรียมพร้อมเสมอสำหรับอนาคต แม้แต่ในโลกเสมือนเมตาเวิร์ส (Metaverse)

SME Thailand : 10 ปีของเจคิว ปูม้านึ่ง ผ่านมา 1 ทศวรรษแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นและเปลี่ยนไปบ้างในธุรกิจ

JQ : พูดไปแล้ว 10 ปีอาจจะฟังดูว่านาน แต่สำหรับตัวเองไม่น่าเชื่อเลยว่าเราจะอยู่มาถึง 10 ปีแล้ว เพราะมันดูแป๊บเดียวเอง ยังรู้สึกว่าไม่แก่เลย (หัวเราะ) ถามว่าเห็นอะไรในตลาดบ้าง ต้องบอกว่าธุรกิจร้านอาหารเปลี่ยนไปจากเดิมและไปไกลมาก เปลี่ยนไปแบบพลิกเลยก็ว่าได้ อย่าง 10 ปีที่แล้วถ้าคนอยากกินอาหารก็ต้องไปที่ร้านหรือไม่ก็ซื้อกลับมาทานที่บ้าน แต่วันนี้กลายเป็นว่าออนไลน์มันทำได้ทุกอย่าง ยิ่งมาจับกับโลจิสติกส์ที่ดี กลายเป็นว่าวันนี้ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหนของประเทศไทย ก็สามารถกินอาหารทะเลที่สดใหม่ได้ถึงบ้านเหมือนกันหมด

ถึงจะเป็นจังหวัดที่ห่างไกลมากๆ อำเภอที่ห่างไกลแค่ไหน แต่เราก็จะเห็นรถส่งของวิ่งกันให้วุ่น แต่วันแรกที่เราเริ่มต้น ต้องไปอ้อนวอนวินมอเตอร์ไซค์มาช่วยส่งของให้หน่อย เคยโดนโกงเงินก็มี ต้องไปขอร้องรถตู้ให้ช่วยส่งปูไปต่างจังหวัดหน่อย ระหว่างทางก็ต้องเจรจากับลูกค้ากว่าจะมารับกว่าจะเจอกันมันลำบากมาก แต่วันนี้กลายเป็นว่าเรามีผู้ให้บริการขนส่งต่างๆ มาคอยรับของให้ถึงที่บ้านแล้วไปส่งให้ลูกค้าถึงหน้าบ้านเลย กลายเป็น Door to door แบบไร้รอยต่อจริงๆ  สำหรับโลจิสติกส์ของประเทศไทยวันนี้คือครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ถ้าให้คะแนนจากวันเริ่มต้นในเรื่องของอาหารเดลิเวอรีและโลจิสติกส์ วันนั้นคือศูนย์ แต่วันนี้เต็มร้อย

วันที่เราเริ่มต้น เราทำอย่างยากลำบากเพราะเรื่องที่ทำมันใหม่..ใหม่ทุกอย่าง แต่ว่าวันนี้มันครบลูปแล้ว ไม่ว่าจะออนไลน์ โลจิสติกส์ หรือการจ่ายเงินที่เป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) จริงๆ เหลือแต่ต้องช่วงชิงผู้บริโภค ช่วงชิงลูกค้ากันแค่นั้น

SME Thailand : ทุกอย่างง่ายขึ้น แต่ดูเหมือนว่าสงครามครั้งนี้จะโหดกว่าเดิม เพราะคนก็เข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้นเช่นกัน สังเกตจากช่วงที่ผ่านมามีร้านอาหารออนไลน์เกิดขึ้นเยอะมาก

JQ : แน่นอน มันยากกว่าเดิม อย่างที่บอกคนที่จะเข้ามาเล่นในตลาดนี้เข้ามาได้ง่ายมาก การทำธุรกิจอาหารเดลิเวอรียุคนี้มันง่าย นี่ยังไม่รวมการที่มีครัวให้เช่าและอะไรต่อมิอะไรอีก ทำให้ง่ายมากที่จะเข้ามา ถามว่าเราลำบากไหม ลำบากกว่าเดิม แต่ในความลำบากนั้นยังมีความโชคดีอยู่ คือลูกค้ารู้จักเราตั้งแต่วันแรกๆ มาวันนี้ลูกค้าก็ยังจำเราได้ และยังคงไว้เนื้อเชื่อใจ มองว่าจริงๆ แล้วเราโชคดีที่เข้ามาในตอนที่ยากลำบาก เพราะทำให้วันนี้เราทำงานง่ายลงมาก มีระบบหลังบ้านที่ดี เลยทำให้สินค้า การบริการและการดูแลลูกค้าของเราได้มาตรฐานขึ้นไปอีก

SME Thailand : ในวันเริ่มต้นคุณอาจจะชนะเพราะเข้ามาก่อนและทำได้สำเร็จ แต่ในวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป แถมกระแสยังเปลี่ยนไปทุกวัน ทำอย่างไรถึงจะชนะในเกมนี้

JQ : อย่างที่บอกกระแสอาหารของบ้านเราเปลี่ยนไปทุกวัน จากกระแสปูม้านึ่งมาเป็นปูไข่ดอง มาเป็นยุคของยำ มาชาบู ตอนนี้ก็เป็นเทรนด์เนื้อไปแล้ว มันเปลี่ยนไปตลอด แต่สุดท้ายจะเหลือเฉพาะตัวจริง ยิ่งในสภาวะโควิด มองว่ามันเหมือนกับใครที่นอนหงายแล้วตีกรรเชียงไปเรื่อยๆ คนนั้นจะรอด ด้วยความที่เราทำเดลิเวอรีต้นทุนหลังบ้านเราไม่ได้สูงเหมือนร้านอาหาร ค่าเช่าที่ค่าแรงอะไรต่างๆ เราน้อยกว่าเขา ถ้าเกิดมองแต้มต่อในเรื่องของต้นทุน แปลว่าต้นทุนหลักๆ ของเราจะอยู่ที่วัตถุดิบ (Raw Material) เราก็เหมือนกับกำไรน้อยลง กำไรบางลง แต่ยังมีวอลลุ่มที่จะขายได้อยู่ ฉะนั้นเราอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้อิงกระแส เพราะกระแสตอนนี้ฟาดฟันกันโหดร้ายมาก เผลอหลับไปตื่นมาเป็นอีกกระแสไปแล้ว

ถามว่าแล้วอะไรที่จะทำให้เราชนะในเกมนี้ ด้วยความที่เราทำอาหาร คีย์แรกเลยยังเชื่อว่า เป็นเรื่องของ “คุณภาพ” คือสินค้าเราต้องได้มาตรฐานและต้อง "ตรงปก” ด้วยความที่เราขายปู คนก็ต้องคาดหวังอยากจะกินปูที่มีคุณภาพ ตัวใหญ่ สด น้ำจิ้มที่แซ่บ การตลาดอาจทำให้คนรู้จัก อยากชิมเราก็จริง แต่การที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้นั้นก็คือ การซื้อซ้ำ เพราะฉะนั้นคุณภาพต้องมาก่อน

ต่อมาคือต้องมี “นวัตกรรม” อย่างในช่วงโควิดที่ผ่านมา เราได้อานิสงส์เยอะมาก โควิด 2 รอบแรกด้วยความที่เราอยู่ในวงการเดลิเวอรีมาก่อนคนก็จะจำเราได้ ก็จะสั่งกันเยอะมาก ธุรกิจเราเป็นบวกแบบน่าตกใจ ระหว่างนั้นเราก็พัฒนากรรเชียงปูกระป๋องออกมา เพราะเห็นเพนพอยต์ว่ากรรเชียงกระป๋องที่มีอยู่ในตลาดจะมีกลิ่นเคมี แต่ของเรายังคงกลิ่นหอมเหมือนปูสดเลย ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมสินค้าทำให้ปูสดที่เต็มที่อยู่ได้ 2 วัน กลายเป็นปูกระป๋องที่สามารถเก็บในตู้เย็นได้ถึง 12 เดือน ตลาดของเราก็กว้างขึ้น ขายไปได้ไกลมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราส่งออกไปต่างประเทศด้วย

ตัวสุดท้ายคือ “บริการ” ไม่ว่าจะยังไงลูกค้าก็ยังคงต้องการบริการที่ดี เราจึงยังคงเน้นใน 3 เรื่อง คือ คุณภาพ นวัตกรรม และบริการ แต่พอเกิดโควิดรอบล่าสุด ยิ่งทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลง โจทย์ก็ยากขึ้น และท้าทายขึ้นไปอีก สิ่งที่เราทำคือ ต้องให้มากกว่าที่ลูกค้าหวัง และมากขึ้นไปอีก

SME Thailand : แล้วลูกค้ายุคนี้เขาคาดหวังอะไร เปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ แล้วเจคิวมีวิธีตอบสนองความคาดหวังนี้อย่างไร

JQ : สมัยก่อนแค่มีปูส่งเดลิเวอรีเขาก็โอเคแล้ว แต่วันนี้ลูกค้ามีความคาดหวังมากขึ้น ลูกค้ารอไม่ได้ ใจร้อนขึ้น ต้องการกินเร็ว กินด่วน แต่ขอของดีด้วย แต่เราคิดว่าเราอยากทำให้ลูกค้ามากขึ้นไปอีก นั่นคือนอกจากจะใช้ปูใหญ่ ปูสด เราคิดว่าถ้าให้ลูกค้ากินปูอย่างเดียวเขาอาจจะเบื่อ คราวนี้ในตัวปูมันจะมีส่วนที่กินง่ายและกินยาก เราก็เอาส่วนที่กินยากแกะให้ลูกค้าแล้วเอาไปผัดเป็นข้าวผัดให้เขาฟรีๆ กลายเป็นว่าถ้าคุณสั่งปูม้า 2 กิโลกรัม คุณจะได้ข้าวผัดด้วยโดยไม่คิดเงินเพิ่ม

นี่เป็นการเพิ่มมูลค่า (Add Value) แล้วคืนกลับให้ลูกค้า ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ได้เพิ่มต้นทุนขึ้นมาเยอะเลย เพิ่มแค่ไข่กับข้าวสวย แต่ในส่วนของเนื้อปูเราก็แบ่งมาจากส่วนที่ลูกค้าซื้อนั่นแหล่ะ เพียงแต่เป็นส่วนที่กินยาก บางคนกิน บางคนทิ้ง ไม่ก็เก็บไว้ทำอย่างอื่นจนลืม เราก็เอามาทำให้มีมูลค่าแล้วคืนให้ลูกค้าไป ซึ่งการทำแบบนี้บางครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่เลย อาจเป็นมุมเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำให้กับลูกค้าได้ ผลคือแทนที่เขาจะซื้อปูเราแค่ 1 กิโล วันนี้เขาเลือกซื้อ 2 กิโล เพื่อที่จะได้ข้าวผัดด้วย

หรืออย่างกรรเชียงปู ลูกค้าสั่งไป 1 กระป๋อง เราก็มีน้ำจิ้มให้ด้วย เพียงแต่นานๆ เข้า เขาก็อาจเริ่มเบื่อปู เอามาทำไข่เจียวปู ข้าวผัดปูก็แล้ว ตอนนี้เราเลยทำน้ำยาเปล่าให้เขาไปกินเป็นขนมจีนน้ำยาปูด้วยเลย อย่างบางคนอยากไปเลี้ยงแขกที่บ้าน ก็สามารถฉีกซองน้ำยาเทใส่หม้อ เติมเนื้อปูลงไปตามที่ต้องการ สั่งขนมจีนมาก็เลี้ยงคนได้เลย รวมถึงยังมีน้ำสำหรับทำหลนปูด้วย เหมือนให้เขาไป D.I.Y  เป็นเมนูโปรดของเขา เราทำอะไรแบบนี้อยู่ตลอด คิดเสมอว่า ถ้าเป็นเราเราอยากได้อะไร แล้วทำให้ลูกค้าเกินกว่าที่เขาคาดหวังเสมอ

SME Thailand : บางแบรนด์เวลาอยู่มานาน ตลาดใหญ่ขึ้น ความห่างเหินที่มีต่อลูกค้าก็อาจมากขึ้น แต่ทำไมเจคิวถึงยังติดตามความต้องการของลูกค้า และรักษามิตรภาพที่ดีกับลูกค้าเก่าเอาไว้ได้

JQ : เพราะธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่ใกล้ชิดกับลูกค้า อย่างบางคนซื้อกับเรามาตั้งแต่แพ้ท้องลูกคนแรก จนตอนนี้ลูกคนที่ 2 เข้าโรงเรียนแล้ว เรายังเจอกันทุกปี อยู่ในแทบจะทุกช่วงเวลาของเขา อย่างเช่น พี่จะทำบุญขึ้นบ้านใหม่นะจะสั่งปูไปทำบุญ เราก็เอาขนมจีนน้ำยาปูแถมไปให้ด้วยเพื่อให้เขาไปเลี้ยงแขกในงาน

มีเคสหนึ่งที่ประทับใจมาก คือลูกค้าอยู่ต่างจังหวัด สั่งให้คุณพ่อที่อยู่กรุงเทพฯ ทานประจำ จนวันหนึ่งลูกมาสั่งปู เราก็ถามว่าส่งให้คุณพ่อที่เดิมใช่ไหม ปรากฎลูกค้าบอกว่าคุณพ่อเสียแล้ว แต่เขาจะสั่งปูไปทำบุญให้คุณพ่อ เราเลยบอกว่า ทางร้านเรายินดีที่จะบริจาคส่วนหนึ่งไปทำบุญ แล้วบอกอีกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณจะทำบุญให้คุณพ่อ ขอให้บอกเรา ไม่ว่าคุณจะซื้อของเราหรือไม่ ขอแค่คุณบอกมาเราจะฝากของไปทำบุญด้วยทุกครั้ง นี่คือสิ่งที่เราทำกับลูกค้าของเรา

SME Thailand : วันนี้ด้วยกำลังซื้อที่ลดลง การแข่งขันที่มากขึ้น ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น และยังซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โควิดอีก สถานการณ์นี้ทำให้ลูกค้าของเจคิวลดลงหรือไม่ กระทบกับธุรกิจอย่างไร

JQ : อธิบายอย่างนี้ ในลูกค้า 100 คน สมมติเป็นตลาดบน 40 คน ตลาดกลาง 40 คน ตลาดกลางลงมาล่างอีก 20 คน วันนี้เนื่องจากเราขายปูไซส์ใหญ่ ขายทุกอย่างจัมโบ้หมด ตลาดกลางถึงล่างเลยหายไปเลย ส่วนตลาดกลางก็กินแต่ไม่ได้ถี่เหมือนเมื่อก่อน แต่ความมหัศจรรย์คือตลาดบน อันนี้อินไซด์เลยคือไม่หายไปเลย เรายังมีลูกค้าที่ซื้อทีละ 150,000-300,000 บาท เป็นคนธรรมดาเลยนะ ซื้อไปทำบุญ ยังมีกลุ่มที่บอกว่าขอสั่งกุ้งแม่น้ำตัวละ 850 บาท 60 ตัว ยังมีบริษัทที่โทรมาให้จัดเซ็ตอาหารส่งให้กับพนักงานของเขาที่ Work from home จำนวน 100 คน เซ็ตละ  2,000 บาท กลุ่มนี้ยังมีอยู่ตลอด แต่อาจจะลดลงบ้าง อย่างเช่น จากสั่งปีละ 3 ครั้ง ก็เป็นปีละครั้ง ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีเงินนะ แต่ส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านมาเขาจัดเลี้ยงไม่ได้  ก็เลยหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น ไม่ใช่แต่กับเราแต่อยากให้ภาพรวมของทั้งประเทศมันดีขึ้น อยากให้เทศกาลผู้คนได้ออกมาใช้ชีวิตปกติ เพราะนั่นจะทำให้ภาพรวมของธุรกิจอาหารดีขึ้นตามไปด้วย

SME Thailand : วันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็ว มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน แล้วเจคิววางตัวเองเป็นอะไรในอนาคต

JQ : มองว่าธุรกิจจะเล็กลง หมายถึงว่า ความเชี่ยวชาญของเราจะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น อย่างวันหนึ่งข้างหน้าคนนึกถึงเจคิว เขาอาจจะนึกถึงเรื่องปูอย่างเดียวเลยก็ได้ เราอาจจะขายแต่ปูจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปูไปเลย มองว่าธุรกิจจะชาร์ป (Sharp) ขึ้น เฉียบขึ้น  เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น ไม่เทอะทะ แต่พร้อมมูฟตลอดเวลาไม่ว่าเทรนด์อะไรเข้ามา สมมุติต้องมีเจคิวบนเมตาเวิร์ส (Metaverse) เราก็ขอเข้าไปด้วย เราพร้อมขยับไปกับทุกเทรนด์ อย่างตอนนี้เราก็กำลังศึกษาอยู่ว่าจะสามารถให้ลูกค้าจ่ายด้วยคริปโต (Cryptocurrency) ได้ไหม เรียกว่า ลูกค้าของเราชอบอะไร อยากได้อะไร เราก็พร้อมจะไปอยู่ตรงนั้น และทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นไปอีก ตอบสนองเขาให้ดีขึ้นไปอีก

SME Thailand : ในโลกที่ยากจะคาดเดาอย่างทุกวันนี้ ถามจริงๆ เรากลัวอนาคตไหม

JQ : มองว่าวันนี้เราอยู่ใน 2 เทรนด์หลัก คือเทรนด์ของอาหารและเดลิเวอรี ซึ่งในอนาคตโควิดจะยิ่งกระตุ้นให้คนเอาตัวรอดด้วยการอยู่บ้านมากขึ้น หากิจกรรมอะไรก็ตามที่ทำให้ตัวเองอยู่ที่บ้านได้ ฉะนั้นเราไม่กลัวอนาคต แต่ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยอาจจะต้องคิดนวัตกรรมหรืออะไรออกมาให้ลูกค้ามากขึ้น มองว่ายังไงอนาคตไม่ว่าทุกอย่างจะไปอยู่บนโลกเสมือนได้ แต่อาหารคนยังต้องกินอยู่ ฉะนั้นวันนี้เราทำเดลิเวอรีได้แล้ว เราทำการตลาดออกมาได้ค่อนข้างโอเคแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพัฒนาต่อ โดยอาจเป็นสินค้าใหม่ๆ รวมถึงยังมีช่องทางไหนอีกบ้างที่คนยังมองหาเรา เราก็จะเข้าไปทำความรู้จักกับลูกค้าของเราในทุกช่องทาง

SME Thailand : บทเรียนตลอด 10 ปีในการทำธุรกิจของเจคิว มีอะไรที่อยากแบ่งปันกับ SME บ้าง

JQ : มีผู้ใหญ่สอนว่า การทำธุรกิจคือการแก้ปัญหาให้กับลูกค้า ธุรกิจในโลกนี้เกิดมาเพื่อแก้ปัญหา เช่นเดียวกับเจคิว เราแก้ปัญหาให้คนที่อยากกินปูแต่ไม่ได้ไปทะเล เพราะฉะนั้นถ้าเราตั้งโจทย์ว่าธุรกิจของเรามันแก้ปัญหาให้ลูกค้า เราก็ต้องหาคุณค่าหลัก (Core Value) ของเราให้เจอว่าอยู่ตรงไหน สำหรับเราเรามองว่าปูม้าของเราต้องคัดให้ตรงปก แล้วทำให้มีคุณภาพที่สุด ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม คุณภาพต้องก่อน

สองคุณต้องทำการตลาด วันนี้อาจมองว่าทุกอย่างเป็นกระแสที่รวดเร็วและรุนแรง แต่มันก็ง่ายมากสำหรับคนที่ถ้ามีไอเดียก็สามารถทำให้ร้านดังภายในข้ามคืนได้เหมือนกัน ซึ่งการทำตลาดทุกวันนี้มันมีหลายช่องทาง หลายแพลตฟอร์มมาก ที่ไม่ต้องเสียเงิน อย่างเช่น tiktok วัยรุ่นชอบมาก และมันเป็นอะไรที่ Crazy มากด้วย นอกเหตุเหนือผลในการทำการตลาดมากๆ ฉะนั้นคุณต้องลงไปศึกษาเรื่องพวกนี้  

วันนี้ SME ต้องมองออกไปนอกกรอบให้สุดๆ เราจะเอาความรู้เมื่อ 20 ปีที่แล้วมาใช้แทบไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเรื่องการตลาดหรือการคิด อย่างล่าสุดมีมาม่ากินกับไอ้ติมกันแล้ว มองว่ายุคนี้มันเหมือนเราดูหนังจีนที่เขาบอกว่า หลักการเหมือนเดิมแต่กระบวนท่าต้องเปลี่ยน วันนี้เจ้าของกิจการอาจมองว่าตัวเองสูงวัย โลว์เทค แต่บางทีมันไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขนาดนั้น เช่น เราทำคลิปแกะปูใน tiktok คนดูหลายแสนคนโดยที่เราใช้แค่มือถือ 1 เครื่อง กับปู 1 ตัว เท่านั้น

SME ต้องกล้าลองทำอะไรใหม่ๆ พอลองเราจะได้ Feedback จากลูกค้า ทำไปก็คอยถามลูกค้าไปว่าชอบไหม มีอะไรต้องปรับปรุงหรือเปล่า คือฟังเสียงลูกค้าเหมือนเดิม เพียงแต่กระบวนท่ามันต้องเปลี่ยน อาจจะต้องทำในแบบที่ไม่ตรงตามตำราเสียทีเดียว เพราะตำราการตลาดวันนี้อาจจะช่วยอะไรไม่ได้มาก ฉะนั้นนอกทฤษฎีบ้างก็ได้

 

เรื่อง : จีราวัฒน์ คงแก้ว

ภาพ: กฤษดา ศิลป์ชัย, วิภาวดี พิสุทธิ์สิริอภิญญา

 FB : เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery

 Line : JQPUUMANUNG

 เบอร์โทร 02-105-4205

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ