‘ลาบราดอร์’ อีโคไลฟ์สไตล์...ไม่จำกัดไอเดีย

 

 
 
เรื่อง ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง 
 
ภาพ  ปิยชาติ ไตรถาวร
 
 
8 ปีมาแล้วที่หนุ่มสถาปนิกกับสาววิศวะไม่เพียงเลือกออกแบบชีวิตโดยใช้หัวใจนำทาง แต่ยังออกแบบธุรกิจที่สะท้อนถึงตัวตน และความแตกต่าง จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ Eco Design Lifestyle Product แบรนด์ “ลาบราดอร์” ของใช้คู่กายคนรักงานดีไซน์ทั้งในและต่างประเทศ
 
เอนก-สุปรียา กุลทวีทรัพย์ สองผู้บริหารที่ร่วมบุกเบิกธุรกิจมาด้วยกันก่อนแต่งงาน เล่าให้ฟังถึงก้าวแรกธุรกิจซึ่งไม่ได้เริ่มต้นจากเงินทุนที่มากมาย แต่ใช้ไอเดียและพลังความมุ่งมั่นเป็นทุนตั้งต้น 
 

“เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ จะเกิดพลังบางอย่างให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมุ่งมั่น เราจะคิดได้ดี จะคิดได้สุด และงานจะตรงใจกับคนที่ชอบเหมือนเรา” สุปรียาเล่าถึงผลงาน Eco Design Lifestyle Product  ซึ่งคอนเซ็ปต์สินค้าที่สะท้อนถึงตัวตนของทั้งคู่ที่ชื่นชอบวิถีชีวิตเรียบๆ ง่ายๆ ชอบงานออกแบบที่ใช้งานได้นานๆ ไม่ชอบของเลียนแบบตามแฟชั่น 
 
 
 
“วิถีชีวิตเหล่านี้สะท้อนมาสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายและใช้งานได้จริง ไม่จำเป็นต้องดูฟุ่มเฟือย แต่ดูถ่อมตนน่าใช้มากกว่า การใช้วัสดุธรรมชาติและออกแบบสินค้าที่ใช้งานได้ทนทาน ไม่ตามแฟชั่น ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ” เอนกบอกเช่นนั้น
 
 
แนวคิดรักษ์โลกแบบ  Eco Lifestyle ไม่เพียงสะท้อนอยู่ในงานออกแบบแต่ยังเป็นหัวใจของทุกขั้นตอนในกระบวนการทำงานของผู้คนในองค์กร 
 
“ในแง่สินค้าของเราเน้นใช้วัสดุธรรมชาติที่สามารถรีไซเคิลหรือรียูสให้ได้มากที่สุด เช่น หนังแท้ รวมถึงหนังรีไซเคิลซึ่งตอนนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถนำหนังกลับมาใช้ซ้ำได้ ส่วนวัสดุอื่นๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ เราจะเลือกใช้กระดาษรีไซเคิลก่อน นอกจากนี้ เราพยายามใช้วัสดุภายในประเทศก่อน หากไม่มีจริงๆ ถึงจะใช้วัสดุนำเข้า
 
 
ส่วนความเป็นอีโคภายในโรงงาน เราพยายามสร้างจิตสำนึกในองค์กรเล็กๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะ ใช้ถุงผ้า ใช้กล่องข้าวแทนการใช้กล่องโฟม การใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า
 
ถ้าถามว่าจุดเด่นของสินค้าเราคืออะไร ลูกค้าข้างนอกอาจจะมองเห็นดีไซน์เรียบง่ายที่เหมือนผ่านความคิดมาแล้วเป็นอันดับแรก แต่ถ้าถามคนในองค์กรจะบอกถึงความเป็นอีโคไลฟ์สไตล์มาเป็นอันดับหนึ่ง”
 
 
แนวคิดการทำธุรกิจของทั้งคู่ยังยึดหลักความพอเพียง ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทำอะไรเกินตัว ใช้ความสุขและความสนุกในการทำงานเป็นตัวตั้ง มากกว่ากำหนดเป้าหมายที่ตัวเงินและขนาดธุรกิจ
 
“เป้าหมายของเราอยู่ที่ความสุข ความสนุกที่ได้ทำงาน เราจึงพอใจกับขนาดบริษัทที่ไม่ใหญ่มากจนเกินไป เพราะไม่อยากมุ่งแต่เรื่องตัวเลขเพียงอย่างเดียว
 
 
เนื่องจากไม่ได้มีพื้นฐานครอบครัวที่ทำธุรกิจมาก่อน เรื่องที่เราไม่อยากให้มากังวลที่สุดคือเรื่องเงิน ยึดหลักมีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น เน้นที่ไอเดีย ความคิด และความทุ่มเทของคนทำงานมากกว่า อุปสรรคหลักๆ จึงไม่ได้อยู่ที่เงินหรือการผลิต แต่จะอยู่ที่ปัญหาการลอกเลียนแบบ 
 
การเติบโตที่ผ่านมาเราใช้วิธีการทำธุรกิจด้วยความจริงใจ ตรงไปตรงมา เรียนรู้ไปกับลูกค้า พยายามทำทุกอย่างให้จบภายในองค์กรมากที่สุด ไม่ว่าจะออกแบบ ผลิต หรือการขาย อะไรที่ทำได้ก็บอกว่าทำได้ ไม่ได้ก็บอกไม่ได้ ความตรงไปตรงมาทำให้เราได้รับงานต่อเนื่อง”
 
เอนกเล่าว่า “เคยมีลูกค้าต่างชาติเห็นสินค้าเราแล้วชอบ ถามว่าเรามีคนเท่าไหร่ ผมตอบว่าคนไม่ใช่ปัญหา เพราะเราสามารถผลิตให้คุณได้ตรงตามกำหนดที่ต้องการ ผมคิดว่าขนาดไม่ใช่เครื่องวัดประสิทธิภาพที่แท้จริง แต่ขึ้นอยู่กับเราว่ามีวิธีการทำงานอย่างไรมากกว่า”
 
ทั้งคู่ยังตั้งใจออกแบบชีวิตการทำงานให้เหมือนกับอยู่บ้าน อยู่ร่วมกันในองค์กรแบบครอบครัว 
 
 
“เพราะครึ่งหนึ่งของชีวิตเราต้องอยู่กับงานทุกวัน ถ้าเรามีความสุขแล้วสนุก งานมันก็จะสุด พองานมันสุด มันก็จะตามมาที่ความชื่นชม ความชื่นชอบ รางวัล ซึ่งถือเป็นกำลังใจให้มีกำลังใจทำงานต่อ” สุปรียาเล่า 
 
หนึ่งในผลงานออกแบบที่ประสบความสำเร็จได้ทั้งกล่องทั้งเงิน คือ กระเป๋าเดินทางรุ่น Humble Bag  นอกจากจะเป็นสินค้าขายดีแล้ว ยังคว้ารางวัลG-Mark ( Good Design Awards ) โดย สมาคมส่งเสริมการออกแบบของอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (  Japan Industrial Design Promotion Organization - JIDPO) มอบให้กับผลงานการออกแบบยอดเยี่ยมที่มีทั้งความสวยงามโดดเด่นพร้อมทั้งตอบสนองการใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม 
 
นักออกแบบหนุ่มเล่าว่า แรงบันดาลใจในการออกแบบสามารถจุดประกายได้จากทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางหรือพบเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เช่นเดียวกับกระเป๋าเดินทาง  Humble Bag ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัญลักษณ์กระเป๋าเดินทางที่มีหูหิ้วในสนามบิน ตอนที่เริ่มตั้งโจทย์ในใจว่าอยากทำกระเป๋าที่สามารถใส่กระดาษสำหรับเขียนแบบ ที่สามารถใส่แล็ปท็อปได้ด้วย 
 
 
 
“ตอนนั้นคิดว่าจะทำกระเป๋ายังไงให้ออกมาดูเป็นกระเป๋าแบบธรรมดาทั่วไป เลยนึกไปถึงสัญลักษณ์ที่สนามบิน แล้วพยายามทำฟอร์มขึ้นมาใหม่โดยดีไซน์องศาของโค้งและด้านข้างของกระเป๋าให้สามารถหุ้มสิ่งของได้โดยไม่ปริ”
 
สอดคล้องกับสุปรียาที่บอกว่า ทุกอย่างที่อยู่รอบตัว เช่น ต้นไม้ ของใช้ในครัว พฤติกรรมของผู้คน สามารถเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบได้อย่างไม่จำกัดไอเดีย ดังนั้นเวลาไปดูงานเพื่อหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เราจึงไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องไปดูธุรกิจที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับเรา แต่อาจจะไปดูวัด ไปเที่ยวสวนสาธารณะก็สามารถจุดประกายไอเดียใหม่ๆ ได้ นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังเลือกสถานที่ตั้งโรงงานปัจจุบันให้ออกมาอยู่นอกเมืองย่านสนามบินน้ำซึ่งยังมีบรรยากาศแวดล้อมด้วยธรรมชาติ 
 
“ผมคิดว่าจุดเด่นของเราอยู่ที่การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเราไม่ได้เป็นบริษัทรับจ้างผลิต ดังนั้น เวลาที่ลูกค้าเดินมาหาเรา เขาจะเห็นคุณค่าของเราที่งานดีไซน์ มากกว่าแค่ชิ้นส่วนวัสดุที่ประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ใช่คิดจากหนังพื้นที่เท่านั้นเท่านี้ ค่าแรงเท่านั้นเท่านี้ต่อชิ้นงาน เราพยายามสร้างความแตกต่าง ทำของไม่ให้เหมือนคนอื่น พยายามหาแนวทางใหม่ๆ ซึ่งทุกครั้งที่เริ่มต้นมักจะเต็มไปด้วยความท้าทายว่าจะทำได้หรือเปล่า เพราะถ้าเราทำงานเหมือนกับคนอื่นก็เท่ากับเราไม่ได้คิดอะไรใหม่ๆ...
 
 
 
ความสุขในการทำงานของผม คือ เรารู้สึกเหมือนได้พูด หรือเสนอความคิดอะไรบางอย่างออกไปให้กับลูกค้า สำหรับผมจุดวัดความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่รางวัล แต่เครื่องวัดของจริง คือตอนที่ลูกค้ามาซื้อของมากกว่าว่าเขาเห็นแล้วรู้สึกชอบมาก เช่น เด็กต้องไปเกี่ยวแขนคุณแม่ ถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้วอยากได้เพราะคิดว่ามันใช่สิ่งที่เขาควรจะมี
 
เคยมีลูกค้าคนหนึ่งอยากให้ผมช่วยเลือกกระเป๋าให้หน่อย เขาบอกไม่รู้จะเลือกใบไหนดี เพราะที่บริษัทเขาใช้ของที่นี่กันทุกคน เขาอยู่บริษัท A49 ซึ่งคุณนิธิ สถาปิตานนท์ ก็เป็นลูกค้าเราเหมือนกัน” เอนกเล่า พร้อมกับสำทับว่า “เป้าหมายการทำงานสำหรับผมขอแค่ทำแล้วมีความสุข อย่างอื่นก็ไม่กลัว ข้อดีอย่างหนึ่ง คือ ผมเป็นคนไม่กลัวเหนื่อย ส่วนคุณสุปรียาก็เป็นคนเหนื่อยไม่เป็น” นักออกแบบหนุ่มที่นั่งทำงานถึงเที่ยงคืนเกือบทุกวันบอกเช่นนั้น 
 
สำหรับเป้าหมายก้าวต่อไปสินค้า Design Items แบรนด์ “ลาบราดอร์” สุปรียา ผู้บริหารสาว บอกว่า ในระยะสั้นคือการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้เป็นไลฟ์สไตล์โปรดักต์ที่เข้าถึงลูกค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ความหลากหลายของสินค้าและโอกาสการใช้งานจากปัจจุบันที่มีสินค้าสมุด Organizer กระเป๋าซองคอมพิวเตอร์แบบพกพา ซองใส่โทรศัพท์ สินค้ากลุ่มเครื่องเขียน ฯลฯ 
 
ส่วนเป้าหมายระยะยาว คือ การใช้วัสดุธรรมชาติผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ตามกระแสแฟชั่น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจิตสำนึกในการใช้สินค้าโดยลดการสิ้นเปลือง และลดขยะบนโลกให้มากที่สุด 
 
 
 
ที่มา K SME Inspired
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง