ฝ่าวิกฤตเลียนแบบ สู่กระดาษสา "จินนาลักษณ์"

 

 
 
 
 
 
เรื่อง : ธีรนาฎ มีนุ่น
ภาพ : ปิยชาติ ไตรถาวร   
 
 
 
แม้ไม่เคยมีความรู้เรื่องกระดาษสา ทั้งยังไม่ปรากฏว่าโรงเรียนใดทำการสอน แต่ทว่าความสวยงามของดอกไม้ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยกระดาษสา กลับต้องตาต้องใจ ทำให้ “จินนาลักษณ์ ชุ่มมงคล” เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้า ผันตัวเองเข้าหาวิถีแห่งธุรกิจ โดยอาศัยกระดาษสาเป็นหลักนำทาง เรียนรู้ความผิดพลาดทุกย่างก้าวด้วยตัวเอง พร้อมใช้ความชอบในงานฝีมือและการออกแบบเป็นแรงขับเคลื่อน กลายเป็นต้นตอของ “วิสาหกิจชุมชนกระดาษสาจินนาลักษณ์” เมื่อราวยี่สิบปีที่ผ่านมา 
 
“ตอนนั้นอยู่ที่เชียงใหม่ มีโอกาสได้เห็นดอกไม้ประดิษฐ์ แล้วเกิดความชอบ เลยถามเขาว่าทำมาจากอะไร เมื่อได้คำตอบว่าทำมาจากกระดาษสา จึงเริ่มเรียนรู้อย่างจริงจัง และเริ่มไปหาซื้อมาขายส่งให้กับโรงงานทำดอกไม้ โดยตระเวนรับซื้อกระดาษสาจากชาวบ้านตามแหล่งชุมชน ทั้งในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง อย่างแพร่ น่าน และ เชียงราย เพื่อส่งต่อให้โรงงานอีกที แต่ในบางครั้งชาวบ้านทำให้เราออกมาแล้วเราไม่ถูกใจ เลยเริ่มมีความคิดว่าจะทำกระดาษด้วยตัวเอง” 
 
 
 
ลองผิดลองถูกอยู่ในโลกแห่งธุรกิจได้ไม่นาน จินนาลักษณ์ค้นหาคำตอบให้กับตัวเองได้ว่า สิ่งที่เธอสนใจมากกว่า คือ การหาวัสดุมาใส่ในกระดาษแทน รูปแบบธุรกิจจึงแปรเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อทำดอกไม้ กลายเป็นกระดาษสาแฟนซีลายต่างๆ จากวัสดุธรรมชาติอันหลากหลายอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน 
 
“เมื่อก่อนกระดาษสาเป็นสีขาวธรรมดา อาจมีย้อมสีบ้าง แต่ไม่มีลวดลาย พอเราได้มาทำก็คิดว่าน่าจะใส่อะไรเข้าไปในกระดาษได้มากกว่า เช่น วัสดุธรรมชาติรอบๆบริเวณที่เราอยู่ เราลองใส่พวกหญ้าสด ดอกไม้สดเข้าไปดู ปรากฏว่าทำได้ ก็เลยคิดอยู่เสมอว่ามีต้นไม้หรือหญ้าอะไรบ้างที่สามารถทำได้บ้าง ทดลองเริ่มตั้งแต่ผักตบชวา ใยสับปะรด ต้นหญ้าหลายประเภท และอื่นๆ”
 
 
ก้าวแรกของผลิตภัณฑ์ตัวใหม่นี้ นักธุรกิจสาวเล่าว่า แทบไม่มีตลาดให้เธอลงของ เพราะสินค้าที่ทำออกมาแหวกแนวจากที่มีการรับซื้อโดยทั่วไป เธอทดลองนำไปฝากขายในร้านค้าที่เชียงใหม่ ถือเป็นเจ้าแรกที่วางตลาด ฝากขายอยู่ประมาณ 2 ปี กระดาษสาใส่ลายดอกไม้สดกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เกิดการเลียนแบบไปทั่วทุกหัวระแหง 
 
“ตอนนั้นพอเห็นว่าใครก็ทำได้ เราจึงเปลี่ยนแนว ต้องหันมาคิดพัฒนาเทคนิคใหม่ ใช้เวลาคิดอยู่ประมาณ 2 ปี ความภาคภูมิใจที่ได้คือกระดาษสาลายลูกไม้ พอได้เทคนิคแล้ว เราจะได้กับทุกลายที่เราต้องการ สามารถออกแบบอะไรก็ได้ที่ใช้เทคนิคแบบนี้ โดยไม่มีคำแนะนำจากใคร เพราะไม่มีโรงเรียนให้เรียนรู้” 
 
หลังจากกระดาษสาลายดอกไม้กระจายเกลื่อนเมือง นักธุรกิจสาวจึงเบี่ยงเบนทิศทาง หันหัวธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศอยู่หลายปี แต่เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วง 4-5 ปีให้หลัง ทำให้ยอดการสั่งซื้อลดลงเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นช่วงเวลาให้เธอได้เริ่มต้นคิดสร้างแบรนด์ และขยายตลาดในไทยอย่างจริงจัง เนื่องจากยังมีคนงานอีกหลายคนที่ต้องดูแล ครั้งนั้น เธอตัดสินใจเปิดให้โรงงานเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการศึกษาเรียนรู้ 
 
 
“เราตัดสินใจทำแบบนี้เพราะคิดว่า งานกระดาษสาคงหายไปในไม่ช้า ที่อำเภอแม่สายแทบจะไม่เหลือ ในจังหวัดแพร่และน่านหายไปเยอะแล้วเหมือนกัน ที่เหลืออยู่คือเชียงใหม่เพราะเป็นแหล่งขายสินค้า เราจึงต้องการรักษาศิลปะนี้ไว้ ด้วยการเปิดโรงงานให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมควบคู่กับการสร้างแบรนด์ในไทยมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา อีกอย่างคือเราต้องการให้แม่สายเป็นที่รู้จักอีกมุมหนึ่ง ไม่ใช่เป็นตลาดสินค้าจากประเทศจีนอย่างเดียว”
 
ภายในโรงงาน โดดเด่นด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อปทดลองฝึกขึ้นรูปกระดาษสาด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้ จินนาลักษณ์กล่าวว่า เธออยากให้คนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ ถ้าคิดถึงเส้นใยกระดาษมาจากธรรมชาติอยากให้นึกถึงกระดาษสาจินนาลักษณ์ เพราะเธอใส่ใจสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน 
 
 
“กระดาษสา ถือว่าเป็นผลงานหัวใจสีเขียวจริงๆ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่สามารถนำกระดาษเหลือ หรือกระดาษอะไรก็ได้ นำมาเข้ากระบวนย่อย และทำรีไซเคิล หรือหาวัสดุเช่น เปลือกข้าวโพดที่ทิ้งแล้ว ต้นกล้วยที่ออกลูกแล้วจะตาย เราเอาต้นนั้นมาทำ คือเราจะใช้วัสดุเป็นของทิ้งแล้วทั้งหมดเลย นอกจากช่วยอนุรักษ์แล้วสามารถรักษาความสดของวัสดุได้ด้วย ถือเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง กระดาษสาจึงไม่ได้เป็นแค่กระดาษ แม้แต่ขี้เลื้อยที่ทิ้งแล้ว เรานำมาใส่ดีไซน์ได้หมดเลย ซึ่งวัสดุพวกนี้เราไม่ได้รับซื้อ สามารถไปเก็บได้เลย แค่ค่าแรงเท่านั้นที่เราจะต้องเสียให้แก่ชาวบ้าน เราไม่มีต้นทุนในวัตถุดิบ” 
 
นอกจากจำหน่ายแผ่นกระดาษสาจากเส้นใยธรรมชาติต่างๆ เจ้าของแบรนด์สาวยังมีมุมมองในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้ากิฟต์ช็อป บรรจุภัณฑ์ ของตกแต่งที่ใช้กับงานแต่งงาน ครอบคลุมไปถึงของใช้ในโรงแรมและสปา หากแต่เป้าหมายข้างหน้าคือการพัฒนากระดาษสาให้กลายเป็นวอลล์เปเปอร์ติดผนัง ซึ่งนักธุรกิจสาวเล่าด้วยความภูมิใจว่า จินนาลักษณ์เป็นแบรนด์เดียวที่มีกระดาษสาขนาดใหญ่ที่สุดในงานแฮนด์เมด มีความโดดเด่นด้วยเป็นผลิตภัณฑ์อันผลิตจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสารเคมี กันน้ำได้ ห่างไกลเชื้อรา มีอายุการใช้งานเกินกว่า 5 ปี และถึงแม้จะอยู่ภายใต้แนวคิดการสร้างเดียวกันแต่ชิ้นงานไม่ได้เหมือนกันทุกระเบียดนิ้ว นั่นเป็นเสมือนงานศิลปะอันมีเสน่ห์ และมีคุณค่าในตัวเอง
 
 
“ความจริงแล้วเราเป็นคนออกแบบ แต่คนทำคือชาวบ้าน ซึ่งเราจะสอนงานให้เขาทุกอย่าง กว่าจะได้หนึ่งชิ้นงานนั้นใช้สมาธิมาก ตอนนี้แตกลายผลิตภัณฑ์ออกมาเยอะ เพื่อโชว์ให้ลูกค้ารู้ว่ากระดาษสาของเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นไอเดียให้กับลูกค้า เผื่อว่าเขาอยากจะสั่งไปเป็นของขวัญ ของที่ระลึก และของพรีเมียม เราขายด้วย พร้อมทั้งเป็นไอเดียให้ด้วย หรือหากจะซื้อไปทำเองก็ได้ มีทางให้เลือก”    
 
แม้ต้องพบเจออุปสรรคหลายครั้ง แต่กระดาษสาจินนาลักษณ์ยังคงไม่หยุดยั้งนำเสนอเส้นใยแห่งธรรมชาติ เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม 
 
เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนกระดาษสาจินนาลักษณ์ พร้อมร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปขึ้นรูปกระดาษสาที่ 
หมู่ที่ 1 ตำบลเขาช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 
โทร. 0-5367-5395, 08-1883-9062
 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

House of Gems BKK จากพนักงานโรงแรมสู่คุณแม่ฟูลไทม์ที่ปั้นแบรนด์เครื่องประดับจากน้ำนมแม่

เพราะตัดสินใจออกมาจากงานโรงแรมเพื่อเลี้ยงลูก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ House of Gems BKK ที่บิ้ว-กัลยา อภิชัยกุล ใช้น้ำนมแม่มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเครื่องประดับจากน้ำนมที่ทั้งสวยและทัชใจคุณแม่หลายคน เป็นธุรกิจใหม่ของคุณแม่ฟูลไทม์

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว