SME อยากโตรับเทรนด์ ESG แม่ทัพกรุงศรีเอสเอ็มอี แนะ ลด-เพิ่ม-สร้าง โอกาสพลิกธุรกิจโตยั่งยืน

TEXT: จีราวัฒน์ คงแก้ว

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

     “ESG” คือตัวย่อของคำว่า Environment (สิ่งแวดล้อม)  Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่เพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ทว่าแม้แต่เอสเอ็มอี ก็สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ด้วยแนวคิดเดียวกันนี้ได้ มาฟัง “ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชี้โอกาสผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง “ลด” ความเสี่ยง “เพิ่ม” การเติบโตอย่างยั่งยืน และ  “สร้าง” โอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจด้วย ESG

เกาะกระแสโลก สร้างโอกาสธุรกิจด้วย ESG

     การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ (Climate change) ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ภัยสงคราม หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ที่สั่นคลอนธุรกิจและผู้คนไปทั่วโลก ส่งผลให้แนวคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่ยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคม และใส่ใจต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ถูกตระหนักและให้ความสำคัญมากขึ้น แม้แต่กิจการเล็กๆ อย่างเอสเอ็มอีก็ตาม

     “จริงๆ แล้ว ESG ไม่ใช่โครงการที่จะไปเพิ่มต้นทุนของเอสเอ็มอีเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้มองเห็นว่า มันคือการเพิ่มการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth)  ESG เป็นการลดในส่วนที่ควรจะลด เพิ่มในส่วนที่ควรจะเพิ่ม และสร้างโอกาส” ดวงกมล บอก

     ก่อนขยายความคำว่า “ลด-เพิ่ม-สร้าง” ในมิติของ ESG ให้ผู้ประกอบการเข้าใจอย่างง่ายๆ ว่า “ลด” คือการ ลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ โดยกิจการที่ทำเรื่อง ESG นั้น จะลดความเสี่ยงในหลายเรื่อง เช่น ความเสี่ยงในแง่กฎหมาย และการกำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐ อย่างเช่น การลดใช้สารเคมีบางอย่าง ที่เป็นสารเคมีต้องห้าม และกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม หรือไม่สร้างมลพิษทางขยะ เป็นต้น

     ในส่วนของการเพิ่ม คือ เพิ่มโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร เพิ่มโอกาสในการจะได้พนักงานที่เก่งและดีเข้ามาทำงานกับองค์กร เป็นต้น

เข้าถึงพันธมิตรและแหล่งทุน ด้วยการทำธุรกิจยั่งยืน

     ปิดท้ายกับการสร้าง คือสร้างโอกาสในการจะได้คู่ค้าใหม่ๆ ที่ใส่ใจต่อโลกและสิ่งแวดล้อม โอกาสในการขยายตลาดใหม่ๆ การเข้าถึงพันธมิตรและผู้ร่วมทุน ตลอดจน “แหล่งเงินทุน” อุปสรรคสำคัญของเอสเอ็มอี ได้อีกด้วย

     “ธุรกิจใดก็ตามที่ประกาศเจตนารมณ์ในการทำธุรกิจโดยเน้นเรื่องของ ESG จะได้เปรียบในเรื่องของการมีผู้ร่วมทุน มีพันธมิตรทางการค้าที่เข้ามาได้ง่ายขึ้น เป็นตัวเลือกที่ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าสนใจ คือ ธนาคารเองก็ชอบ อย่างธนาคารกรุงศรีฯ เราเน้นเลยว่า ถ้าลูกค้ามีโครงการทางด้าน ESG เราจะมีสินเชื่อพิเศษให้ โดยเป็นสินเชื่อต้นทุนต่ำ และมีดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งนี่เป็นการลดต้นทุนของเขาอย่างหนึ่ง  ดังนั้น ESG จึงสร้างความยั่งยืนในธุรกิจ ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการด้วย”

     นอกจากการให้สินเชื่อพิเศษ ปีที่ผ่านมาธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยังเป็นผู้นำตลาดในการจัดโครงการ Krungsri ESG Awards 2023 การมอบรางวัลเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอีสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย

     “นอกจากการให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ เราก็ยังมองว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยส่งเสริม สร้างแรงขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความเป็นเลิศทางด้าน ESG  รู้สึกภาคภูมิใจ ได้รับคำชมเชย และมีคนมองเห็นมากขึ้น จึงได้จัด Krungsri ESG Awards ขึ้น โดยเน้นไปที่ลูกค้าเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หน่วยงานระดับประเทศ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ มาช่วยกันคัดสรร จนได้ผู้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 18 รางวัล โดยเป็นรางวัล Excellence จำนวน 6 รางวัล ซึ่งมอบให้กับกิจการที่มีความเป็นเลิศ ครอบคลุมทุกมิติ ทั้ง ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยคาดหวังว่า นี่จะเป็นหนึ่งในรางวัลที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับเอสเอ็มอีในการเริ่มสนใจเรื่องของ ESG มากขึ้น”

องค์กรอนาคตจะ เล็ก ลีน และเร็ว

     ผู้บริหารกรุงศรีเอสเอ็มอี บอกเราว่า ESG เป็นโอกาสของเอสเอ็มอี อยู่ที่ใครจะมองเห็น และปรับตัวได้ไวแค่ไหน เช่น การปรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาสู่ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกมากขึ้น หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถมารีฟิลได้ การมองหา ผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบ ที่มีของเสีย (Waste) น้อย หรือสามารถนำกลับมารีไซเคิล ไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้ เช่น ทำเป็นพลังงานทดแทน เป็นต้น หรือหากมองไปยังโอกาสธุรกิจใหม่จากแนวคิด ESG ในยุคที่คนเริ่มมองเห็นว่า การใช้แล้วทิ้งเป็นการสูญเปล่า โดยหนึ่งในธุรกิจที่มาแรงคือ “ธุรกิจมือสอง” ซึ่งไม่ใช่แค่ของอย่าง รถยนต์ เสื้อผ้า กระเป๋าแบรนด์เนม พวกนี้เท่านั้น ที่ให้เช่าหรือซื้อขายในระบบมือสองได้ ทว่ายังรวมถึงในภาคอุตสาหกรรม อย่างโรงงาน ที่อาจไม่ต้องมีทีมซ่อมของตัวเองอีกต่อไป แต่สามารถใช้บริการทีมซ่อมในตลาดได้ ซึ่งสามารถจ้างเป็นช่วงๆ และจ้างเมื่อเกิดความจำเป็นเท่านั้น หรือการใช้แพลตฟอร์มมาช่วยในการทำงาน โดยที่ไม่ต้องพัฒนาเอง เหล่านี้เป็นต้น ส่งผลให้องค์กรในอนาคตจะลีน (Lean) ขึ้นอีกมาก

     “สมัยเดิมเศรษฐกิจเราโตจากภาคอุตสาหกรรม ต้องมีโรงงานที่ใหญ่ มีกระบวนการผลิตที่ใหญ่ มีโกดังเก็บของที่ใหญ่โต แต่จะเห็นว่ารูปแบบตอนนี้ทุกอย่างจะเริ่มลีน (Lean) อย่าง โกดังก็ไม่จำเป็นต้องมี เองไปจ้างข้างนอกเอาก็ได้ ไม่ต้องเช่ายังได้เลยแค่ขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์ม คุณรับออเดอร์มาโดยที่ไม่ต้องมีสินค้าของตัวเองด้วยซ้ำ แค่จัดการแล้วไปแพคเกจจิ้งใหม่ ส่งกลับไปให้ลูกค้า (End user) คุณก็สามารถทำกำไรได้ เรียกว่า ทุกอย่างลีนหมด แต่ละคนจะเริ่มทำสิ่งที่เป็นคอร์ของธุรกิจจริงๆ ที่เหลือจะใช้การเอาท์ซอร์ส (Outsource) หรือใช้วิธีเช่า ไม่ต้องลงทุนทำเองทั้งหมด ฉะนั้น มันไม่ใช่ธุรกิจของความยิ่งใหญ่อีกต่อไป แต่เป็นธุรกิจของความรวดเร็ว ใครจับกระแสได้ ใครปรับตัว ใครลีนตัวเองได้ดีกว่า ก็มีโอกาส”

รับมือโลกเดือด ด้วยอาวุธ RED

     การทำธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอน ในยุคที่โลกอยู่ในจุดที่เป็น “โลกเดือด”  อาวุธที่ ดวงกมล อยากแนะนำให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือ “RED” ซึ่งมาจากคำว่า  R-Resilience , E-ESG  และ  D-Development

     “ตัวแรก R มาจากคำว่า Resilience  คือทักษะการล้มแล้วลุกที่รวดเร็ว โดยเอสเอ็มอีต้องก้าวให้ไว ก้าวให้เร็ว แม้จะล้มก็ต้องลุกให้ไว ส่วน E คือ ESG การทำธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ถ้าคุณไม่มองเรื่อง ESG ธุรกิจก็จะไม่ยั่งยืน ตัวสุดท้าย D-Development หรือการพัฒนา ที่พูดมาทั้งหมดถ้าทำแล้วหยุด ทำแล้วไม่พัฒนาต่อเนื่อง ธุรกิจก็จะไม่รอด ฉะนั้นเอสเอ็มอีต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องพัฒนาตัวเอง พัฒนาให้ทันกับกระแสโลก ทันกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป ต้องเรียนรู้ ต้องเปิดโลกทัศน์ เอสเอ็มอีต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้” เธอย้ำในตอนท้าย

ช่องทางติดต่อ

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

เว็บไซต์ : www.krungsri.com

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ