หมูปิ้งกู้วิกฤต! เมื่อคนทำทัวร์รายได้หลักล้าน พลิกมาขายหมูปิ้งสู้โควิด

TEXT : นิตยา สุเรียมมา


 
 
 
Main Idea
 
  • “All In Travel” หนึ่งในบริษัททัวร์ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้แพลนงานที่วางมาตลอดทั้งปีกว่า 40-50 ทริป ต้องล้มกระดานลง เพราะถูกลูกค้าแคนเซิลเกือบทุกทริป!
 
  • ทว่าวันนี้พวกเขาก็ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ จากการพลิกมาทำกิจการเล็กๆ อย่างการขายสินค้าออนไลน์ และหมูปิ้ง ที่วันนี้ได้กลายเป็นธุรกิจตัวใหม่ให้กับบริษัท ภายใต้ชื่อ “หมูปิ้งยุดยา” ที่ขายดี จนวันนี้กำลังจะขายแฟรนไชส์ของตัวเอง แม้เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจได้เพียงแค่สองเดือนก็ตาม

___________________________________________________________________________________________
 
 

     จากบริษัททัวร์ที่รับจัดกรุ๊ปท่องเที่ยวให้กับหน่วยงานต่างๆ วันนี้ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ “All In Travel” (ออล อิน ทราเวล) บริษัททัวร์ที่ก่อตั้งมากว่า 19 ปี จากแพลนงานที่แน่นเต็มตลอดทั้งปี มีอันต้องล้มกระดานลง เพราะถูกลูกค้าเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด





     เมื่องานไม่มี ก็หมายถึงเงินไม่เข้า “ภาคภูมิ เรืองชัยศิวเวท” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออล อิน ทราเวล จำกัด ในฐานะหัวเรือใหญ่ จึงต้องหาวิธีปรับตัวเพื่อประคับประคองบริษัทและพนักงานร่วม 20 ชีวิตให้อยู่รอดต่อไปได้ โดยทางออกที่เขาเลือกนำมาใช้กู้วิกฤตครั้งนี้ คือ การขายหมูปิ้งธรรมดาๆ ไม้ละ 8-10 บาท อาหารกินง่ายยอดนิยมของคนไทยที่ขายอยู่ริมทางนั่นเอง


 
  • ก่อนพายุไวรัสเริ่มก่อตัว

     ภาคภูมิ เล่าให้ฟังว่า บริษัทเริ่มได้รับผลกระทบจากพิษไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งปกติบริษัทของเขาจะรับจัดกรุ๊ปทัวร์ให้กับคณะหน่วยงานต่างๆ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เส้นทางหลัก คือ ประเทศในโซนยุโรป รองลงมา คือ เอเชีย โดยเมื่อช่วงต้นปีทริปทัวร์ถูกจองเต็มจากลูกค้ายาวไปจนถึงปลายปีกว่า 40–50 ทริปด้วยกัน


     แต่ทว่าหลังจากเริ่มมีการระบาดของไวรัสโคโรน่าที่หนักขึ้น และแพร่กระจายไปยังอิตาลี ทำให้ลูกค้าติดต่อเข้ามาขอยกเลิกทริป เกือบทั้งหมด เมื่อมองเห็นชะตากรรมในอนาคตข้างหน้า เขาจึงได้ตัดสินใจเรียกประชุมพนักงาน เพื่อช่วยกันระดมความคิดหาทางออกให้กับธุรกิจ 




     จนได้ข้อสรุปออกมา 2 โซลูชั่น นั่นคือ 1. ขายสินค้าออนไลน์ 2. ขายหมูปิ้ง อาหารสตรีทฟู้ดยอดนิยมของคนไทย โดยได้สูตรมาจากญาติที่อยู่จังหวัดอยุธยา จึงเป็นที่มาของ “หมูปิ้งยุดยา” ในวันนี้


     “เราไม่เคยได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งไหนหนักและมากที่สุดเท่ากับครั้งนี้ ที่ทำให้งานทุกอย่างต้องหยุดชะงักลงและเปลี่ยนแปลงเราได้ขนาดนี้ จนถึงขั้นต้องหาอาชีพใหม่ทำ เพื่อประคองตัวให้รอดพ้นจากวิกฤตไปได้” ภาคภูมิเล่าความรู้สึกให้ฟัง


     แม้จะเจอวิกฤตมาอย่างหนัก แต่พวกเขาก็ปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 อาทิตย์ เพื่อเซ็ตทุกอย่างขึ้นมาใหม่ จากเพจของบริษัททัวร์ที่นำเสนอเรื่องราวการท่องเที่ยว ก็ปรับตัวกลายเป็นเพจที่นำเสนอเรื่องราวของอาหาร และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันแทน


 
  • จากห้องแอร์ สู่ตลาด หน้าเตาปิ้ง

     ภาคภูมิเล่าว่า All In Travel ไม่ได้มีการปลดพนักงานออก หรือลดเงินเดือนแต่อย่างใด โดยทุกคนยังคงทำงานตามปกติ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนทักษะความชำนาญที่เคยทำมาไปทำอย่างอื่นแทน


     แม้จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ไปเป็นขายสินค้าออนไลน์ หรือหมูปิ้ง แต่ภาคภูมิก็ได้นำหลักการบริหารจัดการแบบเดียวกันกับที่ใช้ในบริษัททัวร์มาประยุกต์ใช้ เริ่มจากเขาได้แบ่งพนักงานออกเป็น 2 ส่วน เพื่อทำหน้าที่หารายได้เข้ามาให้บริษัท ได้แก่ ทีมขายสินค้าออนไลน์ และทีมขายหมูปิ้ง โดยแต่ละทีมก็จะแบ่งหน้าที่แยกย่อยกันไปอีก เช่น  ทีมออนไลน์จะประกอบด้วย ฝ่ายดูแลรับผิดชอบแพลตฟอร์ม ช่องทางการจำหน่ายต่างๆ, ฝ่ายจัดหาสินค้า ตั้งราคา วางกลยุทธ์การขาย และทีมไลฟ์ขายสินค้า ในส่วนของทีมหมูปิ้งจะประกอบด้วยผู้จัดการร้าน พนักงานปิ้งหมู พนักงานจัดออร์เดอร์ และพนักงานเดลิเวอรีเพื่อจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า นั่นเอง




     ซึ่งจากการวางทุกอย่างให้เป็นระบบ ช่วยให้แม้จะเป็นกิจการเล็กๆ ก็สามารถทำงานได้อย่างลื่นไหล ไม่สะดุด ชัดเจน ตรวจสอบได้ แม้ช่วงแรกอาจต้องปรับตัวกับธุรกิจใหม่อยู่บ้าง แต่ก็ใช้เวลาเพียงไม่นานทุกอย่างก็ลงตัวเข้าที่ได้ 


     “ถามว่ายากไหม ยากนะ เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ถามว่ายากจนทำไม่ได้ไหม ก็ไม่ใช่ เพราะเราใช้หลักการบริหารจัดการเข้ามาช่วยเหมือนตอนทำบริษัททัวร์ ใครถนัดอะไรทางไหนก็ทำแบบนั้น อย่างใครถนัดหาสินค้ามาขาย ก็ไปหา ใครถนัดไลฟ์ขายของก็ไปทำ แต่ทุกอย่างต้องผ่านการวิเคราะห์ด้วยว่าจะขายอะไร ขายวิธีไหน จะเอาอะไรไปสู้กับคู่แข่งได้บ้าง อย่างทีมหมูปิ้งส่วนใหญ่จะเป็นไกด์ ก็หัดปิ้งกัน ขายกันจนเป็น แมสเซนเจอร์จากวิ่งส่งเอกสาร เราก็เปลี่ยนให้มาช่วยวิ่งส่งสินค้าให้ลูกค้าแทน เพิ่มเติมจากแอปเดลิเวอรีต่างๆ เราจะศึกษาก่อนว่าถ้าจะทำธุรกิจขึ้นมาหนึ่งอย่าง รายละเอียดมีอะไรบ้าง แจงงานออกมาและก็แบ่งให้แต่ละคนรับผิดชอบ ซึ่งทุกคนยังมาทำงานเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนเนื้อหางาน วิถีการทำงาน และสถานที่การทำงานใหม่เท่านั้น พอเราวางรูปแบบงานไว้แบบนี้ ทุกคนก็จะไม่งง ไม่สับสน และปรับตัวได้ง่ายขึ้น”




     โดยหลังจากเปิดตัวได้ไม่นาน ธุรกิจที่ดูเหมือนจะเข้าตาและไปได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ก็คือ หมูปิ้งยุดยา ซึ่งเคยขายได้มากสุดถึงวันละ 900 ไม้ มีให้เลือก 2 สูตร คือ หมูปิ้งนมสดไม้ละ 10 บาท และหมูปิ้งรากผักชีไม้ละ 8 บาท พร้อมน้ำจิ้ม 2 สูตรเด็ด คือ น้ำจิ้มแจ่วและน้ำจิ้มซีฟู้ด ปัจจุบันมีอยู่ 3 สาขาด้วยกัน ได้แก่ ตลาดไทยสมบูรณ์ พระประแดง, ตลาด Black Market ปากน้ำ และตลาดรถไฟ ศรีนครินทร์ ถึงแม้จะเปิดตัวมาได้เพียงสองเดือนกว่าเท่านั้น แต่กำลังจะมีแฟรนไชส์ของตัวเองกับเขาด้วย


     “ต้องบอกว่าร้านหมูปิ้งยุดยาของเราไปได้ดีมาก เรียกว่าติดตลาดแล้วก็ได้ มีคนรู้จักไปทั่วเลย ลูกค้าหลายจังหวัดเริ่มติดต่อเข้ามาให้เราส่งไปให้ จากแค่ซื้อไปกิน ก็เริ่มมีซื้อราคาส่งเพื่อไปขายต่อ ทำให้จากแค่จะให้พนักงานมีอะไรทำ ก็กลายเป็นธุรกิจจริงจังขึ้นมา เป็นธุรกิจใหม่อีกตัวของเราที่ถึงแม้สถานการณ์โควิดจะดีขึ้น กลับไปทำทัวร์ได้ แต่เราก็จะไม่ทิ้งและทำควบคู่กันไป ซึ่งตอนนี้ได้มีการจดทะเบียนบริษัทแล้วใช้ว่า “หมูปิ้งยุดยา” เลย โดยเราจะมีการขายแฟรนไชส์ไปทั่วประเทศ  ต้องบอกว่าทุกอย่างมันค่อยๆ ก้าวขึ้นทีละสเตป จากเริ่มขาย ขยายสาขา ส่งเดลิเวอรี จนตอนนี้ขายแฟรนไชส์แล้ว”


 
  • ยอดขายไม่สำคัญ เท่าความอยู่รอด

     แม้จะดูเหมือนกิจการใหม่ที่ทำอยู่กำลังไปได้ดี แต่หากลองเปรียบเทียบรายได้ที่เข้ามากับรายได้ที่เคยได้จากบริษัททัวร์แล้วแทบจะเทียบกันไม่ได้เลย ซึ่งภาคภูมิมองว่าการที่เขาลงมือทำในทุกวันนี้ ไม่ได้คิดที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้เท่ากับที่ทำบริษัททัวร์เลย แต่มองว่านี่คือ หนทางหนึ่งที่จะทำให้ตัวเขา บริษัท และพนักงานสามารถไปต่อและอยู่รอดได้ 


     “ในช่วงที่วิกฤตเกิดขึ้น เราอย่ามองเรื่องของตัวเงินเป็นหลัก แต่ต้องมองว่าจะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้ยังไงในภาวะวิกฤตเช่นนี้ รายได้จากการขายหมูปิ้งหรือสินค้าออนไลน์ อาจไม่มากเท่ากับทำทัวร์ หรือครอบคลุมค่าใช้จ่ายไม่ได้ทั้งหมด แต่มันก็ทำให้พนักงานรู้สึกว่าเราไม่ถอดทิ้งพวกเขา ทุกคนต้องก้าวเดินไปด้วยกัน เพียงแต่จะก้าวเดินไปในเส้นทางไหนที่จะทำให้ต่อลมหายใจของพวกเรา เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะตะเกียกตะกายขึ้นไปให้ได้ในสิ่งที่เราเคยได้เหมือนเก่า เวลานี้ คือ คุณต้องรู้จักปรับตัว ไม่ว่าจะกำไรห้าบาท สิบบาท ร้อยบาท พันบาท ทุกอย่าง คือ เงินหมด คือ สิ่งจำเป็นในตอนนี้


     และอีกข้อที่สำคัญ คือ มันคือประสบการณ์ที่ได้สอนให้ทุกคนรู้จักเอาตัวรอดในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในเส้นทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่สิ่งเดิมที่คุ้นเคย และจะเป็นวิชาความรู้ที่ติดตัวไปตลอด อนาคตข้างหน้าหากเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น พนักงานของเราก็สามารถทำอย่างอื่นได้ เหมือนกับการขายหมูปิ้งเองที่คิดตอนแรกคิดว่าจะขายเพื่อหาอะไรทำช่วงที่ไม่ได้ทำทัวร์ แต่สุดท้ายก็กลับเติบโตขึ้นมา กลายเป็นธุรกิจใหม่ขึ้นมาให้กับเราได้”




     สุดท้ายถามว่าหากไม่ได้เจอกับวิกฤตดังกล่าวนี้ เขาจะสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้หรือไม่ ภาคภูมิได้ให้คำตอบกับเรื่องนี้ว่า


     “วิกฤตเปลี่ยนเป็นโอกาสให้เราได้ คำนี้ใช้ได้จริงในตอนนี้ โควิดเป็นบทเรียนทำให้เราได้รู้จักคำนี้ จนทำให้เราได้ธุรกิจหมูปิ้งยุดยากลับมา ทุกวิกฤตมีโอกาสให้เราเสมอ เพียงแต่เราต้องตั้งสติและปรับตัวหรือหาช่องทางแก้ไขให้ได้เร็วที่สุด ถ้าล้ม แล้วรีบลุก เราจะไปได้เร็วกว่าคนอื่น ไม่มีอะไรแน่นอนในโลกนี้ และไม่มีใครที่ทำอะไรเป็นทุกอย่างมาตั้งแต่เกิด ทุกอย่าง คือการเรียนรู้และประยุกต์ใช้ได้เสมอ ดังนั้นอย่ายึดติดหรือยืนอยู่บนเส้นทางแค่ทางเดียว ต้องพยายามใช้ชีวิตให้ไปได้หลายทางเหมือนกับใยแมงมุม และคุณจะสามารถมีทางไปต่อได้เรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด” ภาคภูมิกล่าวทิ้งท้าย
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?