7 เครื่องมือนี้...ธุรกิจคุณ...มีหรือไม่?

 

 

 

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้รูปแบบของการดำเนินธุรกิจในแต่ละช่วงเวลาจำเป็นต้องแปรเปลี่ยนไปตามความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเช่นกัน ฉะนั้นผู้ประกอบการที่หยุดนิ่ง จึงไม่ต่างอะไรไปจากการก้าวถอยหลังทีละก้าวๆ แต่การที่จะลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนตัวเองก็ต้องอาศัยองค์ประกอบและความพร้อมในหลายๆ ด้านด้วยกัน ดังนั้น SME Thailand จึงรวบรวมเอา 7 เครื่องมือที่น่าจะเป็นประโยชน์และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองให้กลับมาแซงหน้าคู่แข่งได้ ลองมาเลือกกันดูซิว่า ใน 7 เครื่องมือต่อไปนี้ คุณมีหรือยัง?

 

เครื่องมือที่ 1 : การสร้างแบรนด์

ปัจจุบัน “แบรนด์” ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดเพื่อสร้างโอกาสและการเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสินค้าที่มีแบรนด์นั้นมีมูลค่ามากกว่าสินค้าที่ไม่มีอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะการไม่มีแบรนด์ ก็คือ “การไร้ซึ่งตัวตน” อันหมายถึงการไร้ความสามารถในการทำกำไรในระยะยาว เพราะผู้บริโภคมิได้มีความสัมพันธ์กับตัวสินค้า ยิ่งไปกว่านั้นแบรนด์เองยังมีพลังในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนนับล้านให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในหลากหลายแง่มุม ดังนั้น ในโลกแห่งธุรกิจเวลานี้ การสร้างแบรนด์จึงมีความสำคัญมากกว่าที่หลายคนคิด 

 

 

เครื่องมือที่ 2 : ความคิดสร้างสรรค์

ต้องยอมว่าวันนี้ “ความคิดสร้างสรรค์” กลายเป็นคุณสมบัติจำเป็นที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องมีอยู่ในตัว หรือต้องพยายามแสวงหาและสร้างให้เกิดขึ้น เพราะความคิดสร้างสรรค์นั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดแนวทางใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นคำตอบที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแปรเปลี่ยนให้สินค้าและบริการของตัวเองโดดเด่นขึ้นมาได้ และที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มความยากให้กับคนที่จะเข้ามาร่วมแข่งขันอีกด้วย

 

 

เครื่องมือที่ 3 : การสร้างมูลค่าเพิ่ม

ถือว่าเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการนำไปสู่ผลกำไรที่เพิ่มขึ้น สำหรับ “การสร้างมูลค่าเพิ่ม” ซึ่งเป็นการนำสินค้าและบริการที่มีอยู่ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอด หรือใส่ความคิดสร้างสรรค์ จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือความแปลกใหม่ให้กับสินค้าได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องคำนึงเสมอว่ามูลค่าที่เพิ่มขึ้นนั้น ต้องเป็นคุณค่าที่ผู้บริโภคได้รับ Value ที่สร้างจะต้องมาจากลูกค้า ไม่ใช่จากสิ่งที่ผู้ประกอบการคิด

 

 

เครื่องมือที่ 4 : การดีไซน์

เมื่อความต้องการของผู้บริโภคมีความหลากหลายมากขึ้น และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปตามกระแสโลก การตัดสินใจซื้อจึงมีมากกว่าแค่การตัดสินจากคุณภาพ ภายใต้ราคาอันสมเหตุสมผล ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาให้สินค้ามีความโดดเด่นในเรื่องของดีไซน์ควบคู่ไปด้วย การออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งผลต่อรายได้และความสำเร็จขององค์กร การผสมผสานให้คุณสมบัติ รูปแบบการทำงาน ความสามารถในการปรับใช้ ความคงทน และความสวยงาม อยู่ในสินค้าชิ้นเดียวกันได้อย่างลงตัว นับเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุดนี้

 

 

 

เครื่องมือที่ 5 : แพ็กเกจจิ้ง

นอกจากจุดประสงค์หลักเพื่อใช้ป้องกันสินค้าจากการชำรุดเสียหายโดยการขนส่งแล้ว  “แพ็กเกจจิ้ง” ยังเป็นเสมือนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับตัวสินค้าอีกด้วย รูปทรง สี วัสดุที่ใช้ รวมไปถึงรายละเอียดยิบย่อยอย่างตัวอักษรล้วนแต่มีส่วนช่วยให้ลูกค้าแยกแยะแบรนด์ต่างๆ ออกจากกันได้ รวมถึงส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ แพ็กเกจจิ้งจึงเป็นหน้าเป็นตาของแบรนด์ และเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคหันมามองสินค้าใหม่ๆ ในตลาดนอกเหนือจากสินค้าที่ใช้อยู่เดิมบนชั้นวางสินค้าเดียวกัน การให้ความสำคัญกับแพ็กเกจจิ้งจนโดดเด้งออกมาจากสินค้าที่วางอยู่ข้างๆ จึงมีความสำคัญมากทีเดียว

 

 

เครื่องมือที่ 6 : นวัตกรรม

วันนี้เรื่องของ “นวัตกรรม” หรือ Innovation ถูกนำมาจับคู่กับธุรกิจ จนกลายเป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งในการสร้างโอกาสและความต่างให้กับผู้ประกอบการ SME เพื่อหาพื้นที่ยืนที่กว้างขึ้นบนโลกธุรกิจใบนี้ นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ ของดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษก็สามารถกลายเป็นนวัตกรรมได้ หากแต่ผ่านการต่อยอดพัฒนาจากความคิดสร้างสรรค์ จนมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น หรือแตกต่างจากที่มีอยู่เดิม นั่นก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมชั้นยอดได้

 

 

เครื่องมือที่ 7 : เทคโนโลยี

ในยุคสังคมออนไลน์ที่เชื่อมต่อถึงกันทั่วโลกเช่นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถมองข้ามหรือละเลยเจ้าเครื่องมืออันทรงพลังนี้ไปได้ “เทคโนโลยี” กลายมาเป็นตัวช่วยที่สำคัญในแทบจะทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การบริหารจัดการ การตลาด เป็นต้น ทำให้การทำงานง่ายขึ้น สามารถประมวลผลเพื่อวิเคราะห์ผลการทำงานได้ดีขึ้น มีระบบที่ชัดเจนตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น และเข้าถึงลูกค้าได้อย่างง่ายดาย และยิ่งปัจจุบันโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ ต่างได้รับความนิยมจากผู้คนจำนวนมาก รวมถึงสมาร์ทโฟนได้เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคน จึงเป็นเรื่องง่ายขึ้นอีกที่ผู้ประกอบการจะสื่อสารโดยตรงกับลูกค้าเป้าหมายผ่านทางเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้      

 

 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024