Koala Burgers and More แบรนด์ที่โต ลูกค้ารู้จักหลงรัก ด้วยช่องทางเดลิเวอรี

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

Main Idea

  • ในขณะที่หลายคนมองว่าการขายของผ่านช่องทางเดลิเวอรี นั้นผู้ประกอบการมักเสียเปรียบ

 

  • แพร-กรณัฐ วรวงษ์เทพเจ้าของแบรนด์ Koala Burgers and More เธอไม่คิดเช่นนั้น กลับมองว่า ถ้ารู้จักสินค้าตัวเองเป็นอย่างดี วิธีการทำประโยชน์เพื่อการตลาดจาก Application ยังมีช่องทางอยู่เสมอ

 

แพร - กรณัฐ วรวงษ์เทพ, จูน-จักรพงษ์ โสภา และโต้ง-พงศ์ศิริ รัตนโฆสิต

   ในช่วงเวลาที่คนทั่วไปเริ่มปฏิเสธความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ได้ หลายธุรกิจมองเห็นช่องทางในการปรับตัวให้อยู่รอด โดยเฉพาะธุรกิจ Food Delivery ที่กำลังเติบโตเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคและสร้างทางเลือกการตลาดสำหรับผู้ประกอบการ ในขณะที่บางคนมองว่าธุรกิจนี้กำลังเอาเปรียบเจ้าของธุรกิจ แต่ Koala Burger กำลังใช้ประโยขน์จากช่องทางเดลิเวอรีในการสร้างแบรนด์ให้ลูกค้าจดจำ

     แพร - กรณัฐ วรวงษ์เทพ ขยายความเป็นมาของ Koala Burgers and More ให้ผมฟังว่า แบรนด์นี้เกิดจากช่วงการปรับตัวเมื่อเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดรอบแรกสุด

     “เคยทำโอสเทล แต่อุดรฯ ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว รายได้ไม่แน่นอน เลยต้องหาอย่างอื่นทำเสริม ครั้งหนึ่งมีคนมาชวนไปขายของที่ตลาด Folk Market ช่วงหน้าหนาว อยากหาอะไรขายกินคู่กับเบียร์สด จึงชวน MUG Burger ด้วย แต่โชคไม่ดีที่ตอนนั้นทางเขาเลิกทำไปก่อน ได้น้องเจ้าของช่วยสอนสูตรให้ หลักจากนั้นก็ขอมาเปิดที่โฮสเทล จนตอนนี้ยังคงสูตรซอสของ MUG ไว้หนึ่งเมนู”

     ผมเลยรู้คำตอบว่าทำไม ป้ายชื่อร้านจึงมีโลโก้ของสองแบรนด์ติดไว้ ตลอดเวลาที่เรานั่งคุยกัน เสียงสัญญาณออเดอร์ของเดลิเวอรีเจ้าต่างๆ ดังแทรกเป็นระยะๆ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จบนแพลตฟอร์มนี้ของ Koala Burgers and More

     แพรบอกว่าแบรนด์เบอร์เกอร์เป็นที่รู้จักได้เพราะ Delivery Application ต่างๆ

     “จากตอนแรกเราขายได้แค่วันละไม่กี่ชิ้น จนตอนนี้ทำยอดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70-80 ชิ้นต่อวัน ซึ่งเกินจากความคาดหวังมามาก เราน่าจะเป็นเบอร์เกอร์เจ้าแรกๆ ที่ขายผ่าน Food Delivery ไม่นับเบอร์เกอร์รายใหญ่จากเฟรนไชส์ชื่อดัง ค่ายไหนทำโปรโมชั่น เราก็เข้าร่วมตลอด เพราะเชื่อว่าเป็นช่องทางให้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้น อีกอย่างการเพิ่มช่องทางตลาดผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ยังช่วยให้เรากระชับองค์กรได้ ไม่ต้องมีต้นทุนเพิ่มทางด้านบุคลากรและพื้นที่ร้าน ช่วงที่ผ่านมาเรายังสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำผ่านการเข้าร่วมงานอีเวนต์ต่างๆ หมั่นโพสต์ช่องทางโซเซียล จนทุกวันนี้ Koala Burgers and More สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว แต่เราไม่ชอบอยู่นิ่ง หมั่นศึกษาวิธีการทำตลาดของบริษัทใหญ่เสมอๆ แล้วนำมาปรับเปลี่ยนกับสินค้าของเรา จะเห็นว่าเมนูของเราจะเพิ่มขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ”

     แพรเล่าให้ฟังถึงประโยชน์ที่ได้จากธุรกิจ Food Delivery ที่หลายคนมองว่าวิธีการทำงานยังเอาเปรียบผู้ประกอบการอยู่ ซึ่งเธอไม่คิดเช่นนั้น กลับมองว่า ถ้ารู้จักสินค้าของเราเป็นอย่างดี วิธีการทำประโยชน์เพื่อการตลาดจาก Application พวกนี้ยังมีช่องทางอยู่เสมอ

     “สำหรับทีมของเรายังมี โต้ง-พงศ์ศิริ รัตนโฆสิต คนสำคัญที่มีส่วนให้รสชาติเบอร์เกอร์อร่อย จุดเด่น ของเบอร์เกอร์ที่นี่ คือ การชูรสชาติวัตถุดิบ เน้นปรุงรสแค่เกลือ พริกไทย จึงทำให้มีฐานลูกค้าประจำซะเยอะ บางคนกินกันมาตั้งแต่วัยรุ่น จนมีครอบครัว แล้วพาลูกมากินต่อ ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นต่างชาติที่มาอยู่เมืองไทย เพราะเขาชอบรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา”

     “ส่วนสมาชิกที่สำคัญอีกอย่างในครอบครัวของเราคือ Kuidaore Ramen ที่เกิดจาก จูน-จักรพงษ์ โสภา เจ้าของร้านราเมงดังจากกรุงเทพ อยากกลับมาอยู่บ้านที่อุดร โต้งเลยชวนมาเปิดด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อดีอีกอย่างที่เราสามารถเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า”

     ผมนึกภาพตามแพร แล้วต้องพยักหน้าเห็นด้วย คนแต่ละกลุ่มมีความชอบไม่เหมือนกัน แต่ถ้าร้านไหนมีทางเลือกให้ ผมเชื่อว่าเขาสามารถดึงลูกค้ากลุ่มนี้ไว้ได้

     ผมได้ลิ้มลองทั้งเบอร์เกอร์และราเมง รสชาติถูกปากอย่างที่แพรบอก ผมติดใจความฉ่ำหวานของเนื้อเบอร์เกอร์และที่สำคัญเรายังสามารถเลือกวัตุดิบแต่ละอย่างประกอบเป็นเบอร์เกอร์ที่ชอบได้ ส่วนราเมง แม้จะสั่งแค่เมนูที่เป็นน้ำซุปใส แต่ความอร่อยไม่ธรรมดา รสชาติดีตั้งแต่น้ำซุป เส้นจนถึงเครื่องเคียง

     “เราเปิดมาเกือบ 4 ปีแล้ว เบอร์เกอร์ยังขายราคาเดิมอยู่ แม้วัตถุดิบจะมีราคายิ่งสูงขึ้น”

     นั่นคือ ประโยคท้ายๆ ของบทสนทนาของเราที่เผยให้เห็นความจริงใจและปรารถนาดีต่อลูกค้าจาก Koala Burgers and More และ  Kuidaore Ramen

Koala Burgers and More

https://www.facebook.com/KoalaBurgersAndMore

Kuidaore Ramen

https://www.facebook.com/kuidaoreramen

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำไมบันไดต้องมีแบรนด์? ฟังเฉลยจาก "ลายวิจิตร" ผู้คิดโซลูชั่นบันไดสำเร็จรูป พาธุรกิจโต 10 เท่า

โดยส่วนใหญ่ในธุรกิจ B2B การสร้างแบรนด์ อาจดูไม่ค่อยมีความจำเป็นมากเท่ากับ B2C ที่ขายปลีกโดยตรงถึงผู้บริโภค ยิ่งเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในงานต่างๆ ตัวอย่างเช่น บันได แต่แล้วทำไม? บันได ต้องมีแบรนด์ ไปดูกัน

คำสารภาพจากแม่ค้าประตูน้ำ ยอมออกจาก Comfort zone สู่โลกออนไลน์ เมื่อความสำเร็จเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ช่วงนี้มักได้ยินเสียงบ่นของพ่อค้าแม่ค้าหนาหูว่า เศรษฐกิจไม่ดีและไม่ใช่เศรษฐกิจไม่ดีแบบธรรมดา แต่เป็นเศรษฐกิจที่แย่สุดๆ รับรู้ได้จากแม่ค้าหลายรายได้โพสต์คลิประบายความในใจจนกลายเป็นไวรัล

บ้านต้นไม้ร้อยหวัน โฮมสเตย์ที่อยากให้คนมาใช้ชีวิตเรียบง่าย กินของพื้นบ้านและนอนฟังสายน้ำ

บ้านพักแนวโฮมสเตย์รักษ์วิถีชุมชน ที่อยากชวนคนให้มาอยู่กับธรรมชาติอย่างเรียบง่าย กินของพื้นบ้านและนอนฟังสายน้ำ รับเฉพาะลูกค้าจองล่วงหน้าเท่านั้น