ใหญ่แค่ไหนก็เคยล้ม เหตุใดแบรนด์ดังระดับโลกที่เกือบเจ๊ง จึงกลับมาผงาดได้

 

     ทำธุรกิจมา ใครไม่เคยล้มเหลวบ้าง?

     อยากบอกว่าความผิดหวัง และล้มเหลวเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ ไม่ว่าใครก็ต้องเคยผ่านจุดนี้มาด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่แบรนด์ดังระดับโลกที่ทุกวันนี้ธุรกิจเติบโตเป็นพันๆ เป็นหมื่นๆ ล้าน ก็เคยเจอวิกฤติเกือบล้มละลายมาแล้วเชื่อไหม แต่สุดท้ายพวกเขาก็กลับลุกขึ้นมายืนได้อีกครั้งหนึ่ง มีแบรนด์อะไรบ้างลองไปดูกัน

Airbnb เกือบเจ๊ง เพราะถ่ายรูปไม่สวย

     Airbnb โมเดลธุรกิจแบ่งปันที่พัก (Home Sharing) ที่ช่วยเปลี่ยนจากบ้านพักทั่วไปให้กลายเป็นห้องพักส่วนตัวสำหรับนักท่องเที่ยวที่เปิดให้บริการทั่วโลก โดยก่อตั้งธุรกิจขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 2551 ณ ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย จากสามเพื่อนซี้ “โจ เกบเบีย” นักสื่อสิ่งพิมพ์ “ไบรอัน เชสกี” นักออกแบบ และ “นาธาน เบลชาร์ซีก” ผู้ซึ่งนำไอเดียของเพื่อนหนุ่มสองคนที่คิดนำห้องพักที่เช่าเอาไว้มาปล่อยเช่าต่อพร้อมบริการอาหารเช้า ด้วยการจัดสร้างเป็นเว็บไซต์ขึ้นมาเปิดให้เจ้าของบ้านพักต่างๆ ได้นำห้องพักว่างของตนมาลงให้เช่า โดยไม่จำกัดประเภทมีให้เลือกได้ตั้งแต่เต๊นท์ติดดิน จนถึงคฤหาสน์หรู

     แต่ด้วยความที่พาร์ทเนอร์ธุรกิจทุกคน ซึ่งก็คือ เจ้าของบ้านพักในแต่ละหลัง ไม่ได้ทำธุรกิจห้องพักแบบมืออาชีพ การจัดวาง หรือถ่ายรูปออกมาโชว์จึงไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างห้องพักจากเกสต์เฮ้าส์ โรงแรมต่างๆ ทำให้ไม่สะดุดตาลูกค้าที่จะมาพัก แถมในตอนแรกเว็บไซต์ก็ใช้ชื่อยาวๆ ว่า “airbedandbreakfast.com” มาก่อน ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เคยประสบปัญหาเกือบล้มละลายมีรายได้เพียง 200 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์มาแล้ว วิธีการที่ถูกนำมาใช้แก้เกม ก็คือ การจัดตั้งทีมขึ้นมาเพื่อตระเวนถ่ายที่พักตามบ้านเรือนต่างๆ ที่เข้ามาลงห้องว่างไว้เสียใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเว็บให้สั้นลงเหลือแค่ “Airbnb.com” ซึ่งยังคงความหมายเดียวกับชื่อเดิม เพียงแต่ย่อให้สั้นลง ธุรกิจก็กลับพลิกฟื้นขึ้นมาแถมได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ทั่วโลกด้วย

Marvel ธุรกิจการ์ตูนฮีโร่ที่กลับมาฮิตได้ เพราะภาพยนตร์

     Marvel Comic สำนักพิมพ์ตีพิมพ์ชุดภาพการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ที่โด่งดังในอเมริกามากว่า 60 ปี โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2504 โดยธุรกิจเจริญรุ่งเรืองในช่วงยุค 80s โดยในปี 2532 Marvel ถูกซื้อกิจการโดย Ronald R. Perelman หลังจากนั้นบริษัทถูกนำเข้าตลาดหุ้น เพื่อต่อยอดจากธุรกิจผลิตหนังสือการ์ตูนสู่การผลิตของเล่นของสะสม กระทั่งในยุค 90s เศรษฐกิจในสหรัฐฯ ซบเซาลง ทำให้เกิดสินค้าค้างสต็อกมากมาย บริษัทต้องเผชิญกับภาวะขาดทุน กระทั่งยื่นขอล้มละลายในปี 2539

     โดยต่อมาหลับจากยื่นขอล้มละลายแล้วก็ได้ควบรวมกิจการกับ Toybiz และได้ทำการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยการขายลิขสิทธิ์เหล่าซูเปอร์ฮีโร่ที่สร้างขึ้นมาแทนการขายเป็นสินค้า จากนั้นได้ก่อตั้ง Marvel Studios ขึ้นมาจัดทำเป็นแพ็กเกจเขียนบท หานักแสดง ผู้กำกับพร้อม เพื่อขายให้กับบริษัทอื่นนำไปผลิตเป็นภาพยนตร์ แต่เนื่องจากได้ผลตอบแทนน้อย ไม่คุ้ม ภายหลังจึงได้ลงทุนสร้างเองทั้งหมด ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและทำให้ธุรกิจพลิกกลับมาโด่งดังได้อีกครั้ง เพราะภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง Iron Man สามารถทำกำไรสูงให้กับมาร์เวลได้อย่างล้นหลามมากกว่ายอดเงินที่พวกเขากู้มาสร้างทำภาพยนต์เสียอีก

Converse แบรนด์ที่รอดจากความตายด้วยมือคู่แข่ง

     บริษัท Converse Rubber Shoe Company ผู้ผลิตรองเท้าผ้าใบแบรนด์ “Converse” ก่อตั้งขึ้นในปี 2451 โดยเริ่มธุรกิจจากผลิตรองเท้ายางก่อน ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นรองเท้ากีฬาในปี 2458 โดยจุดที่ทำให้ชื่อเสียงของคอนเวิร์สโด่งดังขึ้นมา ก็คือ เมือนักบาสเก็ตบอลชื่อดังอย่าง Charles H. “Chuck” Taylor เข้ามาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้ โดยใส่รองเท้ารุ่น All-Star ในทุกๆ การแข่งขัน กระทั่งในยุค 80s เริ่มมีแบรนด์รองเท้ากีฬาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ Adidas, Puma, Nike ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดหายไปอย่างมากบวกกับการตัดสินใจที่ผิดพลาดทางธุรกิจ จึงทำให้ปี 2544 บริษัทต้องล้มละลายลง

     แต่สุดท้ายแบรนด์ก็กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง เมื่อคู่แข่งอย่าง Nike ได้เข้าซื้อกิจการในอีกสองปีต่อมา ด้วยเงิน 9,675 ล้านบาท โดยไนกี้ได้วางโมเดลธุรกิจของแบรนด์คอนเวิร์สใหม่ ด้วยการทำให้มีราคาถูกลง จับต้องได้มากขึ้น ด้วยการย้ายฐานการผลิตจากอเมริกาไปยังประเทศแถบเอเชียที่มีต้นทุนค่าแรงถูกกว่า รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับให้สามารถสวมใส่ได้สบายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาดีไซน์เอกลักษณ์คลาสสิกของคอนเวิร์สไว้เช่นเดิมในฐานะรองเท้าแฟชั่นแนววินเทจ คอนเวิร์สจึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยในปีแรกที่ไนกี้เข้ามาซื้อกิจการก็สามารถทำรายได้ถึง 6,450 ล้านบาท กระทั่ง 14 ปีต่อมา ในปี 2560 คอนเวิสมีรายได้มากถึง 65,855 ล้านบาททีเดียว

STARBUCKS กู้วิกฤตได้ด้วยการตัดคำว่า Coffee ออกจากโลโก้

     จากการเป็นแบรนด์ร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ที่มีสาขากระจายไปทั่วโลก คงไม่เคยมีใครคิดว่าครั้งหนึ่ง Starbucks เองก็เคยเกือบเพลี่ยงพล้ำถึงขั้นเกือบไม่ได้ไปต่อมาแล้ว โดยในปี 2551 ที่สหรัฐฯ เกิดวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ ราคาน้ำมันแพงขึ้น ค่าครองชีพก็สูงขึ้น การเข้าร้านกาแฟจึงกลายเป็นการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยไปโดยปริยาย จนทำให้รายได้ของสตาร์บัคในไตรมาส 4 ปีนั้นร่วงลงไปถึง 96 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน เพราะต้องนำเงินบางส่วนมาจ่ายชดเชยให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างไปด้วย

     ผู้บริหารของแบรนด์แก้เกมด้วยการเริ่มจากปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรก่อนถึง 676 แห่งด้วยกันในอเมริกา ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้สูงถึง 370 ล้านเหรียญใน 9 เดือน จากนั้นจึงรีแบรนด์และปรับภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์สู่การเป็นผู้นำรสชาติกาแฟตัวจริง เริ่มจากตัดคำว่า Coffee ออกจากโลโก้สินค้าในปี 2554 ให้คงเหลือไว้แต่ชื่อแบรนด์ พร้อมกับแตกไลน์การผลิตไปสู่สินค้าอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการจำหน่ายกาแฟเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกาแฟสำเร็จรูปและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ส่งเสริมให้เกิดแบรนด์รอยัลตี้มากขึ้น จึงทำให้แบรนด์พลิกวิกฤตกลับมาเป็นแบรนด์ยอดนิยมได้อีกครั้งหนึ่ง

Apple กลับมาได้ เพราะคนที่เคยถูกไล่ออก

     Apple ก่อตั้งขึ้นในปี 2519 โดย Steve Jobs และเพื่อนของเขาชื่อว่า Steve Wozniak แต่ต่อมาในปี 2558 สตีฟ จอบส์ กลับถูกคณะกรรมการของบริษัทกดดันให้ลาออก เขาจึงได้ออกมาตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ใหม่ของตัวเองขึ้นมาชื่อว่า “NexT” ซึ่งในขณะนั้นก็ดูเหมือนว่า Apple จะแย่ลงเรื่อยๆ จากปัญหาที่มีภายในองค์กร และการไม่เข้าใจต่อความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า จนสุดท้ายสตีฟ จอบส์ ซึ่งเคยเป็นพนักงานที่ถูกไล่ออก ก็ถูกเรียกตัวกลับคืนมาเพื่อกู้สถานการณ์ของบริษัท โดยเขายื่นข้อเสนอการกลับไปด้วยการให้ Apple ซื้อกิจการ NeXT ของเขาในปี 2540

     แต่ถึงแม้สตีฟ จอบส์จะพยายามปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่ด้วยจำนวนเงินสดที่มีอยู่เหลือเพียงน้อยนิด พอใช้ดำเนินการได้อีกเพียงแค่ 3 เดือนหรือ 90 วัน จึงทำให้เขาตัดสินใจในสิ่งที่สร้างความตกใจให้กับผู้คนด้วยการขายหุ้นให้กับ Microsoft ของ Bill Gates ซึ่งเปรียบเหมือนคู่แข่งทางธุรกิจในยุคที่ Apple เองก็เคยผลิตคอมพิวเตอร์ขายมาก่อน ด้วยเงินกว่า 4,700 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นที่ไม่สามารถออกเสียงตัดสินใจต่อการบริหารได้ จนสุดท้าย Apple ก็กลายเป็นบริษัทอเมริกันแห่งแรกที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) มากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐได้สำเร็จ

     ในที่นี้หลายคนอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใด คู่แข่งทางธุรกิจอย่าง Microsoft จึงยอมช่วย Apple ที่เป็นเหมือนคู่แข่งทางธุรกิจ ด้วยการเหมือนเอาเงินไปให้ฟรีๆ โดยไม่มีสิทธิ์ออกเสียงได้ ว่ากันว่าเหตุผลที่ทำแบบนั้น เป็นเพราะ Bill Gates เองก็กำลังถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลในการเป็นบริษัทที่ผูกขาดทางการค้า ซึ่งการช่วยซื้อหุ้นของ Apple ทำให้คำครหาดังกล่าวหมดไป และไม่สามารถเอาผิดเขาได้นั่นเอง จึงเรียกว่าเป็นการตัดสินใจที่วินๆ ด้วยกันทั้งคู่

 

TEXT : กองบรรณาธิการ

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน