ต่อยอดสินค้าภูมิปัญญายังไง ให้โดนใจตลาด และธุรกิจไปต่อได้ เปิดเคล็ดลับดีๆ จาก เรือนไหม ใบหม่อน

TEXT / PHOTO : Nitta Su.

Main Idea

ต่อยอดสินค้าภูมิปัญญายังไงให้ได้ไปต่อ

  • ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าและตลาด

 

  • พัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นระบบ แบ่งงงานออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้ทำได้รวดเร็วขึ้น

 

  • ส่งเสริมกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำ จนปลายน้ำ

 

  • สร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้ทรัพยากรทุกอย่างให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด

 

  • อย่าลืมให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่น และคนทำงาน

 

     หนึ่งในปัญหาสินค้าชุมชน หรือสินค้าภูมิปัญญาในท้องถิ่นต่างๆ ก็คือ ไม่สามารถดัดแปลงให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้ รวมถึงบางอย่างแม้จะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่กลับไม่สามารถผลิตออกมาได้ตามระยะเวลาและปริมาณที่ตลาดต้องการได้ จนสุดท้ายก็อาจลดน้อยลง หรือเลือนหายไปในที่สุดได้

     เหมือนเช่นกับภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อผลิตออกมาเป็นเส้นใยไหมในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ที่ครั้งหนึ่งเกือบจะต้องสูญหายไป เพราะปริมาณการเลี้ยงที่ลดลงไปมาก ด้วยเหตุนี้ อาทร แสงโสมวงศ์ และ ทัศนีย์ สุรินารานนท์ สองสามีภรรยาชาวจังหวัดสุรินทร์ที่มารับช่วงต่อกิจการรับซื้อ-ขายเส้นไหมของครอบครัว จึงได้คิดวิธีพัฒนาการผลิตเส้นไหมและผ้าไหมขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้มาตรฐาน ทันเวลาและปริมาณความต้องการของตลาด จนต่อยอดกลายเป็นธุรกิจการผลิตไหมแบบครบวงจร ภายใต้ชื่อแบรนด์ “เรือนไหม-ใบหม่อน” เพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ก่อนที่จะเลือนหายไป

เริ่มก่อนที่จะสาย

     โดยอาทร ซึ่งเป็นทายาทโดยตรงที่เข้ามารับช่วงต่อเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฟังว่า ในช่วงปี 2530 ที่ลาออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ เพื่อกลับมาช่วยครอบครัวดูแลกิจการใหม่ๆ นั้น เขาได้พบภาพอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่เริ่มลดปริมาณลงไปมากจากท้องถิ่นอย่างน่าใจหาย จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่ออยากพลิกฟื้นอาชีพดั้งเดิมของท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

     “ธุรกิจดั้งเดิมของเรา คือ การรับซื้อเส้นไหมจากชาวบ้าน เมื่อซื้อมาเสร็จก็ส่งไปให้โรงงานทอผ้า เช่น จิมทอมสัน ผมจำได้ว่าตั้งแต่สมัยเด็กๆ แต่ก่อนในวันหนึ่งๆ ที่บ้านรับซื้อเส้นไหมปริมาณเยอะมากเป็นกองสูงๆ เลย ตัวผมเองยังชอบไปกระโดดเล่นบนกองเส้นไหมที่ชาวบ้านนำมาส่งขาย แต่ในช่วงที่เริ่มกลับมาช่วยดูแลธุรกิจให้ที่บ้าน เส้นไหมวันหนึ่งๆ ที่ชาวบ้านนำมาขายให้เรากลับมีไม่ถึงสิบกิโลเลย ผมเลยลองลงไปหาข้อมูลว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร และก็มารู้ว่าชาวบ้านที่ทอผ้าไหมเขาเริ่มเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ โดยแทนที่จะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเส้นไหมไว้ใช้เองเหมือนเดิม ก็หันไปซื้อเส้นไหมสำเร็จจากโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้มากขึ้น ซึ่งนำเข้ามาจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ทำให้คนที่ยังปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไว้ใช้เองเริ่มลดจำนวนลงเรื่อยๆ ” อาทรเล่าถึงปัญหาของชุมชนให้ฟัง

ปรับโมเดลธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ

     หลังจากรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อาทรและทัศนีย์ได้ปรับโมเดลธุรกิจขึ้นมาใหม่ โดยทำให้ครบวงจรมากขึ้น ส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไปจนถึงการทอออกมาเป็นผืนผ้า จนก่อตั้ง “เรือนไหม-ใบหม่อน” ขึ้นมาในปี 2530

     “จากปัญหาที่เห็น เราคิดว่าหากปล่อยให้อยู่ในสภาพนี้ต่อไปเรื่อยๆ อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอาจจะเลือนหายไปได้ เราเลยเริ่มเปลี่ยนจุดยืนการทำธุรกิจใหม่ โดยแทนที่จะรับซื้อเส้นไหมจากชาวบ้านเพียงอย่างเดียว ก็มาช่วยส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเลย โดยเราเอาพันธุ์ไหมและใบหม่อนไปให้เขาเลี้ยงและปลูกถึงในชุมชนเลย

     "นอกจากนี้ยังพยายามพัฒนาการเลี้ยงให้ได้คุณภาพ ตั้งแต่การผสมพันธุ์ไหมขึ้นมาใช้เอง เรามีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของเราเอง จนถึงการออกแบบการเลี้ยง เช่น เพื่อให้ได้รังไหมที่ออกมาสม่ำเสมอขนาดเท่าๆ กัน เราสั่งลังพลาสติกโดยกำหนดขนาดความห่างของช่องให้เท่าๆ กัน เพื่อนำมาให้ชาวบ้านใช้เลี้ยงเลย ผมมองว่าหากเราไม่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ก็อาจจะจบหรือเลือนหายไปแล้วก็ได้”

     โดยปัจจุบันเรือนไหม-ใบหม่อน มีสมาชิกเครือข่ายช่วยปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาส่งราว 400 ครอบครัว ในส่วนนี้ทัศนีย์ผู้เป็นภรรยาได้เล่าเสริมว่า

     “ในทุกๆ 28 วัน ตัวไหมจะสุกเต็มที่ ครบวงจรของเขา เกษตรกรที่เป็นเครือข่ายของเราก็สามารถเก็บมาขายได้ ก็เหมือนเขาได้มีเงินเดือนใช้ทุกเดือน โดยเราจะไปรับรังไหมที่หน้าบ้านเลย และก็จ่ายเงินตรงนั้น โดยนอกจากน้ำหนักแล้ว เราก็จะดูเปอร์เซ็นต์เปลือกรังด้วยว่าหนาเท่าไหร่ ถ้ายิ่งเปอร์เซ็นต์สูง เปลือกรังหนา ราคาก็จะยิ่งสูง เพราะจะได้เส้นไหมเยอะกว่า  ซึ่งจะหนาไม่หนาขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ของเกษตรกร ให้อาหารอิ่มไหม คุณค่าทางอาหารครบหรือเปล่า” ทัศนีย์อธิบายให้ฟัง

แก้ Pain Point เปลี่ยนงานช้า ให้เร็วขึ้นได้ด้วยระบบ

     จากการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำอาชีพปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้แล้ว อาทรยังได้นำวิธีคิดและประสบการณ์จากการทำงานมาใช้บริหารธุรกิจให้เป็นระบบและรวดเร็วขึ้นด้วย โดยวางแผนงานออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้จัดการได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเริ่มนำเครื่องจักรเข้ามาใช้

     “ก่อนหน้าที่จะกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน ผมเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมาก่อน ทำให้รู้ว่าการจะทำให้งานเสร็จได้รวดเร็วขึ้น เราต้องแบ่งงานออกมาเป็นส่วนๆ ใครทำหน้าที่อะไรให้แบ่งไปเลย เหมือนรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า คนเย็บปกก็ปก คนเย็บแขนก็แขน แบ่งเป็นไลน์การผลิตไปเลยจะทำให้งานเร็วขึ้น อย่างสมัยก่อนชาวบ้านทอผ้าผืนหนึ่งอาจใช้เวลาเป็นเดือนๆ แต่พอเรามาทำแบบนี้ ช่วยวางแผนให้เขาร่นระยะเวลาได้เร็วขึ้น ทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นได้ แต่ละคนจะสามารถคำนวณได้เลยว่าตัวเองจะใช้เวลาการทอเท่าไหร่ เดือนหนึ่งจะได้กี่ผืน จะมีรายได้เท่าไหร่”

     นอกจากการวางแผนงานให้เป็นระบบมากขึ้นแล้ว อาทรและทัศนีย์ยังได้นำเครื่องจักรเข้ามาใช้ เพื่อให้ได้งานที่เร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในการทอผ้า ซึ่งจะต้องมีการเตรียมเส้นไหมและฟอกย้อมเป็นสีต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งปกติหากกรอด้วยมือจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จึงจะเสร็จ แต่พอมีเครื่องจักรเข้ามากลับในปริมาณงานที่เท่ากันกลับลดเวลาลงเหลือแค่ 30 นาทีเท่านั้น ทำให้สามารถทอผ้าได้จำนวนเยอะขึ้น โดยส่วนของเครื่องจักรนั้นได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้และคำปรึกษาด้านธุรกิจจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank

     โดยเริ่มมีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ตั้งแต่ปี 2543 ส่งผลให้ยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงปี 2538 สามารถสร้างยอดขายได้ราว 20 ล้านบาทต่อปี กระทั่งก่อนเจอวิกฤตโควิด-19 สามารถขยับขึ้นมาเป็น 60 ล้านบาทต่อปีได้ จนเมื่อมีโควิด-19 เข้ามา ธุรกิจได้รับผลกระทบ ยอดขายลดลงกว่าครึ่งหนึ่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ก็สามารถผ่านมาได้ โดยมีกลุ่มนักธุรกิจจีนเข้ามาเจรจาให้ส่งไส้ผ้าห่มใยไหมให้ จึงทำให้ประคับประคองธุรกิจมาได้

ทำทุกอย่างให้เป็น Zero West

     จากความพยายามส่งเสริมภูมิปัญญาการผลิตผ้าไหมตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำให้คงอยู่ต่อไปแล้ว อาทรและทัศนีย์ยังให้ความสำคัญกับการนำแนวคิด Zero West เข้ามาใช้ในธุรกิจด้วย เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรแล้ว ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ และรายได้เพิ่มขึ้นมาให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย

     ยกตัวอย่างเช่นในระหว่างการปลูกต้นหม่อนเพื่อนำมาเลี้ยงไหมจะมีผลผลิตเหลือ เช่น ลูกหม่อน ก็จะเอามาทำน้ำลูกหม่อน ใบบางส่วนก็เก็บนำมาทำเป็นชาใบหม่อน ตัวดักแด้ที่ได้ก็เอาไปทำอาหารของตัวหนอนถังเช่า, น้ำต้มลวกก่อนเอาไหมไปย้อมสี แทนที่จะเอาไปเททิ้งและเกิดน้ำเน่าเสีย ก็เอาส่งเข้ากรุงเทพฯ ไปทำสเปย์ดรายเป็นผงโปรตีนไหม เอาไปขายให้โรงงานผลิตเครื่องสำอาง โดยทุกอย่างอาทรเล่าว่าเขาไม่ได้ลงทุนทำเอง แต่ใช้วิธีหาพาร์ทเนอร์ให้ช่วยทำให้ เช่น น้ำลูกหม่อนก็ส่งให้กับโรงงานผลิตน้ำองุ่นที่วังน้ำเขียวให้ช่วยทำให้ เป็นต้น

 

ยึด 3 หัวใจหลัก ภูมิปัญญา ครอบครัว ชุมชน

     อย่างสุดท้ายที่อาทรและทัศนีย์ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ นอกจากความพยายามปรับปรุงพัฒนากระบวนการทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ยังคงอยู่ ไปจนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งคู่ยังคำนึงถึงวิถีชีวิตชุมชน และให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวด้วย

     “ในการทำธุรกิจของเรา เราจะให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง คือ ชุมชน, ภูมิปัญญา และครอบครัวด้วย จากการได้ทำงานอยู่ในชุมชนเรามองเห็นปัญหาหนึ่ง คือ คนทำงานส่วนใหญ่มักต้องเดินทางเข้าไปทำงานในเมือง ต้นทุนอันดับแรกที่ต้องจ่าย คือ ค่าเดินทาง ค่ากิน ซึ่งการที่เราเอางานไปให้เขาทำในชุมชน นอกจากช่วยให้เขาประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว การที่เขาได้อยู่กับครอบครัว ได้ดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุ ดูแลลูก ได้ใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตที่ควรจะเป็น ทำไร่ ทำนา สร้างงานดีๆ จากภูมิปัญญาเป็นรายได้เสริม คือ มันได้ทุกอย่างเลย ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนดี ภูมิปัญญาก็มีการสืบทอดต่อ ไม่หายไปไหน ทุกวันนี้เราจึงพยายามส่งเสริมให้เขาได้ทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเข้ามาหาเรา เราจะเป็นคนเอางานเข้าไปให้สู่ชุมชนให้เอง” อาทรและทัศนีย์กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

     จากเรื่องราวของเรือนไหม-ใบหม่อน การอาศัยความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ เริ่มตั้งแต่เข้าใจตลาด ลูกค้า กระบวนการทำงาน คนทำงาน ไปจนถึงเป้าหมายทางธุรกิจเอง การจะรักษาสินค้าจากภูมิปัญญาดีๆ สักอย่างหนึ่งให้คงอยู่ต่อไปได้ ไม่ใช่เรื่องยากเลย

เรือนไหม-ใบหม่อน

https://web.facebook.com/ruenmaiisurin

โทร. 044 511 348

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

SME อยากโตรับเทรนด์ ESG แม่ทัพกรุงศรีเอสเอ็มอี แนะ ลด-เพิ่ม-สร้าง โอกาสพลิกธุรกิจโตยั่งยืน

“ESG” คือตัวย่อของคำว่า Environment (สิ่งแวดล้อม)  Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่เพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ทว่าแม้แต่เอสเอ็มอี ก็สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

สูตรปั้นนวัตกรรมให้ยอดขายโต 8 เท่าในปีแรก จากแบรนด์น้ำมันนวด Suwan Spray

ถ้าอุปสรรคเปรียบเสมือนบันไดไปสู่ความสำเร็จ การทำนวัตกรรมก็เปรียบเสมือนบันไดอีกขั้นของ "ณฐมน ปิยะพงษ์-ยุ้ย" เจ้าของผลิตภัณฑ์ "Suwan Spray" แบรนด์น้ำมันนวดที่นำสูตรบรรพบุรุษกว่า 100 ปีมาต่อยอดด้วยการใช้นวัตกรรมสกัดสารแก้ปวดจากเบต้าไพนีนในมะกรูด จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศนักธุรกิจนวัตกรรมมาครองได้