ทายาทธุรกิจขนส่งภาคเหนือ ฉีกกฎความเชื่อ ทรานฟอร์มองค์กร ใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนหลายล้านบาท

TEXT: จีราวัฒน์ คงแก้ว

PHOTO : JPN

Main Idea

  • “ณัฐ รุ่งเจิดฟ้า” ทายาทแห่ง (NTPS Group) หนึ่งผู้นำด้านการขนส่งขนาดใหญ่ในภาคเหนือ และบริษัทในเครือผู้ผลิตหางและบอดี้รถบรรทุก ต่อยอดสร้างโอกาสทำเงินใหม่ให้ธุรกิจ ด้วยการขายอะไหล่รถบบรรทุกผ่านช่องทางออนไลน์

 

  • จากไม่คิดว่าจะขายได้ กลับเป็นขายดี ทำรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจ จากตลาดที่เคยรู้จักกันในกลุ่มหนึ่ง ก็กลายเป็นสินค้าที่เข้าถึงคนได้ทั่วประเทศ รวมถึงร้านค้าปลีกที่รับอะไหล่รถบรรทุกไปจำหน่ายต่ออีกด้วย

 

     ใครจะคิดว่า สินค้าอย่าง “อะไหล่รถบรรทุก” จะมีขายในช่องทางออนไลน์อย่าง Facebook, Shopee, Lazada หรือแม้แต่ TikTok จนกลายเป็นโอกาสทำเงินใหม่ๆ ให้กับ บริษัท เจ.พี.เอ็น.อินดัสตรี้ จำกัด (JPN) ผู้ผลิตหางและตัวบอดี้ของรถบรรทุก จำหน่ายอะไหล่ และบริการซ่อมรถบรรทุก อยู่ในเครือกลุ่มบริษัท นครสวรรค์ตั้งประเสริฐ (NTPS Group) ผู้นำด้านการขนส่งขนาดใหญ่ในภาคเหนือ ที่มีความเชี่ยวชาญในสนามมานานกว่า 30 ปี

     ปรากฎการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะการขายออนไลน์ หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรจนลดต้นทุนลงได้หลายล้านบาท ล้วนเป็นฝีมือของทายาทรุ่น 2 “ณัฐ รุ่งเจิดฟ้า” ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและบัญชีการเงิน บริษัท เจ.พี.เอ็น.อินดัสตรี้ จำกัด เธอมุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้กับธุรกิจครอบครัว เพราะเชื่อว่าการปรับตัวที่รวดเร็ว จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ในโลกยุคใหม่

ใช้เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ

     หลังเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวเมื่อกว่าสิบปีก่อน “ณัฐ” เริ่มต้นความคิดที่อยากทรานส์ฟอร์มองค์กร เพื่อยกระดับธุรกิจครอบครัวให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดย JPN ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน มีพันธกิจเพื่อรองรับบริการซ่อมรถบรรทุกให้กับบริษัทในเครือ จากนั้นก็ขยายมาจำหน่ายอะไหล่รถบรรทุกและบริการให้กับลูกค้าภายนอกด้วย

     ในช่วงแรกที่เข้ามาดูแลธุรกิจ ณัฐ ยอมรับว่าเจอกับปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำสต๊อกสินค้า ที่ยังเน้น “ระบบมือ” บันทึกการนำเข้า-จ่ายออก จากนั้นพัฒนามาเป็นโปรแกรมเอ็กซ์เซล ก่อนเปลี่ยนมาเป็นระบบบัญชี แบบที่หลายๆ องค์กรเลือกใช้กัน แต่พบว่ายังไม่ตอบโจทย์ เพราะไม่รองรับการทำงานในทุกๆ ส่วน

     เมื่อขาดองค์ความรู้ก็ต้องแสวงหาความรู้และนำเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาใช้ หนึ่งในเครื่องมือที่ว่า ได้มาจากการร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

     “เราเริ่มทำระบบการจัดการข้อมูลคลังสินค้าออนไลน์ และนำมาทดลองใช้ ทำให้ควบคุมและจัดการข้อมูลอะไหล่ได้ดีขึ้น สะต็อกมีข้อมูลตรงมากขึ้น สามารถไล่หาประวัติย้อนหลังได้ง่ายขึ้น จากตอนแรกเราทำเป็นกระดาษ ถ้าหายก็ไม่รู้จะเช็คกับอะไรเลย แต่ตอนนี้เราสามารถมาเช็คในระบบได้ทันทีและย้อนดูได้ว่ามีการเบิกจ่ายไปเมื่อไหร่ ใครเป็นคนเบิกจ่าย แล้วยังมีระบบช่วยในการตั้งเตือนด้วยว่า สินค้าตัวไหนที่ใกล้จะหมด เราก็จะสามารถสั่งสินค้าได้ทันเวลามากขึ้น”

     เครื่องมือใหม่ๆ ที่นำมาใช้ ทำให้การทำงานง่ายขึ้น ต้นทุนการถือครองสินค้าและการบริหารคลังสินค้าลดลง  การส่งต่อข้อมูลรวดเร็ว และผิดพลาดน้อยลง ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงได้ถึงประมาณ  29 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงินหลักล้านบาท

เพิ่มการขายออนไลน์ เข้าถึงไลฟ์สไตล์ลูกค้ายุคใหม่

     หนึ่งในเรื่องที่คนยุคเก่าอาจนึกไม่ถึง ก็คืออะไหล่รถบรรทุกสามารถขายบนออนไลน์ได้ และขายดีเสียด้วย ปรากฎการณ์นี้เริ่มต้นขึ้น เมื่อ ณัฐ หนึ่งในคนที่ชอบชอปปิ้งออนไลน์อยู่แล้ว เกิดความคิดว่า ผลิตภัณฑ์อะไหล่รถบรรทุก ก็น่าจะขายผ่านช่องทางเดียวกันนี้ได้ เพราะลูกค้ารถบรรทุกไม่ได้มีแค่ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการขนส่งทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มลูกค้ารายย่อย ที่เป็นเจ้าของรถเองอีกด้วย ซึ่งนับเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดตอนนี้

     “เรามีกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทขนส่งอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้เยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเก่าแก่ที่อยู่ด้วยกันมานาน ส่วนกลุ่มที่เป็นเจ้าของรถบรรทุกเอง ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ คนกลุ่มนี้เป็นตลาดใหญ่ เขาสามารถตัดสินใจอะไรได้เอง และเล่นโซเชียลเยอะอยู่แล้ว เราเลยเริ่มทำออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ารายย่อยกลุ่มนี้”

     ช่องทางออนไลน์ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ก่อนโควิด เริ่มจากแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Shopee, Lazada ทายาท JPN เริ่มสมัครใช้งานและทดลองขายดู ปรากฏว่าทันทีที่โพสต์ออกไปก็ขายได้ เลยได้เพิ่มสินค้ากลุ่มอื่นๆ เข้ามามากขึ้น จากตลาดที่เคยรู้จักกันในกลุ่มหนึ่ง ก็กลายเป็นสินค้าที่เข้าถึงคนได้ทั่วประเทศ ทั้งผ่านเจ้าของรถเอง รวมถึงร้านค้าปลีกที่รับอะไหล่รถบรรทุกไปจำหน่ายต่ออีกด้วย

     สำหรับกลยุทธ์ที่นำมาใช้กับช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีทั้ง Facebook, YouTube, Shopee,  Lazada และ TikTok ผู้บริหาร JPN บอกเราว่า จะทำออกมาในหลายรูปแบบ ขึ้นกับแต่ละแพลตฟอร์ม มีทั้งเป็น โฆษณา วิดีโอ คลิป Reels วิดีโอขนาดสั้น เป็นต้น

     “รูปแบบที่ทำออกมาเราเน้นขายสินค้าธรรมดาๆ เลย แต่ก็ขึ้นกับแต่ละแพลตฟอร์มด้วย อย่าง TikTok  ก็ต้องทำแนวที่ไม่มีสาระหน่อย ไม่ได้เน้นการขายเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นแพลตฟอร์มอย่าง Shopee,  Lazada รวมถึง Facebook หรือ YouTube ก็จะเน้นขายตัวสินค้าไปเลย” เธอบอก

วางแผนเติบโตสู่อนาคต

     สำหรับก้าวต่อไปของ JPN ทายาทรุ่น 2 บอกเราว่า นอกจากการทำตลาดผ่านบริษัทขนส่งที่เป็นลูกค้าเก่า และกลุ่มลูกค้ารายย่อย ที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว ก็จะเปิดตลาดกับกลุ่มร้านค้ามากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่จะเพิ่มวอลุ่มในการขายให้กับบริษัทได้

     “เนื่องจากสินค้าของเราเป็นสินค้าในตลาดทั่วๆ ไป ดังนั้นทุกคนที่มีความรู้ก็สามารถนำสินค้าเข้ามาขายเองได้ สุดท้ายก็ต้องมาแข่งกันที่ราคา ซึ่งเราเองไม่ได้ต้องการแบบนั้น แต่อยากจะเน้นที่การให้บริการมากกว่า จึงอยากจะขยายกลุ่มร้านค้าให้มากขึ้น และนำเสนอบริการที่ดีกว่า รวมถึงอยากจะขยายตลาดในส่วนของบริการซ่อมรถบรรทุกนอกสถานที่ให้มากขึ้นด้วย”

     ในส่วนของเป้าหมายในการยกระดับองค์กร เธอบอกว่า จะนำเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สอดคล้องเหมาะสมกับธุรกิจ เข้ามาปรับใช้มากขึ้น รวมถึงการทำระบบให้เป็นออนคลาวด์ (On-Cloud) เพื่อเข้าถึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือสาขาใดก็ตาม โดยปัจจุบัน JPN มีคลังสินค้าใน 3 จังหวัด คือ นครสวรรค์ สระบุรี และแพร่ โดยนครสวรรค์ ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่อีกด้วย ซึ่งแนวทางการขยายธุรกิจหลังจากนี้จะเน้นการขายผ่านร้านค้าทั่วไป ไม่ใช่การลงทุนขยายสาขาด้วยตัวเอง

     เมื่อถามถึงแนวคิดในการอยู่รอดในโลกยุคใหม่ ณัฐ บอกแค่ว่า ธุรกิจจะต้องมีตัวตนบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายย่อย ร้านค้า หรือองค์กรธุรกิจ ก็ต้องเข้าถึงสินค้าและบริการของเราได้

     “เราต้องทำให้บริษัทของเรา มีตัวตนอยู่บนโลกออนไลน์ให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้” เธอย้ำ

     ในมุมมองของทายาทธุรกิจ ที่มีความมุ่งมั่นอยากเข้ามาทรานส์ฟอร์มธุรกิจครอบครัวให้ไปสู่องค์กรมืออาชีพ และยอมรับว่ายังทำได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ก็เป็นความตั้งใจจริงที่จะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยบอกว่า การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ที่มีทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ และธุรกิจยังคงบริหารโดยคนรุ่นเก่าเป็นหลักนั้น ทายาทจะต้องมีความอดทน และต้องมีข้อมูล โดยต้องหาข้อมูลมาสนับสนุนในสิ่งที่อยากจะทำ แล้วนำเสนอให้คนรุ่นเก่าพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสีย สะท้อนถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงที่จะได้จากการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน และต้องค่อยๆ ทำ แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ไม่อยากให้ทุกคนท้อ เพราะนี่คืออนาคตของธุรกิจ

JPN

Line : @jpnindustry

FB : JPN Industry

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ