คุยกับ พงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา แนวคิด circular economy นวัตกรรมเปลี่ยนขวด PET ให้เป็นธุรกิจเงินล้าน

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : เจษฎา ยอดสุรางค์

Main Idea

  • เมื่อธุรกิจรับเหมาของครอบครัวมีปัญหาทำให้เกิดภาระหนี้สิ้น ลูกชายคนโตจึงเสียสละยุติการเรียนเพื่อมาช่วยทางบ้าน

 

  • จากเด็กหนุ่มม. 5 ทำธุรกิจการ์เมนต์รับตัดเย็บเสื้อผ้า มีลูกน้องกว่า 200 คน

 

  • สู่เจ้าของโรงงาน บริษัทไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด ที่เปลี่ยนขวด PET ให้เป็นฮีโร่กลับสู่สังคมเพื่อลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมที่ทั้งทำรายได้และยังพาให้บริษัท คว้ารางวัล THAILAND TOP SME AWARDS 2022

 

     เพราะขวด PET เป็นพลาสติกที่นิยมนำไปใช้ทำเป็นขวดบรรจุน้ำดื่มมากที่สุด ทำให้มีการผลิตขวดประเภทนี้ออกมาเป็นจำนวนมากและท้ายสุดก็กลายเป็นขยะเป็นผู้ร้ายในสายตาคนทั่วไป

     ทว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการขวดประเภทนี้ โดยเฉพาะคนจีนทราบข่าวว่าประเทศไทยมีขวด PET ฝังกลบอยู่เป็นจำนวนมาก ถึงขนาดจ้างรถแบ็คโฮมาขุดเพื่อเอานำกลับไปรีไซเคิล แต่ก็ไม่เพียงพอกับการกำจัดเพราะด้วยปริมาณขวด PET ที่มากขึ้นทุกวัน นั่นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลทำให้ พงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด ตั้งปณิธานว่าต้องการจะลดปริมาณขยะด้วยแนวคิด Circular Economy ชุบชีวิตขวด PET จากผู้ร้ายในสายตาคนทั่วไปให้กลับไปเป็นของที่มีมูลค่าในสังคมอีกครั้ง

     SME Thailand Online ได้มีโอกาสพูดคุยถึงแนวคิดวิธีการทำธุรกิจรีไซเคิลให้เติบโตอย่างยั่งยืน และวิธีบริหารองค์กรทั้งภายในภายนอก ซึ่งมีข้อมูลหลายอย่างน่าสนใจในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ทั้งเงินและได้ทั้งรางวัล

Q: แนวคิดที่ทำให้ลุกขึ้นมาประกอบธุรกิจรีไซเคิลจากขวด PET

     จริงๆ แล้วคุณพ่อทำธุรกิจรับเหมา แต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมเป็นลูกชายคนโตตอนนั้นเรียนม. 3 เลยตัดสินใจออกมาช่วยแบ่งภาระทางบ้าน ทำทุกอย่างตั้งแต่ขายหนังสือการ์ตูน ซื้อผ้ามาไปตัดเย็บเป็นเสื้อ ผมเคยทำเสื้อสกรีนคำว่า “โสด” ได้ไอเดียมาจาก Music Video ของเบิร์ด ธงไชย ขายดีมาก วันหนึ่งขายได้ประมาณ 500 โหล ทำธุรกิจนี้ได้ประมาณสองปีมีลูกน้องประมาณ 200 คน ส่งเสื้อไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทย และส่งต่างประเทศด้วย

     กระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสได้คุยกับเจ้าของโรงงานที่มาซื้อเสื้อเขากำลังหา Flake เกล็ดพลาสติกที่ทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิลจะเอาไปทำเป็นเส้นใยผลิตเสื้อผ้า พอดีผมอยากหาอะไรทำใหม่ๆ สนใจก็ลองทำดู ก็เริ่มจากการเป็นเทรดดิ้งหาพลาสติกรีไซเคิล เริ่มจากหาให้เขาเดือนละ 50 ตันเพิ่มเป็น 400 ตัน จากนั้นก็เริ่มมีโรงงานอื่นๆ ติดต่อให้ช่วยหาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลให้เขาบ้าง ก็เริ่มทำเป็นธุรกิจเทรดดิ้ง

Q: การทำธุรกิจรีไซเคิลแบบนี้มีวิธีการหาลูกค้าอย่างไร

     ช่วงแรกกลุ่มลูกค้าหลักมาจากประเทศจีนที่ต้องการพลาสติกรีไซเคิลไปทำเส้นใยสั้นเพื่อเอาไปยัดหมอน ตุ๊กตา ส่วนที่สองเป็นกลุ่มลูกค้าโรงงานในเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละโรงงานจะออร์เดอร์ขั้นต่ำที่ 200 ตันขึ้นไป

     ประมาณ 15 ปีที่แล้ว ผมคิดว่าถ้าเราอยากจะสื่อสารกับคนภายนอกให้เขาอยากซื้อหรืออยากขายของให้เรา จำเป็นต้องมีเว็บไซต์ สมัยนั้นคำว่า www มาแรงมาก ผมจึงทำเว็บไซต์ตั้งชื่อเว็บว่า Thai Plastic Recycle เป็น 3 คำที่ง่ายๆ ตรงไปตรงมา แต่ว่าทรงประสิทธิภาพมาก คำว่า Thai จะช่วยให้ลูกค้าต่างประเทศเจาะจงมาหาพลาสติกเมืองไทยก็จะเจอ บวกกับคำว่าพลาสติก รีไซเคิล ก็จะทำให้ได้ลูกค้าตรงกลุ่มเลย ดังนั้นเว็บไซต์ Thai Plastic Recycle ถูกล็อกไว้เลยใน Google อันดับ 1-3 ไม่ต้องซื้อโฆษณา ได้ผลมากตอนนั้นผมไม่ต้องมีเซลล์ เว็บไซต์ทำงานให้เราทั้งหมด 24 ชั่วโมง ได้ลูกค้าจากหลายๆ ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ดูไบ ปากีสถาน สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน

     ตอนนั้นในวงการพลาสติกรีไซเคิลพูดได้เลยไม่มีใครทำเว็บไซต์ ผมกล้าพูดได้ผมเป็นโรงงานเจ้าแรกในวงการรีไซเคิลพลาสติกที่มีเว็บไซต์ ทำให้ลูกค้าเชื่อใจเรา แล้วผมเกิดจากเว็บไซต์และผมก็ภูมิใจกับมันด้วย จากที่จะใช้เป็นชื่อเว็บไซต์เฉยๆ ต่อมาก็นำไปตั้งชื่อบริษัท

Q: จากธุรกิจเทรดดิ้งทำไมถึงได้ตัดสินใจมาเปิดโรงงานพลาสติกรีไซเคิลที่เน้นรีไซเคิลขวด PET อย่างเดียว

     สิ่งที่เราเห็นคือ PET เป็นพลาสติกชนิดเดียวในกลุ่มพลาสติกทั้งหมดที่มีปริมาณการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ขวดเยอะที่สุด กลายเป็น waste ที่อยู่ในระบบมากที่สุด บวกกับตอนนั้นจีนมีการซื้อ Flake เกล็ดพลาสติกค่อนข้างเยอะ เราก็ผันตัวเองจากการเป็น trading มาสร้างโรงงาน เปิดเป็นบริษัท ปี 2558 ในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

     บริษัทเรารับขวดเข้ามา 2,500-3,000 ตันต่อเดือน หรือประมาณ 1,428 ล้านขวดต่อปี เราใช้ขวด PET ในประเทศอย่างเดียว ซึ่งเป็นนโยบายบริษัท เราต้องการเป็นโรงงานรีไซเคิลให้กับประเทศไทย

Q: จากการทำธุรกิจเทรดดิ้งผันสู่การเป็นโรงงานต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

     สิ่งที่เห็นตอนนั้นกระบวนการล้าง PET ยังไม่ค่อยมีคุณภาพ เลยตัดสินใจนำประสบการณ์ที่มีโอกาสได้เข้าโรงงานเยอะมาก เข้าใจสภาวะแวดล้อมโรงงาน วิธีการทำธุรกิจ เข้าใจกฏหมาย รูปแบบการวางแพลนเครื่องจักร รูปแบบการใช้แรงงาน เราเอาสิ่งที่รู้เห็นมาพัฒนา       

     อีกอย่างคือเรื่องของภาครัฐ สนับสนุนการใช้เรื่องของรีไซเคิล ทำให้อุตสาหกรรมตรงนี้เติบโตเร็วขึ้น มีเทคโนโลยีที่ถูกลง เราสามารถเอื้อมถึงได้ เป็นทางเลือกทำให้เรามีโอกาสย้ายจาก Red Ocean เป็นเทรดดิ้งแข่งขันกันที่ราคา มาสู่ Blue Ocean เน้นผลิตสินค้าที่มีคุณค่าส่งมอบให้กับโรงงานต่างๆ ช่วยให้เขาลดต้นทุนที่จะส่งออกไปตลาดต่างประเทศ 

     โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะมีกำแพงภาษีเกี่ยวกับเรื่องคาร์บอน แรงมาก 30-50% ดังนั้นการใช้วัตถุดิบรีไซเคิล รียูส ช่วยลดกำแพงภาษีให้ได้เปรียบหรืออย่างน้อยก็เท่ากับเจ้าอื่น

     จากการที่เราพัฒนาสินค้ามีคุณค่ามากขึ้น โอกาสที่เราได้เข้ามาคือ สามารถเปิดตลาดใหม่ๆ ได้ตลาดใหม่ๆ พวกตลาดแพ็กเกจจิ้ง พวกกล่องใส่อาหาร กล่องใส่ไข่ กล่องใส่ผลไม้ กล่องอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ฯลฯ

Q: คนภายนอกส่วนใหญ่มักมองว่าพลาสติกเป็นตัวร้าย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไรหรือไม่

     พลาสติกได้มาจากกระบวนการปิโตรเลียมคือน้ำมัน เคยเป็นพระเอกช่วงหนึ่งมาแทนทรัพยากรพวกไม้ เหล็ก แต่ข้อเสียคือใช้เวลาในการย่อยสลายนานเป็นร้อยปี แต่ที่บริษัทไทยพลาสติก เราไม่ได้มองเขาเป็นผู้ร้าย เราทำให้สิ่งที่คนจะทิ้งเอากลับมาชุบชีวิตใหม่ เราสร้างเขาให้เป็นพระเอกขึ้นมาอีกรอบหนึ่งเมื่อออกไปสู่สังคม

     ถ้าไม่มีพวกผม ต้องนำขวด PET ไปฝังใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะย่อยสลาย หรือใช้วิธีเผาก็จะสร้างมลภาวะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งที่บริษัทเราทำคือ ทำให้เกิดวงจร Circular Economy ผมมั่นในว่าเราคือ พระเอกนะ ในการทำให้เขามีชีวิตกลับมามีคุณค่าอีกรอบ เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลูกหลานพวกเรารุ่นต่อไป

     

Q: มีวิธีสื่อสารกับพนักงานอย่างไรให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานกับพลาสติกที่เป็นของเหลือทิ้งหรือขยะ

     ส่วนตัวผมมองว่าอุปสรรคภายในเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ก่อนเป็นบริษัทเราเป็นรูปแบบกงสี บริหารกันภายในครอบครัว คนมันน้อย แต่ด้วยปริมาณออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยทีมงานที่ดี มีคุณภาพ แต่จะทำอย่างไรให้พนักงานทั้งหมดเห็นภาพอย่างที่เราเห็นว่าสิ่งที่บริษัทเราทำอยู่ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อประเทศ เพื่อโลก

     ช่วงแรกๆ มีพนักงานลาออกเยอะมาก มีโอกาสได้ไปปรึกษาผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งท่านให้คำแนะนำมาว่า สิ่งที่ทำอยู่เราทำเรื่องมูลค่าหรือคุณค่า ผมได้โจทย์นี้มาช่วงแรกๆ นอนไม่หลับเลย เอาไปคิดทุกวันจนเข้าใจว่าไอ้มูลค่ากับคุณค่าต่างกันอย่างไร

     ในที่สุดผมตีโจทย์ออกว่า คุณค่าต้องเกิดจากข้างใน ก็เริ่มนำรูปภาพขวดพลาสติกลอยตามริมทะเลไปติดตามห้องแผนกต่างๆ แม้แต่ห้องน้ำ เพื่อให้คนที่มาทำงานรู้สึกเขามีภารกิจ ช่วยทำให้โลกดีขึ้น ให้ประเทศมีมลภาวะน้อยลง เราสร้างพลังบวกให้แก่เขา สร้างคุณค่าให้แก่เขาว่าสิ่งที่เขาทำอยู่พลากสติกที่เรียกว่าขยะที่เรียกว่า PET ให้กลับออกไปเป็นเพชรได้อีก

     พอ mindset เปลี่ยนทุกอย่างก็เปลี่ยน อัตราการลาออกเหลือ 2% จาก 20-30% เมื่อทุกคนเขาใจภารกิจ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนนิ่งขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตต่อชั่วโมงดีขึ้นทันทีเพราะทุกคนมีภารกิจในการจัดการ ต้องคอยบำรุงเครื่องจักรไม่ให้มันเสีย เมื่อก่อน 1 ชั่วโมงผลิตได้ 3.5 ตันตอนนี้ผลิตได้ 3.8 ตันต่อชั่วโมง

Q: เป้าหมายของบริษัท

     เราอยากเป็นบริษัทที่เติบโตแบบยั่งยืน ฉะนั้นจึงต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฏหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานการบริหารเรื่องน้ำเสีย เรื่องมาตรฐานต่างๆ อาทิ ISO 9001: มาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 14001: มาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญได้รับเครื่องหมาย Circular Mark ฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ถือเป็น SME ที่ได้เครื่องหมายนี้ ส่วนในการผลิตเกล็ดพลาสติกก็จะมีการตรวจ COA ค่ามาตรฐานต่างๆ โดยเฉพาะตัว PVC ห้ามเกิน 150ppm และเกล็ดพลาสติกขนาด ไม่เกิน 4-12 มิลลิเมตร

     ธุรกิจนี้อาจจะไม่ต้องใช้เทคโนโลยีมาก แต่กลับมีโรงงานที่เติบโตได้น้อย เพราะหลายโรงงานยังทำไม่ถูกต้องตามกฏหมาย อาทิ ขาดใบอนุญาตประกอบกิจการ ใบ รง. แต่เราทำทุกอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เพราะอนาคตเราเตรียมเข้าสู่ตลาด IPO อนาคตจะทำเป็นเม็ดรีไซเคิลแล้วจะกลับมาเป็นขวดใหม่ bottle to bottle เพื่อให้เกิดระบบ Circular Economy แบบครบวงจร

     ด้วยแนวคิดนี้ส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัล THAILAND TOP SME AWARDS 2022 ประเภทธุรกิจสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนแห่งปี ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับนิตยสาร Business+ บริษัท เออาร์ไอพี จ ากัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  นอกจากได้รางวัลแล้วปีที่ผ่านมาบริษัทยังทำรายได้ถึง 400 ล้านบาทอีกด้วย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง