จากธุรกิจส่งออก 44 ประเทศ สู่การเปิดคาเฟ่ที่บ้านเกิด เรื่องราวของ VELAR ธุรกิจเกิดใหม่ของคนเคยล้ม

TEXT : Surangrak Su.

PHOTO : สองภาค

Main Idea

  • จากหุ้นส่วนโรงงานผลิตสบู่แฮนด์เมดส่งออกไปขายกว่า 44 ประเทศทั่วโลก วันหนึ่งธุรกิจต้องหยุดชะงักลงด้วยพิษโควิด สิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อไป ก็คือ จะรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังไง

 

  • “อวัศยา ปิงเมือง” อดีตหุ้นส่วนโรงงานผลิตสบู่แฮนด์เมด วันนี้เลือกที่จะกลับมาเปิดคาเฟ่ และร้านอาหารเล็กๆ อยู่ที่บ้านเกิดในอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยใช้ซัพพลายเออร์จากต่างประเทศที่มีอยู่ในมือจากธุรกิจเดิม เฟ้นหาวัตถุดิบคุณภาพดีมาชูจุดเด่นให้กับร้าน

 

     จากที่ได้มองเห็นธุรกิจเกิดใหม่ในหลายๆ อย่างทุกวันนี้ จริงๆ แล้วอาจไม่ได้หมายถึงการเริ่มต้นใหม่นับหนึ่งเสมอไป แต่อาจหมายถึงการเกิดใหม่จากธุรกิจเดิมที่เคยประสบปัญหาจากวิกฤตก็ได้ เหมือนเช่นกับเรื่องราวของ “VELAR” คาเฟ่และร้านอาหารในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ก็เกิดขึ้นมาได้เพราะการใช้จุดเด่นจากต้นทุนธุรกิจเดิมที่มีอยู่

     โดยก่อนที่จะกลับมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของตัวเองที่บ้านเกิด อวัศยา ปิงเมือง หรือ “แอม” เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า เดิมก่อนหน้านี้เคยทำธุรกิจโรงงานผลิตสบู่แฮนด์เมดร่วมกับหุ้นส่วนมาก่อนที่กรุงเทพฯ เคยส่งออกไปขายปีๆ หนึ่งมากกว่า 44 ประเทศทั่วโลก รวมถึงร้านของฝากชื่อดังในไทย แต่หลังจากเจอเข้ากับวิกฤตโควิด-19 ทำให้จากยอดออร์เดอร์ที่เคยสั่งเข้ามามากกว่าปีละหลายสิบตู้คอนเทนเนอร์ มีอันต้องหยุดชะงักลง พนักงานไม่มีงานทำ ซึ่งหลังจากเริ่มปรับตัวทดลองทำหลายอย่าง ตั้งแต่ขายข้าวแกง ขายเครื่องดื่ม เพื่อหาวิธีให้ทุกคนอยู่รอดได้ แอมก็เริ่มเฟดตัวเองออกมาทำธุรกิจของตัวเองอยู่ที่บ้านเกิด แต่สิ่งหนึ่งที่เธอได้กลับมาด้วย ก็คือ คอนเนคชั่นจากซัพพลายเออร์ต่างประเทศที่มีอยู่ในมือ ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตวัตถุดิบคุณภาพจากต้นทางได้ จนกลายมาเป็นจุดเด่นให้กับร้านได้ในที่สุด

ต่อยอดจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่

     “แต่ก่อนเราเคยทำธุรกิจผลิตสบู่แฮนด์เมดร่วมกับหุ้นส่วนมาก่อน จนพอเจอวิกฤตก็พยายามปรับตัวกันหลายอย่าง ทั้งทำอาหารขาย ขายน้ำ ขายเครื่องดื่มต่างๆ ลองมาหลายอย่าง จนพอเริ่มตั้งตัวได้ เจอธุรกิจที่พอประคองตัวไปได้ ให้พนักงานได้มีงานทำ คือ ตอนนั้นเปิดเป็นร้านขายนมปั่นและร้านน้ำส้มยูสุเล็กๆ อยู่ในห้างแล้ว เราก็เริ่มเฟดตัวออกมา เพื่อกลับมาอยู่บ้านดูแลพ่อแม่ และทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง

     “สิ่งที่เราได้ติดกลับมือมาตั้งแต่ช่วงที่กำลังพยายามหาวิธีเอาตัวรอดกัน ก็คือ เราได้ลองคุยกับซัพพลายเออร์ที่ญี่ปุ่นว่าไหนๆ ช่วงนี้เราก็ไม่สามารถทำอะไรกันได้อยู่แล้ว เราลองมาหาวิธีให้เรามีรายได้ด้วยกันทั้งคู่ไหม ก็เลยลองคุยกันว่าที่บ้านเขามีวัตถุดิบอะไรดีๆ เจ๋งๆ ที่บ้านเรายังไม่ค่อยมีบ้าง เพื่อเราจะได้ลองนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยให้เขาเป็นคนหามาจากแหล่งวัตถุดิบเลย ด้วยความที่เขาอยู่ที่โน่นอยู่แล้ว ก็ย่อมต้องรู้จักแหล่งผลิตดีๆ และสามารถคัดของมีคุณภาพมาให้กับเราได้ ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นที่เริ่มต้นใหม่เลย ไม่มีต้นทุนตรงนี้ก็อาจเข้าถึงได้ยากกว่า โดยเราเริ่มจากให้เขาหาส้มยูสุจากแหล่งผลิตที่ดีที่สุดของญี่ปุ่นมาให้ก่อน จริงๆ แล้วเริ่มให้หาให้ตั้งแต่หลังจากเริ่มเปิดร้านขายนมปั่นในห้างแล้ว พอผลตอบรับดีเลยอยากลองหาวัตถุดิบดีๆ อย่างอื่นมาเพิ่ม โดยตอนนั้นส้มยูสุในร้านเรากำลังฮิตเลย และหากินได้ยากด้วย พอได้กลับมาทำธุรกิจที่บ้านเราหาแหล่งวัตถุดิบที่ดีอยู่แล้ว ก็เลยนำกลับมาต่อยอดเพิ่มเติม” อวัศยาเล่าที่มาให้ฟัง

วางคอนเซปต์สร้างธุรกิจใหม่ จากบทเรียนที่ผ่านมา

     อวัศยาเล่าถึงการวางคอนเซปต์ธุรกิจใหม่ให้ฟังว่า จากประสบการณ์ขายอาหารและเครื่องดื่มที่ผ่านมา ทำให้เธอรู้ว่าการพยายามทำให้เกิดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด คือ สิ่งที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้

     “ตอนที่ไปขายอาหาร มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ขายอะไรก็ได้ที่มันไม่เสียง่าย หรือเสี่ยงน้อยที่สุด เพราะกับข้าวเราต้องทำไว้ก่อน ทำเสร็จตั้งแต่เช้ามืด พอบ่ายก็จะบูดละ ตอนหลังเลยเปลี่ยนมาขายน้ำ ขายนมปั่น พอมาทำร้านของตัวเอง เราเลยเอาคอนเซปต์นี้มาใช้ด้วย คือ เราจะขายของที่ลูกค้าสั่งถึงค่อยลงมือทำ จะไม่ทำไว้ก่อน วัตถุดิบก็สามารถเก็บเอาไว้ได้ ทุนก็ไม่จม ตอนแรกเลยตั้งใจจะเปิดเป็นคาเฟ่ขายแค่เครื่องดื่มก่อน จนพอเริ่มเปิดไปได้สักพัก ก็เริ่มมีลูกค้าถามหาอาหาร และเราก็มองว่าจริงๆ แล้วช่วงเย็นก็สามารถเปิดได้ด้วย เลยลองทำขึ้นมาเป็นอาหารจานเดียวก่อน เมนูที่ร้านจะมีแค่ 4 – 5 เมนูมีไม่เยอะ จนตอนหลังก็เพิ่มเป็นชาบูขึ้นมาด้วย”

อยากขายดี ต้องขายแบบสเปเชียล

     โดยอวัศยาเล่าว่าในแต่ละเมนูอาหารของร้าน แม้จะมีให้เลือกน้อย แต่ทุกเมนูล้วนผ่านการคัดสรรมาอย่างดี โดยกว่าจะตัดสินใจเปิดร้านเธอได้ทดลองทำเมนูต่างๆ ก่อน นานอยู่ร่วมเกือบปี เพื่อรังสรรค์รสชาติและวิธีการกิน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่พิเศษให้กับลูกค้า โดยต่อยอดมาจากการมีวัตถุดิบที่ดีอยู่ในมือ

     “กว่าจะเปิดร้านขึ้นมาได้ เราใช้เวลาพัฒนาเมนูต่างๆ อยู่ร่วมกว่า 8 เดือน ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดกาแฟมาใช้ให้เหมาะกับคาแรกเตอร์ร้าน หรืออย่างส้มยูสุที่มีอยู่เราจะเอามาเล่นอะไรได้บ้าง ซึ่งตอนหลังเราไม่ได้คิดแค่เครื่องดื่มอย่างเดียว  แต่ลองเอามาทำเป็นเมนูอาหารด้วย ซึ่งยังไม่ค่อยเห็นใครเอาน้ำส้มยูสุมาทำเป็นอาหารมาก่อน ต่อมาตอนหลังเราเริ่มอยากลองเล่นวัตถุดิบใหม่ๆ มากกว่าส้มยูสุแล้ว ตอนนี้เลยให้ซัพพลายเออร์ลองหาชาเขียวมัทฉะที่ว่าเป็นของดีขึ้นชื่อของญี่ปุ่น ส่งมาให้เราเพิ่มด้วย ตอนนี้วัตถุดิบที่เป็นตัวเด่นของร้านนอกจากเมล็ดกาแฟที่เรามั่นใจว่าคัดสรรมาอย่างดีแล้ว ก็จะมีอีก 2 อย่าง คือ น้ำส้มยูสุ และชาเขียวมัทฉะ ซึ่งเราสามารถดัดแปลงมาทำเป็นเมนูทั้งคาวหวานได้ นอกจากนี้เรายังเน้นใช้รสชาติจากวัตถุดิบธรรมชาติด้วย โดยไม่ใช้สารปรุงแต่งที่มีตามท้องตลาด

     “ถามว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ เพราะเราอยากทำทุกอย่างให้ออกมาสเปเชียล ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ ไปจนถึงรสชาติ มาที่นี่เขาต้องได้กินของที่ไม่เหมือนกับที่ไหน เราอยากให้คนนึกถึงว่าถ้าอยากกินเมนูนี้ ต้องมาที่นี่สิ คือ ต้องตั้งใจมา ไม่ใช่แค่แวะผ่านมา อย่างเวลามากินชาบูที่นี่เราก็จะพยายามบอกลูกค้าว่าเขาควรจะเริ่มกินยังไงก่อน เช่น ครั้งแรกอาจลองชิมหมูกับน้ำซุปก่อน ซึ่งไม่มีผงชูรส และโซเดียมต่ำ จากน้ำซุปก็มาชิมน้ำจิ้มต่อ ซึ่งจะมีให้เลือกหลายแบบ หนึ่งในนั้นจะมีน้ำจิ้มจากน้ำส้มยูสุที่เราคิดสูตรขึ้นมาเองด้วย เพื่อให้ลูกค้าได้ค่อยๆ เรียนรู้แต่ละรสชาติเหมือนชิมไวน์ ชิมกาแฟ ซึ่งด้วยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวเชียงดาวที่เราสัมผัสได้ คือ คนที่อยากมาพักผ่อน สัมผัสธรรมชาติ หาที่พักดีๆ สักที่ กินอาหารดีๆ สักมื้อให้กับตัวเอง และโดยส่วนมากเขาก็ค่อนข้างจะรู้จักของต่างๆ พวกนี้ดีอยู่แล้ว ฉะนั้นเราจะทำยังไงให้เขาประทับใจและรู้สึกแตกต่างจากที่เคยได้สัมผัสมา”

เริ่มใหม่ ไม่ต้องทำให้ได้เท่าเดิมก็ได้

     มาถึงวันนี้ถามว่ารู้สึกยังไงกับธุรกิจใหม่ที่ทำ อวัศยาเล่าว่าหากมองในแง่ของมูลค่าธุรกิจ แน่นอนว่าอาจจะเทียบกันไม่ได้เลย แต่สำหรับเธอแล้วในเวลานี้ สิ่งสำคัญที่สุดกลับไม่ใช่แค่เงินทอง แต่คือ ความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัว ไปจนถึงความสุขจากการทำธุรกิจในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจเดิมที่เคยทำมา

     “แต่ก่อนทำอยู่กรุงเทพฯ มันมีความสนุกก็จริงอยู่ ยิ่งขายได้ก็ยิ่งสนุก แต่เราก็แทบไม่มีเวลาให้กับตัวเองเลย ที่แย่สุด ก็คือ แทบไม่มีเวลาให้กับคนรอบข้างเลย ธุรกิจใหม่ที่เราทำอยู่นี้ แน่นอนว่ารายได้มันอาจจะไม่หวือหวาเท่าเดิมหรอก แต่มันกลับตอบโจทย์ช่วงชีวิตของเราในเวลานี้ได้ดี การที่เราได้มาเปิดร้านอยู่ตรงนี้ ได้เจอผู้คนที่เข้ามารับประทานอาหารเครื่องดื่ม มันทำให้ได้มิตรภาพดีๆ กลับมาเยอะเลย เราได้สนุกกับการคิด ทดลอง รวมถึงตัดสินใจด้วยตัวเอง จริงๆ การเกิดวิกฤตขึ้นมามันก็ทำให้เราได้กลับมาเช็คตัวเองเหมือนกันว่าแท้จริงแล้วชีวิตเราต้องการอะไรกันแน่

     “สำหรับ VELAR นอกจากเป็นคาเฟ่และร้านอาหารแล้ว เรายังคิดต่อยอดไปด้วยอีกว่าอนาคตอยากจะทำเป็นพื้นที่เวิร์กช้อปเล็กๆ โดยเอาของในเชียงดาวนั่นแหละมาทำให้คนภายนอกได้รู้จักมากขึ้น ซึ่งเชียงดาวเองมีของดีอีกมากที่เราคิดว่าสามารถนำมาเล่นได้ อย่างชาเขียวเองที่เชียงดาวก็มีอยู่เยอะ อนาคตเราอาจลองรวบรวมสินค้าท้องถิ่นเหล่านี้ นำมาจับเล่าเรื่องใหม่ แต่งตัวใส่แพ็กเกจจิ้งใหม่ เป็นจุดศูนย์กลางขายให้กับนักท่องเที่ยว รวมไปถึงอาจลองนำไปเสนอเข้าห้าง เพราะเราเองก็เคยมีประสบการณ์จากการทำงานเป็นผู้จัดการในห้างมาแล้วด้วย เรารู้กระบวนการ รู้ว่าต้องนำเสนอยังไง สุดท้ายทุกอย่างที่เราเคยทำมา มันก็สามารถนำวนกลับมาใช้ได้หมด ฉะนั้นก็ไม่ยากที่เราจะกลับมาเติบโตขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง” อวัศยากล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

VELAR

https://web.facebook.com/VELARDEEDEE

โทร. 089 559 0409

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน