กรณีศึกษา แบรนด์พิซซ่าอเมริกา เปลี่ยนรถส่งของเป็นครัวเคลื่อนที่ ได้รสชาติดีเหมือนนั่งกินที่ร้าน

TEXT : Sir.nim

Main Idea

  • เดลิเวอรี หรือบริการส่งด่วน จัดส่งถึงที่ทันที คือ อีกหนึ่งรูปแบบบริการขนส่งสินค้าที่ค่อนข้างได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในธุรกิจอาหาร หรือ Food Delivery ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในทุกวันนี้

 

  • แต่ปัญหาหนึ่งของการจัดส่งรูปแบบเดลิเวอรี คือ อาหารไม่อร่อยเหมือนกินที่ร้านเลย ทำยังไงถึงจะแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ จากโจทย์นี้เองจึงเป็นที่มาของ “Muncho” แบรนด์พิซซ่าที่สร้างโมเดลใหม่เปลี่ยนรถส่งให้เป็นครัวเคลื่อนที่ เสิร์ฟร้อนจากเตาถึงมือลูกค้า

 

     แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นมาจาก "Adam Chain" อดีตนายธนาคาร โดยก่อตั้ง Muncho ขึ้นมาในปี 2564 เริ่มต้นสร้างธุรกิจจากรถตู้แค่ 2 คัน ไอเดียธุรกิจเกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้รับ Domino's Pizza เย็นๆ ชืดๆ โดยใช้เวลาสองชั่วโมงกว่าหลังจากสั่งออร์เดอร์

     จากวันนั้นเขาใช้เวลาเพียง 2 เดือน เพื่อค้นหาวิธีการจัดส่งให้ดีขึ้นกว่าเดิม และจากนั้นเขาก็เปิดตัวแบรนด์พิซซ่าของตัวเองขึ้นมาในชื่อ “Muncho” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564

เปลี่ยนรถส่งของให้กลายเป็นครัวขนาดย่อม

      โดยไอเดียที่ Adam คิดขึ้นมาก็คือ การดัดแปลงรถตู้จัดส่งพิซซ่าให้กลายเป็นครัวเคลื่อนที่ขนาดย่อม มีเตาอบ และแผ่นพิซซ่าตั้งเรียงอยู่ในตู้เก็บของ เมื่อมีลูกค้าสั่งจึงค่อยนำออกมาปรุงทำเป็นหน้าต่างๆ โดยพ่อครัวก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ คนขับรถไปส่งของนั่นเอง (แน่นอนว่าเขาต้องจอดรถก่อนในช่วงที่กำลังปรุง) ซึ่งในขณะที่พิซซ่ากำลังอบอยู่ในเตาร้อนๆ พนักงานก็จะขับรถไปยังจุดหมายปลายทาง เพื่อจัดส่งให้กับลูกค้า เรียกว่าสดจากเตาจริงๆ

     Adame เล่าว่านอกจากจะสามารถให้บริการได้รวดเร็ว ลูกค้าได้รับประทานพิซซ่าร้อนๆ จากเตาแล้ว ยังทำให้เขาใช้ทีมงานเพียงไม่กี่คนก็เปิดเป็นร้านพิซซ่าเคลื่อนที่ได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้วย

     โดยพิซซ่าที่ Muncho จำหน่าย มีให้เลือกทั้งหมด 6 หน้ายอดนิยม เช่น เปปเปอโรนี โดยเป็นพิซซ่าขนาด 14 นิ้ว และในทุกๆ สัปดาห์จะมีพิซซ่าหน้าพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก 1 หน้าหมุนเวียนสลับกันไป ราคาต่อถาดอยู่ที่ประมาณ 14 -16 ดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีเมนูมันฝรั่งทอด ขนมปังชีสให้เลือกด้วย โดยทุกอย่างใช้เวลาในการทำระหว่างการจัดส่งเช่นกัน

คัดเลือกพื้นที่คนอยู่หนาแน่น ทำรอบส่งได้เยอะขึ้น

     Adam เล่าว่าการให้บริการช่วงแรกของ Muncho จะวางแผนคัดเลือกพื้นที่ให้บริการตามรหัสไปรษณีย์ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่นสูงก่อน เฉลี่ยประมาณ 3,000 คนต่อตารางไมล์ เพื่อทำรอบวิ่งส่งได้เร็วขึ้นเยอะขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วในหนึ่งชั่วโมงจะสามารถจัดส่งให้ลูกค้าได้ประมาณ 5 ราย ขณะที่หากเทียบกับผู้ให้บริการเดลิเวอรีอื่นจะทำได้เพียง 2-3 รายต่อชั่วโมงเท่านั้นตามข้อมูลการอ้างอิงจาก The Rideshare Guy

     โดยหลังจากสั่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลูกค้าจะได้รับการอัปเดตสถานะการสั่งซื้อผ่านทางข้อความอัตโนมัติ ซึ่งเวลาโดยเฉลี่ยที่ Muncho ทำได้หลังมีการสั่งออร์เดอร์เข้ามาก็คือ 12-15 นาที แต่เคยมีลูกค้ารายหนึ่งโพสต์ผ่านอินสตาแกรมบอกว่า  เขาแทบจะทำใจเชื่อไม่ได้เลยว่าจะได้รับพิซซ่า หลังการสั่งออร์เดอร์ไปแล้วเพียง 6 นาทีเท่านั้น!

ไม่ใช่คนแรกที่คิด แต่เป็นคนแรกที่ทำได้สำเร็จ

     Adam เล่าว่าจริงๆ แล้วเขาอาจไม่ใช่คนแรกที่คิดทำรถพิซซ่าเคลื่อนที่ขึ้นมา โดยก่อนหน้านี้ยังมีแบรนด์ Zume และ Wonder ด้วย แต่สุดท้ายทั้งสองแบรนด์ก็ต้องปิดตัวลง เพราะมีโครงสร้างที่ซับซ้อนและใช้การลงทุนสูงเกินไป เช่น มีการใช้เครื่องทำพิซซ่าอัตโนมัติที่มีระบบไฮเทคในการเตรียมอาหาร การวางลงทุนที่มากเกินไปในคราวเดียว

     แต่สำหรับโมเดลของ Muncho เขาพยายามปิดจุดอ่อนทุกอย่าง ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ การสร้างกระบวนการทำงาน ทุกอย่างใช้วิธีคิดแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เลือกลงทุนในสิ่งที่จำเป็น เช่น แผ่นแป้งพิซซ่าของเขาก็จ้างผู้เชี่ยวชาญการทำแป้งและขนมปังที่มีชื่อเสียงมาช่วยคิดสูตรให้ เพื่อเหมาะกับการต้องทำทุกอย่างบนรถ มีการวางแผนที่ดี เช่น การใช้ทรัพยากรบุคคลให้คุ้มค่าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด อย่างกรณีให้พนักงานขับรถกับพ่อครัวในการจัดเตรียมอาหารเป็นคนเดียวกัน เป็นต้น ไปจนถึงการว่าจ้างที่ปรึกษาที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมร้านอาหารมาช่วยวางแผนกลยุทธ์การเติบโตให้ โดยในแต่ละวันรถตู้ของ Muncho จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 170 ดอลลาร์ต่อวันเท่านั้น

     Adam เล่าว่าในเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่เปิดตัว รถตู้หนึ่งในสองคันของเขากำลังจะทำกำไรได้ และก่อนคันที่สองจะทำกำไรตามมา เขาวางแผนที่จะเพิ่มการให้บริการมากขึ้นในพื้นที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ก่อนที่จะมุ่งขยายการเติบโตออกไปนอกเมืองต่อไป ซึ่งอาจเป็นรูปแบบการขยายเอง หรือแฟรนไชส์ก็ได้ และแน่นอนเขาบอกว่าจะพัฒนาเมนูอื่นให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น ปีกไก่และสลัด เป็นต้น

     และนี่คือ หนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญยังเป็นตัวอย่างในการทำธุรกิจที่เริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่มั่นคง คิดให้รอบคอบ วางแผนให้ดี แถมไอเดียยังน่าสนใจด้วย ผู้ประกอบการร้านอาหารเดลิเวอรีคนไหนจะลองนำไปปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจของตัวเอง ก็น่าสนใจดีไม่น้อย

ที่มา : https://www.businessinsider.com/muncho-vans-cook-and-deliver-ultrafast-pizzas-in-philadelphia-2023-1?fbclid=IwAR1LJgI5guxp6qp7ft35KD1F55eakdGpB1oZcit9yCDD57dTfKPB4XM2geU#muncho-par-bakes-the-pizzas-and-side-dishes-such-as-fries-in-a-commissary-in-philadelphia-the-cooking-is-completed-in-the-vans-while-en-route-to-its-next-delivery-ensuring-a-hot-pie-and-crispy-not-soggy-fries-8

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย