Atom’s Last Shot   การต่อสู้ของคนตัวเล็ก ที่จะโดนธุรกิจยักษ์ใหญ่เทคโอเวอร์

TEXT : อรุษา กิตติวัฒน์

Main Idea

  • หลายต่อหลายครั้งในโลกของธุรกิจ SME เราอาจเคยได้เห็นเรื่องราวการต่อสู้ของคนตัวเล็กกับยักษ์ใหญ่มาบ้าง

 

  • หากอยากได้แรงบันดาลใจดีๆ ดูสนุก อยากนำเสนอ “Atom’s Last Shot” ซีรีส์ญี่ปุ่นให้ชมกันเพิ่มเติมด้วย

 

     Atom’s Last Shot เป็นซีรีส์ญี่ปุ่นที่ฉายทางสตรีมมิ่ง Disney+ Hotstar นำเสนอเรื่องราวของนักพัฒนาเกมอัจฉริยะ “จอห์น โด” ผู้ได้รับสมญานามว่าเป็น Banksy หรือศิลปินสตรีทอาร์ตนิรนามแห่งโลกวิดีโอเกม ซึ่งหวนคืนวงการ จับมือกับ “อะตอม” บริษัทผลิตของเล่นเก่าแก่ที่ใกล้ล้มละลาย และกำลังถูกบริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่เทคโอเวอร์ เพราะต้องการครอบครองความรู้และเทคโนโลยีที่สั่งสมมายาวนาน 50 ปี การต่อสู้ระหว่างคนเล็กๆ กับยักษ์ใหญ่จึงเกิดขึ้น นอกจากเนื้อหาที่เข้มข้นสนุกทุกตอน ซีรีส์เรื่องนี้ยังแทรกความรู้ แง่คิด และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี         

เกมเรียบง่ายที่สร้างขึ้นด้วยความรัก
             

     ในปี 1978 เมื่อเกมอินเวดเดอร์เปิดตัว ทำให้คนทั่วโลกคลั่งไคล้เกมจากญี่ปุ่น อุตสาหกรรมเกมเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  นินเทนโดเปิดตัวแฟมิคอม โซนีก็เปิดตัวเพลย์สเตชัน วิดีโอเกมพัฒนาไปอย่างน่าอัศจรรย์ แทรกซึมเข้าไปในชีวิตผู้คน ผู้เล่นเกมทั่วโลกเชื่อมต่อกันได้ทางออนไลน์ กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ทำเงินเกินหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี มีคนเล่นเกมมากกว่าสามพันล้านคนทั่วโลก

     อุตสาหกรรมเกมเต็มไปด้วยความฝันและความท้าทาย มีผู้ลงมาเล่นในตลาดนี้ตั้งแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ไปจนถึงนักพัฒนาเกมอิสระรายเล็กๆ เช่น จอห์น โด ผู้พัฒนาเกม “ดาวน์เวล” ในปี 2015 เริ่มต้นจากสองหนุ่ม นายูตะ กับ สึโก ที่อยากสร้างเกมให้ โคยะ เพื่อนอีกคนเล่น เมื่อดาวน์เวลไปได้สวย พวกเขาเริ่มฝันถึงการเป็นนักพัฒนาเกมระดับโลก และทุ่มเทกับโปรเจคท์ใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โคยะรับหน้าที่หาผู้ลงทุนและได้เซ็นสัญญากับบริษัทมหาชนซากาสโดยไม่ได้อ่านรายละเอียดอย่างรอบคอบ

     ต่อมาซากาสก็เปิดตัวเกมที่เหมือนกับออกมา พวกเขาเสียสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองไป โคยะจบชีวิตตัวเองด้วยความรู้สึกผิดต่อเพื่อน จอห์น โด ทั้งสองเผชิญความเจ็บปวดในแบบของตัวเองและเดินคนละเส้นทาง นายูตะไปทำงานเป็นช่างในอู่ซ่อมรถ ขณะที่สึโกตัดสินใจไปทำงานที่ซากาส

     ในปี 2022 เกมที่ถูกขโมยไปกลายเป็นเกมที่สร้างชื่อของซากาส มีการเปิดตัวเวอร์ชั่นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เกมทุนต่ำอย่าง ดาวน์เวล ก็ยังคงได้รับความนิยมแม้จะผ่านไปหลายปี แม้ยอดดาวโหลดจะไม่มากนัก แต่ก็มีคะแนนรีวิวสูงสุด เทียบกับขณะที่เกมของซากาสแม้มียอดดาวโหลดสูงสุด แต่ก็มีคะแนนรีวิวต่ำลงไปในทุกๆ เวอร์ชั่น แต่ซากาสไม่สนใจเรื่องนี้ เพราะธุรกิจหลักคือการค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต สิ่งที่มีค่าที่สุดก็คือข้อมูลที่ได้จากคนเล่นเกมกว่าสามพันล้านคน      

 

แฟนพันธุ์แท้ และการสานต่อธุรกิจ

     อูมิ เป็นหนึ่งในสาวกเกมดาวน์เวล เธอทำงานฝ่ายสินเชื่อของธนาคาร พ่อของเธอซึ่งเป็นประธานบริษัทของเล่นอะตอมนำแผนธุรกิจฉบับแก้ไขมาขอกู้เงินที่ธนาคารอีกครั้ง เธอบอกให้พ่อมองดูความเป็นจริง สินค้าของเล่นอะตอมที่ขายไม่ออกวางกองเต็มทางเดิน ผลประกอบการบริษัทมีแต่แย่ลงเรื่อยๆ ปกติอายุขัยของบริษัทจะอยู่ที่ 30 ปี อะตอมอยู่มาตั้ง 50 ปีก็คงมากพอแล้ว เมื่อพ่อล้มป่วยเพราะภาวะเส้นเลือดในสมอง และขอให้อูมิรับช่วงกิจการต่อ เธอปฏิเสธ  

     สิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจของนายูตะที่ใช้ชีวิตไปวันๆ คือการหยอดตู้กาชาของบริษัทอะตอม อธิษฐานขอให้ได้ตัวคาแรกเตอร์ที่ต้องการ แล้วหยอดเหรียญลงไป ลุ้นด้วยความรู้สึกตื่นเต้นรอคอยว่าจะได้อะไร แม้ทายาทธุรกิจอย่างอูมิมองว่าก็แค่ของเล่นพลาสติก แต่แฟนพันธุ์แท้อย่างเขาสัมผัสความรู้สึกของคนที่สร้างมันขึ้นมาได้ ซึ่งอยู่ในทุกๆ รายละเอียด ดีไซน์ที่ละเอียดยิบจนต่อยากมาก แต่ทำให้รู้สึกได้ถึงความเอาใจใส่ อะตอมทำสิ่งที่ที่อื่นไม่ทำ คงมีคนมากมายที่ร่าเริงมีกำลังใจขึ้นมาได้เพราะของเล่นอะตอม  

     ซากาสต้องการนำความรู้และเทคโนโลยีที่อะตอมพัฒนาและสั่งสมมา 50 ปี แปลงเป็นรูปแบบดิจิตอล พัฒนาขึ้นมาเป็นเกมสามมิติแนวใหม่ และจะจ้างพนักงานทั้งหมดที่ทำงานอยู่ด้วย อูมิคิดว่าโอกาสดีๆ แบบนี้หาไม่ได้อีกแล้ว แต่ก็เกิดเหตุไฟไหม้บริษัทเสียก่อน พนักงานทุกคนปลอดภัย ทว่าทุกอย่างก็ถูกเผาวอดวายไปหมด อูมิบอกพ่อให้ขายกิจการเพื่อจะได้เอาเงินมาสะสางหนี้ของบริษัท โทมินากะยอมรับว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่เลวร้ายสุดๆ แต่ปู่ก็ก่อตั้งกิจการขึ้นมาจากไม่มีอะไรเลย ต่อให้บริษัทไหม้ไปหมด แต่ตราบใดที่เขายังหลงเหลือความรู้สึกชอบของเล่นอยู่เต็มอก แค่นั้นก็พอแล้ว ของเล่นทำให้ผู้คนตื่นเต้นและมีรอยยิ้ม ยิ่งในเวลาแบบนี้ที่ห้ามสิ้นหวัง ต้องฝ่าฟันไปให้ได้

     อูมิบอกพ่อว่า เพราะโง่แบบนี้แหละแม่จึงหมดรักและออกจากบ้านไป แต่ว่าโง่แล้วยังมาได้ไกลขนาดนี้ ก็ทำให้เธอวางใจ เป็นถึงบริษัทที่ดิ้นรนต่อสู้ ต่อให้ครอบครัวต้องพัง จะมาแพ้แค่ไฟไหม้ได้ยังไง เธอตัดสินใจรับช่วงกิจการบริษัทของเล่นอะตอม ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงห้องโรงรถของบ้าน ประสบการณ์ ความรู้ และคาแรกเตอร์ที่สั่งสมมา 50 ปี ในยุคนี้ขอแค่มีคอมพิวเตอร์ก็สร้างเกมได้ ไม่จำเป็นต้องผลิตหรือสต๊อกสินค้าแบบสมัยก่อน หากนำต้นทุนที่มีอยู่มาใช้ ก็น่าจะสร้างเกมที่สนุกและมี "จิตวิญญาณของอะตอม" ได้

     อูมิ ก็เป็นสาวกเกม ดาวน์เวล ทำไมเกมหน้าตาง่ายๆ ที่เปิดตัวมา 6 ปีแล้ว ยังมีคนเล่นอยู่ เพราะมันสนุกและคลายเครียดได้ดี ดังนั้นนักพัฒนาเกมที่เธอนึกถึงก็คือ “จอห์น โด” แบงชี่แห่งวงการเกม

ไม่ว่าต้องล้มกี่ครั้งก็ยังลุกขึ้นใหม่ได้

     นายูตะได้ร่วมงานกับบริษัทของเล่นที่เขาเป็นแฟนพันธุ์แท้มาโดยตลอด และ จอห์น โด ทั้งสองได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง พวกเขาต้องเผชิญอุปสรรคจากซากาส ทั้งโค้ดที่เขียนจนเกือบเสร็จหายไป ต้องเปลี่ยนมาสร้างฉากทั้งหมดด้วยมือ ซึ่งกลับถ่ายทอดความเป็นอะตอมออกมาได้ดีกว่า การปิดโอกาสหาผู้สนับสนุน และหลังจากพัฒนาเกมสำเร็จก็ถูกปิดกั้นช่องทางจำหน่าย ต้องเปิดตัวในร้านเกมเล็กๆ ให้คนเข้ามาทดลองเล่นฟรี เมื่อของที่ระลึกตัวคาแรกเตอร์เนกกี้ที่แจกในงานเปิดตัวถูกนำไปโพสต์ลงในโซเชียล แฟนคลับอะตอมทั่วโลกต้องการซื้อ อะตอมจึงขายคาแรกเตอร์ที่มีคิวอาร์โค้ดที่สามารถดาวโหลดเกมอะตอมมาเล่นได้ สองช่องทางนี้สนับสนุนกัน ทำให้สามารถจ่ายเงินกู้งวดแรกได้ 

     แต่อูมิก็ได้รู้ว่าผู้จัดการธนาคารหัวหน้าเก่าของเธอที่อนุมัติเงินกู้ให้เป็นพิเศษร่วมมือกับซากาส ตั้งใจใช้ช่องว่างของสัญญายึดบ้านและบริษัทขายทอดตลาดให้ซากาส บริษัทของเล่นอะตอมจึงต้องปิดกิจการถาวร อูมิย้ายออกไปเช่าห้องเล็กๆ อยู่กับพ่อ และกลับไปทำงานธนาคาร นายูตะกลับไปทำงานที่อู่ซ่อมรถและทำงานพิเศษเป็นครูผู้ช่วยที่โรงเรียนอนุบาล ต่อมาจึงพัฒนาเกมที่ช่วยฝึกทักษะให้เด็กๆ นำมาใช้ในชีวิตจริง ส่วนสึโกไปเป็นฟรีแลนซ์พัฒนาระบบจำลองอุบัติเหตุ พวกเขาได้รู้ว่าเกมเป็นได้มากกว่าความสนุก พวกเขาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ก่อตั้งบริษัท ลูกหลานอะตอม พัฒนาเกมเพื่อการเรียนรู้ ขณะที่ซากาสกลับประสบปัญหาถูกกลุ่มทุนจากต่างประเทศเข้ามากว้านซื้อหุ้น

     เรื่องราวของคนหนุ่มที่ทะเยอทะยาน คนแก่ที่ทำงานด้วยความหลงใหล หญิงสาวที่กลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัวด้วยความรักและผูกพัน และนักธุรกิจที่เจตนาดีต่อประเทศ แต่แย่งชิงของดีจากบริษัทเล็กๆ บทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ตามไปดูได้จากซีรีส์เรื่องนี้    

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

SME อยากโตรับเทรนด์ ESG แม่ทัพกรุงศรีเอสเอ็มอี แนะ ลด-เพิ่ม-สร้าง โอกาสพลิกธุรกิจโตยั่งยืน

“ESG” คือตัวย่อของคำว่า Environment (สิ่งแวดล้อม)  Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่เพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ทว่าแม้แต่เอสเอ็มอี ก็สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน