อยากพาสินค้าโกอินเตอร์ ฟัง 3 ข้อแนะนำ ผอ.สำนักส่งเสริมนวัตกรรมฯ

TEXT / PHOTO : Surangrak Su.

Main idea

3 ข้อ อยากส่งออกสินค้าไปตลาดโลก

  • หาเวทีเปิดตัว สร้างความเชื่อมั่น

 

  • อย่าลืม 3 หัวใจสำคัญ Design - Innovation – Branding

 

  • อยากรุ่ง ต้องมุ่งสายกรีน

 

       

     การได้ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งที่ SME ไทยหลายคนมองว่าจะช่วยทำให้ธุรกิจเติบโตได้ แต่การจะเอาชนะคู่แข่ง ซึ่งมีมากกว่าหลายเท่าตัวจากในประเทศได้ เราอาจต้องสร้างเส้นทางเดิน ไปจนถึงเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองอย่างเข้มข้นเสียก่อน วันนี้เลยอยากชวนมาฟัง 3 ข้อแนะนำจาก ประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กัน

หาเวทีเปิดตัว สร้างความเชื่อมั่น

     ข้อแรก ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กล่าวว่าการที่ SME ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปแข่งขันในตลาดโลกได้นั้น ควรจัดหาเวทีการประกวด หรือสร้างมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลให้ได้เสียก่อน

     ปัจจุบันสำนักส่งเสริมนวัตกรรมฯ ได้สร้าง 2 เวทีสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยควรใช้เป็นใบเบิกทางเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก ได้แก่ 1. Thailand Trust Mark หรือ “T Mark” ตราสัญลักษณ์ ประทับบนฉลากสินค้า การันตีความปลอดภัยด้วยมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว และ 2. Design Excellence Award หรือ “Demark” ตราสัญลักษณ์ เครื่องหมายรับรองผลงานที่โดดเด่นด้านการออกแบบ ซึ่ง SME สามารถเข้ามาขอคำปรึกษา ไปจนถึงส่งผลงานเข้าประกวดได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น SME ไซส์ S หรือ Micro SME ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้เช่นกัน

     “จริงๆ แล้ว ทุกช่องทางที่ภาครัฐได้จัดขึ้นมา SME สามารถเข้ามาใช้บริการได้ ถ้าไม่ได้ส่งเข้าประกวด แค่มีใจเริ่มต้นอยากพัฒนา ถึงยังไม่มีอะไรเลย ก็สามารถเข้ามาปรึกษาเราได้ก่อน เรายินดีให้คำแนะนำ ไปจนถึงมีหลายโครงการเพื่อช่วยอบรมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น “BCG Academy” เราตั้งใจทำขึ้นมา เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ รู้ว่า จริงๆ นี่มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเขานะ เขาเองก็สามารถมีส่วนร่วม ไปจนถึงนำไปเป็นแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของตัวเองได้ อาจเริ่มจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสร้างเทคโนโลยีใหญ่ๆ บางทีแค่ปรับกระบวนการผลิต หรือวิธีการดำเนินธุรกิจก็สามารถทำได้แล้ว ซึ่งการที่เขาเข้ามาหาเรา จะทำให้เขามองเห็นแนวทางได้ชัดเจนขึ้น”

อย่าลืม 3 หัวใจสำคัญ Design - Innovation – Branding

     ข้อสอง การจะบุกตลาดต่างประเทศได้ SME ควรให้ความสำคัญกับ 3 มิติ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการแข่งขัน ได้แก่ 1.การดีไซน์ 2.นวัตกรรม และ 3.การสร้างแบรนด์

     “ในตลาดโลกที่เต็มไปด้วยคู่แข่งและสินค้ามากมาย การจะทำให้สินค้าของเราเป็นที่สนใจได้ เราต้องมีความแตกต่าง ซึ่งการจะส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าได้ ต้องทำทั้ง 3 มิติ ไปพร้อมๆ กัน แยกกันไม่ได้ คือเรื่อง Design, Innovation และ Branding โดยเราต้องสื่อสารออกไปให้เขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรามีอยู่”

อยากรุ่ง ต้องมุ่งสายกรีน

     ข้อสาม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมฯ แนะนำว่าสิ่งสุดท้ายที่ผู้ประกอบการ SME ทุกคนควรคำนึงถึงในการผลิตสินค้าขึ้นมา คือ การใช้การตลาด นำการผลิต โดยเทรนด์ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในวันนี้ ก็คือ การตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

     “ทุกวันนี้ หากจะทำสินค้าขึ้นมาสักชิ้น เราต้อง “ใช้การตลาด นำการผลิต” เช่น ผลิตสินค้าออกมาแล้วเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อมไหม สินค้าของเราสามารถเข้าไปช่วยตอบโจทย์อะไรได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เดี๋ยวนี้จะทำสินค้าอะไรขึ้นมาก็ตาม ข้อนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เลย ผู้ประกอบการบางคนอาจมองว่าเราเป็นธุรกิจเล็กๆ จะเริ่มยังไงได้ ความจริงแล้วก็เหมือนกับการคิดนวัตกรรม เราลองเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว ทำจากจุดเล็กๆ ในองค์กรได้ เมื่อเราพยายามทำอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ วันหนึ่งก็สามารถขยายใหญ่ขึ้นได้ และมันจะสะท้อนออกมาให้เห็นเอง จนวันหนึ่งเมื่อเราพร้อม เราก็นำสิ่งเหล่านี้ไปเปิดตัวสู่ต่างประเทศ โดยผ่านเวทีการประกวด หรือมาตรฐานตราสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางสู่ตลาดโลกได้”

     นอกจาก 3 ข้อแนะนำ เพื่อช่วยให้ SME เปิดตัวในตลาดโลกได้แล้ว ผอ.ประอรนุช ยังได้เผยถึงตัวเลขความก้าวหน้าของผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมโครงการประกวดในเวที Demark โดยการใช้ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ และนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าว่า

     “จากสิ่งที่ได้ทำมา เรามีความพยายามจะเก็บตัวเลขความก้าวหน้าของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับเรา เพื่อฉายให้เห็นภาพว่าเขามีการพัฒนาไปอย่างไรบ้าง โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา เรามีการสำรวจตัวเลขรายได้การส่งออกจากผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลดีมาร์กจำนวน 36 คน ว่าในปี 2564 ก่อนที่เขาจะได้รับรางวัล ธุรกิจเขามีการพัฒนาหรือทำรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ปรากฏว่าจากปี 2564 มีตัวเลขรวมอยู่ที่ 7,080 ล้านบาท เพิ่มอีก 12.15% ในปี 2565 หรือตกเกือบแปดพันล้านบาททีเดียว โดยเราไม่ได้วัดเฉพาะแค่ตัวสินค้าที่ได้รับรางวัล แต่เราดูจากมูลค่ารวมของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น เพราะการได้รับรางวัล แม้เพียงแค่รางวัลเดียว ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้ ถือเป็นเครื่องมือการตลาดที่ดีอีกชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมฯ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ