คุยกับ อภิรักษ์ โกษะโยธิน พลิกเกมยังไง ให้ธุรกิจสตรอง ในสนาม Plant Based Food

TEXT : จีราวัฒน์ คงแก้ว

 

     เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน SME Thailand มีโอกาสพูดคุยกับ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพแบรนด์ “วี ฟาร์ม” (V Farm)ในวันที่ประกาศกลยุทธ์ทรานฟอร์มธุรกิจสู่สนาม Plant-Based Food ประเดิมด้วยการไปลงทุนในบริษัท Food Tech Startup “มอร์มีท” พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันอย่าง “ลาบทอดจากพืช” ออกมาสร้างสีสันสู่ตลาด

     ผ่านมา 2 ปี ก้าวย่างของ วี ฟู้ดส์ ดูมั่นคงและชัดเจนขึ้น มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ขยายตลาดออกไปทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งยังมี Strategic Partner รายใหญ่อย่าง บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มาเติมจุดแกร่งให้ธุรกิจ และพันธมิตรอีกหลายภาคส่วน เขาคิดและทำแบบไหน แล้วตลาดนี้ยังสดใสจริงหรือไม่ ไปฟังคำตอบกัน!    

     Q : ในช่วงสองปีที่ผ่านมาหลังการประกาศทรานฟอร์มธุรกิจสู่บริษัท Plant-Based Food อย่างเต็มตัว มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้างกับวี ฟู้ดส์ และตลาด Plant-Based ประเทศไทย

     อภิรักษ์ : เราเริ่มธุรกิจทางด้าน Plant-Based เมื่อต้นปี 2020 ก็ถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาในตลาด ในตอนนั้นผมมีโอกาสพบกับบริษัท Food Tech Startup ชื่อ มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค ที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชแบรนด์ มอร์มีท เลยชวนมาทำงานด้วยกัน ซึ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าตลาดเริ่มมีความตื่นตัวและคึกคักมากขึ้น ในปี 2020 มีผู้ประกอบการคนไทยเข้ามาอีก 3-4 แบรนด์ ช่วยทำให้ตลาดมีการรับรู้ และเริ่มมีการนำโปรตีนจากพืชเข้ามาโปรโมทในช่วงเทศกาลกินเจ เรียกว่าเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ เพราะสมัยก่อนอาหารเจส่วนใหญ่จะเป็นพวกโปรตีนเกษตรทำนองนั้น

     ในปลายปี 2020 เราจึงตัดสินใจลงทุนในบริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค ซึ่งนอกเหนือจากช่วยกันโปรโมทสินค้ามอร์มีทแล้ว ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้ออกผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ตัวเองคือ “วี ฟาร์ม” โดยทำผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นซีรีส์ที่เรียก Classic Thai Taste ทั้งหมด 4 รสชาติ คือ วี ฟาร์ม ลาบทอดจากพืช, ต้มยำทอดจากพืช, ทอดมันข้าวโพดเนื้อปูผลิตจากพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช รสกะเพรา และในช่วงกลางปีมีโอกาสทำงานร่วมกับ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ในการวิจัยพัฒนา และเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับเราออกในช่วงเทศกาล Plant-Based เมื่อปีที่แล้วด้วย

     Q : ดูเหมือนว่าในช่วงที่ผ่านมา วี ฟู้ดส์ จะไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่มีความร่วมมือกับพันมิตรหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่อย่าง ไทยยูเนี่ยน หรือแม้แต่บริษัท Startup อย่างมอร์มีท คุณอภิรักษ์มีแนวคิดในเรื่องนี้อย่างไร

     อภิรักษ์ :  ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจเมื่อประมาณ  8 ปีก่อน ผมพบว่า กลยุทธ์ที่จะทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคสมัยใหม่ได้นั้น คือการหาจุดแข็งที่เป็นความสามารถหลักขององค์กร (Core Competency) ของเรา และหาเครือข่ายที่เป็น Strategic Partner ที่จะทำงานร่วมกันได้ อย่างเราเชื่อว่า วี ฟู้ดส์ มีจุดแข็งคือการมีประสบการณ์อย่างต่อเนื่องในเรื่องการทำแบรนด์แพ็กเกจจิง และการวิจัยนวัตกรรม

     เรามองว่าในเรื่องอื่นถ้าสามารถไปร่วมมือหาพันธมิตรที่มาทำงานร่วมกันได้ ก็จะช่วยทำให้เราในฐานะที่เป็น SME สามารถทำงานของเราต่อไปได้  ตอนแรกเราไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดโดยทำในรูปแบบของคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) จากนั้นก็ไปร่วมมือกับบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์ที่มีโรงงานและเครือข่ายเกษตรกร

     ในส่วนของการวิจัยนวัตกรรม เนื่องจากเราเป็น SME ก็ใช้การทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา แล้วก็หน่วยงานนวัตกรรมของประเทศ โดยมีการไปขอทุนวิจัย แล้วร่วมวิจัยกับอาจารย์มหาวิทยาลัย จากนั้นก็สามารถเอาผลงานวิจัยนี้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ นี่เป็นสิ่งที่บริษัทได้ใช้เป็นแนวทางในการทำงานตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

     Q : การที่ วี ฟู้ดส์ ซึ่งเป็นบริษัท SME ต้องมองหา Strategic Partner ที่ใช่มาเติมเต็มจุดแข็งให้ธุรกิจ ทำอย่างไรถึงจะดึงดูดบริษัทที่มีศักยภาพให้มาทำงานร่วมกันได้

     อภิรักษ์ : สำคัญเลยคือ เราต้องมีความชัดเจนในโรดแมปของบริษัทฯ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นทิศทางการทำงานและการที่เรามองการเติบโตของเราว่าจะเป็นอย่างไร อย่างวี ฟู้ดส์ แรกๆ คนอาจมองว่าเราเป็นบริษัทขายข้าวโพด แต่ตอนหลังเราก็มีการรีแบรนด์ดิ้ง สร้างเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจนในระยะยาวว่าจะเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพืชเป็น Plant-Based Food  ที่ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบจากเครือข่ายเกษตรกรในประเทศไทย แล้วก็เน้นในเรื่องของการวิจัยนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความยั่งยืน

     ซึ่งเมื่อเรานิยามตัวเองได้ชัดเจนแล้ว ต่อมาก็จะมาดูว่าในส่วนที่เป็น Core Competency หรือจุดแข็งที่บริษัทเราสามารถทำได้ดี อันนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นตัว “ดึงดูด” ให้บริษัทที่มีแนวทางการทำงานใกล้เคียงกัน หรือมองเป้าหมายร่วมกัน ให้มาทำงานร่วมกับเราได้

     สำหรับ Strategic Partner เราไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่อย่างบมจ.ไทยยูเนี่ยน หรือบริษัท Startup อย่างมอร์มีทเท่านั้น  แต่ยังรวมไปถึงสถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานวิจัยต่างๆ พอเราเริ่มทำแบบนี้ จะทำให้คนที่อยู่ในซัพพลายเชนของธุรกิจ Plant-Based Food  หรือธุรกิจอาหาร เกิดการทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เราจะเริ่มเห็นอีโคซิสเต็มของการทำ Plant-Based Food ก็จะทำให้พอเห็นแนวทางได้ว่าเราควรไปเชื่อมโยงกับบริษัทหรือหน่วยงานลักษณะไหน ที่จะมาเติมเต็มทิศทางการทำงานของเราได้

     Q : วันนี้จะเห็นได้ว่ามีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเยอะมากทั้งรายใหญ่ รายเล็ก คุณอภิรักษ์ มองการแข่งขันที่เปลี่ยนไปนี้อย่างไร และวางกลยุทธ์เพื่อรับมือการแข่งขันอย่างไร

      อภิรักษ์ : เมื่อตลาดมีการแข่งขันแน่นอนว่าคงเหนื่อยขึ้น แต่ผมเชื่อว่าอย่างน้อยจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดเติบโตเร็วขึ้น เนื่องจากคนจะมีการรับรู้ในสินค้า Plant-Based มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังที่บริษัทขนาดใหญ่เริ่มเข้ามา ในส่วนผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนไปจากคนทั่วไปที่ทานมังสวิรัติหรือทานเจในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจำกัด วันนี้มีกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่เติบโตอย่างมากที่เรียกว่า Flexitarian พูดง่ายๆ คือการทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น โดยอาจจะไม่ต้องทานทุกวัน ทุกมื้อ แต่เป็นกลุ่มคนร่วมสมัยที่อยากดูแลสุขภาพแล้วก็เห็นความสำคัญของการลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยกลุ่มนี้จะมีอยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ แต่เเน่นอนเขาอาจไม่ได้ทานทุกวัน

     กับสองนอกเหนือจากแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในท้องตลาดมากขึ้นแล้ว ตอนนี้เราจะเริ่มเห็นร้านอาหารมีการโปรโมทเมนู Plant-Based มากขึ้น ซึ่งนี่จะเป็นอีกตัวเร่งที่ทำให้คนตื่นตัว และทำให้ตลาดเติบโตขึ้นอีกมาก

     อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ผมยังมองเป็นบวกว่า ผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ตลาดตื่นตัว อาจจะเรียกว่าเป็นช่วงที่มีการให้ความรู้ตลาด (Educate)  ให้คนรับรู้มากขึ้น แต่แน่นอนว่าพอมีการแข่งขันสูง บริษัท SME ก็อาจจะได้รับผลกระทบ ซึ่งสิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย คือการแข่งขันในเรื่องราคา เพราะจะไม่ช่วยให้ตลาดได้รับการพัฒนาเลย แต่เราควรเอางบประมาณมาเน้นในเรื่องของการพัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่มีคุณภาพ หรือใช้ในเรื่องของการโปรโมทให้ความรู้กับผู้บริโภคมากกว่า เพื่อช่วยกันทำให้ตลาดนี้เติบโตขึ้นมา แทนที่จะมาแข่งตัดราคากันเอง อันนี้เป็นเรื่องหลักเลยที่ผมอยากจะแชร์ให้กับผู้ประกอบการในตลาด เพราะสุดท้ายแล้วประโยชน์ก็จะกลับมายังผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกมากขึ้น

     Q : ท่ามกลางทางเลือกที่มากขึ้นของผู้บริโภคยุคนี้ วี ฟู้ดส์ มีกลยุทธ์อย่างไรที่จะฉีกตัวเองออกจากตลาด Plant-Based Food อื่นๆ เพื่อสร้างจุดยืนของตัวเองในตลาดนี้

     อภิรักษ์ :  จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเราครอบคลุมทั้ง 3 เซ็กเมนต์ ตั้งแต่ Plant-Based Food ที่เป็นผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน (Ready to Eat) กลุ่ม Plant-Based Meat (มอร์มีท) และ Plant-Based Milk เครื่องดื่มนมที่ทำจากพืช

     ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เราจะมีความแตกต่าง อย่าง วี ฟาร์ม เราเป็นแบรนด์แรกที่ออกผลิตภัณฑ์ Plant-Based ที่เรียกว่า โฮลฟู้ด (Whole Food) หรืออาหารที่ผ่านการปรุงแต่งหรือดัดแปลงน้อยมาก ปัจจุบันตลาด Plant-Based ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแปรรูป (Processed Foods) ที่ทำคล้ายเนื้อสัตว์ แต่ของ วี ฟาร์ม เราจะเป็นผลิตภัณฑ์โฮลฟู้ด 100 เปอร์เซ็นต์ Plant-Based โดยเริ่มต้นเรามี 4 ผลิตภัณฑ์ คือ Champignon Mushroom Nuggets แชมปิอญองนักเก็ต, Buffalo Cauliflower Wings ดอกกะหล่ำปีวิงซ์ ที่ให้รสชาติเสมือนเนื้อไก่ทอด, Spinach with Vegan Chees bite ชีสบอลสปินิช และ Mix Root  Vegetable Fire เฟรนช์ฟรายมัน 4 อย่าง ได้แก่ มันหวาน มันม่วง มันส้ม และมันฝรั่ง

     โฮลฟู้ดเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างมากในอเมริกาและยุโรป ทำไมผมถึงสนใจตัวนี้ ต้องยอมรับว่า วันนี้คนส่วนใหญ่ยังทานอาหารปกติอยู่ พูดง่ายๆ คนไทยยังเน้นอาหารอร่อย แต่พอมีกระแสดูแลสุขภาพ รักษ์โลก คนรู้จัก Plant-Based  มากขึ้น แต่พบว่าคนส่วนหนึ่งยังไม่กล้าลองทานเพราะมีความรู้สึกว่ารสชาติไม่อร่อย แต่ว่าผลิตภัณฑ์โฮลฟู้ดที่เราพัฒนาขึ้น จะทำให้เขากล้าที่จะรับประทาน Plant-Based  ได้มากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่รู้จักเมนูเหล่านี้ดีอยู่แล้ว

     Q : ในการคุยกันครั้งก่อนคุณอภิรักษ์พูดถึงวิชั่นในการนำพา Plant-Based ไทยไปสู่ตลาดโลก ในวันนี้วี ฟู้ดส์ เดินทางมาได้ไกลแค่ไหนแล้ว และโอกาสของแบรนด์ Plant-Based ไทยในตลาดโลกมีมากน้อยแค่ไหน

     อภิรักษ์ : เมื่อปีที่ผ่านมาเราได้ทดลองนำผลิตภัณฑ์ไปขายในต่างประเทศ คือที่อังกฤษ และฮ่องกง ตามแนวเครือข่ายร้านอาหารไทย อย่างฮ่องกง ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก เพราะคนฮ่องกงรู้จักอาหารไทยดีอยู่แล้ว และแบรนด์ที่มาจากเมืองไทยก็ได้รับการยอมรับ ซึ่งปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าเป็นต้นไป ตลาดส่งออกยังเป็นเป้าหมายหลักของเรา เพราะต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีการแข่งขันสูงขึ้น และการที่เราไม่ได้จำกัดตัวเองแค่เฉพาะตลาดในประเทศ จะทำให้เราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้วขยายธุรกิจได้เร็วขึ้น เนื่องจากว่าเรามีโปรดักต์ที่มากขึ้น อย่าง มอร์มีทก็มีอีก 4 SKU ของ วี ฟาร์ม เองก็อีกอย่างน้อย 3 SKU ตอนนี้เราก็มีโอกาสผลิตในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ต้นทุนการผลิตก็ลดลง และมีโอกาสที่จะขยายไปในต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งเราทำงานใกล้ชิดกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) ที่มีเครือข่ายของทูตพาณิชย์หรือไทยเทรดอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงเครือข่ายของสภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรม ที่ทำงานส่งเสริมตลาดฟิวเจอร์ฟู้ดซึ่ง Plant-Based Food ก็เป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์หลักของฟิวเจอร์ฟู้ด

     ในส่วนของตลาดส่งออกเป้าหมาย เราเน้นไปที่กลุ่มอาเซียนพลัสเป็นหลัก ตลาดที่สองคือ อเมริกา เพราะถือว่ามีความพร้อมในเรื่องของ Plant-Based และเป็นตลาดที่เติบโต นี่เป็นอย่างน้อยเป็นสองตลาดหลักที่เราจะมุ่งไป

     สำหรับตลาด Plant-Based สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดได้เปรียบของไทยเรา คือเรื่องของวัตถุดิบ โดยเรามีความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบทางการเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าอาหาร นอกจากนี้ต้องถือว่าวัตถุดิบจากประเทศไทยหรือแม้แต่อาหารไทยได้รับการยอมรับในระดับโลก แต่สิ่งที่ผมเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน คือการสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งตอนนี้มีการสนับสนุนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะการที่เรามีหน่วยงานนวัตกรรมเยอะมาก แล้วไม่ได้เน้นเฉพาะในเรื่องของฟู้ดเทคโนโลยีเท่านั้น แต่มีการช่วยตั้งแต่ต้นน้ำคือการส่งเสริมวัตถุดิบโปรตีนจากพืช เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราจะใช้ถั่วเหลืองซึ่งเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ตอนนี้จึงมีการศึกษาวัตถุดิบอื่นที่สามารถส่งเสริมปลูกในประเทศไทยได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับเครือข่ายเกษตรกรไทย และถ้าเราส่งเสริมวัตถุดิบในประเทศ ก็จะช่วยเรื่องการขนส่งต่างๆ เพิ่มจุดแข็งในอนาคตให้กับเราด้วย

     แต่แน่นอนว่าวันนี้ตลาดในบ้านเรายังเล็กมาก ฉะนั้นมีความจำเป็นที่ต้องหาพันธมิตรเพื่อทำงานร่วมกัน พูดง่ายๆ คือต่างคนต่างไปอาจจะเหนื่อย และยิ่งถ้าเป็นบริษัทเล็กอาจจะไม่ง่ายนัก การมีเครือข่ายในการทำธุรกิจ เป็นอีกวิธีที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเติบโตในต่างประเทศได้เร็วขึ้น

     Q : ในมุมมองของคุณอภิรักษ์ มองว่า Plant-Based Food ยังมีอนาคตหรือไม่ ถ้าใครจะเข้ามาทำต้องทำอย่างไรถึงจะรอดและเติบโตได้

     อภิรักษ์ : ผมเชื่อว่ายังมีโอกาส เพราะนี่ยังเป็นช่วงแรกเพิ่งเริ่มตื่นตัวมาแค่ 2 ปีเอง คนที่เข้ามาในยุคหลัง บางคนอาจมองว่าตลาดเริ่มมีการแข่งขันสูง และมีแบรนด์ใหญ่หรือแม้แต่บริษัทที่อยู่มาก่อนอยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วถ้าเราสามารถสร้างจุดยืนของผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างได้ ก็จะทำให้เราสามารถเติบโต หรือเกิดได้ในตลาด Plant-Based เมืองไทย เมื่อสักครู่เราอาจพูดเฉพาะตลาดที่เป็น Plant-Based Food เป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วในตลาด Plant-Based Milk ก็ต้องถือว่าเติบโตเร็วมากแล้วก็ใหญ่ด้วย อย่างในอเมริกา Plant-Based Milk ใหญ่กว่าตลาด Plant-Based Meat เสียด้วยซ้ำ ในเมืองไทยเองตลาดนี้ก็เติบโตเร็วมาก

     ผมยังเชื่อว่า Plant-Based ยังมีความหลากหลาย และไม่ได้จำกัดเฉพาะ Plant-Based Meat, Plant-Based Food หรือ Plant-Based Milk เท่านั้น ตอนนี้เราจะเห็น อย่าง Plant-Based Cheese ก็มี Plant-Based Dessert  ที่เป็นของหวานก็มี เป็นไอศกรีมก็มี ฉะนั้นผมยังเชื่อว่า มีโอกาสเปิดให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจตลาดนี้อยู่เสมอ ซึ่งในอนาคตเมื่อผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายขึ้น ก็จะทำให้คนเริ่มทานเมนู Plant-Based ได้ง่ายขึ้น บางคนอาจไม่ถนัด Plant-Based Meat ก็อาจจะเริ่มจาก Plant-Based Ice cream ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้ตลาดนี้เติบโตขึ้นอีกมากในอนาคต

     วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่จะมาร่วมงาน PLANT BASED Festival 2022 มหกรรมอาหารแห่งอนาคต ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 กันยายนนี้ ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ ชั้น 5 ใครอยากรู้จักผลิตภัณฑ์ Plant-based แนวใหม่ๆ หรือหาไอเดียดีๆ มาต่อยอดธุรกิจก็ไปพบกันได้ที่งานนี้

วี ฟู้ดส์

www.vfoodsthailand.com

https://vfarmth.com          

FB : V Farm TH

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน