ทำไมธุรกิจคาเฟ่ในเอเชียจึงบูม ถูกจับตาเป็นศูนย์กลางกาแฟโลก ทั้งที่เริ่มจากวัฒนธรรมการดื่มชา

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     เป็นที่ทราบกันว่าชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำเปล่า และเอเชียซึ่งเกาะติดวัฒนธรรมการดื่มชาอย่างเหนียวแน่นมาแต่โบราณกลับโอบรับกาแฟ เครื่องดื่มคาเฟอีนอีกชนิดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งจนกลายเป็นปรากฏการณ์ด้านวัฒนธรรมที่นำไปสู่อุตสาหกรรมทำเงินในที่สุด

     ข้อมูลจากองค์การกาแฟสากลระบุอัตราการบริโภคกาแฟในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นราว 1.5 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทียบกับยุโรป และสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น 0.5 และ 1.2 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ส่งผลให้เอเชียถูกจับตามองว่าจะกลายเป็นศูนย์กลางกาแฟโลกในเร็ววันนี้ ปัจจัยหนึ่งมาจากการขยายจำนวนของชนชั้นกลางในสังคมซึ่งเป็นกลุ่มที่กระตือรือร้นที่จะลิ้มลองทุกอย่างที่เป็นกระแส

     อย่างไรก็ตาม การบริโภคกาแฟในเอเชียส่วนหนึ่งยังมาจากการถ่ายโอนวัฒนธรรมที่เกิดในยุคอาณานิคมและเป็นการรับอิทธิพลจากฝั่งตะวันตก ไปดูกันว่า 5 ประเทศเอเชียที่มีการขับเคลื่อนจากเครื่องดื่มชาไปยังกาแฟนั้นเกิดขึ้นเมื่อไรและมีความแตกต่างกันอย่างไรจนนำไปสู่สังคมแห่งการบริโภคกาแฟ

     เวียดนาม ขึ้นแท่นประเทศส่งออกกาแฟรายใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล และเป็นรายใหญ่สุดในเอเชีย กาแฟถูกนำมาปลูกครั้งแรกในเวียดนามยุคอาณานิคมฝรั่งเศสช่วงศตวรรษ 19 และหยั่งรากฝังลึกนับแต่บัดนั้น นอกจากกาแฟดริปด้วยกระป๋องอลูมิเนียมใส่นมข้นหวานอันเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องดื่มที่ขายกันริมทาง ปัจจุบันยังควบคู่ไปกับกาแฟตามร้านคาเฟ่ที่สกัดแบบหลากหลายวิธีโดยบาริสต้า

     เมื่อกาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ความพิถีพิถันในการเลือกกาแฟก็มีมากขึ้น ตั้งแต่แหล่งที่มา ประเภทของการคั่ว ไปจนถึงรสชาติที่ได้ คาเฟ่ต่าง ๆ จึงสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ บางคาเฟ่ที่เป็นแบรนด์ข้ามชาติถึงกับนำเข้าเมล็ดกาแฟจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกมาบริการ

     ขณะที่ผู้ปลูกกาแฟในเวียดนามเองที่เคยเน้นส่งออกก็พยายามเพิ่มมูลค่าของเมล็ดกาแฟโรบัสต้าด้วยการพัฒนาคุณภาพและคัดสินค้าเกรดดีเพื่อจำหน่ายในประเทศ ทายาทของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรุ่นหลัง ๆ ไม่ได้โฟกัสที่การส่งออกอย่างเดียวแต่ยังขยายธุรกิจด้วยการเปิดเชนคาเฟ่เพื่อบริการลูกค้าท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวด้วย สำหรับชาวเวียดนาม ร้านกาแฟและคาเฟ่ริมทางถือเป็นที่มั่นสุดท้ายที่ลูกค้าสามารถใช้บริการพร้อมกับเสพความเป็นไปของชีวิตผู้คนบนท้องถนน   

     อินโดนีเซีย มีความคล้ายเวียดนามตรงเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมนำกาแฟมาเผยแพร่และมีการปลูกกาแฟเป็นล่ำเป็นสันจนถึงปัจจุบัน จนอินโดนีเซียกลายเป็นผู้ส่งออกกาแฟมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และใหญ่อันดับ 4 ของโลก ธุรกิจกาแฟได้รับความนิยมแพร่หลายหลังจากที่เชนร้านคาเฟ่ต่างชาติ เช่น สตาร์บัคส์ขยายบริการเข้ามา

     ประกอบกับความต้องการที่สูงขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะบรรดานักเรียนนอกที่ไม่เพียงใช้บริการ แต่ยังเข้ามาจับธุรกิจคาเฟ่อีกด้วย หนึ่งในนั้นคืออิมาน กุสุมาปุตรา ซึ่งจบด้านการเงินจากออสเตรเลียและกลับมาเปิดคาเฟ่ชื่อ Kopikalyan 3 สาขาในจาการ์ตาและเพิ่งขยายไปโตเกียวเมื่อปลายปี 2020 โดยทางร้านเน้นใช้เมล็ดกาแฟอาราบิก้าที่เป็นผลผลิตของอินโดนีเซียที่คัดจาก 8 พื้นที่ปลูกด้วยกัน ตั้งแต่อาเจะห์ไปจนถึงปาปัว

     ทั้งนี้ อินโดนีเซียประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวนมาก กาแฟที่มาจากแต่ละที่ให้รสชาติแตกต่างกันไป จึงกลายเป็นจุดเด่น และเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างมากได้แก่กาแฟเย็นใส่นมและน้ำตาลมะพร้าว แม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่ผู้คนนิยมดื่มชามาก่อน แต่ปัจจุบัน กาแฟได้กลายเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะร้อยละ 90 ของประชากรเป็นมุสลิม เมื่อแอลกอฮอล์เป็นของต้องห้าม นอกจากชาแล้ว กาแฟจึงกลายเป็น social drink หรือเครื่องดื่มเพื่อเข้าสังคมอีกทางเลือกหนึ่งนั่นเอง     

     จีน ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของคาเฟ่ข้ามชาติอย่าง สตาร์บัคส์ และคอสต้าคอฟฟี่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 ได้จุดประกายให้คนรุ่นใหม่หันมาดื่มกาแฟ แต่หลังจากนั้น ธุรกิจคาเฟ่ท้องถิ่นที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้นำพาวัฒนธรรมการดื่มกาแฟมายังสังคมจีนอย่างกว้างขวาง

     ธุรกิจกาแฟในจีนบูมมากแค่ไหน ดูเซี่ยงไฮ้เมืองเดียวก็พอจะบอกได้ ข้อมูลเมื่อปี 2021 ระบุเซี่ยงไฮ้ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่มีร้านกาแฟแบบ stand-alone มากสุดในโลกด้วยจำนวน 6,913 ร้าน เทียบกับโตเกียวที่มี 3,826 ร้าน ลอนดอน และนิวยอร์ก 3,233 และ 1,519 ร้านตามลำดับ   

     กลุ่มผู้บริโภคที่ทำให้ธุรกิจกาแฟในประเทศเติบโตคือคนหนุ่มสาววัยทำงานที่อาศัยในเมืองและมีกำลังซื้อสูง คนเหล่านี้พร้อมที่จะเกาะทุกกระแส กาแฟจึงถือเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่งและที่นิยมอย่างมากคือบริการแบบเดลิเวอรี มีการคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟจีนยังเติบโตในอัตรา 27 เปอร์เซ็นต์ต่อปีและจะมีมูลค่า 1 ล้านล้านหยวนในปี 2025

     ญี่ปุ่น เป็นอีกเทศที่มีวัฒนธรรมการดื่มชาที่เหนียวแน่นมาก แต่เชื่อหรือไม่ ญี่ปุ่นเป็นตลาดกาแฟที่ใหญ่มาก ปี 2020 ที่ผ่านมา ยอดขายกาแฟในญี่ปุ่นมีมูลค่าสูงถึง 34,450 ล้านดอลลาร์ มาซาฮิโร คันโนะ ประธานสมาคมกาแฟสเปเชียลตี้ของญี่ปุ่นแสดงทัศนะว่าชาอาจยังเป็นเครื่องดื่มหลัก แต่จำนวนคนดื่มกาแฟก็เพิ่มมากขึ้น เลยกลายเป็นว่าความนิยมในการดื่มกาแฟเริ่มแซงหน้าชาไปแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจชาอีกต่อไป

     สมาคมผู้ผลิตชาญี่ปุ่นเผยปริมาณการบริโภคชาในประเทศลดลงอย่างมาก ยกตัวอย่าง ปี 2019 ที่ลดลง 30 เปอร์เซนต์เหลือ 108,454 ตัน ในทางกลับกัน การบริโภคกาแฟในประเทศกลับเพิ่มขึ้น 5.8 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 452,903 ตัน วัฒนธรรมการดื่มกาแฟเริ่มแทรกซึมเข้ามายังญี่ปุ่นในยุคเมจิหรือคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนโหยหาความเป็นตะวันตก กระทั่งการมาถึงของสตาร์บัคส์ซึ่งกลายเป็นตัวเร่ง

     ราวปี 2010 บริการกาแฟตามสั่งตามร้านสะดวกซื้อทำให้ตลาดกาแฟในญี่ปุ่นขยายใหญ่มากขึ้น นอกจากกาแฟตามร้าน สินค้าที่เป็นเมล็ดกาแฟ และอุปกรณ์สำหรับชงกาแฟเพื่อใช้ที่บ้านก็ขายดีไม่แพ้กัน ไม่เท่านั้น วิถีการดำเนินชีวิตแบบเร่งรีบยังทำให้อุตสาหกรรมกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มได้รับอานิสงค์กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ เนื่องจากหาซื้อง่ายและราคาไม่แพง

     เกาหลีใต้ เมื่อเทียบจำนวนการบริโภคกาแฟต่อคน เกาหลีใต้นับได้ว่าบริโภคสูงสุดเป็นอันดับ 1 มากกว่า 300 แก้วต่อคนต่อปี แซงหน้าสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ตลาดกาแฟเกาหลีใต้เติบโตเร็วมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแม้จะเกิดวิกฤติโควิดระบาดก็ตาม

     สำหรับผู้บริโภคในเกาหลี ร้านคาเฟ่ต่าง ๆ ถือเป็น third place หรือสถานที่ที่พวกเขาใช้เวลานอกเหนือจากบ้าน และที่ทำงาน คนเกาหลีจึงนิยมสถิตตามคาเฟ่เพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใช้เป็นที่ติวหนังสือ อ่านหนังสือเตรียมสอบ คุยธุรกิจ ปลีกวิเวก นัดสังสรรค์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ปี 2021 ที่ผ่านมา เกาหลีนำเข้ากาแฟมากถึง 916 ล้านดอลลาร์ สถาบันวิจัยฮุนไดคาดการณ์ตลาดกาแฟเกาหลีใต้จะขยายตัวมีมูลค่า 9 ล้านล้านวอน (7,500 ล้านดอลลาร์) ในปีหน้า

     สืบเนื่องจากผู้บริโภคโดยเฉพาะชนชั้นกลาง และคุ้นชินกับวิถีตะวันตกแสวงหาไลฟ์สไตล์ รวมถึงการพิถีพิถันกับคุณภาพเครื่องดื่มอย่างกาแฟมากขึ้นจึงมีส่วนกระตุ้นให้ตลาดเติบโต เชื่อว่าไม่เฉพาะเกาหลีใต้ แต่การบริโภคกาแฟของคนรุ่นใหม่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในหลายประเทศเอเชีย

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Asia-s-coffee-revolution-From-Indonesia-to-Vietnam-homegrown-beans-are-back

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน