จับตาเทรนด์ร้อน Lazy Marketing โอกาสธุรกิจรับตลาดคนขี้เกียจ

Text : จุดตัดเก้าช่อง





Main Idea
 
 
  • Lazy Marketing ไม่ใช่ตลาดที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่มีความชัดเจนขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาและสามารถนำมาใช้เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายในยุคนี้
 
  • ไม่แน่ว่าความขี้เกียจที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเรานี้เอง ที่จะสร้างรายได้ให้กับใครบางคนซึ่งมองเห็นถึงปัญหาและสามารถรองรับความขี้เกียจที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นได้
 
 


     ความขี้เกียจที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่เราคาดไม่ถึง อาจจะสร้างรายได้ให้กับใครบางคนที่มองเห็นถึงปัญหาและสามารถรองรับความขี้เกียจที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นได้


     Lazy Marketing คือการตลาดที่เกิดจากพฤติกรรมความขี้เกียจของผู้บริโภค ในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าส่งผลให้เรามองเห็นการตลาด Lazy ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีเครื่องอำนวยความสะดวกที่ถูกพัฒนามาจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย ที่สำคัญเครื่องอำนวยความสะดวกเหล่านี้ยังช่วยย่นระยะเวลาในชีวิตให้เราสามารถไปทำกิจกรรมอื่นได้มากกว่ามานั่งกังวลกับเรื่องเดิมๆ
 




     โดยปัจจุบันกลยุทธ์การตลาดขี้เกียจกลายเป็นวาระสำคัญที่ธุรกิจไซส์ใหญ่หลายประเทศต้องมีการปรับตัวอย่างเร่งด่วน อย่างเช่น Taobao (เถาเป่า) ผู้ดำเนินธุรกิจ E-commerce รายใหญ่ในประเทศจีนได้เก็บข้อมูลของลูกค้าและพบว่าคนจีนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปีค.ศ.1995  มีการใช้จ่ายไปกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับคนขี้เกียจมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์หรือจะเป็นกลุ่มธุรกิจ Startup ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่เน้นทำการตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะธุรกิจประเภทรับสั่งอาหาร (Food Delivery) ที่กำลังเติบโตอย่างมาก


     ดังนั้นการปรับตัวจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเพราะจะทำให้ธุรกิจของเราได้เปรียบกว่าคู่แข่ง และผู้บริโภคเองก็ได้ยกระดับคุณภาพของชีวิตให้ดีขึ้นด้วย

 
  • โอกาสธุรกิจจากพฤติกรรม LAZY Consumer

     จากงานสัมมนาเรื่อง “ตลาดคนขี้เกียจ : LAZY Consumer เจาะลึกอินไซต์พิชิตใจคนขี้เกียจ” ที่จัดขึ้นโดย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยทีมนักศึกษาได้ทำการวิจัยโดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ใน 4 กลุ่มอายุ โดยแบ่งเป็น Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomers ก็ได้พบข้อมูลเกี่ยวการตลาดขี้เกียจที่น่าสนใจว่ามี 5 กลุ่มพฤติกรรมหลักคือ




 
มนุษย์อยากดูดีแต่ไม่มีแรงหรือการขี้เกียจออกกำลังกาย


     โดยคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 84 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 55 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน และจากการสำรวจการใช้งานแอพพลิเคชั่นพบว่ามีจำนวนผู้ใช้งานเพียง 32 เปอร์เซ็นต์เพียงเท่านั้น เหตุเพราะขาดแรงจูงใจและไม่มีเวลา
               




มนุษย์ชอบช้อป แต่ไม่ชอบรอหรือขี้เกียจรอคิวซื้อของ


     พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง  81 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 53 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน จะเห็นได้ว่ามีคนไทยมากกว่าครึ่งที่หันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือมากกว่าการเดินไปจับจ่ายซื้อของเองตามร้านค้าเพราะมองว่าเป็นการเสียเวลาและเหนื่อยเกินที่จะต้องยืนรอของนานๆ
               




มนุษย์บ้านรกสกปรกค่อยทำ


     พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 77เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 50 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะพบว่ามีคนที่ใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น นั่นเท่ากับว่ายังมีอีก 93 เปอร์เซ็นต์ที่ยังรอบริการที่น่าสนใจเพื่อตอบรับความต้องการของผู้บริโภคที่เหนื่อยและเบื่อกับการทำความสะอาดบ้านในยุคนี้





มนุษย์ไม่ชอบอ่านแค่ผ่านๆ ก็พอหรือขี้เกียจอ่านหนังสือ



     พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 46 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน เป็นที่ทราบกันดีว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อย แน่นอนว่ามีหลายปัจจัยอย่างการไม่มีแรงจูงใจ การไม่ชอบอ่านหนังสือเพราะชอบฟังหรือดูมากกว่า หรือแม้กระทั่งความเหนื่อยเนื่องจากสายตาที่ไม่ดี





มนุษย์ชอบกินแต่ไม่อินทำอาหารหรือขี้เกียจทำอาหาร



     พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 69 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 45 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีแรงจูงใจ และทำไม่เป็น ซึ่งเป็นเหตุให้ Food Delivery มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด!



  

     จากข้อมูลพฤติกรรมความขี้เกียจที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นโอกาสของธุรกิจทั้งยุคเก่าและใหม่ที่ต้องปรับตัวและทำความเข้าใจพฤติกรรมคนส่วนใหญ่เพื่อตอบรับความขี้เกียจที่ไม่ว่าใครก็สามารถเกิดขึ้นได้


     ฝนทิพย์ กิตติประเสริฐแสง หัวหน้าทีมงานวิจัยการทำการตลาด Lazy consumer เจาะลึกอินไซต์พิชิตใจคนขี้เกียจ ได้กล่าวถึงเคล็ดลับการทำการตลาดในยุคที่คนขี้เกียจครองเมืองว่าเจ้าของสินค้าและบริการจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “SLOTH” เพื่อครองใจผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว โดยกลยุทธ์ SLOTH ประกอบด้วย


     Speed คือต้องมีความรวดเร็ว และต้องไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเสียเวลา


     Lean กระชับ ตัดขั้นตอนที่ยุ่งยากออก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน


     Enjoy ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก และเกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าและบริการ


     Convenient สินค้าหรือบริการต้องมีความสะดวก ช่วยให้ชีวิตนั้นง่ายมากขึ้น


     Happy ความสุข ไม่ว่าลูกค้าจะมีพฤติกรรมอย่างไร แม้เป็นมนุษย์ขี้เกียจก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นลูกค้าแล้ว การสร้างความสุข ความพึงพอใจก็เป็นหน้าที่ของเรานั้นเอง


     ใครจะไปคิดว่าความขี้เกียจจะกลายเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจยุคใหม่! เมื่อไหร่ก็ตามที่ธุรกิจเข้ามาช่วยคลายความขี้เกียจให้แก่ผู้บริโภคได้ ความสุขก็เกิดขึ้นและเมื่อผู้บริโภคมีความสุข ผู้ประกอบการก็จะมีความสุขตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อยอดขายและสร้างความจงรักภักดีให้แบรนด์ของคุณได้อย่างแน่นอน
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024