จะหาซัพพลายเออร์ยังไงให้ถูกใจ ฟัง “Janfive Studio” แบรนด์ที่ทำงาน กับซัพพลายเออร์ 100 กว่ารายเล่าให้ฟัง

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : Janfive Studio

 

     นอกจากไอเดีย ความคิด และเงินทุนที่ทำให้สามารถประกอบเป็นธุรกิจขึ้นมาได้แล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบที่เป็นกำลังสำคัญทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ก็คือ “ซัพพลายเออร์” ผู้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเนรมิตฝันให้เป็นจริงแก่ผู้ประกอบการทั้งหลาย เพราะหากไอเดียดี แต่ผลิตสินค้าออกมาไม่ได้คุณภาพ ธุรกิจก็คงไม่ประสบความสำเร็จได้ แต่การจะเฟ้นหาหรือดีลกับซัพพลายเออร์สักเจ้าหนึ่งให้ได้อย่างที่ต้องการนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย บางครั้งถูกใจงาน แต่อาจไม่ถูกใจราคา หรือระยะเวลาไม่ได้บ้าง กว่าจะได้ที่คลิกเข้ากันได้ จึงไม่ต่างจากการหาเนื้อคู่ดีๆ นี่เอง

     วันนี้เลยจะชวนมารู้จักกับ "Janfive Studio" แบรนด์สินค้าจากงานศิลปะ ผลงานการออกแบบของ เฟื่องลดา แวร์ดิญองต์ โดยจากประสบการณ์ทำงานมากว่า 7 ปี ทำให้ผลิตสินค้ามาแล้วนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ผ้าพันคอ กระเป๋าผ้า เทียนหอม จนถึงสินค้าตกแต่งบ้าน เช่น ชุดจานชามและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ผ้าม่าน วอลเปเปอร์ ผ่านการดีลกับซัพพลายเออร์มาแล้วเป็นร้อยๆ เจ้า มีเคล็ดลับอะไรน่าสนใจบ้างไปดูกัน

เผยสินค้า 1 อย่าง เคยใช้ซัพพลายเออร์มากสุดถึง 5 เจ้า!

     โดยก่อนจะมาเล่าเคล็ดลับให้ฟัง เฟื่องลดาได้พูดถึงความสำคัญของซัพพลายเออร์ พร้อมยกตัวอย่างการทำงานให้ฟังก่อน

     “ซัพพลายเออร์ คือ บุคคลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเราไปต่อได้หรือไม่ได้เลย เพราะ คือ ผู้ที่ถ่ายทอดไอเดียของเราออกมาเป็นสินค้าให้ออกสู่ตลาด เพราะบางครั้งดีไซน์สวยมาก แต่ผลิตออกมาคุณภาพไม่ดี ก็ไม่ได้ หรือของขายดีมากเลย แต่ผลิตไม่ทัน ไม่มีของขาย ก็ไม่ได้อีก นอกจากเรื่องเงินทุนแล้ว การจะทำธุรกิจขึ้นมาได้เราจึงมองว่ามาจาก 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.ประสบการณ์ที่สั่งสมมา 2. ตัวเราเอง และ 3. ซัพพลายเออร์ เป็น 1 ใน 3 ส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเราเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้

     “โดยเอกลักษณ์ของงาน Janfive ทุกชิ้น คือ เราจะใช้วิธีออกแบบภาพวาดขึ้นมาก่อนจากสิ่งที่เราสนใจ จากนั้นจึงนำมาต่อยอดพิมพ์ลงบนวัสดุต่างๆ เช่น ผ้า, แก้ว, จาน, ชาม โดยจุดเด่นของงานเรา คือ เราจะใช้สีฟ้าและครามเป็นหลัก โดยในแต่ละชิ้นงานที่ทำออกมา เราต้องดีลกับซัพพลายเออร์หลายเจ้า อย่างมากที่สุดที่เคยทำมา ก็คือ เทียนหอม เราใช้ซัพพลายเออร์มากถึง 5 เจ้าเลย เพราะรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เริ่มตั้งแต่ 1. คนทำหัวน้ำหอม พอหลังจากได้หัวน้ำหอมแล้ว เราก็ต้องไปดีลกับคนที่ 2. คือ คนทำแก้วใส่เทียน โดยออกแบบขึ้นมาใหม่เฉพาะแบรนด์ของเราเลย จากนั้นก็ต้องไปคนที่ 3. คือ คนพิมพ์ลวดลายบนแก้ว เสร็จแล้วพอทุกอย่างพร้อมก็มาถึงขั้นตอนที่ 4. คือ คนทำเทียน เพื่อนำหัวน้ำหอมที่ได้มาผสมรวมกับเทียน เพื่อบรรจุลงในขวดแก้ว ส่วนคนสุดท้ายที่ 5.ก็คือ คนทำกล่องใส่เทียน จึงจะได้เป็นสินค้าออกมาหนึ่งชิ้น”

     โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เธอได้ฝากคำแนะนำสำหรับเพื่อนผู้ประกอบการเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ไว้ดังนี้

  • เลือกคนที่เปิดใจคุยด้วยได้

     

     “การเลือกซัพพลายเออร์ไม่มีสูตรตายตัว หลายครั้งที่เราต้องทดลองหาไปเรื่อยๆ ซึ่งบางครั้ง 10 เจ้า เราอาจจะเจอแค่เจ้าเดียวก็ได้ ก็เหมือนกับเนื้อคู่ ซึ่งการทำงานจะออกมาดี ต้องอาศัยความเชื่อใจ ดังนั้นควรเลือกคนที่ยอมเปิดใจคุยกับเรามากที่สุด เพราะเราต้องทำงานด้วยกันไปอีกนาน”

  • รูปแบบต้องชัดเจน

     

     “เวลาไปคุยกับซัพพลายเออร์เราต้องสรุปจบกับตัวเองให้เรียบร้อยก่อนว่าเราต้องการทำออกมาในรูปแบบไหน ใช้วัสดุอะไรหรือประมาณไหน จำนวนประมาณเท่าไหร่ เพราะเวลาไปคุยกับซัพพลายเออร์ 1. เขาจะดูก่อนว่าทำได้ไหม 2. ต้นทุนสูงไปหรือเปล่า เขาจะตีราคามาให้ ซึ่งซัพพลายเออร์แต่ละเจ้าก็มีกติกาการทำงานไม่เหมือนกันอีก เช่น บางเจ้าอาจใช้เวลาผลิตเป็นสัปดาห์ หรือบางเจ้าอาจเป็นเดือน รวมถึงข้อจำกัดอื่นๆ เป็นต้น ดังนั้นเราต้องชัดเจนในตัวเองก่อน”

  • เผื่อเวลาไว้แต่เนิ่นๆ

     

     “ในการจะผลิตสินค้าขึ้นมาสักชิ้น ไม่ใช่มีแค่ระยะเวลาในการผลิตเท่านั้น แต่ยังต้องมีเรื่องการหาวัตถุดิบ ซึ่งบางครั้งอาจมีปัญหาติดขัดขึ้นมาได้ เหมือนกับในช่วงโควิด-19 ที่กว่าจะนำวัตถุดิบเข้ามาจากต่างประเทศได้ ต้องใช้เวลานานมากกว่าปกติ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ทันการกับระยะเวลาที่เรากำหนดออกขาย ดังนั้นจึงควรเผื่อเวลาในการทำงานไว้ด้วย อย่างของแบรนด์ Janfive ในการคิดสินค้าออกมาแต่ละคอลเลคชั่น เราวางแผนล่วงหน้าเป็นปีๆ เลย ซึ่งการวางแผนดีไว้แต่เนิ่นๆ ก็เหมือนมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว”

  • อย่าผลิตเยอะเกินไป

     

     “ด้วยความที่เป็นคนตัวเล็ก การจะผลิตสินค้าขึ้นมาแต่ละอย่างค่อนข้างต้องใช้เงินเยอะ และใช้ระยะเวลานาน ไปจนถึงขั้นตอนในการขายก็ต้องใช้เวลาอีก ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจที่จะผลิตอะไรควรคิดคำนวณให้ดีๆ ไม่ควรผลิตเยอะเกินไป ควรเลือกทำในแบบที่คิดว่าน่าจะขายได้ ออกได้เร็ว เพราะถึงแม้ผลิตจำนวนเยอะ ได้ต้นทุนถูกก็จริง แต่สุดท้ายถ้าต้องใช้เวลานานกว่าจะขายหมด มันก็คือ ต้นทุนที่จมไป อาจทำให้เกิดสภาพคล่องที่ไม่ดีนัก”

  • เวลา คือ ต้นทุนที่สำคัญที่สุด

     

     “ต้นทุนที่สำคัญที่สุดของการทำธุรกิจ จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เงินลงทุน แต่ คือ เวลาที่ต้องเสียไป เพราะเมื่อใช้เวลาในการผลิตนานเกินไป นอกจากทำต้นทุนจมแล้ว ยังทำให้เสียโอกาสหลายๆ อย่างที่เข้ามา ตั้งแต่โอกาสในการขาย, การทำกำไร, การที่แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น

  • อย่าเปลี่ยนซัพพลายเออร์บ่อยๆ

     

     “เพราะการเปลี่ยนซัพพลายเออร์จะทำให้งานเราเปลี่ยน ลูกค้าที่เป็นขาประจำเขาสามารถรู้ได้ เหตุผลอีกข้อ ก็คือ การเปลี่ยนบ่อยๆ ก็เหมือนต้องไปเริ่มสตาร์ทใหม่ เสียทั้งเวลา ทำไปแล้วก็ไม่รู้จะถูกใจอีกหรือเปล่า ฉะนั้นหากอยู่กับเจ้าไหนแล้วรู้สึกถูกใจแล้ว งานโอเค ต้นทุนโอเค มีเทคนิคฝีมือดี ก็ควรเก็บรักษาไว้ อย่าเปลี่ยนบ่อยๆ ”

3 กลยุทธ์มัดใจซัพพลายเออร์ให้อยู่ด้วยกันไปนานๆ

  • ทำให้มองเห็นภาพเดียวกัน

     

     การจะทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ให้ราบรื่นได้ ตั้งแต่แรก คือ เราต้องทำให้เขามองเห็นภาพเดียวกันก่อน ต้องทำให้เขาเข้าใจในลักษณะงานของเรา เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการ เปรียบเหมือนเราเป็นสมอง แต่เขา คือ แขน ขา ทำให้ชิ้นงานของเราสำเร็จออกมาได้อย่างที่ต้องการ

  • อย่ากดราคา

     

     ข้อต่อมาที่จะทำให้เราและซัพพลายเออร์ทำงานร่วมกันไปได้นานๆ ก็คือ การถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ดังนั้นถึงแม้เราต้องการต้นทุนถูกที่สุด แต่ก็อย่ากดราคาเขาเกินไป ให้คิดไว้เสมอว่าเขาอยู่ได้ เราอยู่ได้

  • ทำให้มองเห็นอนาคต

     

     นอกจากต้องการงานปริมาณเยอะๆ เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนการผลิตของเขาแล้ว อีกสิ่งที่ซัพพลายเออร์ต้องการจากเจ้าของแบรนด์ ก็คือ งานระยะยาว มีความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ถึงแม้ช่วงแรกเราอาจผลิตจำนวนไม่เยอะ แต่ถ้าทำให้เขามองเห็นอนาคตร่วมกันได้ว่า แบรนด์เราเติบโตได้อย่างแน่นอน เราสามารถป้อนงานให้เขาได้ตลอด ก็ทำให้เขาตกลงใจที่จะทำธุรกิจร่วมกับเราได้ คอยซัพพอตและช่วยเหลือเราได้

Janfive Studio

https://web.facebook.com/janfivestudio

โทร. 091 979 9369

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน