เรื่องควรรู้ของผู้ส่งออก EU จะปรับค่าธรรมเนียมคาร์บอนการนำเข้าสินค้า CBAM เริ่มต้นปีหน้า

 

 

     อากาศยิ่งแปรปรวนผู้คนก็ยิ่งตระหนักถึงต้นตอของปัญหา ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหาวิธีที่จะหยุดภาวะโลกร้อน ซึ่งรวมไปถึงภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ควรทำความเข้าใจ เร่งปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนและรักษาตลาด โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายในการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนสำหรับการนำเข้าสินค้า

      หนึ่งในนั้นคือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เป็นมาตรการที่จะเริ่มบังคับใช้ในปีหน้า

     มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เป็นหนึ่งในมาตรการ Fit For 55 ภายใต้นโยบาย the European Green deal ที่มีเป้าหมายให้สหภาพยุโรป (EU) สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี 1990 และลดลงเหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050

     โดย CBAM ถือเป็นมาตรการที่ EU นำมาใช้เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากเข้าสู่ EU และช่วยผู้ประกอบการใน EU ที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงกว่าในการผลิตสินค้า ภายใต้ระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกของ EU (EU’s Emission Trading System : EU ETS) ตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของ EU ที่เข้มข้น รวมทั้งเป็นการเร่งให้ผู้ผลิตในประเทศคู่ค้าของ EU ต้องดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังอีกด้วย 

5 อุตสาหกรรมเป้าหมายแรก

     การดำเนินการภายใต้ CBAM นั้น จะบังคับให้การนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก EU ที่มีราคาสูงกว่า 150 ยูโร และอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด ซึ่ง 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายแรกสำหรับสินค้านำเข้าที่จะต้องปฏิบัติตามกลไก CBAM ได้แก่ ซีเมนต์ บริการไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และ อะลูมิเนียม

     โดยผู้นำเข้านั้น จะต้องเป็นผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาต (Authorization) และมีการรายงานข้อมูลตามกลไก CBAM ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปีหน้า โดยช่วง 3 ปีแรก (2023 – 2025) จะเป็นการรายงานข้อมูล (CBAM Declaration) เท่านั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีช่วงเวลาในการปรับตัว โดยจะต้องมีการรายงานข้อมูลทุกไตรมาส ประกอบด้วย (1) ปริมาณการนำเข้าสินค้า (2) ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทั้ง Direct และ Indirect Emissions ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการผลิต และตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาต และ (3) ค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่จ่ายสำหรับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในประเทศต้นทางของสินค้านำเข้า 

     ทั้งนี้ CBAM จะเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2026 โดยจะต้องมีการรายงานข้อมูลพร้อมยื่นหลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียม CBAM Certificates ภายในวันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วย

  • ปริมาณสินค้าที่นำเข้าในระหว่างปีที่ผ่านมา
  • ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้ามาใน EU มีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาต โดยเบื้องต้นกำหนดให้คิดเฉพาะปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตสินค้าโดยตรง (Direct Emissions) และ
  • CBAM Certificates ที่เป็นหลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้า โดยจะคิดค่าธรรมเนียมจากค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์ของราคาในระบบ EU ETS ซึ่งผู้นำเข้าจะได้รับการลดภาระค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนที่ได้ชำระค่าธรรมเนียมคาร์บอนในประเทศต้นกำเนิดสินค้าแล้ว หรือตามสัดส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบให้เปล่า (Free Allowances) ที่ EU ได้อนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการภายใน EU ทั้งนี้ หากไม่มีการยื่นหลักฐาน CBAM Certificates ครบตามจำนวนและภายในเวลาที่กำหนด ผู้นำเข้าสินค้านั้นจะต้องโดนโทษปรับสูงสุดถึง 100 ยูโร ต่อ 1 CBAM Certificat ที่ยังไม่ได้ส่งมอบ และยังคงต้องทำการซื้อและส่งมอบ CBAM Certificate ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดสำหรับการนำเข้าสินค้านั้น

 

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต

     อย่างไรก็ดี รัฐสภายุโรปอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงข้อเสนอของมาตรการ CBAM เพิ่มเติม
ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าไปยัง EU มากขึ้น ดังนี้

  • ขยายอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติม ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน สารเคมีอินทรีย์พื้นฐาน ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และ โพลีเมอร์
  • ขยายขอบเขตการคิดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้รวมถึง Indirect emissions ที่เกิดระหว่างกระบวนการผลิต เช่น ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการซื้อไฟฟ้ามาใช้เพื่อการผลิต เป็นต้น
  • ลดระยะเวลาการรายงานเพื่อปรับตัวของผู้ประกอบการ จาก 3 ปี (2023 - 2025) เป็น 2 ปี
    (2023 – 2024)
  • ทยอยลดการให้ใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบให้เปล่า (Free allowances) ภายใต้ระบบ EU ETS โดยจะให้สิ้นสุดการให้ใบอนุญาตสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ CBAM
    ในปี 2028

     นอกจากนี้ EU อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลด Free Allowances ของทุกภาคอุตสาหกรรมลงและคาดว่า
จะยกเลิกการให้เปล่าดังกล่าวในที่สุด ซึ่งหลายอุตสาหกรรมในระบบ EU ETS เข้าสู่กระบวนการของ CBAM เรียบร้อยแล้ว และคาดว่า ท้ายที่สุดแล้ว EU จะขยายขอบเขตการบังคับไปสู่การนำเข้าสินค้าและบริการชนิดเดียวกับอุตสาหกรรมภายใต้ EU ETS ให้เข้าสู่มาตรการ CBAM ทั้งหมดหลังจากที่ CBAM เริ่มมีการดำเนินการไปแล้วระยะหนึ่ง

ผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย

     ในภาพรวมนั้น การส่งออกของไทยไปยัง EU ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของ CBAM
มีใน 2 อุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอะลูมิเนียม ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2564 อยู่ที่ 17,187 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 2.18 ของมูลค่าการส่งออกรวมไปยัง EU โดยอุตสาหกรรมเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มีมูลค่าการส่งออกที่ 13,746 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.74 ของมูลค่าการส่งออกรวมไปยัง EU และอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม มีมูลค่าการส่งออกที่ 3,441 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.44 ของมูลค่า การส่งออกรวมไปยัง EU  ขณะที่สินค้าเคมีภัณฑ์ที่ EU อยู่ระหว่างการพิจารณามีการขยายขอบเขตให้เข้าร่วมมาตรการ CBAM ด้วยนั้น มีมูลค่าการส่งออกที่ 9,397 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.19 ของมูลค่าการส่งออกรวมไปยัง EU

    อย่างไรก็ดี แม้ตลาด EU จะไม่ใช่ตลาดหลักของผู้ส่งออกไทยในอุตสาหกรรมภายใต้ CBAM ผู้ประกอบการส่งออกไทย ก็ยังควรเร่งปรับตัวรองรับมาตรการดังกล่าว เพื่อรักษาฐานลูกค้าใน EU และอาจมีโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มเติมหากผู้ส่งออกจากประเทศอื่นไม่สามารถปรับตัวรองรับมาตรการได้ทัน นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินมาตรการในประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับ EU เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายและอาจจะเริ่มมีการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเช่นเดียวกัน CBAM ในปี 2567 ซึ่งสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทยในอุตหสาหกรรมเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก และอะลูมิเนียม โดยในปี 2564 โดยมีมูลค่าการส่งออกถึง 40,594 และ 17,365 ล้านบาท ตามลำดับ และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 และ 21 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปทั่วโลก

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

SME อยากโตรับเทรนด์ ESG แม่ทัพกรุงศรีเอสเอ็มอี แนะ ลด-เพิ่ม-สร้าง โอกาสพลิกธุรกิจโตยั่งยืน

“ESG” คือตัวย่อของคำว่า Environment (สิ่งแวดล้อม)  Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่เพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ทว่าแม้แต่เอสเอ็มอี ก็สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน