2020 พลิกเกมการตลาด! เปลี่ยนเทรนด์เป็นโอกาส ต้อง “คิดแบบ Startup ทำแบบ SME”

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • จะเกิดอะไรขึ้นในปี 2020 เทรนด์อะไรกำลังมา อะไรคือโจทย์ท้าทาย แล้วอะไรคือโอกาส สำหรับผู้ประกอบการ SME นี่เป็นเรื่องที่ต้องเกาะติดและเตรียมความพร้อม เพื่อเปลี่ยนทุกเทรนด์เป็นโอกาส และยืดหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในทุกสภาวะ
 
  • 6 เทรนด์ร้อนที่จะสร้างโอกาสให้ SME ในปีหน้า คือ ต้องโฟกัสที่ดีไซน์ หาโอกาสใน Digital Transformation ทำ Multi-channel E-commerce  รับมือให้ทันปีแห่งการตอบแทนโลกและสังคม  รู้ตัวว่าทำธุรกิจเพื่อ Built to sell  หรือ Built to last  และคว้าโอกาสจากปีแห่งความผันผวนและน่าเป็นห่วงให้ได้  
 
  • ฟังคำตอบทั้งหมดนี้จาก “พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด ผู้เชื่อในกลยุทธ์ “คิดแบบ Startup ทำแบบ SME” ที่จะปล่อยของทั้งหมดที่มีในงานสัมมนาแห่งปี “Next Trends 2020”



     การฟังเรื่องเทรนด์ในปีหน้าจากนักการตลาด หรือนักวิชาการ ผู้ประกอบการ SME อาจได้คำตอบในแบบหนึ่ง แต่หากคนที่จะพูดถึงเรื่องเทรนด์เป็น SME ตัวจริงเสียงจริงแล้วล่ะก็ สิ่งที่จะได้มากไปกว่านั้นคือ SME จะรับมือกับเทรนด์ที่ว่านี้อย่างไร แล้วอะไรคือโอกาสที่ความสามารถแบบ SME จะเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ 





     ในเวทีสัมมนาแห่งปี “Next Trends 2020” โดยนิตยสาร SME Thailand  ร่วมกับ นิตยสาร SME Startup “พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด บริษัท SME ที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เร็วๆ นี้ ได้ร่วมชี้เทรนด์ในหัวข้อ “The Next Strategy 2020 คิดแบบ Startup ทำแบบ SME” เพื่อเปิดช่องส่องโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ไทยได้ก้าวทันอนาคต
   


     6 เทรนด์เปลี่ยนโลก SME ในปี 2020
               

      มีอะไรเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจในปีหน้า พิชเยนทร์บอกถึง 6 เทรนด์สำคัญ ที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของ SME เริ่มจาก


     1.มุ่งเน้นที่ดีไซน์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยดีไซน์จะเป็นตัวนำผลิตภัณฑ์ และจะเป็นตัวที่จะดิสรัปต์ทุกอย่าง เขาบอกว่า สำหรับ SME เราอาจไม่ต้องทำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลกก็ได้ แต่จำเป็นต้องทำดีไซน์ที่ดีมากๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์ บริษัท พนักงาน และลูกค้า


     “ปี 2020 จะเป็นปีแห่งการรวมเอานวัตกรรมและวิถีชีวิตเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องของไลฟ์สไตล์ หรือนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปีที่ถ้าใครเอาสองอย่างนี้มารวมกันได้ คนนั้นก็มีโอกาสที่จะชนะ” เขาบอก


     ก่อนขยายความให้ฟังว่า ยุคนี้เป็นเรื่องของความเร็ว และเทรนด์มีการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น SME ก็ต้องปรับตัวตามให้ทัน โดยบางแบรนด์อาจทำมาเป็นสิบปี แต่เรื่องของการดีไซน์ถ้ายังใช้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงธุรกิจก็จะอยู่ยากขึ้น เพราะดีไซน์เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวแบรนด์ ลูกค้า พนักงาน และสังคม ฉะนั้นการดีไซน์จึงเป็นเรื่องสำคัญ และมองข้ามไม่ได้ โดยดีไซน์จะเป็นตัวที่ทำให้ SME ทำน้อยแต่ได้มาก
               

     “เราไม่สามารถดิสรัปต์คู่แข่งด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่ได้ แต่เราสามารถทำดีไซน์ที่ดีกว่าเพื่อมาดิสรัปต์เขา”
               





     2.Digital Transformation  พิชเยนทร์ กล่าวต่อว่า คำนี้เป็นคำที่ใหญ่มาก เป็นจักรวาลที่ใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งSME ต้องเลือกทำ อย่าไปทำทุกเรื่อง แต่ต้องเป็นบริษัทที่จิ๋วแต่แจ๋ว โดยไม่ต้องทำเยอะ แต่ให้เลือกทำเฉพาะเรื่องที่เหมาะกับบริษัท จุดแข็ง และดีเอ็นเอของตัวเอง  


     “วันนี้โอกาสมันชัดเจนอยู่แล้ว ก็คือดิจิทัลที่กำลังจะมา ลองดูตัวเลขปัจจุบันสินค้าที่เป็น IoT (Internet of Things) ในโลกมีประมาณ 8.4 พันล้านชิ้น แนวโน้มในปี 2568 ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินค้า IoT ทั่วโลกจะมีมูลค่าถึงประมาณ 63 ล้านล้านบาท ตัวเลขเหล่านี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีมูลค่ามากถึง 315 ล้านล้านบาท ซึ่งนี่เป็นโอกาสสำหรับทุกคนไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่เท่านั้น แต่รวมถึงบริษัทเล็กๆ อย่าง SME ด้วย”
               

     แล้วบริษัทเล็กอย่าง SME จะหาโอกาสจากเทรนด์นี้อย่างไร เขาบอกว่า จักรวาลของ IoT ที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่ว่าองค์กรขนาดใหญ่หรือเล็กก็ไม่สามารถที่จะทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวได้ แต่ต้องอาศัยการร่วมมือกัน (Collaboration) โดยใครเก่งอะไรก็เอามาทำด้วยกัน เช่น คนทำเซรามิก จับมือกับคนเก่งทางด้านซอฟต์แวร์ ก็สามารถนำเซรามิกมาเป็นอุปกรณ์ด้านไอทีได้ เป็นต้น ฉะนั้นนี่คือโอกาส อยู่ที่ว่า  SME จะไปจับโอกาสนั้นแบบไหน
               

     “ดิสรัปชั่นคือโอกาสของผู้เล่นรายเล็กเสมอ อย่าคิดว่าจะเป็นเรื่องที่ตัวใหญ่จะได้ประโยชน์เท่านั้น ตัวใหญ่กังวลมากว่าตัวเองจะถูกดิสรัปต์จากตัวเล็ก แล้ว SME บ้านเรา เชื่อว่าเรื่องของการดิ้นรน ต่อสู้ ฟันฝ่า เป็นจุดแข็งที่เราเก่งอยู่แล้ว ฉะนั้นนี่คือโอกาสของ SME”
               

     3.Multi-channel E-commerce หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Omni Channel  การเชื่อมระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์แบบไร้รอยต่อ ซึ่งพิชเยนทร์บอกเราว่า ในประเทศไทยแทบยังไม่มีบริษัทไหนที่ทำได้ มีเพียง 1-2 รายเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ยังเป็น ขายหน้าร้านก็หน้าร้าน บนออนไลน์ก็ขายออนไลน์ สิ่งนี้เรียกว่า Multi-channel E-commerce ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาระยะหนึ่งแล้ว แต่เขาบอกว่าในปีหน้าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น


     “ประเทศไทยอี-คอมเมิร์ซเติบโต 30-40 เปอร์เซ็นต์ เวลาตลอดเวลา คำถามคือเราจะไปอี-คอมเมิร์ซแบบไหน ซึ่งตอบได้สองเรื่อง อย่างแรกโปรดักต์เราต้องชัดเจนก่อนว่าขายอะไร หากจากเดิมที่ขายอยู่แล้วมีคนขายแบบเรามากมาย เราก็ต้องปรับเปลี่ยนสินค้า เพื่อให้สามารถไปครองพื้นที่บนอี-คอมเมิร์ซได้ และสองการทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มต่างๆ  โดยเราควรจะทำสินค้าอะไรไปขายร่วมกับแพลตฟอร์มที่มีอยู่  โดยต้องเข้าใจระบบของแต่ละแพลตฟอร์มว่าทำงานอย่างไร ประเด็นสำคัญคือเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลางให้ได้ ถ้าเราคิดถูกจุดเราก็จะเติบโตได้


     ปัจจุบันเราต้องเข้าใจว่า การขายออนไลน์เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร SME ต้องมาให้น้ำหนักดูว่าลูกค้าของเราเป็นใคร อยู่ที่ไหน กลุ่มไหนควรจะอยู่ออนไลน์ หรือออฟไลน์ ถ้าสุดท้ายอยู่ออนไลน์มากกว่า เราก็ต้องเททรัพยากรไปที่ออนไลน์มากขึ้น เพราะด้วยความเป็น SME เรามีทรัพยากรจำกัด มีคน มีเงิน และเวลาจำกัด ทุกอย่างจำกัดหมด เพราะฉะนั้นเราต้องเททรัพยากรไปใช้ให้ถูกด้วย” เขาบอก
               




     4.ปีแห่งการตอบแทนโลกและสังคม โดยจากการสำรวจพบว่า  65 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริโภคทั่วโลกจะไม่ซื้อสินค้าที่มีประเด็นทางสังคม ทำให้ต่อไปประเด็นทางสังคมจะเป็นเรื่องใหญ่เสมอ ซึ่งนั่นคือโอกาสของ SME ที่หากสามารถนำเรื่องที่อาจถูกละเลยแต่ถ้าสังคมให้ความสนใจกับมัน และ SME เล่นในประเด็นนั้นได้ ก็จะมีที่ยืนในธุรกิจนับจากนี้
               




     5. Built to sell /Built to last  พิชเยนทร์บอกว่า นี่เป็นเทรนด์ใหญ่ที่เขาอยากเน้นย้ำ เพราะการทำธุรกิจวันนี้ด้วยระบบของทุนนิยมและโครงสร้างของทุนเปลี่ยนไป SME อาจจะต้องคิดว่าธุรกิจที่เราสร้างขึ้นมา อยากจะสร้างเพื่อขายหรือสร้างขึ้นเพื่อให้คงอยู่ตลอดไป นี่เป็นประเด็นสำคัญ


     “ถ้าคุณตั้งธุรกิจมาให้ดีตั้งแต่ต้น การทำธุรกิจต่อไปก็จะง่ายขึ้น อย่างของเราเองเราตั้งเป้าตั้งแต่แรกที่จะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ฉะนั้นผมทำบัญชีเล่มเดียว ใช้คนที่มีฝีมือล้วนๆ มาทำงาน ใช้ผู้ตรวจสอบที่ได้รับการรับรองจากก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) มีระบบการควบคุมภายในที่เป็นแบบเดียวกับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ผมคิดแบบนี้ตั้งแต่วันแรก ไม่ใช่อยู่ดีๆ มันเกิดขึ้นได้ แต่ต้องเกิดจากการที่เราชัดเจนตั้งแต่ต้น บริษัทญี่ปุ่นมากมายที่อยากจะอยู่สืบต่อจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ไม่อยากให้มีผู้ถือหุ้นอื่นเข้ามา แต่ตอนนี้  Built to sell กำลังเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยธุรกิจที่สร้างขึ้นมาแล้วก็ขายมีจำนวนสูงขึ้นมากๆ นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ช่วยเสริมธุรกิจจากเล็กไปสู่ใหญ่ได้ คำแนะนำของผมคือ คิดเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกว่าเราอยากให้เป็นแบบไหน และทำให้ดีตั้งแต่ต้น”
               




     6. ปีแห่งความผันผวนและน่าเป็นห่วง แม้ในปีนี้หลายสำนักจะออกมารายงานดัชนีด้านต่างๆ ที่ไม่ค่อยจะดีนัก ทำให้ SME รู้สึกห่อเหี่ยวใจไปบ้าง แต่พิชเยนทร์ ย้ำว่าช่วงเวลาที่ดูแย่ มันคือโอกาสของคนที่ลุกมาทำ คือโอกาสของคนที่มองเห็นว่าถ้าเราทำในวันที่คนอื่นหมดแรง นั่นคือโอกาสที่เราจะมีที่ยืนและชนะคนอื่นได้


     “สำหรับผมช่วงเวลาแบบนี้คือเวลาแห่งโอกาส ถ้าเราเอาเวลาที่อาจไม่ต้องไปดูแลลูกค้ามากนัก ไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวายกับการเก็บเงินลูกค้าเพราะเศรษฐกิจอาจจะไม่ดี เราก็สามารถเอาเวลามาพัฒนาตัวเอง มาพัฒนาระบบภายในของเราให้ดีขึ้นได้ ซึ่งนี่เป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสที่ทุกคนจะขึ้นมาเป็นผู้ชนะได้” เขาบอก


     พิชเยนทร์กล่าวในตอนท้ายว่า ไม่ว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่ดี แต่ SME ทำเต็มที่เสมอ ไม่เคยมีช่วงเวลาให้หยุดพักอยู่แล้ว เขาบอกว่า หากรักที่จะเป็นผู้ประกอบการก็เหมือนการวิ่งมาราธอน เราอาจหยุดพักกินน้ำได้ แต่ต้องวิ่งต่อเสมอ และนั่นคือความแตกต่างระหว่างคนที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ


     “ถ้าคุณเป็นนักวิ่งมาราธอนและวิ่งไม่หยุด คุณจะสำเร็จในวันหนึ่งแน่นอน” เขาสรุปในตอนท้าย
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024