คุยกับนคร ชีวินกุลทอง ทายาทไร่ชาวังพุดตาล ใช้ไอเดียพลิกฟื้นธุรกิจด้วยงบจำกัด

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : ไร่ชาวังพุดตาล Wang Put Tan Tea Plantation

Main Idea

  • ทายาทไร่ชาวังพุดตาล พลิกสถานการณ์ ลงทุนทางไอเดีย กู้วิกฤตเรียกนักท่องเที่ยวกลับขึ้นเที่ยวดอยแบบใช้งบน้อยที่สุด

 

  • แค่รู้จุดเด่น จุดด้อยของตัวเอง ใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า เพิ่มกลุ่มลูกค้าให้กลับมาคึกคักได้ดีกว่าเก่า

 

     วายร้ายไวรัสอย่างโควิดเล่นงานสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งให้ซบเซาจนน่ากลัวแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องมาเจอการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทุกวัน หากจะเรียกแขกให้กลับมา สิ่งที่ผู้ประกอบการหลายคนมักคิดถึงเป็นอย่างแรกๆ คือต้องใช้งบก้อนโตๆ และสิ่งนี้ก็กลายเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการตัวเล็กๆ อีกหลายคนเช่นกัน ทว่าภายใต้ข้อจำกัดนี้ ทายาทไร่ชาวังพุดตาล นคร ชีวินกุลทอง ได้ทำลายลงพร้อมกับใช้เป็นสารตั้งต้นที่ฟื้นธุรกิจที่ซบเซาของเขาให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง

     นี่คือเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ที่ไม่ยอมจำนนกับข้อจำกัดเดิมๆ

หาจุดเด่น ล้างจุดด้อย

     การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในช่วง 5-8 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะมีการแข่งขันสูงแล้ว นคร ยังวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับไร่ชาวังพุดตาล คือ มีไร่ชาใหม่ๆ เกิดขึ้นในตัวเมืองทำให้นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องขึ้นดอยก็สามารถเที่ยวไร่ชาได้ แถมยังสามารถซื้อหาได้สะดวกขึ้นตามช่องทางออนไลน์

     สิ่งเหล่านี้ทำให้นครไม่สามารถอยู่เฉยๆ มัวแต่นั่งรอลูกค้าเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

     แน่นอนเขารู้ว่าต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยสิ่งหนึ่งที่จะเรียกนักท่องเที่ยวให้กลับมาได้ดีในยุคนี้คือ ต้องมีจุดถ่ายรูปให้นักท่องเที่ยวเช็กอิน แต่ก่อนลงมือสร้างจุดถ่ายรูปเขาจึงสำรวจจุดแข็งจุดด้อยของตัวเอง แล้วก็พบว่า

     จุดด้อย คือ ทุนน้อย 

     จุดเด่น คือ อากาศ บรรยากาศที่ดี มีความเป็นธรรมชาติ

     “ถ้าพูดถึงความหรูหราเราสู้ในเมืองไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของธรรมชาติพวกนี้เป็นอะไรที่ในเมืองหาไม่ได้เช่นกัน เรามาสร้างเอกลักษณ์ตรงนี้ดีกว่า เพราะนักท่องเที่ยวที่ขึ้นดอยมาหาความเรียบง่าย สบายใจ เราก็ค่อยๆ ปรับปรุงสถานที่ไปเรื่อยๆ กระตุ้นด้วยการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทำคาเฟ่ ได้โปรโมทสินค้าไปด้วย”

     ส่วนการตกแต่งจุดถ่ายรูปนครย้ำว่า ไม่ได้ลงทุนมาก เพียงนำของที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ทำพร็อบถ่ายรูปก็นำตะกร้าเก็บชาที่มีอยู่แล้วมาตกแต่งให้ดูสวยงามขึ้น

ลูกค้าตอบรับดี

     หลังจากที่ได้ปรับปรุงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับไร่ชาวังพุดตาล นครบอกว่า อย่างแรกคือ ได้กลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มคนอายุประมาณ 40 อัพที่ชอบดื่มแต่ชาร้อน ปัจจุบันได้กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น เพราะคนมาเที่ยวคาเฟ่มักเป็นคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ก็สามารถขายเครื่องดื่มได้หลากหลายมากขึ้นจากที่เคยขายแต่ชาร้อน ก็มีทั้งชาเย็น ชาผลไม้ ฯลฯ

     “ด้วยบรรยากาศหลายๆ อย่างทำให้อรรถรสการดื่มชาดีขึ้น วัยรุ่นบางคนมาเที่ยวแล้วได้ดื่มชาก็ซื้อชากลับไปฝากผู้ใหญ่ เรียกว่าผลตอบรับดีกว่าเดิม แต่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเราต้องพัฒนาต่อไป ทุกอย่างต้องรันตลอดเวลาจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้”

     แม้แต่เรื่องบรรจุภัณฑ์นครก็บอกว่าหลังจากโควิด เขาพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป นิยมซื้อชาแพ็กเล็กมากกว่า ดังนั้นเขาจึงปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เล็กลงและทำให้ทันสมัยขึ้น

     ส่วนช่องทางการขายนอกจากปรับไปสู่ออนไลน์แล้วก็ยังต้องออกงานแสดงสินค้ามากขึ้น โดยนครย้ำว่าถึงแม้การออกบูธไม่ได้ขายคล่องเหมือนอดีต แต่ก็ยังจำเป็นเขาเปรียบว่า “เหมือนไปเยี่ยมลูกค้า หรือนำสินค้าใหม่ๆ ไปโชว์ ได้คุยสร้างความสัมพันธ์ บางทีลูกค้าก็กลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด”

     นครกล่าวเสริมว่า ด้วยความที่ชามันมีเสน่ห์ มีศิลปะ เป็นเหมือนสะพานสื่อให้เราได้รู้จักผู้คนหลากหลายขึ้น การอยู่ในวงชาคล้ายๆ สภากาแฟ มีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์มาก และมันก็ทำให้เขาหลงรักธุรกิจนี้และพร้อมที่จะรักษามันให้ดีที่สุด มันเป็นธุรกิจหล่อเลี้ยงให้เขาเติบโตขึ้นมาด้วย

     ทุกอย่างมีการลงทุน แต่การลงทุนบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน อะไรคือจุดเด่นจุดด้อยในธุรกิจคุณ คำถามง่ายๆ ที่อาจทำให้ธุรกิจคุณเติบโตขึ้นได้

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย