ถอดสูตรลับ Au Bon Pain คาเฟ่ในโรงพยาบาลเจ้าแรกๆ ของไทย ทำยังไงธุรกิจถึงอยู่รอดมาได้ 25 ปี

TEXT : Surangrak. Su

 

      ถ้าพูดถึงธุรกิจสุดฮอตแห่งพ.ศ.นี้ที่มีคนนิยมทำกันมาก หนึ่งในนั้นต้องมี “ธุรกิจคาเฟ่ และร้านกาแฟ” รวมอยู่ด้วยแน่นอน แต่ด้วยจำนวนผู้แข่งขันที่มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ต่างทยอยเข้ามาลงเล่นกันอยู่เรื่อยๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำพาธุรกิจให้อยู่รอดมาได้ หลายร้านต่างต้องล้มหายต่างจากไป แต่หลายแบรนด์ก็ยังอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ Au Bon Pain (โอบองแปง) เบเกอรีคาเฟ่สัญชาติอเมริกาที่เข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ยุควิกฤตต้มยำกุ้ง หรือเรียกว่าตั้งแต่ที่เมืองไทยยังไม่เกิดกระแสคาเฟ่ฟีเวอร์เลยด้วยซ้ำ ผ่านมา 25 ปี อะไร คือ สิ่งที่ทำให้แบรนด์ยังยืนหยัดครองใจผู้บริโภคชาวไทยต่อเนื่องมาได้อย่างยาวนาน วันนี้ลองมาถอดสูตรลับธุรกิจไปพร้อมกัน

      Au Bon Pain สาขาแรกเปิดตัวในไทยเมื่อปี 2540 ในรูปแบบร้านเบเกอรี่คาเฟ่ ณ อาคารสินธร ถนนวิทยุ ภายในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท “มัดแมน” ซึ่งได้รับสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ จากบริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกาให้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 60 สาขา โดยสิ่งที่ทำให้โอบองแปงสามารถมัดใจผู้บริโภคชาวไทยไว้ได้มีดังนี้

ชูจุดแข็งร้านกาแฟที่เน้นขายเบเกอรีเป็นหลัก

      ภาคิน เพ็ญภาคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึงจุดแข็งของ Au Bon Pain ในงานครบรอบ 25 ปีของแบรนด์ข้อแรกให้ฟังว่า Au Bon Pain มีจุดเด่น คือ เป็นร้านกาแฟที่เน้นจำหน่ายเบเกอรี เช่น ครัวซองต์ แซนด์วิช ขนมปัง คุกกี้ เค้ก และซุปเป็นหลัก เพื่อให้รับประทานคู่กับเครื่องดื่ม เพื่อเป็นอาหารเช้า หรือมื้อรับประทานง่ายๆ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบของผู้คนยุคปัจจุบัน โดยยอดขายของ Au Bon Pain กว่า 80 เปอร์เซ็นต์มาจากเบเกอรีและแซนด์วิช และเครื่องดื่ม 20 เปอร์เซ็นต์

      โดย Au Bon Pain มีโรงงานผลิตเบเกอรีเป็นของตัวเอง จึงสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้าที่ดี และสดใหม่ทุกวันได้ด้วยตนเอง จึงทำให้เกิดแฟนพันธุ์แท้ของแบรนด์ที่ติดตามมาตั้งแต่วันเริ่มต้นแรกๆ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาที่ร้านมาเพื่อจุดประสงค์ในด้านอาหารและเบเกอรีเป็นหลักเครื่องดื่มเป็นรองจากเมนูคลาสสิกดั้งเดิมที่ทำขายมานาน เช่น แซนด์วิช ครัวซองต์ เป็นต้น คาแรกเตอร์การทำธุรกิจของ Au Bon Pain จึงแตกต่างจากคาเฟ่ร้านกาแฟในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เน้นเพื่อการถ่ายรูปสวย

      แต่ทางแบรนด์เองก็มีการปรับปรุงบรรยากาศให้มีความทันสมัยมากขึ้น มีการปรับบรรยากาศภายในร้านให้มีความสว่างมากขึ้นให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ ในด้านเมนูอาหารก็มีการเพิ่มเมนูซีซันนอลใหม่ๆ ออกมามากขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ แต่แทนที่จะจัดเพียงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 30 วันเหมือนแบรนด์อื่นๆ ก็ขยายเวลาให้นานขึ้นเป็น 45 – 60 วัน เพื่อให้ลูกค้าที่เกิดความประทับใจได้มีโอกาสกลับมารับประทานซ้ำได้ อีกทั้งยังช่วยให้บริหารจัดการสต็อกได้ง่ายขึ้นด้วย เป็นการประหยัดต้นทุนวัตถุดิบจากที่ต้องเตรียมแค่ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงกว่า ก็ขยับให้มีปริมาณเยอะขึ้น ต้นทุนถูกลง   

ยึดหัวหาดจับกลุ่มโรงพยาบาล – ออฟฟิศบิวดิ้ง ไม่ตามกระแส

     นอกจากจุดเด่นในคาแรกเตอร์ของร้านที่เน้นขายเบเกอรีเป็นหลัก การเลือกโลเคชั่นก็เป็นอีกหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจของ Au Bon Pian เช่นกัน โดยโลเคชั่นที่ Au Bon Pian เลือกเปิดสาขานั้นกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ คือ ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลเป็นหลัก รองลงมา คือ ออฟฟิศบิวดิ้ง 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ และศูนย์การค้า 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แม้ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาหลายธุรกิจต้องปิดสาขาบางแห่งลงชั่วคราว แต่ Au Bon Pian ก็สามารถเปิดสาขาที่มีส่วนใหญ่ได้ และมีรายได้เข้ามาจุนเจือธุรกิจ ซึ่งโมเดลดังกล่าวนี้ เริ่มทำมาตั้งแต่ช่วง 2 – 3 ปีแรกที่แบรนด์เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย

      “Au Bon Pian ถือเป็นแบรนด์ร้านกาแฟและเบเกอรี่แรก ๆ ที่เข้ามาเปิดสาขาในโรงพยาบาล โดยสาขาแรกเปิดอยู่ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เมื่อ 23 ปีก่อน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี โดยเรามองเห็นโอกาสว่าเป็นตลาดใหม่ยังไม่มีคู่แข่งลงมาเล่นมากนัก จึงยึดโมเดลนี้ในการขยายสาขาเป็นหลักมาตลอด จนกลายเป็นผู้นำในธุรกิจร้านกาแฟและเบเกอรีในโรงพยาบาล โดยในโรงพยาบาลเราสามารถขายได้ตลอดทั้งวัน จากจำนวนลูกค้าที่เป็นคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลตลอด และไม่มีวันหยุด รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์เองก็เป็นลูกค้าประจำ ทำให้มีโอกาสในการขายมากกว่า ต่างจากศูนย์การค้าที่เวลาขายดีส่วนใหญ่ คือ วันหยุด เวลาพักเที่ยง หรือไม่ก็หลังเลิกงาน และด้วยโมเดลดังกล่าวนี้ทำให้ช่วงโควิด-19 ในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา เรายังสามารถเปิดดำเนินการสาขาหลักที่มีอยู่ได้”

      ผู้บริหาร Au Bon Pian เล่าเพิ่มเติมว่าจุดเริ่มต้นโมเดลดังกล่าวนี้ก็สอดรับกับการทำการค้าของร้านต้นแบบที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นกันที่เลือกเปิดอยู่ในโรงพยาบาลและออฟฟิศบิวดิ้ง โดยมีลูกค้ารอต่อคิวยาวเพื่อเข้าใช้บริการเช่นกัน โดยสำหรับเป้าหมายในปีนี้มองว่าจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 5 แห่ง โดยเป็นสาขาในโรงพยาบาลถึง 3 แห่งทีเดียว

      “การที่ Au Bon Pian ประสบความสำเร็จในการเปิดสาขาในโรงพยาบาลต่างๆ ได้ เรามองว่าเพราะเขาเชื่อมั่นในแบรนด์เป็นหลัก ซึ่งความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยในทุกๆ ปีเราก็มีการตรวจสอบมาตรฐานอยู่ตลอด รองลงมา คือ เรื่องคุณภาพสินค้า การบริการ และความสะอาด ซึ่งตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีเราก็ทำได้แบบนี้มาตลอด นี่น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาเชื่อมั่นในแบรนด์ของเราและทำให้เราเป็นผู้นำในโมเดลธุรกิจนี้”

เน้นสร้างประสบการณ์ ให้บริการที่สาขาเป็นหลัก

      ทุกวันนี้โลกออนไลน์จะเติบโตมากขึ้นเพียงใด หรือในขณะที่หลายธุรกิจต่างมุ่งสู่การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ เพื่อช่วยลดต้นทุน แต่สำหรับ Au Bon Pian แล้ว การเติบโตทางธุรกิจที่สำคัญ ก็ยังคงมุ่งเน้นที่การเพิ่มจำนวนสาขาเป็นหลัก

      “สำหรับ Au Bon Pian เรายังไม่ได้มีโมเดลหลากหลาย เรายังให้ความสำคัญเน้นสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าที่สาขาเป็นหลัก ยังไม่ได้มองถึงฟู้ดทรัค หรือคีออส หรือเดลิเวอรีเหมือนแบรนด์อื่นๆ ซึ่งเรามองว่าลูกค้าเราก็ยังเป็นคนที่ต้องการได้นั่งรับประทานในร้าน ในบรรยากาศที่ดี เรามองว่าขึ้นอยู่กับคาแรกเตอร์ของแต่ละแบรนด์มากกว่าที่จะมุ่งไปทางไหน สำหรับการขยายสาขาในยุคนี้อาจถูกมองว่าเป็นต้นทุนที่สูง แต่เราก็เลือกใช้วิธีการทำการบ้านคัดสรรโลเคชั่นที่ค่อนข้างหนักพอสมควร รวมไปถึงการบริหารจัดการภายใน ไม่ว่าจะเป็นการจัด Lay Out ในร้าน เพื่อดึงดูดลูกค้าในการซื้อ การเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ก็เลือกให้สามารถขยับเคลื่อนที่ได้มากขึ้น เพื่อนำมาใช้ทดแทนกันได้ และด้วยความที่เรามีแบรนด์ถือครองอยู่ในมืออีกหลายแบรนด์ เช่น ดังกิ้นโดนัท จากเดิมแทนที่เราจะเลือกใช้อุปกรณ์คนละยี่ห้อ ก็เปลี่ยนมาใช้ยี่ห้อเดียวกัน ก็มีอำนาจการต่อรองมากขึ้น ช่วยประหยัดต้นทุนได้มากกว่า เป็นอีกวิธีที่ทำให้เราสามารถประหยัดต้นทุนในการทำธุรกิจได้ แม้จะเน้นการขยายสาขาเป็นหลักก็ตามที” ผู้บริหาร Au Bon Pian กล่าวทิ้งท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ