​ส่องเทคนิคการตลาดสุด WOW! ของธุรกิจแอลกอฮอล์ในต่างแดน





 
     เมื่อสมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญพอๆ กับ wi-fi ที่ผู้คนในยุคนี้ขาดไม่ได้ ไม่แปลกที่แบรนด์ต่าง ๆ จะพุ่งเป้าไปที่ mobile marketing หรือการทำการตลาดผ่านอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาซึ่งส่วนใหญ่ก็คือสมาร์ทโฟนนั่นเอง ธุรกิจแอลกอฮอล์ก็เช่นกัน บ้านเราอาจจะมีข้อจำกัดในการโฆษณาเหล้าเบียร์และเครื่องดื่มมึนเมาทุกประเภทเนื่องจากข้อกฎหมายกำหนด แต่ที่ต่างประเทศ เทรนด์การตลาดของเครื่องดื่มประเภทนี้จะเป็นการประชาสัมพันธ์ที่มีเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยนอกจากเป็นการสร้างการรับรู้จดจำแบรนด์ (brand awareness) ยังสร้างความผูกพันกับลูกค้า (customer engagement) อีกด้วย
 





     ยกตัวอย่างแคมเปญ Miller Sound Clash DJ. (ดื่มสนุกแกล้มดนตรีหน้าจอ) ของเบียร์ยี่ห้อมิลเลอร์ในรัสเซีย ในการเปิดตัวเบียร์เวอร์ชั่นไร้แอลกอฮอล์ มิลเลอร์ได้ผลิต limited edition ออกมา เป็นเบียร์รุ่นที่ฝังชิปด้านหลังฉลากบนขวด ชิปดังกล่าวทำให้สามารถส่งข้อมูลระยะใกล้ได้ เมื่อลูกค้าซื้อเบียร์รุ่นนี้มาจะสามารถร่วมสนุกโดยการใช้สมาร์ทโฟน (แอนดรอยด์) ถ่ายภาพฉลากบนขวดเพื่อ activate ให้ชิปเริ่มทำงาน พลันที่ถ่ายภาพฉลากเสร็จ หน้าจอมือถือจะปรากฏเว็บไซต์ miller.ru แล้วเวลาแห่งความบันเทิงก็เริ่มขึ้น
 

     ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีการอ่านอารมณ์จากใบหน้ามนุษย์ซึ่งถูกติดตั้งบนเว็บไซต์ของเบียร์มิลเลอร์จะทำงาน โดยขณะที่ AI เล่นดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์จังหวะกระหึ่ม ลูกค้าเบียร์ปรับท่วงทำนองได้โดยการขยับกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น ยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ อ้าปาก หลับตา ทำปากจู๋ แลบลิ้น ปลิ้นตา และอื่น ๆ ระบบจดจำสีหน้าจะทำการบันทึกข้อมูลแล้วส่งต่อไปที่ AI ยังผลให้ดนตรีที่กำลังเล่นเปลี่ยนจังหวะไปตามอารมณ์บนหน้าของเรา ดนตรีที่เล่นนี้เป็น endless track จึงสามารถเล่นไปได้เรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุดจนกว่าเราจะเบื่อและหยุดไปเอง ระบบนี้ใช้กับสมาร์ทโฟนรุ่นแอนดรอยด์ ส่วนผู้ใช้ iOS ของไอโฟนต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Shazam ก่อนเพื่อจะได้สแกนฉลากบนขวดเบียร์ได้ จากนั้นก็เข้าสู่หน้าเว็บและไปร่วมกิจกรรมสนุก ๆ ได้ทันที นับเป็นการตลาดที่ “WOW” และเรียกความสนใจจากผู้บริโภคได้ไม่น้อย  
 




     อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือบริษัทคัมปารี อเมริกา ตัวแทนจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทวอดก้า เบอร์บิ้น รัม และเตกีล่าได้จัดทำแผ่นแม่เหล็กติดตู้เย็นรุ่นพิเศษออกมาเพื่อแจกจ่ายให้กับลูกค้ารวมถึงผับ บาร์ในนิวยอร์ก แม่เหล็กของคัมปารีติดตั้งระบบ NFC (Near-Field Communication) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถส่งผ่านข้อมูลได้ผ่านการเชื่อมต่อแบบไร้สาย เมื่อลูกค้านำสมาร์ทโฟนไปแตะที่แม่เหล็กนั้น ก็จะมีรายชื่อเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่คัมปารีจำหน่ายปรากฏบนจอ ลูกค้าสามารถคลิกสั่งซื้อได้ทันที เมื่อชำระเงินแล้ว สินค้าจะถูกจัดส่งถึงที่
 
                
     แม่เหล็กติดตู้เย็นนี้ใช้หลักการเดียวกับที่อเมซอน ยักษ์ใหญ่วงการอี-คอมเมิร์ซเคยแจกปุ่ม DASH ให้ลูกค้าไปติดที่บ้าน เมื่อของกินของใช้ในบ้านหมด ก็สแกนสมาร์ทโฟนที่ปุ่มและสั่งซื้อได้ง่ายดาย อย่างไรก็ตาม แม่เหล็กจำหน่ายเครื่องดื่มของคัมปารีออกแบบมาให้ใช้กับสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ลูกค้าที่ใช้ไอโฟนต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นตัวอ่าน NFC จาก Apple Store ก่อนจึงใช้งานได้ 
 

     ขณะเดียวกัน Barbadillo แบรนด์ไวน์จากสเปนก็นำเทคโนโลยี Speed Tag มาใช้กับฉลากบนขวดไวน์กว่า 100,000 ขวด เมื่อลูกค้าสแกนฉลากบนขวดไวน์ด้วยสมาร์ทโฟน ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับไวน์ขวดนั้นๆ จะปรากฏบนหน้าจอ ส่งผลให้ traffic หรือยอดผู้เข้าชมบนเว็บไซต์ของบริษัทเพิ่มขึ้น 10 เท่า ความผูกพันระหว่างแบรนด์กับลูกค้าโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับการใช้โซเชียลมีเดียทั่วไป
 

     การพึ่งพากลยุทธ์การตลาดแบบเดิมๆ อาจไม่พอ การเสริมช่องทางอื่น เช่น การตลาดผ่านสมาร์ทโฟน นอกจากอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลและคลิกสั่งซื้อสินค้า/บริการได้รวดเร็ว ยังเป็นการเจาะเข้ากลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ตั้งเป้าไว้อีกด้วย
 
 

ที่มา
www.trendhunter.com
www.mobilemarketer.com/news/campari-eases-liquor-ordering-with-nfc-enabled-fridge-magnets/514475/


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2