ส่งออกไทย’57...รออานิสงส์เศรษฐกิจโลก

 

 

เครดิตภาพ : http://logistics.avnet.com/webReporting/exportImport.jsp

 
 
แม้ว่าส่งออกของไทยในเดือนสุดท้ายของปี 2556 จะพลิกกลับมายืนในแดนขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.9 แต่มูลค่าส่งออกในเดือนธันวาคม 2556 ที่ปรับลดลงจากเดือนพฤศจิกายนราวร้อยละ 1.7  มาอยู่ที่ระดับ 18,440 ล้านดอลลาร์ฯ ก็ย้ำภาพความล่าช้าของการฟื้นตัวที่มีมาตลอดทั้งปี และส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกในปี 2556 หดตัวลงร้อยละ 0.3 ด้วยมูลค่า 228,529.8 ล้านดอลลาร์ฯ 
 
ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวลงร้อยละ 4.9 นำโดย กุ้งแช่แข็ง/แปรรูป (หดตัวร้อยละ 28.3) น้ำตาล (หดตัวร้อยละ 27.6) ยางพารา (หดตัวร้อยละ 5.9) และข้าว (หดตัวร้อยละ 4.6) ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมก็หดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ 0.2 นำโดย อัญมณี/เครื่องประดับ (หดตัวร้อยละ 23.3) วัสดุก่อสร้าง (หดตัวร้อยละ 6.7) และอิเล็กทรอนิกส์/ส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ 1.0) 
 
ส่วนสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์/ส่วนประกอบ เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ ยังขยายตัว 
 
 
สัญญาณบวกเศรษฐกิจโลก...ปัจจัยหลักหนุนการส่งออกปี 2557  
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจแกนหลักของโลก อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสภาพยุโรป จะเป็นแรงสนับสนุนหลักในการพลิกฟื้นภาคการส่งออกของไทย และในขณะเดียวกัน ก็ช่วยเสริมภาวะการค้าระหว่างไทยและคู่ค้าในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในอาเซียน และเอเชียตะวันออก ให้ได้รับอานิสงส์การฟื้นตัวตามไปด้วย 
 
นอกจากนี้ ข้อจำกัดสินค้าเกษตรที่เบาบางลง ทั้งปัญหาโรคกุ้งตายด่วนที่เริ่มคลี่คลาย การยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดของญี่ปุ่น ราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ทยอยปรับลดลง และความต้องการยางพาราที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าหากเศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2556 ก็น่าจะช่วยเสริมอัตราการเติบโตของส่งออกของไทยในปี 2557 ให้สามารถกลับมายืนในแดนบวกได้ในกรอบร้อยละ 3.0-7.0 โดยอาจขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 5.0
 
ทั้งนี้ แม้ภาคการส่งออกในปี 2557 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่จังหวะการฟื้นตัวจะปรากฏภาพชัดเจนเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมทั้งทิศทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเกิดใหม่ ที่อาจส่งผลต่อความต้องการสินค้าไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกจึงยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปีต่อไปอย่างใกล้ชิด
     
เจาะตลาดส่งออกปีม้า: คำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ จีนและเอเชีย...ผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป ยานยนต์ และสินค้าขั้นกลางสู่เส้นทางการขยายตัว 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดต่างๆ ในปี 2557 ดังนี้
 
ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น หนุนการส่งออกของไทยในภาพรวม และตลาดสำคัญในอาเซียน เอเชียตะวันออก และออสเตรเลีย โดยเฉพาะไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง ไก่แปรรูป กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป อัญมณี/เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า/ส่วนประกอบ รถยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ
 
ส่วนการส่งออกคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้าสำหรับคอมพิวเตอร์ น่าจะยังไปได้ในประเทศสหรัฐฯ ขณะที่ แผงวงจรไฟฟ้าสำหรับยานยนต์น่าจะสามารถขยายตัวได้ดีในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียตะวันออก 
 
เศรษฐกิจจีน ที่น่าจะกลับสู่เส้นทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้น น่าจะช่วยเสริมคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรของไทย ได้แก่ ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รวมทั้งสินค้าขั้นกลางหลายประเภท อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และแผงวงจรไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่ คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ อาจต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและกระแสความนิยมในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
 
ตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา แม้ว่าจะมีขนาดเล็กราวร้อยละ 5.1 และร้อยละ 3.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่ก็มีความน่าสนใจ เนื่องจากกลุ่มประชากรกำลังซื้อสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดรับไปกับทิศทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว แต่ในขณะเดียวกัน ก็กำลังประสบปัญหาไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอกับความต้องการในภูมิภาค จึงน่าจะเป็นโอกาสของสินค้าไทยในกลุ่มอาหาร ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป สินค้าแฟชั่น อาทิ เครื่องนุ่งห่มและอัญมณี/เครื่องประดับ ที่จับกลุ่มลูกค้าขั้นกลางขึ้นไป 
 
รวมไปถึงสินค้าคงทน/ขั้นกลางที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน อาทิ รถยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า/ส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ เป็นต้น อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาสถานการณ์ตลาดลาตินอเมริกาและเอเชียใต้ (มีสัดส่วนร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ตามลำดับ) 
 
โดยเฉพาะประเทศอินเดียและอาร์เจนตินาซึ่งประสบปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวผันผวน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพารา รถยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในภูมิภาคดังกล่าว
 
โดยสรุป ในปี 2556 การส่งออกของไทยต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายนานัปการซึ่งกดดันให้กระบวนการฟื้นตัวเป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยหดตัวลงทุกหมวด นำโดย สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม และทำให้ภาพรวมการส่งออกหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ร้อยละ 0.3 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2555 
 
สำหรับในช่วงไตรมาส 1/2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/2557 น่าจะยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 2.0 (YoY) จากผลของฐานที่สูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี ประเมินว่า ทิศทางของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ทยอยกลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 และน่าจะประคองทิศทางไว้ได้ต่อเนื่องในปีนี้ อาจช่วยหนุนให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2557 มีโอกาสขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 3.0-7.0 (ค่ากลางร้อยละ 5.0) แม้ว่าจะยังคงต้องติดตามความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและค่าเงินของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่บางประเทศอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้าก็ตาม 
 
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น ที่มีพัฒนาการดีขึ้น น่าจะทยอยส่งผลบวกมายังการค้าในอาเซียน เอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย ประกอบกับโอกาสทางการค้าในตลาดแอฟริกาและตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายตัว จะเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น 
 
ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ อัญมณี/เครื่องประดับ (ไม่รวมทอง) เครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า/ส่วนประกอบ  เคมีภัณฑ์ เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ ปัญหาสินค้าเกษตรที่น่าจะทยอยคลี่คลายลง ก็น่าจะช่วยให้เสริมให้การส่งออกสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูปของไทยหลายชนิดฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะข้าว ยางพารา กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง และไก่แปรรูป 
 
แม้ว่าในภาพรวม ระดับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ทยอยเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักน่าจะที่ช่วยให้การส่งออกของไทยพลิกกลับสู่เส้นทางการขยายตัว แต่กระบวนการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นรวดเร็วเพียงใด ก็คงขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก รวมถึงพัฒนาการของสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และต่อเนื่องมายังภาคการส่งออกของไทย ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยก็คงต้องเร่งหาวิธีการในการแก้ไขข้อจำกัดในการผลิต โดยเฉพาะประเด็นข้อจำกัดด้านแรงงานและเทคโนโลยี เพื่อรักษาความสามารถในการรองรับออเดอร์สินค้า รวมถึงการสร้างความมั่นใจให้แก่คู่ค้าในการส่งคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า แม้สถานการณ์การเมืองในประเทศจะยังคงมีความไม่แน่นอนสูงก็ตาม 
 
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน