มรุกข ร้านขายของที่ระลึกแห่งนครพนม เรียกเงินจากนักท่องเที่ยวได้เหมือนมีมนต์

 

     ไม่ไกลจากฝั่งโขงในเมืองนครพนม บริเวณโรงแรมและร้านอาหารเช้าบนถนนศรีเทพที่ที่นักท่องเที่ยวแทบทุกคนต้องมา ผมได้รู้จัก “มรุกข” (มะรุกขะ) ร้านขายของที่ระลึกที่เอาความเจ๋งของภูมิปัญญาพื้นบ้านมาใส่ไอเดียดีไซน์สร้างผลิตภัณฑ์ให้มีชีวิต

    “สินค้าในร้านทุกชิ้นมีชีวิตนะพี่”

     ยีน ยศรพี ต่อยอด เกริ่นนำให้ผมตั้งใจฟังต่อ

     ร้าน มรุกข เพิ่งเปิดได้ปีกว่าๆ หนึ่งเดือนก่อนโควิดระบาดหนัก ยีนบอกว่าเหมือนถูกรับน้องนิดหน่อย แต่ก็มีข้อดีให้ได้นั่งทบทวนถึงสิ่งที่ทำไปแล้ว และบางอย่างที่กำลังจะทำ จนทำให้ได้คำตอบว่าผลิตภัณฑ์ของร้านบางจุดยังไม่แข็งแรงพอ ทั้งในเรื่องของคุณภาพและการออกแบบ และนี่คือ โจทย์สำคัญที่ต้องแก้เมื่อกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง

     ยีนเล่าให้ผมฟังถึงที่มาที่ไปของ มรุกข ว่าก่อนหน้านี้เคยทำงานให้กับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครพนม ดูแลร้านขายของที่ระลึก ชื่อ “นาคราช” ใกล้ๆ กับลานพญานาค แต่ด้วยความที่ต้องทำงานอยู่ภายใต้องค์กร ทำให้มีข้อจำกัดบางอย่างในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และด้วยเหตุผลที่นครพนมแทบจะหาร้านแบบนี้ไม่ได้เลย จึงจุดประกายให้อยากมีร้านเพื่อเพิ่มศักยภาพในแนวทางของตัวเอง

     มรุกข มาจากชื่อเก่าของดินแดนแถบสองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งรวมนครพนมอยู่ด้วย ประกอบกับสินค้าของร้านที่ได้มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น แรงบันดาลใจของร้านจึงเกิดจากการหล่อรวมของสายน้ำ ภูเขา และความเชื่อ

     สินค้าในร้านมีสองส่วน คือ ส่วนที่เลือกมาวางขายเลย และส่วนที่ออกแบบเองด้วย ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยไปเสริมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีอยู่แล้วมาปรับให้เหมาะกับประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่เป็นสินค้าหลักของร้าน

     โดยงานผ้าเกือบทั้งหมดในร้านมาจากการทอของชาวบ้านในนครพนมและใกล้เคียง ด้วยความใกล้ชิดกับชาวบ้านที่ยีนมีอยู่เดิม ทำให้ไม่ยากในการสื่อสารความต้องการ ประกอบกับความจริงใจที่มีให้ จึงได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากชุมชนในการทำงานและได้เนื้องานที่มีคุณภาพจริงๆ

     สินค้าทุกชิ้นที่วางจำหน่ายอยู่ในร้านจึงเป็นเหมือนการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน ชาวบ้าน และตัวร้าน โดยแต่ละชิ้นไม่ใช่แค่ออกแบบครั้งเดียวแล้วจบไป แต่ยังมีการพัฒนาปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ ตามฟีดแบ็กที่ได้มาจากลูกค้า เมื่อลูกค้าคนเดิมกลับมาซื้อซ้ำก็สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงทำให้เหมือนมีสินค้าใหม่อยู่เสมอ ซึ่งจุดนี้ คือ ความแตกต่างชัดเจนของมรุกข

     ยีนบอกผมต่อเมื่อถามถึงราคาว่า

     “ความอุตสาหะของคนสร้างงาน บางครั้งเราก็ไม่สามารถตีราคาได้ว่าแพงหรือถูก คนที่มีประสบการณ์กับงานคราฟต์เท่านั้นถึงเข้าใจ เราแค่อยากให้คนเห็นคุณค่าของเรา”

     ถ้าถามถึงความสำเร็จ ยีนบอกผมอย่างถ่อมตนว่าคงยังอีกไกล เพียงแค่ว่าวันนี้ได้ก้าวออกมาจากเมื่อวานได้แค่วันละก้าวก็ยังดี ตอนนี้ยังไม่เกินจากที่คาดหวัง กำลังอยู่ในแผน บางทีอาจจะช้าบ้าง ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน จึงต้องเพิ่มช่องทางออนไลน์ให้แข็งแรงขึ้น ทั้ง Shopee, Lazada และช่องทางโซเชียลต่างๆ เพราะไม่ใช่เพื่อตัวเขาเอง แต่เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับชาวบ้านในชุมชนด้วย

    “ถ้ามีปัญหาเรื่องของความไม่แน่นอนอย่างโควิดระบาดอีก คงไม่ใช่ปัญหาหนักที่ร้านต้องหยุดชะงัก แต่มากไปกว่านั้น คือ การต้องรักษาคนผลิตงานเหล่านั้นให้มีชีวิตอยู่ต่อได้”

     ยีนพูดจบ ผมยิ่งเห็นความมุ่งมั่นของแววตาคู่นั้น

     สิ่งที่ผมสัมผัสได้ถึงตัวตนของมรุกขหลังได้ฟังคำบอกเล่าจากยีน เรื่องราวของงานฝีมือกับความผูกพันที่ได้รับรู้ยิ่งทำให้ผมเข้าใจว่าทำไม เขาถึงบอกว่า

    “สินค้ามีชีวิต”

ข้อมูลติดต่อ

https://web.facebook.com/marukka.nkp

Line ID : @marukka

 

 www.smethailandlcub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน