รุจิรา ตระกูลยิ่งเจริญ “นักปรุงกลิ่น” มือรางวัลระดับโลก ชี้ทางเอสเอ็มอีใช้ Scent Marketing อาวุธชั้นดีที่ทรงอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ

TEXT : จีราวัฒน์ คงแก้ว

PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

Main Idea

  • ในทางจิตวิทยากลิ่นทำให้รู้สึกมั่นใจ รู้สึกสวย ฯลฯ

 

  • รู้ไหมว่า “กลิ่น” ยังเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของหลายๆ ธุรกิจ เพราะทำให้คนตัดสินใจซื้อโดยไม่รู้ตัว เหมือนน้ำยาล้างจานทำไมต้องเป็นกลิ่นมะนาว นั่นเพราะให้ความรู้สึกสะอาด รู้สึกกินได้

 

  • ขณะเดียวกันถ้าใช้กลิ่นที่ผิดแปลกไป เช่น น้ำยาล้างจานใช้กลิ่นโทนเดียวกับผงซักฟอก ส่งผลต่อยอดขายได้

 

  • นี่คือ เรื่องราวของศาสตร์ที่ใช้จิตวิทยาของกลิ่นมาสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์

 

     ในยุคที่ทุกแบรนด์ต่างช่วงชิงพื้นที่ในใจของลูกค้า “กลิ่น” กลายเป็นประสาทสัมผัสที่ทรงอิทธิพลต่ออำนาจการตัดสินใจซื้อ เป็นอาวุธชั้นดีที่นักการตลาดนำมาใช้สร้างคุณค่า สร้างประสบการณ์ สื่อสารตัวตนของแบรนด์ไปสู่ลูกค้า เพื่อให้เกิดการซื้อและซื้อซ้ำ ไม่ปันใจไปหาแบรนด์อื่น ทั้งยังช่วยปกป้องตัวเองจากการเลียนแบบของคู่แข่งได้อีกด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เทรนด์การตลาดในภาพรวม กลุ่มลักชัวรี่ แบรนด์ จะมาที่ Scent Marketing กันหมดแล้ว

     SME Thailand ชวนคุยกับ รุจิรา ตระกูลยิ่งเจริญ” กรรมการผู้จัดการ Scent And Sense ผู้ดูแลประสบการณ์ด้านกลิ่นครบวงจร ที่ผันตัวเองจากนักวิจัยโรคติดต่อมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่น (Scent Expert) ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ชั้นนำมากมาย กับเหตุผลดีๆ ที่ทำไมเอสเอ็มอี ต้องใช้ ‘Scent Marketing’ ในการทำธุรกิจ

Q : จุดเริ่มต้นของการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นของคุณ รุจิรา เป็นอย่างไร ทำไมถึงสนใจธุรกิจนี้

     A : เป็นคนที่ชอบศิลปะและวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะ “ชีววิทยา” เพราะรู้สึกว่า ได้เห็นความสวยงามของสิ่งมีชีวิต ซึ่งก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง อีกทั้ง วิทยาศาสตร์ ถ้าเราทำความเข้าใจได้ดีจะมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยรักษาชีวิตคนได้  นี่เป็นแมจิกของวิทยาศาสตร์ที่ทำให้รู้สึกสนุก และอยากเป็นนักวิจัย หลังเรียนจบจาก ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านโรคติดต่อโรคเขตร้อน จึงเริ่มทำงานเป็นนักวิจัยโรคติดต่อ

     ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจเป็นนักธุรกิจเลย แต่อยากเป็นนักวิจัย ระหว่างเตรียมตัวไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ต่างประเทศ มีโอกาสไปทำงานวิจัยร่วมกับทีมวิจัยของอเมริกาและยุโรป ในการควบคุมโรคให้กับชาวเผ่าอาข่า ที่ จ.เชียงราย พอขึ้นไปจริงๆ พบว่า ปัญหาของคนที่ป่วยแล้วไม่สามารถรักษาตัวเองได้นั้นมีหลากหลายมาก ทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ บางทีมียารออยู่แล้วที่สาธารณสุข แต่เขาไม่มีเงินค่ารถไป  ไม่มีประปา ประปาเข้าไม่ถึง คนก็ติดโรคได้ เพราะน้ำไม่สะอาด ขณะที่ในวันธรรมดาแทบไม่เจอคนหนุ่มสาวเลยเพราะไปทำงานในเมืองกันหมด จึงรู้สึกว่า จริงๆ แล้วโลกใบนี้มีอีกหลายอย่างที่มนุษย์อย่างเราจะเข้าไปทำให้เกิดประโยชน์ได้ ด้วยความที่ตัวเองเกิดมาในครอบครัวนักธุรกิจ คุณแม่จะสอนเสมอว่า ธุรกิจดีอย่างหนึ่ง คือ ถ้าเราทำในสิ่งที่ดี ผลเราเห็นทันที เราเดินถูกทางเราเห็นทันที เดินผิด ก็เห็นเลย แต่ถ้าเป็นงานวิจัย ต้องรอนาน

     พอดีมีโอกาสคุยกับผู้ร่วมก่อตั้ง รัชพล ตันติประภากุล CEO CHIEF EXECUTIVE OFFICER ซึ่งเป็นเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียน เราเห็นปัญหาเดียวกัน และมองว่า บ้านเรามีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ผู้คนเพาะปลูกกันเก่งเยอะมาก เพียงแต่ยังไม่มีการแปรรูปในเชิงลึก พวกเราเรียนมาทางนี้ สามารถนำความรู้มาทำอะไรได้อีกเยอะมาก ซึ่งอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่างานวิจัยอื่น แต่มันจะมีประโยชน์ และทำให้คนมีทางเลือกที่จะกลับมาทำงานที่บ้านกันมากขึ้น นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำ Scent And Sense ขึ้นเมื่อประมาณ 9 ปีก่อน โดยเริ่มจากเป็นแบรนด์เครื่องหอมสมุนไพรที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชน ภายหลังตัดสินใจไปศึกษาเรื่องกลิ่นเพิ่มเติม ที่ Perfumers World และ Grasse Institute Of Perfumery กลายเป็นว่า ไปตกหลุมรักศาสตร์นี้เข้าในที่สุด

Q : เสน่ห์ของ “กลิ่น” คืออะไร แล้วสำคัญกับแบรนด์หรือการทำธุรกิจในปัจจุบันนี้อย่างไร

     A : แมจิกของเขาคือ สามารถสื่อสารให้ลึกไปถึงความทรงจำของคนได้ ช่วยทำให้คนผ่อนคลาย มีความสุขขึ้นได้ ในทางจิตวิทยามีกลิ่นที่ทำให้รู้สึกมั่นใจ รู้สึกสวย ในทาง สุคนธบำบัด (Aromatherapy) จะมีกลิ่นเชิงบำบัด เช่น ตระกูลลาเวนเดอร์ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เลม่อนทำให้คนตื่นตัว เป็นต้น นอกจากนี้ กลิ่น ยังเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของหลายๆ ธุรกิจ เพราะทำให้เราตัดสินใจซื้อโดยไม่รู้ตัว เช่น ทำไมน้ำยาล้างจานถึงต้องเป็นกลิ่นมะนาว นั่นเพราะมันให้ความรู้สึกสะอาด ในขณะเดียวกันก็รู้สึกกินได้ด้วย แต่ถ้าเราใช้กลิ่นที่ผิดแปลกไป เช่น ใช้กลิ่นโทนเดียวกับผงซักฟอก ยอดขายก็อาจจะไม่ได้สูงเท่าก็ได้ หรืออย่าง สบู่ ต่อให้เราเล่าสรรพคุณอะไรมากมาย แต่คุณสมบัติแรกที่คนจะรู้สึกได้ชัดก็คือ กลิ่นหอม

     มันเป็นศาสตร์ที่เราใช้จิตวิทยาของกลิ่นมาสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ และสื่อสารตัวตนของแบรนด์ออกไป อย่างเช่น การตลาด ณ จุดขาย เวลาที่เราเดินเข้าโชว์รูม จะเห็นว่า สินค้าลักชัวรี่แบรนด์ จะมีกลิ่นแบบหนึ่ง เป็นท่วงทำนองที่ให้เราเดินช้าลง หรือแบรนด์แฟชั่นที่สนุกสนาน สินค้ากลุ่มฟาสต์แฟชั่น ก็จะมีช่วงกลิ่นที่ทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉง เดินเข้าร้านแล้วอยากซื้อ ดึงดูดคนได้ ซึ่งในแต่ละตลาดจะมีการใส่ตัวตนของแบรนด์ผ่านกลิ่นที่แตกต่างกันไป นี่คือ Scent Marketing (กลยุทธ์การตลาดที่ใช้กลิ่นดึงดูดลูกค้า) ที่เราดูแลอยู่

Q : อยากให้ช่วยเล่าถึง Scent And Sense ว่าเราทำอะไร ให้บริการด้านไหน ดูแลลูกค้ากลุ่มใดอยู่บ้าง

     A : เราเป็นผู้ดูแลประสบการณ์ด้านกลิ่นครบวงจร โดยเราไม่ได้ผลิตแค่ตัวน้ำหอม แต่ดูแลประสบการณ์ของคน ตั้งแต่ การออกแบบกลิ่น ไปจนถึงการดูแลจนกลายเป็นสินค้า ซึ่งสินค้าที่เราดูแลให้ได้มีตั้งแต่ หัวน้ำหอม ที่ส่งให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ไปจนถึงการเป็น ODM คือลูกค้าที่อยากทำแบรนด์สินค้า เดินเข้ามาหาเราพร้อมไอเดีย สามารถออกไปเป็นสินค้าพร้อมขายได้เลย โดยเราจะดำเนินการให้ทุกอย่าง ซึ่งสินค้าจะมีตั้งแต่ ผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสผิว อย่างพวก สบู่ แชมพู โลชั่น ฯลฯ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในโรงแรมหรือสปา เป็นต้น

     รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่สัมผัสผิว อย่าง กลุ่มอโรม่า น้ำหอมในบ้าน ก้านหอม ถุงหอมในรถ สเปรย์ปรับอากาศ เทียนหอม เป็นต้น ซึ่งเราดูแลให้ทั้งหมดไปจนถึงบรรจุภัณฑ์เลย

     ส่วนสุดท้ายจะเป็น ระบบกระจายกลิ่นในอาคาร ที่เห็นกันในห้างสรรพสินค้ารวมถึงในช็อปต่างๆ โดยเราดูแลครอบคลุมตั้งแต่ หนึ่งร้านค้า หนึ่งโชว์รูม ไปจนถึงหนึ่งคอนเสิร์ตฮอลล์ รวมถึงการดูแลกลิ่นประจำตัวศิลปินแต่ละท่านด้วย

     ปัจจุบัน Scent And Sense เน้น B2B ร้อยเปอร์เซ็นต์ ลูกค้าเราเป็นธุรกิจทั้งหมด ตั้งแต่ เจ้าของแบรนด์สินค้า ไปจนถึง สปา โรงแรม ร้านอาหาร หรืออย่างพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ เราก็รับดูแลให้ด้วย

     ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา รู้สึกสนุกกับงานที่ทำมาก เหมือนเราได้เล่นในบทของลูกค้าแต่ละราย ได้รับโอกาสที่หลากหลาย และยังมีผลงานร่วมกับลูกค้าที่ได้รับรางวัลจากทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย ได้ทำทั้งงานที่มีประโยชน์ งานที่สนุก อย่าง “ธูปกลิ่นไก่ทอด KFC” ที่ร่วมกับ Wunderman Thompson Thailand รวมถึงงานแฟนซี อย่าง ทำกลิ่นผี กลิ่นลมหายใจผี กลิ่นอวกาศ ฯลฯ มีโอกาสทำงานร่วมกับศิลปิน โปรดิวเซอร์เพลงหลายๆ ท่าน ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้จินตนาการมาผสมผสานกับประสบการณ์ของลูกค้า

Q : สำหรับเอสเอ็มอี สามารถนำกลิ่นมาใช้สร้างโอกาสให้กับธุรกิจของตัวเองได้อย่างไรบ้าง

     A : การใช้กลิ่นของเอสเอ็มอี หลักๆ คือต้องมีอยู่ในตัวสินค้า ขึ้นกับว่าสินค้านั้น ต้องการสื่อสารอะไรกับคนบ้าง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่อยู่บนผิวหน้า ต้องการสื่อสารความอ่อนโยน ทั้งนี้ต้องเป็นกลิ่นที่ไม่เฉพาะจนเกินไป และตรงกับตัวตนของแบรนด์ด้วย เพื่อให้เกิดการซื้อและซื้อซ้ำ

     ส่วนที่สอง จะเป็นการสร้างประสบการณ์ เป็นกลิ่นที่หน้าช็อป หรือว่ากลิ่นที่อยู่กับกล่องพัสดุที่เราส่งถึงลูกค้า เนื่องจากธุรกิจเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีหน้าร้านกันแล้ว เราต่างกำลังแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำของลูกค้า เป็นยุคของการตลาดประสบการณ์อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น เราต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า เราฉีกออกจากคนอื่น ต้องสร้างความประทับใจให้ลูกค้า

     เอสเอ็มอีอาจมองว่า สิ่งพวกนี้เป็นค่าใช้จ่าย แต่เวลาสร้างแบรนด์เราต้องเข้าใจว่า เรากำลัง “สร้างคุณค่า” อะไรบางอย่างให้กับลูกค้าของเรา เป็นการสร้างการจดจำให้กับแบรนด์เรา ซึ่งยุคนี้เป็นยุคของแบรนด์ดิ้ง และประสบการณ์จริงๆ ฉะนั้นสิ่งที่เราจ่ายไปจะกลับมาเป็นอะไรอีกหลายอย่าง เช่น การดีไซน์กลิ่นในตัวสินค้า ถ้าเรามีกลิ่นที่เฉพาะตัว หนึ่งเลยมันสร้างยอดซื้อซ้ำได้แน่นอน และเมื่อคู่แข่งเห็นว่าเราขายดี อยากทำตามก็ก๊อบปี้ตามไม่ได้ มันจึงช่วยปกป้องเราและสร้างอะไรหลายๆ อย่างให้กับเราได้

     วันนี้เทรนด์การตลาดในภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มลักชัวรี่ จะมาที่ Scent Marketing กันหมดแล้ว โดยมีงานวิจัยออกมาว่า ถ้าทำให้คนสามารถแตะ 3 ประสาทสัมผัสขึ้นไป (การมองเห็น, การลิ้มรส, การได้กลิ่น, การได้ยิน และการสัมผัส) จะทำให้การจดจำในแบรนด์สูงขึ้น  และถ้าสังเกตดีๆ ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่มีอะไรที่ไม่มีกลิ่นเลย ถามว่าทำไมถึงต้องมีกลิ่น ก็เพราะว่าเป็นเหตุผลที่คนๆ นั้นจะซื้อ หรือไม่ซื้อนั่นเอง

     ขณะที่ทุกวันนี้ผู้บริโภค สมาธิสั้นลง การปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค มีน้อยลงมาก ทุกคนถึงได้ช่วงชิง ความประทับใจแรก วินาทีแรกที่คุณเปิดฉันมาคุณต้องรู้สึกหอมจังเลย เมื่อคุณใช้ไปแล้ว ใช้หมดทำยังไงให้คุณขาดเราไม่ได้ ต้องซื้อซ้ำ นี่แหละความประทับใจแรกและความประทับใจในระดับที่ติดกลิ่น ซึ่งสำคัญกับธุรกิจของเอสเอ็มอี

Q : ตลอดการทำธุรกิจที่ผ่านมาย่อมต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก ถามว่าอะไรที่เป็นคีย์ซัคเซสที่ทำให้ Scent And Sense ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้จนถึงทุกวันนี้ 

     A : เชื่อว่าเกิดจากการที่เราเดิน 3 ขา มาโดยตลอด เรามองการเติบโตร่วมกันเสมอ สมการของเราคือ “แบรนด์ลูกค้า” “แบรนด์เรา” และ “ชุมชน” ไม่เคยมีขาไหนหายไปเลย เราไม่เคยมองแค่ตัวเราได้ แม้แต่ขาของฝั่งเราเอง ก็ยังมีคู่ค้าของเรา ที่เราพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากที่สุด เพื่อเติบโตไปด้วยกัน

     ในส่วนของแบรนด์ลูกค้า เป็นเหมือนด่านหน้าที่ถ้าเขาแข็งแกร่ง สุดท้ายแล้วหลังบ้านซึ่งเป็นชุมชน มีส่วนได้ด้วยแน่นอน เพราะฉะนั้นอะไรที่เราทำให้ลูกค้าได้ เราทำให้หมด ให้สิ่งที่ดีที่สุด สูตรที่ดีที่สุด วัตถุดิบที่ดีที่สุด เพื่อให้เขาเติบโต

     ในขณะที่ฝั่งของเราเอง ก็พยายามพัฒนาตัวเองให้แข็งแรงที่สุด อาร์แอนด์ดีของเราทำงานหนัก และพยายามสรรหาสิ่งดีๆ เข้ามาตลอด

     ในฝั่งของชุมชน เราพยายามพัฒนาร่วมกันกับเขา รวมถึงการขยายขีดจำกัดของเขา เพราะเรารู้ว่าชุมชนในไทยจะอยู่ในระบบแบบฟาร์มขนาดเล็กเป็นส่วนมาก จึงต้องขยายเขาไปให้ได้มากที่สุด

     เราเชื่อว่า อะไรที่ไม่ได้เติบโตแค่ตัวเรา แต่มี 3 ขานี้ จะทำให้เกิดความแข็งแรงสูงสุด ลูกค้าเองก็สัมผัสได้ และด้วยการคิดแบบนี้ทำให้พลังของเราในการทำงานสูงขึ้นด้วย

     เรายังเชื่ออีกว่า ธุรกิจทุกธุรกิจในยุคนี้ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่คนหนึ่งคน วันนี้คนที่ทำธุรกิจแบบเราอาจไม่ได้มีเยอะมากนัก โดยเฉพาะการทำงานในลักษณะยืนด้วย 3 ขา จึงอยากให้มีคนมาทำกันเยอะๆ เชื่อว่าถ้าอุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้น จะส่งผลบวกทั้งกับเรา และกับชุมชนด้วย ถ้าเราโต เรารู้ว่า ชุมชนโต แต่ถ้ามีคนมาโตไปด้วยกัน คนนั้นดูแลชุมชนนี้ คนนี้ดูแลชุมชนนั้น สุดท้ายภาพรวมของเราสวยงามแน่นอน

Q : วางแผนการเติบโตให้กับธุรกิจในก้าวต่อจากนี้อย่างไร Scent And Sense จะเป็นอะไรต่อไปในอนาคต

     A : เป้าหมายของเราในปี 2026 เรามองว่า Scent And Sense  จะเป็นผู้นำในเรื่องของ Scent Marketing ทั้งในและต่างประเทศ โดยแนวทางคือ เราจะผลักดันให้ลูกค้าของเราประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีลูกค้าหลายรายที่เริ่มไปได้รางวัลในต่างประเทศ และประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศมาบ้างแล้ว ก็จะพยายามทำให้ลูกค้าของเราถูกมองเห็นในวงกว้างขึ้นนอกเหนือจากประเทศไทยให้มากที่สุด

     นอกจากตัวชี้วัดในการทำให้ลูกค้าประสบความสำเร็จแล้ว  ในอีกทางหนึ่งคือ การขยายชุมชน และสร้างความร่วมมือกับชุมชนให้มากขึ้น ซึ่งนี่คือเป้าหมายของเราต่อจากนี้

Q : ทำธุรกิจเกี่ยวกับกลิ่น แถมยังเป็น “นักปรุงกลิ่น” ที่โลกนี้มีเพียงไม่กี่คน ถ้าจะให้คุณรุจิรา ลองเปรียบตัวเองเป็นสักหนึ่งกลิ่น มองว่าเราจะเป็นกลิ่นอะไร แล้วทำไมถึงเป็นกลิ่นนั้น

     A : จริงๆ ตัวตนของ  Scent And Sense มีกลิ่นของเราอยู่ เราเรียกมันว่า “กลิ่นสุข” เป็นกลิ่นที่สร้างขึ้นมาจากคาแรคเตอร์ของ “ต้นส้ม” โลโก้แรกของเราจึงเป็นต้นส้ม เพราะเราอยากใช้ชีวิตแบบต้นส้ม ภาวนาตลอดว่า เราอยากเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ ที่ให้ร่มเงาคนได้จริงๆ ซึ่งสิ่งที่ต้นส้มให้ได้ในวงการน้ำหอมนั้น ส้มเป็นหนึ่งในต้นไม้ไม่กี่ชนิด ที่ไม่ว่าจะใบ ดอก ผล หรือกิ่งก้าน สามารถเป็นน้ำหอมได้หมด เราอาจจะรู้จักน้ำหอมจากเปลือกส้ม แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะดอกส้ม กิ่งก้าน ใบ ส้ม ก็สามารถมาทำเป็นน้ำหอมได้เช่นกัน

     รู้สึกว่า ในฐานะการเป็นมนุษย์ของพวกเรา หรือว่าบทบาทของ Scent And Sense ที่มีต่อผู้คน อะไรที่เรารู้ อะไรที่เรามี เราก็อยากให้มันมีประโยชน์ให้หมด แม้แต่ที่นี่เองในเมื่อเกิดขึ้นมาเป็นบริษัทแล้ว ในฐานะการเป็นองค์กร เราก็อยากให้สามารถดูแลชีวิตคน ให้ร่มเงากับคนของเราได้ ไปจนถึงชุมชน หรือว่าลูกค้า นี่คือความฝันของเรา

     ในส่วนตัวเอง ก็อยากจะเป็นร่มไม้เช่นเดียวกัน อันนี้เป็นปณิธานตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เมื่อมองย้อนกลับไป จากจุดเริ่มต้นที่มีคนอยู่แค่ 3 คน วันนี้เรามีพนักงาน 40 ชีวิต ที่เขาได้ดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว ก็รู้สึกดีใจ วันนี้เราอาจจะยังไม่ใช่ต้นไม้ใหญ่ แต่ว่าเป็นต้นไม้หนึ่ง ที่คนสามารถกินผล อยู่ใต้ร่มเงาของเรา และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ นี่นับเป็นความสำเร็จของพวกเราแล้ว

Scent And Sense Award 2022

  • The Beauty Shortlist & Wellbeing Awards ELLE Thailand Beauty Awards 2022

 

  • Winner 2022 The Aesthetics of Scent Awards, Thai Enhancement Award Secret Valley Artepole

 

  • Finalist 2022 The Aesthetics of Scent Awards, Fashionable Award: 79 Degree After Dark, Dapper

 

  • Finalist 2022 The Aesthetics of Scent Awards, Fashionable Award Sophisticated PYE

 

  • Finalist 2022 The Aesthetics of Scent Awards, Fashionable Award, Eau de Dynamite, Arteple

 

ช่องทางติดต่อ

FB : Scent And Sense

เว็บไซต์ www.scentandsense.co.th

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ