7 คำถามล้วงลึก “บรรจง สุกรีฑา” เลขา สมอ. ทำไม? SME ไทยต้องมีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก.S  

TEXT : Surangrak Su.

                                        

Main idea

  • “มอก.เอส” หรือ มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส คือ การออกเครื่องหมายเพื่อรับรองคุณภาพให้กับสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นมาโดยกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพื่อกำหนดมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่

 

  • เป็นมาตรฐานที่สร้างขึ้นมาเพื่อเติมเต็มช่องว่างให้กับผู้ประกอบการ SME ไทย ซึ่งอยู่ช่องว่างตรงกลางระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และเล็ก ซึ่งยังขาดการออกมาตรฐานรับรอง

 

  • โดยผู้ประกอบการ SME ทุกธุรกิจสามารถยื่นขอการรับรอง มอก.เอส ได้ เช่น ร้านเสริมสวย, อู่ซ่อมรถยนต์, ร้านกาแฟ, รถตู้ให้เช่า, บริษัทกำจัดปลวก ฯลฯ

 

     การที่ธุรกิจมีมาตรฐานสินค้าและบริการรับรอง ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค รวมไปถึงโอกาสเติบโตของธุรกิจอีกมากมาย เช่น มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือ มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) เพื่อใช้รับรองสินค้าและบริการจากชุมชนในระดับรากหญ้า แต่กับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งอยู่ตรงกลาง และมีสัดส่วนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจในประเทศ กลับยังขาดมาตรฐานการรับรองสินค้าและบริการ  จนอาจทำให้สูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจอีกมากมาย

     จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. จึงได้รับมอบหมายจากภาครัฐในการออกเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ “มอก.เอส” เพื่อรับรองคุณภาพให้กับสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นมาโดยกลุ่มผู้ประกอบการ SME ของประเทศ เพื่อกำหนดมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่

     มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ “มอก.เอส” คือ อะไร? เป็นตัวช่วยทางธุรกิจให้กับ SME ได้อย่างไร?

     ลองมาฟัง บรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงแห่งสมอ. เล่าความสำคัญให้ฟังกัน

Q : รบกวนช่วยเล่าที่มาการจัดตั้งเครื่องหมาย มอก.เอส ขึ้นมา

     จริงๆ แล้ว มอก.เอส ไม่ได้เพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นมา แต่เริ่มมีขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2561 ได้ เพียงแต่อาจยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าเดิมที สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เราดูแลรับผิดชอบอยู่ 2 เรื่อง คือ 1. พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 และ 2. พระราชบัญญัติการมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งโดยหลักๆ แล้วดูแลรับผิดชอบในการออกเครื่องหมายรับรองมาตรฐานในช่วงเริ่มต้น 2 ส่วน คือ มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) และ มตช. มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ โดยนำหลักมาตรฐานสากลจาก องค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization) หรือที่เรียกว่า ISO ซึ่งเราเป็นสมาชิกอยู่เข้ามาปรับใช้กับการสร้างมาตรฐานในไทย และต่อมาเราก็มี มผช. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มเข้ามาด้วย เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าระดับชุมชนตามนโยบายการทำสินค้าโอทอป โดยกระทรวงมหาดไทย

     จากที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าเรามีการรับรองให้กับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเล็ก แต่ช่องว่างระดับกลางจะหายไป ไม่มีใครมารับรองให้ ซึ่งก็คือผู้ประกอบการ SME จากปัญหาดังกล่าวทางภาครัฐ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้สมอ.เข้ามารับผิดชอบดูแล จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ “มอก.เอส” ขึ้นมา ซึ่งตัวผมเองเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งที่สมอ. เมื่อ 1 ตุลาคม 2564

Q : มอก.เอส แตกต่างจากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เคยมีมาอย่างไร และใครสามารถขอรับมาตรฐานได้บ้าง

     มอก.เอส คือ มาตรฐานที่เราทำขึ้นมาให้กับผู้ประกอบการ SME ทุกกลุ่ม ทั้งสินค้าและบริการ รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีการเติบโตมากขึ้น โดย SME ที่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ได้ เช่น ร้านซ่อมรถยนต์, บริษัทกำจัดปลวก, ร้านสปา, ร้านเสริมสวย, รถตู้ให้เช่า หรืออย่างธุรกิจแปลกๆ เช่น สนามชนวัว เราก็เคยออกให้

     โดยมาตรฐาน มอก.เอส แต่ละธุรกิจที่เรานำมาใช้นั้นจะแตกต่างจากมาตรฐานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่นโรงงานผลิตหน้ากาก ถ้าเขาได้มาตรฐานตาม ISO ที่วางไว้ เราจะไม่เรียกว่า ISO หน้ากากนะ แต่จะบอกว่าโรงงานนี้ได้รับ ISO 9000 เท่านั้นเอง และค่อยไปดูในรายละเอียดว่า ISO ดังกล่าวมีการรับรองเรื่องอะไรบ้าง แต่หากเป็นมอก.เอส เราจะออกให้เลย เช่น มอก.เอส ศูนย์บริการรถยนต์, มอก.เอส การบริการร้านกาแฟ, มอก.เอส สบู่ก้อนผสมสมุนไพร, มอก. เอส การบริการนวดและสปา คือ เจาะเฉพาะแต่ละธุรกิจไปเลยตาม ซึ่งความหมายของตัว S ที่ว่าอาจหมายถึง Special  ที่พิเศษ หรือ S ที่หมายถึง Small ขนาดเล็กก็ได้

Q : ธุรกิจ SME ในบ้านเรามีอยู่แยกย่อยออกไปมากมาย ทางสมอ.ใช้วิธีสร้างมาตรฐาน แต่ละธุรกิจขึ้นมาได้อย่างไร

     เนื่องจากการออก มอก.เอส ให้กับธุรกิจต่างๆ ถือเป็นเรื่องใหม่ บางธุรกิจก็ไม่เคยมีการสร้างมาตรฐานบัญญัติขึ้นมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น สนามวัวชน ที่จังหวัดสุโขทัยที่เล่าไป วิธีการ คือ เราจะดูก่อนว่าธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง เช่น สนามวัวก็ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร เขาต้องได้รับใบอนุญาต อ.1 ตามพรบ.ก่อสร้างอาคารจากองค์การบริหารส่วนตัวบลก่อน ในการชนแต่ละครั้งก็ต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน ตัวสัตว์เองต้องมีการกักกันโรคยังไงบ้าง พอตรวจทุกอย่างผ่านหมด เราจึงมอบ มอก. เอส เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้

     เพราะโดยเฉพาะกำลังของสมอ.เอง เราเป็นหน่วยงานที่ไม่ได้ใหญ่มาก การทำงานลำพังคนเดียวอาจช่วยผู้ประกอบการ SME ได้ไม่เยอะ เราจึงพยายามทำงานร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น บริษัทกำจัดปลวก เราก็ต้องไปถามบริษัทที่ผลิตสารเคมีจำกัดปลวกว่าใช้อะไรบ้างที่มีอันตรายต่อมนุษย์ เสร็จแล้วก็ต้องติดต่อไปที่กระทรวงสาธารณสุขว่าเกณฑ์การใช้สารเคมีพวกนี้ในปริมาณที่ปลอดภัย ต้องไม่เกินเท่าไหร่ หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์บางอย่างเราก็อแดปมาจากแนวคิด ISO เช่น การให้บริการต่างๆ และนำมากำหนดเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมเอสสำหรับ SME ขึ้นมา

Q : ตอนนี้มีธุรกิจอะไรแล้วบ้างที่มาขอ มอก.เอส

     มีหลากหลายเลย แต่ละภาคก็จะแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ภาคอีสานธุรกิจที่มาขอ มอก.เอส เยอะ คือ ร้านกาแฟ ส่วนภาคใต้ที่มาขอเยอะ คือ โรงแรมและธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคที่ขอเข้ามาเยอะที่สุด โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SME ยื่นเรื่องเข้ามาขอ มอก.เอส แล้วประมาณ 762 ราย และปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เราออกเครื่องหมายมอก.เอสให้แล้วกว่า 364 ราย

Q : ผู้ประกอบการ SME ที่อยากยื่นขอ มอก.เอส ต้องทำอย่างไร

     ถ้าเป็นผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯ สามารถมายื่นขอ มอก.เอส ด้วยตนเองได้ที่ สมอ. อีกทั้ง สมอ. ได้พัฒนาระบบระบบ IT ให้สามารถยื่นคำขอได้ทางระบบยื่นคำขอออนไลน์ ทางเว็บไซต์ https://www.tisi.go.th/website/tiss/request_s สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ต่างจังหวัด สมอ.ได้บูรณาการการดำเนินงานร่วมกันกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการสามารถติดต่อผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อยื่นคำขอการรับรอง มอก. เอส หรือขอคำปรึกษาแนะนำต่างๆ ทั้งด้านมาตรฐานและการรับรอง

Q : สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME จะได้จากการขอรับมาตรฐาน มอก.เอส

     เคยมีผู้ประกอบการด้านธุรกิจบริการที่ได้รับ มอก.เอส บอกกับเราว่าการที่เขาได้รับมาตรฐานดังกล่าว นอกจากเขาสามารถนำไปยืนยันหรือการันตีให้กับธุรกิจตัวเองได้แล้ว มันทำให้เขาได้รู้ขอบเขตในงานของตัวเองว่าเวลามีแขกมา ใครจะต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง แล้วต้องทำถึงแค่ไหน จากนั้นจะต้องส่งต่อให้กับใคร ทำให้แต่ละคนรู้หน้าที่ของตัวเอง ซึ่งผมมองว่าตรงนี้ คือ สิ่งสำคัญ ถึงแม้เขาจะไม่สามารถขอได้ผ่านเลยในรอบแรก แต่ก็ทำให้เขาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นไม่มากก็น้อย ได้เรียนรู้ ได้มีการวางแผนงาน มีการนำระบบเข้ามาใช้ สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ รู้ที่มาที่ไป เพราะถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจเลยไม่ว่า SME หรือรายใหญ่ก็ตาม

Q : แสดงว่าต่อจากนี้ เราจะได้เห็นทุกธุรกิจของไทยไม่ว่าระดับรากหญ้า, SME หรือรายใหญ่ สามารถมีมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการของตัวเองได้จากหน่วยที่น่าเชื่อถือทุกคน

     ใช่ครับ มอก. มตช. มผช. และมอก.เอส ถือว่าครบทุกมาตรฐาน สำหรับธุรกิจทุกระดับของไทยวันนี้แล้ว ผมมีแนวคิดและเชื่อว่าถ้าเรามีการส่งเสริมแบบนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ ผู้ประกอบการธุรกิจของเราทุกคนไม่ว่าด้านใดก็ตาม จะมีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น และสำหรับคนที่ได้รับ มอก.เอส ไปแล้ว วันหนึ่งหากเขาอยากขยับตัวไปทำ ISO ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ก็สามารถทำได้ไม่ยาก แต่อยากให้ลองเริ่มจากมาตรฐานเล็กๆ ไปก่อน เป็นการเตรียมความพร้อมและฝึกตัวเอง ไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะ เพื่อวันหนึ่งจะได้ก้าวไปสู่มาตรฐานที่ใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย