สร้างแบรนด์กับพนักงานเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องทำ

 TEXT : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
 
    

               รู้หรือไม่ว่าองค์กรทุกองค์กรมีแบรนด์ ซึ่งแบรนด์แบ่งออกเป็นสองอย่าง คือ แบรนด์ที่สร้างกับลูกค้า และแบรนด์ที่สร้างกับพนักงาน แม้ทั้งสองวิธีจะมีเป้าหมายต่างกัน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมามีบางอย่างคาบเกี่ยวกัน


               คนส่วนใหญ่รู้จักแบรนด์ในแง่ของการสร้างกับลูกค้ามากกว่าแต่การสร้างแบรนด์กับพนักงานก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน  ลองจินตนาการดูว่าหากองค์กรสามารถสร้างแบรนด์ที่ดีกับพนักงานได้ พนักงานคงจะมีความสุขในการทำงานให้กับองค์กร รู้สึกดีกับสินค้าที่บริษัทผลิต เป็นตัวแทนของหน่วยงานอย่างเต็มใจและสุดท้ายจะกลายเป็นลูกค้าที่มีความภักดีกับสินค้าขององค์กรด้วย


               แม้หลายคนมองว่าสินค้าหรือบริการใดที่เราใช้เป็นประจำ เป็นสิ่งที่เรายอมรับ และเมื่อมองไปที่องค์กรที่เป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการนั้น ก็จะคิดว่าน่าจะเป็นองค์กรที่ดีแห่งหนึ่งที่น่าทำงานด้วย แต่เมื่อเข้าไปในองค์กรจริงๆ กลับพบกับสิ่งตรงกันข้ามจากรูปลักษณ์ที่เห็นภายนอก ผลที่ตามมา คือ ความรู้สึกที่แย่และสุดท้ายอาจนำไปสู่การเลิกใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ เลยก็เป็นได้
               

               ในทางกลับกัน องค์กรที่สร้างสถานที่ทำงานที่ดีให้พนักงาน พนักงานมีความภาคภูมิใจในองค์กร พนักงานก็มีแนวโน้มที่จะใช้สินค้าหรือบริการขององค์กรนั้นๆ ด้วย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการสร้างแบรนด์ทั้งภายนอกและภายในให้ดี มีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความสำเร็จให้กับองค์กร


               แบรนด์ หมายถึงมุมมองที่มีต่อสินค้าหรือองค์กรว่าจะสามารถให้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เช่น แบรนด์รถเบนซ์ให้ประโยชน์ในแง่ความหรูหรา แบรนด์แอปเปิ้ลให้ประโยชน์ในแง่ความทันสมัย เป็นต้น 


               ดังนั้น การสร้างแบรนด์กับลูกค้า คือ การทำให้ลูกค้ามองเห็นว่าสินค้าหรือบริการจะให้อะไรดีๆ กับพวกเขาได้บ้าง ในขณะที่การสร้างแบรนด์กับพนักงาน คือ การทำให้พนักงานมองเห็นคุณสมบัติดีๆขององค์กร


               การสร้างแบรนด์ในฐานะนายจ้าง มีองค์ประกอบ 3 ส่วนด้วยกัน คือ เรื่องของสถานที่ทำงาน ความเชื่อทางธุรกิจ และประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับ วัตถุประสงค์ของการสร้างแบรนด์ก็เฉกเช่นเดียวกันกับการสร้างแบรนด์กับลูกค้า ที่ต้องการให้ลูกค้าหันมาใช้สินค้าหรือบริการขององค์กร การสร้างแบรนด์กับพนักงาน คือ การทำให้พวกเขาอยากทำงานกับองค์กร เป็นการดึงดูดและเก็บรักษาคนดีคนเก่งขององค์กรไว้


               วิธีการสร้างแบรนด์กับพนักงานมีหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างพนักงานด้วยกันเอง และระหว่างพนักงานกับองค์กร ซึ่งความสัมพันธ์ที่สร้างไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องงานเพียงอย่างเดียว เพราะความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้องค์กรสามารถรักษาคนเก่งเอาไว้ได้ และช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานรวมทั้งทัศนคติที่ดีให้กับพนักงานอีกด้วย 


               กิจกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมก็มีส่วนช่วยในการสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ขององค์กรทั้งภายในและภายนอก ความเข้าใจในความต้องการของพนักงานและตอบสนองความต้องการนั้นๆ ก็เป็นการสร้างแบรนด์ที่ดีอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น กูเกิ้ลทราบดีว่าการที่พนักงานจะมีความคิดสร้างสรรค์และมีความสุขในการทำงานได้ ต้องมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยด้วย


               ดังนั้น ที่สำนักงานของกูเกิ้ลจึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมายให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้นวด ห้องนอน โต๊ะบิลเลียด ห้องคาราโอเกะ หรือแม้แต่อาหารกลางวันที่มีให้กินไม่อั้นแบบไม่ต้องเสียตังค์ด้วย เป็นต้น จึงทำให้แบรนด์กูเกิ้ลเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จทั้งกับลูกค้าและพนักงาน


               นอกจากนั้น แบรนด์ที่แข็งแกร่งขององค์กรจะนำมาซึ่งอัตราการลาออกที่ลดลงและความพึงพอใจ รวมทั้งผลผลิตในการทำงานที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ในทางกลับกัน องค์กรที่ไม่สามารถสร้างแบรนด์ภายในให้แข็งแกร่งได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นตรงกันข้าม คนดีคนเก่งจะหายไปจากองค์กร ความรู้สึกที่ดีต่อองค์กรลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของพนักงานไปนอกองค์กรด้วย


               ถ้าคุณคิดว่าถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องสร้างแบรนด์ภายในกับพนักงาน  ลองเริ่มจากการถามพวกเขาดูว่า คิดอย่างไรกับองค์กร คำตอบที่ได้จะแสดงให้เห็นถึงแบรนด์ขององค์กรในปัจจุบัน จากนั้นลองคิดต่อว่าควรต้องทำอะไรเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพื่อพัฒนาแบรนด์ให้ดีขึ้นอย่างที่ปรารถนา


               แบรนด์ คือ ประสบการณ์ที่ลูกค้าและพนักงานมีต่อองค์กร บางอย่างอาจสร้างให้เกิดขึ้นได้ ในขณะที่บางอย่างอยู่นอกเหนือการควบคุม แบรนด์เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานแห่งความสำเร็จ แบรนด์จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกับองค์กรหากคุณให้เวลากับมันอย่างเพียงพอ


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024