สำรวจปัจจัยแวดล้อมขวางทาง SMEs เติบโต

 

 

 
ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ (business environment) นับได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความสำเร็จขององค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การปรับตัวของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจึงถือเป็นความท้าทายสำหรับทุกองค์กรรวมทั้งกลุ่ม SMEs  เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ลดอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และช่วยในการกำหนดนโยบายตลอดจนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสมต่อไป
 
นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน คือปัจจัยแวดล้อมหลักภายในประเทศที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการ SMEs ผ่านต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในภาคการผลิตที่มีการใช้แรงงานในสัดส่วนที่สูง (labor-intensive industry)

เช่น ธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ฟอกย้อม พิมพ์ลายผ้า อัญมณี เครื่องหนัง หรือแม้แต่ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มธุรกิจบริการที่จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น โรงแรม ร้านอาหาร รับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจรับจ้างขนส่งทางบก เป็นต้น

ซึ่งพบว่าผลกระทบดังกล่าวจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กซึ่งปรับตัวได้ยากกว่า ยกเว้นในภาคบริการที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการขนาดกลางได้รับผลกระทบสูงกว่า ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะสัดส่วนการจ้างงานที่ค่อนข้างสูงเพื่อเน้นคุณภาพของการบริการมากกว่า
 
นอกจากนี้ ปัจจุบันแรงงานไทยยังเลือกที่จะออกไปทำอาชีพอิสระกันมากขึ้น ทั้งจากแรงจูงใจในเรื่องความเป็นอิสระในการทำงานและรายได้ที่สูงกว่าการทำงานในระบบ รวมทั้งยังมีทัศนคติที่เลือกงานมากขึ้นอีกด้วย ส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (turnover rate) อยู่ในระดับสูง

เนื่องจากแรงงานที่มีฝีมือและมีทักษะความชำนาญสูงมักจะย้ายไปสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตที่มีขนาดใหญ่กว่า ด้วยเหตุผลในเรื่องของผลตอบแทนและโอกาสที่ดีกว่าในแง่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องมีต้นทุนและค่าเสียโอกาสที่เกิดจากความไม่ต่อเนื่องของการทำงานและประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงในช่วงการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานใหม่ เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่บริษัทกำหนด

ทั้งนี้ ผลที่ได้จากการสำรวจผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศพบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดกลางในภาคเกษตรที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานค่อนข้างรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลกระทบจากทัศนคติในการเลือกเข้าไปทำงานในภาคธุรกิจอื่นที่ทำงานสบายกว่าและใช้แรงงานน้อยกว่า 
 
ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศที่มีผลกระทบต่อ SMEs ไทย คือ การเปิดเสรีทางการค้าและการรวมกลุ่มกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อ SMEs อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากโอกาสทางการค้าและการลงทุนในตลาดอาเซียนที่เปิดกว้างขึ้นแล้ว AEC ยังหมายถึงการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นด้วย เนื่องจากอาจทำให้มีบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันและแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกับสินค้าในประเทศที่ผลิตโดยกลุ่ม SMEs มากขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการในประเทศต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้า 
 
ในขณะเดียวกัน ความเข้มข้นของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (non-tariff barriers) โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยนั้น นับวันจะยิ่งมีบทบาทและทวีความสำคัญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการตรวจสอบสินค้าย้อนหลัง (ทุกชิ้นส่วนที่ประกอบเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องถูกตรวจสอบย้อนหลังไปถึงแหล่งผลิตและแหล่งวัตถุดิบได้) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าเกษตร

ขณะที่คาดว่าธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากกระบวนการผลิตที่อาจยังไม่ได้มาตรฐานมากเท่าที่ควร และไม่สามารถตรวจสอบต้นทางของวัตถุดิบได้ ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะถูกตัดออกจาก supply chain ของบริษัทขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อย่าง จีนและเกาหลีใต้ รวมถึงอีกหลายประเทศในเอเชีย ต่างก็ออกมาตรการด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นจากประเทศคู่ค้าในตลาดโลก
 
ในขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งจากในและต่างประเทศ SMEs กลับยังมีข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยีการผลิตและความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมที่ด้อยกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่อีกด้วย เนื่องจาก SMEs โดยทั่วไปมักใช้เทคนิคการผลิตที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน กอปรกับผู้ประกอบการหรือพนักงานส่วนใหญ่ยังอาจขาดความรู้พื้นฐานที่รองรับเทคนิควิชาที่ทันสมัย จึงทำให้มีผลิตภาพแรงงานในภาคการผลิตที่ต่ำกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่ รวมทั้งยังขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล

ดังนั้น โอกาสทางธุรกิจสำหรับ SMEs จึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมๆ ไปกับการชูจุดเด่นในเรื่องความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ อันเนื่องมาจากฝีมือและความชำนาญเฉพาะด้านจากการผลิตสินค้าในปริมาณที่ไม่มาก (craftsmanship) ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะเด่นของ SMEs ไทย
 
ทั้งนี้ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในหลากหลายมิติที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ผู้ประกอบการ SMEs ควรจะปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการวิเคราห์และประเมินสถานภาพปัจจุบันและขีดความสามารถของกิจการตนเองว่ามีศักยภาพมากน้อยเพียงใด และต้องปรับตัวอย่างทันท่วงที เพื่อให้สามารถเผชิญและตอบสนองกับความท้าทายดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมและทันเหตุการณ์ รวมทั้งต้องแสวงหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมเหล่านั้น ทั้งจาก global trend ต่างๆ โอกาสทางการค้าการลงทุนใหม่ๆ ที่เกิดจากการค้าชายแดน และการเปลี่ยนแปลงภายใต้ AEC หรือการลงทุนในประเทศอาเซียน
 
ข้อมูล โดย SCB EIC
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024