โจรขโมยแบรนด์! ฝันร้ายของผู้ประกอบการ

Text : ดร.นิ่มนวล ผิวทองงาม
          nimnual.piewthongngam@gmail.com
 




     มีเรื่องเตือนภัยใกล้ตัวมาบอกกัน ในฐานะเจ้าของธุรกิจท่านทราบดีกว่าแบรนด์ หรือเครื่องหมายการค้า และอาจรวมถึงสโลแกนเก๋ๆ หรือโลโก้เท่ๆ มันมีค่ามากแค่ไหน มูลค่าของแบรนด์ หรือ brand value นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญต่อธุรกิจอย่างมาก ธุรกิจในยุคนี้จึงพุ่งเป้าไปที่การสร้างแบรนด์ แต่น้อยคนนักจะคิดถึงการปกป้องแบรนด์/เครื่องหมายการค้าของตัวเอง ถ้าเราไม่ดูแลคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ก็อาจถูกละเมิดนำไปใช้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้ยินกันบ่อยๆ


     แต่เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นหนักขึ้นเรื่อยๆ ในวงการธุรกิจระหว่างประเทศตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว คือ การนำเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นไปจดทะเบียนเป็นของตนเองในประเทศอื่น ทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าตัวจริงหมดสิทธิ์ในการนำสินค้าหรือบริการของเขาไปจำหน่ายในประเทศนั้นๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรงมากๆ ที่เจ้าของธุรกิจทุกคน ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่มหึมา หรือขนาดเล็กแบบ SME ก็ต้องรีบ take action ด่วนเลย
               

     เจ้าของสินค้าไทยแบรนด์ดังรายหนึ่งที่ถูกคนนำเครื่องหมายการค้าไปจดที่อินโดนีเซีย และถูกฟ้องจากคนที่ขโมยเครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนว่า เราจำหน่ายสินค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าของเขา ท่านเคยได้ยินไหมคะว่าเจ้าของแบรนด์ตัวจริงโดนฟ้องจากตัวปลอมที่นำเครื่องหมายการค้าของไทยไปจดทะเบียนเป็นเจ้าของ เอากันดื้อๆ แบบนี้เลย โดยที่เขาห้ามตัวจริงจำหน่ายสินค้านั้นและขู่จะฟ้องศาล ถ้าไม่ยอมจ่ายเงิน1 ล้านบาทให้ ต่อรองกันไปมา กลายเป็นว่าต้องจ่ายไปห้าแสน เพื่อแลกกับสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า (ของตัวเอง) ที่ถูกนำไปจดในอินโดนีเซีย เพราะถ้าไม่ให้คดีก็จะยืดยาวเสียค่าทนาย ค่าขึ้นศาล แล้วไหนจะของที่ส่งไปรอจำหน่าย คิดเบ็ดเสร็จแล้วก็ต้องจ่าย
               

     แม้แต่ Starbucks ก็โดนจี้ที่ประเทศรัสเซีย เพราะมีคนรัสเซียไปถอนสิทธิ์การจดทะเบียนของ Starbucks ด้วยเหตุผลว่า เจ้าของไม่นำไปใช้ในทางการพาณิชย์เกิน 3 ปีแล้ว ก็นำมาจดเป็นเจ้าของแบรนด์เสียเอง คนทำนี่เป็นทนายด้วยนะ และก็เป็นโจรสลัดที่ชอบปล้นจี้เครื่องหมายการค้าคนอื่น ที่ร้ายกว่านั้นดันเอาไปเสนอขายให้บริษัท Starbucks ตัวจริงเสียอีก โดยเรียกเงิน 600,000 เหรียญ แต่ Starbucks ไม่ยอมจ่าย แถมยังไปฟ้องหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องนี้ที่ในรัสเซีย ปรากฏว่าโชคยังเข้าข้างที่รัสเซียมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาจดทะเบียนโดยไม่สุจริตอย่างเข้มแข็ง เจ้าของตัวจริงเลยได้แบรนด์คืน แต่ก็ต้องเสียเวลาและหมดเงินไปกับการฟ้องร้องกันอย่างมากมาย
               

     ถึงตรงนี้ ท่านคงเห็นแล้วนะคะว่า การปล้นเครื่องหมายการค้าของเราไปจดที่ประเทศอื่น หรือที่เรียกกันว่าtrademark hijack หรือ trademark squatting นี้ เป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจอย่างมาก มีคนทำอาชีพเอาเครื่องหมายการค้าของคนอื่นไปจดให้ได้สิทธิตามกฎหมาย แล้วกลับมาเรียกเงินเจ้าของแบรนด์ พวกนี้นิยมทำกันเป็นอาชีพเลยในประเทศจีนและเวียดนาม


     คนจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่า จดทะเบียนในประเทศไทยแล้ว ได้รับความคุ้มครองทุกประเทศทั่วโลก ไม่เข้าใจว่าการคุ้มครองเครื่องหมายการค้านั้นจะคุ้มครองในประเทศที่จดทะเบียนเท่านั้น จึงไม่สนใจที่จะไปจดทะเบียนคุ้มครองในประเทศอื่นๆ จึงเกิดกรณีถูกลอกเลียนตราสินค้าหรือบริการ หรืออาจถูกขโมยเครื่องหมายการค้าไปจดในประเทศอื่น สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงถ้าไม่รีบป้องกัน คือ ผู้ที่สั่งผลิตสินค้าในต่างประเทศ ผู้ที่ส่งสินค้าหรือจำหน่ายสินค้าและบริการในตลาดของประเทศอื่น หรือกำลังมีแผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีปัญหาเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
               

     อย่างไรก็ดี หากถามว่ามิจฉาชีพที่ปล้นเครื่องหมายการค้าต้องการอะไร ก็ตอบได้ว่า ส่วนใหญ่ต้องการนำสิทธิ์ไปขายให้กับเจ้าของที่แท้จริง เมื่อเขาเข้ามาขยายตลาดในประเทศนั้น บางรายต้องยอมเสียเงินจำนวนมากเพื่อแลกกับการที่ไม่ต้องไปเสียเวลาและเสียเงินขึ้นศาล เพราะไม่มั่นใจว่าจะชนะหรือไม่ เพราะถ้าเกิดไปเจอประเทศไม่มีศาลทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะ หรือผู้พิพากษาไม่ชำนาญคดีประเภทนี้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะแพ้คดี มีหลายกรณีทำไป เพราะต้องการนำเครื่องหมายการค้าไปใช้ในสินค้าหรือบริการของตนเอง เพื่อให้ผู้บริโภคคิดว่าเป็นของแท้ เจ้าของแบรนด์เข้าไปในตลาดนั้นไม่ได้


     หากผู้ประกอบการไม่ป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ อาจจะตกเป็นเป้าหมายของพวกจี้เครื่องหมายการค้าที่จะมองหาเหยื่อที่เป็นแบรนด์ซึ่งกำลังดังและมีการขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยพวกนี้อาจจะหาข้อมูลของท่านจากอินเทอร์เน็ต หรืออาจเป็นผู้มาชมสินค้าเวลาไปออกงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศ มาถามไถ่ว่าจะขยายไปตลาดไหนต่อ แล้วก็แอบไปจดทะเบียนรอไว้ หรือผู้ที่ซื้อสินค้าหรือเคยเห็นสินค้าเวลามาเมืองไทย หรือที่หนักกว่านั้น อาจเป็นผู้ที่เราสั่งผลิตสินค้าหรือผู้จัดจำหน่ายให้เราในประเทศนั้นๆ


     ณ เวลานี้ต้องบอกเลยว่า ถ้าจะดังและโกอินเตอร์ ต้องระวังให้หนัก ควรไปจดทะเบียนป้องกันสิทธิ์ของท่านในประเทศที่จะส่งของไปขาย หรือกำลังจะมีเป้าหมายที่จะขยายตลาดไป เสียเงินไม่ถึง 50,000 บาท ในการจดทะเบียนที่คุ้มครองเราไปสิบปี เรียกว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะถ้าท่านโดน hijack แบรนด์ไป ความเสียหายมันจะมากกว่าค่าจดทะเบียนเป็นเท่าทวีคูณ


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024