เบื้องหลัง “Home Hug รักษ์โลก” จับเศษ กาบหมาก สร้างธุรกิจ BCG ต่อลมหายใจให้ชุมชนจ.ตาก

TEXT : Neung Cch.

Photo: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

Main Idea

  • เศษ กาบหมาก วัสดุเหลือทิ้งในชุมขน ที่ถูกละเลยมาหลายชั่วอายุคน

 

  • แต่วันนี้ถูกเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายตามแนวคิด BCG ใช้ของที่มีมาสร้างให้เกิดคุณค่า สร้างงานให้ชุมชน และสังคมน่าอยู่

 

  • ฝ่าฟันอุปสรรคมากมายตั้งแต่คนยังไม่ค่อยรู้จัก จนวันนี้ธุรกิจเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

 

    เพราะเห็นที่จังหวัดตากบ้านเกิดมี กาบหมาก วัสดุจากธรรมชาติจำนวนมาก ที่มักถูกปล่อยให้ร่วงหล่นอย่างไร้ค่า สุภาพร วจีธนเศรษฐ์ (อ้อม) ประธานวิสาหกิจชุมชนโฮมฮักตาก นำกาบหมากที่ร่วงหล่นเหล่านี้มาต่อยอด เริ่มจากทำเป็นจานกาบหมาก นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจโมเดล BCG ที่เริ่มจากคอนเซปต์ (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

    นอกจากจะมองว่ากาบหมากเป็นวัสดุที่พบมากในจังหวัดตากแล้ว ด้วยคุณสมบัติเด่นของกาบหมากคือ สามารถนำไปขึ้นรูปได้ด้วยตัววัสดุชิ้นเดียวเลย โดยไม่ต้องอาศัยกาวหรือเคมี ทำให้เหมาะที่จะนำมาทำเป็นสินค้ารักษ์โลกภายใต้แบรนด์ Home Hug รักษ์โลก ที่ขอตั้งเป้าอีกสองปีเพื่อสร้างให้วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้สามารถยืนหยัดทำธุรกิจได้ด้วยตัวเอง แม้ไม่ง่ายแต่ก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว

 

จากภาชนะใส่อาหารขยายสู่หลากหลายผลิตภัณฑ์

    ปัจจุบันแบรนด์ Home Hug รักษ์โลก มีสินค้าแบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ คือ หนึ่ง ผลิตภัณฑ์สำหรับใส่อาหาร สองผลิตภัณฑ์ Home Decoration & Lifestyle ทั้งนี้ในการผลิตสินค้าใหม่แต่ละชิ้นจะทำภายใต้คอนเซปต์ Circular Economy พยายามนำเศษวัสดุเหลือใช้ภายในชุมชนไม่ว่าจะเป็น ใบไม้แห้ง กาบไผ่ โดยเฉพาะ “กาบหมาก” ที่เป็นวัตถุดิบหลักของชุมชนนำมาเพิ่มมูลค่าผลิตเป็นสินค้าหลากหลายรูปแบบ เช่น ปุ๋ยหมัก น้ำส้มควันไม้ ถ่านดูดกลิ่น (Char Leaf) และถ่านไบโอชาร์กาบหมาก บรรจุภัณฑ์จากเศษกาบหมาก เป็นต้น

ใช้หลักเศรษฐศาสตร์ สร้างผลิตภัณฑ์

    จากโจทย์ที่ต้องนำวัสดุที่เหลือใช้มาสร้างสินค้า อดีตนิสิตที่คว้าใบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากสเปน ได้นำความรู้จากสิ่งที่เรียนมาปรับใช้คือ ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ บวกกับประสบการณ์และการเก็บข้อมูลจากการไปออกงานแสดงสินค้า เพื่อมองถึงความเป็นไปได้ทางการตลาด

    “เราเคยลองทำการตลาดหลายๆ อย่างตอนไปออกบู๊ธ เช่น ทำจานกาบหมากเป็นเซตเล็กๆ แต่กลุ่มคนที่ซื้อส่วนใหญ่กลับเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่มาออกบู๊ธด้วยกันซื้อไปลองใช้ ส่วนคนที่มาเดินเที่ยวมีจำนวนน้อยที่ซื้อกลับไป เราก็เลยลองแตกไลน์สินค้าเป็น แชมพู กับสบู่ ซึ่งผลิตตอนช่วงโควิด กลายเป็นของจำเป็นเพราะต้องล้างมือบ่อยๆ ราคาจับต้องได้ ชิ้นละ 39 บาท ทำให้คนซื้อง่ายขึ้น หรือการทำถ่านดูดกลิ่น ช่วยต่อยอดให้คนทำกิจกรรมเวิร์กช็อปการทำถ่าน ได้สอดแทรกให้เขารู้จักตัวภาชนะกาบหมากไปในตัว”

ธุรกิจ BCG อยู่ได้ ต้องมีเครือข่าย

     แม้เทรนด์สิ่งแวดล้อมจะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ยังมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น ราคาที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์จากโฟม อีกทั้งเป็นงานคราฟต์ที่ต้องใช้แรงงานฝีมือไม่สามารถผลิตครั้งละมากๆ ได้

“เคยมีคนที่มาดูงานที่ชุมชนเราปรึกษาว่า มีลูกค้าถามว่าทำไมขายแพงจะตอบยังไงดี เขาพยายามอธิบายกับลูกค้าว่า ขั้นตอนการผลิตมันยาก เราบอกว่าตอบแบบนี้ไม่ได้ ลูกค้าไม่สนใจหรอก เราต้องอธิบายให้เขาเห็นภาพใหญ่และเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น ว่าปีหนึ่งๆ คนสร้างขยะ สร้างมลพิษเท่าไหร่ ในการกำจัดขยะแต่ละปีต้องใช้งบประมาณกี่พันล้าน ถ้าอธิบายแบบนี้แล้วเขาไม่เข้าใจแสดงว่าอธิบายไม่ถูกคน พูดเป็นร้อยรอบเขาก็ไม่เข้าใจ เราก็แค่ขอบคุณเขา”

    นอกจากนี้ สุภาพรบอกว่าตอนที่เธอทำภาชนะกาบหมากช่วงแรกๆ พบว่ามีแต่ผู้ผลิตแต่ไม่ค่อยมีคนหาตลาด พอหาตลาดไม่ได้บางคนก็ใช้วิธีดัมพ์ราคา ในทางกลับกันที่เธอพยายามวิ่งหาตลาดมาตลอด 3-4 ปี ทั้งไปออกบู๊ธ ติดต่อร้านค้า ร้านขายไอศกรีม โรงแรมให้ลองใช้ภาชนะเพราะไม่อยากที่จะไปแข่งเรื่องราคา

    “มีอุปสรรคเยอะมาก อย่างไปออกงานแสดงสินค้าเราเห็นกล่องโฟมใส่อาหารเยอะมากด้วยราคาที่แพงกว่าโฟมทำให้หน่วยงานที่จะซื้อชุดเบรกอาหารก็มีงบจำกัดไม่สามารถมาซื้อชุดเบรกที่ใช้ภาชนะกาบหมากได้ ตรงนี้แค่อยากสะท้อนให้เห็นว่าถ้าจะต้องการให้มันรักษ์โลกจริงๆ ก็อาจต้องมีนโยบายมาสนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจุบัน หน่วยงานในจังหวัดตากเริ่มหันมาสนใจตรงนี้มากขึ้น รวมทั้งการจัดงานแสดงสินค้าหลายๆ พื้นที่ก็เริ่มมีใช้ภาชนะกาบหมากใส่อาหารแล้ว จริงๆ ทำธุรกิจแบบนี้ต้องทำเป็นเครือข่ายถ้าไปคนเดียวก็คงไม่รอด”

ขอเวลาอีกสองปี

    ผ่านมาร่วม 4 ปี ในฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์ Home Hug รักษ์โลก สุภาพรยอมรับว่าเหนื่อย จนถึงขั้นเคยคิดจะหยุด เพราะมีแต่ผู้ผลิตแต่ไม่มีคนซื้อ แล้วเบื้องลึกเบื้องหลังขั้นตอนการผลิตก็ยาก เพราะหนึ่ง ต้องอาศัยวัตถุดิบจากธรรมชาติจึงมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย สอง สินค้าต้องได้มาตรฐาน ต้องมีความปลอดภัย ซึ่งกว่าจะได้มาตรฐานต้องมีรายละเอียดขั้นตอนการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาเยอะมาก ตั้งแต่การขัด เก็บขอบ การอบยูวีซี ฯลฯ แต่แบรนด์ก็สามารถได้มาตรฐานรองรับจาก กรมวิทยาศาสตร์การบริการ

    “เราไม่ใช่โรงงานใหญ่เราเป็นแค่วิสาหกิจชุมชน สินค้าไม่มีมาตรฐานก็ไม่ต่างกับสินค้าทั่วไปที่ไม่มีใครยอมรับ ยิ่งถ้าเป็นสินค้าที่ต้องสัมผัสกับผู้บริโภคใส่ภาชนะอาหาร  ความสะอาด ปลอดภัยสำคัญต้องมาเป็นอันดับแรก ดังนั้น มาตรฐานจึงเป็นตัวเปิดประตูโอกาสให้เรา กลายเป็นจุดแข็งของเราได้เลย ทำให้คนเชื่อใจ ทำให้มีจุดแข็งไปสู้ประเทศอื่นๆ ได้ทำให้สินค้าเราไปได้มากขึ้น"

    “เป้าหมายของเราต้องการให้ ‘Home Hug รักษ์โลก’ อยู่ได้ด้วยตัวเอง ตั้งเป้าไว้สองปี เพราะการทำธุรกิจสีเขียวไม่ได้ง่าย ในเครือข่ายที่สู้กันมาจากวันแรกมี Active กว่า 10 เครือข่ายตอนนี้เหลือแค่ 3-4 เครือข่าย ที่ยังอยู่ เท่าที่อ้อมสัมผัสคนที่มาทำธุรกิจนี้ได้ต้องมีแพสชั่นและมีธุรกิจอื่นที่เป็นรายได้หลัก อย่างไรก็ดี ตอนนี้ก็โชคดีที่มีหลายๆ หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ช่วยอนุเคราะห์เครื่องอบพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งอีกหลายๆ หน่วยงานเริ่มสนใจ คนในพื้นที่เริ่มใส่ใจมากขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีว่าที่เราตั้งเป้าไว้สองปีอาจดีขึ้น” สุภาพร กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลติดต่อ

https://www.facebook.com/HOMEHUGTAK

โทรศัพท์: 064 151 9163

อีเมล: homehugtak@gmail.com

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น