Cross Border e-commerce เทรนด์ค้าออนไลน์มาแรง! โอกาส SME ไทย ในน่านน้ำโลก



Main Idea

 
  • ในโลกธุรกิจทุกวันนี้ การค้าขายอยู่แต่ในประเทศเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการเติบโตของธุรกิจอีกต่อไป ‘Cross Border e-commerce’ หรือการค้าออนไลน์อีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ จึงนับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในยุคที่โลกสื่อสารถึงกันได้อย่างไรพรมแดน
 
  • แต่การจะขายสินค้าให้คนทั้งโลกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ประกอบการหลายคนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ด้วยเหตุนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงได้จับมือร่วมกับ อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง เพื่อเบิกทางนำสินค้าไทยสู่มือลูกค้าทั่วโลก
 

 

     ทุกวันนี้คนซื้อของผ่านออนไลน์มากขึ้น การไปห้างสรรพสินค้ากลับเป็นการไปเพื่อหากิจกรรมทำกับครอบครัว ไปเดินเล่นบ้าง กินข้าว ดูหนัง ฯลฯ ไม่ได้มุ่งเพื่อไปซื้อสินค้าเหมือนแต่ก่อน การค้าออนไลน์จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งต่อผู้บริโภคและตัวเจ้าของสินค้าเองมากขึ้น แต่ในการแข่งขันที่จำกัดอยู่แต่ภายในประเทศ อาจไม่เพียงพอสำหรับการไปต่อของธุรกิจ ‘Cross Border e-commerce’ หรือการค้าออนไลน์ผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซระหว่างประเทศ จึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกและทางรอดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยยุคนี้


     แต่การจะขายสินค้าให้คนทั้งโลกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ประกอบการหลายคนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร สร้างสินค้าอย่างไรให้โดดเด่นและเข้าถึงชาวต่างชาติได้ การตั้งราคาสินค้า ไปจนถึงการเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคชาวต่างชาติ จากเหตุดังกล่าวจึงทำให้หลายสถาบันการเงินพยายามแสวงหาหนทางช่วยเหลือลูกค้าตนเอง เช่นเดียวกับที่ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน ได้จับมือร่วมกับ อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง เพื่อเบิกทางนำสินค้าไทยสู่มือลูกค้าทั่วโลก


 
  • e-commerce โลกยังโตต่อเนื่อง
 
     ถามว่าเหตุใดการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจให้กับผู้ประกอบการ SME ในประเทศ เบอร์นาร์ด เทย์ ผู้อำนวยการ อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในหน่วยธุรกิจของอเมซอน กรุ๊ป ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทั่วโลกขยายฐานการค้าสู่ตลาดต่างประเทศ ได้กล่าวว่าปัจจุบันธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในตลาดโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ที่ราวร้อยละ 23 ต่อปี ในขณะที่ธุรกิจออฟไลน์ที่เป็นการค้าปลีกเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6 ต่อปี  ซึ่งหากแยกออกมาเฉพาะการค้าอี-คอมเมิร์ซระหว่างประเทศ (Cross border e-commerce) จะเติบโตสูงถึงร้อย 28 ต่อปีเลยทีเดียว





     เช่นเดียวกับที่ พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้กล่าวเสริมว่าการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศแต่เดิมนั้นจะเป็นการค้าขายแบบ B2B จากผู้ประกอบการส่งไปขายยังผู้ประกอบการเพื่อให้กระจายสินค้าต่อ แต่ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศกลับเปลี่ยนแปลงไป เป็นการค้าขายแบบ B2C หรือจากผู้ประกอบการสู่ลูกค้าโดยตรงมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การค้าขายระหว่างประเทศ Cross border e-commerce จึงเติบโตมากขึ้นในปัจจุบัน


     โดยระบุว่าที่ผ่านมานั้นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อยู่ในระดับที่ชะลอตัวลง โดยจากข้อมูลตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยว่า สินเชื่อ SME มีการเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากร้อยละ 4 ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงร้อยละ 1.5 ในด้านของธนาคารไทยพาณิชย์เองสินเชื่อสำหรับ SME ทั้งรายเล็กและรายใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 341,000 ล้านบาท ในส่วนของรายได้ธนาคารเมื่อเทียบไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ยังถือว่าทรงตัว ไม่ได้มีนัยยะเพิ่มหรือลดแต่อย่างใด โดยมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ออกไปประมาณ 19,000 ล้านบาท โดยคาดว่าครึ่งปีหลังแนวโน้มการส่งออกจะอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น จากการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มการค้าระหว่างประเทศได้ ทั้งในส่วนของธนาคารเอง รวมถึงหน่วยงานต่างๆ จากภาครัฐด้วย
 
  • โกอินเตอร์ยังไงให้รอด
 
     โดยการค้าระหว่างประเทศอาจเป็นทางออกให้กับผู้ประกอบการ SME ทั้งรายเล็กและรายใหญ่เพิ่มมากขึ้นในตลาดที่ยังเป็น Blue Ocean แต่ขณะเดียวกันกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน


     “การที่จะพาลูกค้าขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มค้าขายระดับโลก เช่น อเมซอน หรืออื่นๆ ก็ตามได้ ความสำคัญ ไม่ใช่แค่ทำอย่างไรให้เข้าไปให้ได้ แต่คือ ขึ้นไปอยู่แล้ว ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดและไปต่อได้ต่างหาก”รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสฯ ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าว


     ซึ่งในส่วนของไทยพาณิชย์เองได้ชูกลยุทธ์สนับสนุนเอสเอ็มอีไทยโตต่อในตลาดอินเตอร์ไว้ 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1. การให้ความรู้เพื่อการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจด้านต่างๆ 2.เตรียมเงินทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจ โดยให้สินเชื่อระยะยาว สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ 3. สร้างเครือข่ายทางการค้าที่แข็งแกร่ง และ 4. นำเสนอดิจิทัลโซลูชั่นเพื่อเป็นตัวช่วยในการดำเนินธุรกิจ


     ด้านเบอร์นาร์ด เทย์ จากอเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง ก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่ากุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการทำสามารถทำการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศได้ มีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.สร้างการรับรู้ถึงเทรนด์ Cross border e-commerce ว่ามีอยู่จริง และมีอัตราการเติบโตสูงมาก 2.การเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดทั่วโลกว่าอาจมีความแตกต่างจากลูกค้าคนไทย สินค้าที่ต้องการก็อาจไม่เหมือนกัน และ3.การหาแพลตฟอร์มเพื่อเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดการค้าโลกได้ ซึ่งในส่วนของ Amazon.com นั้นนับเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ โดยมีลูกค้ากว่า 300 ล้านรายทั่วโลก ครอบคุลม 185 ประเทศทั่วโลก มีเว็บไซต์หลักที่เป็นของประเทศต่างๆ อยู่ถึง 18 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนับเป็นประเทศหลักที่มีความสำคัญต่อการค้าโลก โดยค่า GDP ของ 18 ประเทศดังกล่าวรวมกันมีมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของโลกทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การนำแรงงานหุ่นยนต์มาใช้ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่ต้องค้าขายตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีหยุด การสร้างศูนย์จัดส่งสินค้า 175 แห่งทั่วโลก เพื่อกระจายสินค้าไปยัง 185 ประเทศทั่วโลกได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
 


 
  • JumpStart Program ประตูด่านแรกสู่ Amazon
 
     ทั้งนี้พันธกิจแรกที่ธนาคารไทยพาณิชย์ และ อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง มีเป้าหมายร่วมกัน คือ การช่วยประชาสัมพันธ์และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ตระหนักถึงโอกาส ในการขยายธุรกิจผ่านตลาดอี-คอมเมิร์ซระหว่างประเทศ โดยจะผลักดันผู้ประกอบการไทยบุกตลาดอี-คอมเมิร์ซสหรัฐอเมริกาผ่านเว็บไซต์ Amazon.com ด้วยการให้ความรู้ผู้ประกอบการที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซระหว่างประเทศบน Amazon ผ่านหลักสูตร JumpStart ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมพิเศษที่มีเนื้อหาครอบคลุมถึงการเริ่มต้นธุรกิจบนอเมซอนอย่างถูกต้อง อาทิ การเปิดบัญชีผู้ขาย การสร้างรายการสินค้า การบริหารจัดการบัญชีผู้ขายผ่านระบบ Seller Central การใช้บริการ Fulfillment by Amazon และอื่นๆ อีกมากมาย


     “ธนาคารไทยพาณิชย์ เราไม่ได้เป็นเพียงสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ หรือบริการธนาคารรูปแบบเดิมเท่านั้น เราพยายามเป็นสถาบันการเงินที่นำพาลูกค้าให้มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งการจับมือกับ Amazon ครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย และนำพาเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสฯ ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าว
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024