ไม่ต้องใช้พรสวรรค์ก็สร้างนวัตกรรมน่าทึ่งได้! เพียงแค่ “เมื่อหัวว่าง จึงสร้างสรรค์”




Main Idea
 
  • “ความคิดสร้างสรรค์” ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป และไม่ใช่พรสวรรค์ของใครบางคนอย่างที่เราเคยเชื่อกัน เพราะไม่ว่าใครก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้ทั้งนั้น ขอแค่เข้าใจหลักการ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ความคิดสร้างสรรค์ก็บรรเจิดได้ทุกคน
 
  • หนังสือเรื่อง “เมื่อหัวว่าง จึงสร้างสรรค์” ของ “กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” นวัตกรหนุ่มอารมณ์ดีจะย้ำให้ทุกคนเข้าใจว่า แท้จริงแล้ว Innovation หรือนวัตกรรมนั้น ไม่ได้เริ่มต้นจากเทคโนโลยี แต่เริ่มจากการไปนั่งอยู่กลางใจของลูกค้า และหัวใจสำคัญอยู่ที่ Empathy หรือ “ความเห็นอกเห็นใจ” นั่นเอง
 
  • คุณสมบัติของคนที่จะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมที่ดีได้นั้นมี 2 ข้อ คือ “ความอยากรู้อยากเห็น” และ “อดทน กัดไม่ปล่อย” ความอยากรู้อยากเห็นจะทำให้คุณสงสัยไปทุกเรื่อง และการอดทนกัดไม่ปล่อยก็คือการไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลวนั่นเอง




     ชื่อเรื่อง : เมื่อหัวว่าง จึงสร้างสรรค์ (ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 3)


     ผู้เขียน : กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร


     สำนักพิมพ์ : มติชน




      นี่คือหนังสืออีกเล่มที่ผมชอบและอยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน แม้คุณจะไม่ได้ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ ต้องใช้ไอเดียเป็นประจำ หรือเป็นนักสร้างนวัตกรรมอะไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วนต้องการเหมือนกันก็คือ “เราจะทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานอย่างไร?”



      หนังสือเล่มนี้มีแนวทางให้คุณอ่านแล้วเอาไปประยุกต์ใช้ตามหน้างานในแต่ละวันครับ
               


     เมื่อพูดถึงคำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” คำนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่ผมอยากจะบอกความลับให้คุณรู้ว่า ไม่ว่าใครก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อได้ ขอแค่เพียงเข้าใจหลักการ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ความคิดสร้างสรรค์ก็บรรเจิดได้ทุกคน เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นแค่พรสวรรค์ของใครบางคนอย่างที่เราเคยเชื่อกัน
               


     ผู้เขียน “กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking  ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างนวัตกรรม หรือเรียกเป็นภาษาฝรั่งเท่ๆ ว่า Innovator  (นวัตกร) เขาบอกว่า คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดไปว่า Innovation คือ Technology ไม่ว่าจะ AI, Blockchain, Machine Learning, Mobile Application หรืออะไรก็ตามที่มันฟังดูล้ำๆ แต่แท้จริงแล้ว Innovation หรือนวัตกรรมนั้นในหัวใจสำคัญอยู่ที่ Empathy หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ “ความเข้าใจ” นั่นเอง
               




     อย่างเรื่องของรถไฟ Eurostar ที่โด่งดังของยุโรป ที่วิ่งจากลอนดอนไปปารีส แถมยังวิ่งลอดอุโมงค์ใต้แม่น้ำด้วยความเร็วสูง สูงจนจากการเดินทางปกติใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือค่อนวัน สามารถย่นย่อเวลาเหลือแค่ 3 ชั่วโมงได้ตั้งแต่เมื่อกว่าสิบปีก่อน
               


     แต่รัฐบาลได้ยินเสียงคนบ่นว่า “ช้า” อยากให้ถึงเร็วกว่านี้ ทางรัฐบาลก็เลยเร่งลงทุนปรับปรุงแก้ไขทั้งตัวรางและตัวรถไฟ เปลี่ยนหัวจักรใหม่ให้เร็วขึ้น ใช้เงินลงทุนไปกว่า 6,000,000,000 ยูโร หรือตีเป็นเงินไทยก็สองแสนล้านหน่อยๆ เองครับ
               


     ผลที่ได้คือรถไฟ Eurostar เร็วขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ จาก 3 ชั่วโมงเหลือแค่ 2 ชั่วโมง 20 นาที และประชาชนก็บ่นน้อยลง รัฐบาลก็มีความสุขมากขึ้น
               


     แต่รู้ไหมครับว่า มีชายคนหนึ่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการโฆษณาประเทศอังกฤษที่ชื่อ Rosy Sutherland บอกว่า บางทีการที่คนบ่นว่าช้าอาจหมายถึง “ความน่าเบื่อ” ไม่ใช่เวลา 3 ชั่วโมงก็ได้
               


     เขาเสนอไว้ผ่าน Ted Talks ว่า ถ้าเขาเป็นคนแก้ปัญหานี้ เขาจะเอานางแบบนายแบบมาเดินเสิร์ฟไวน์ให้กับผู้โดยสารบนรถไฟ เพื่อทำให้ 3 ชั่วโมงนั้น กลายเป็นช่วงเวลาความสุขที่ไม่อยากให้หมดไป อาจจะถึงขั้นอยากให้รถวิ่งช้าลงซักนิดเพื่อเพิ่มเวลาความสุขบนรถไฟด้วยซ้ำ
               


     นี่แหละครับคือการคิดแบบสร้างสรรค์ คิดแบบนวัตกร ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “ความเข้าใจ”
               



     เริ่มจากการลองเข้าไปทำความเข้าใจผู้โดยสาร เข้าไปสอบถามความเห็น จนเข้าไปทดลองทำจริงและเก็บผลตอบรับ แล้วปัญหานี้อาจไม่ต้องใช้เงินถึงสองแสนล้านบาทก็เป็นได้ ถ้ารัฐบาลมีคนเป็นนักนวัตกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ซักหน่อย จริงไหมครับ
               


     การจะเข้าอกเข้าใจลูกค้าได้เพียงแค่การทำแบบสำรวจ หรือการสัมภาษณ์นั้นไม่เพียงพอ แต่คุณต้องพาตัวเองเข้าไปในสถานที่นั้น ไปอยู่ในสถานการณ์นั้น เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เข้าไปทำตัวเป็นลูกค้าจริงๆนั่นเอง นี่คือเทคนิคขั้นเทพที่เรียกว่า “การแปลงกาย”
               


     เหมือนอย่างที่ Sam Walton ผู้ก่อตั้งห้างสะดวกซื้อที่ใหญ่โตที่สุดในอเมริกาอย่าง Walmart ใช้เป็นหลักในการทำงานของเขาตลอดการทำงานก็ว่าได้
               


     Sam Walton บอกกับลูกน้องที่เป็นผู้บริหารว่า ภายใน 1 สัปดาห์ ให้ออกไปอยู่กับลูกค้า 4 วัน ส่วนอีกหนึ่งวันที่เหลือถึงเอาไว้ประชุมในออฟฟิศเพื่อให้ทีมเอางานไปทำต่อ
               


     อ่านถึงตรงนี้แล้วลองถามตัวเองว่า คุณใช้เวลากี่วันเพื่อเข้าใจลูกค้าจริงๆ ในหนึ่งสัปดาห์คุณส่งลูกน้องออกไปหน้างานมากพอไหม หรือเอาแต่นั่งเทียนคิดแทนลูกค้าอยู่หน้าโต๊ะตากแอร์ที่ออฟฟิศครับ
               


     นวัตกรรมก็ไม่มีสูตรสำเร็จหรือทางลัด ที่แค่ทำตามๆ กันแล้วจะเห็นผล แต่การจะทำให้นวัตกรรมเป็นจริงได้ต้องกล้าลองผิดลองถูก ล้มก็ลุก พลาดก็เรียนรู้ อย่าหยุดแค่ล้มเหลว และอย่านั่งนับวันล้มเลิก เพราะทุกอย่างที่นับเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างแท้จริงล้วนผ่านความล้มเหลวมาก่อนทั้งนั้น  
               


     กว่าที่เอดิสันจะค้นพบหลอดไฟที่สามารถใช้งานได้ยาวนานพอ ก็ต้องผ่านความล้มเหลวเป็นพันครั้ง กว่า William Shakespeare จะโด่งดัง ก็แต่งบทประพันธ์เอาไว้เป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ส่วนไอ้ที่ดังถึงทุกวันนี้จริงๆ นับนิ้วได้เลย
               


     เหมือนที่ไอน์สไตน์บอกว่า คนที่ไม่เคยล้มเหลว คือคนที่ไม่เคยลงมือทำอะไรเลย ดังนั้นถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น ก็จงเพิ่มความล้มเหลวเป็นสองเท่า
               


     อุตสาหกรรมน้ำมันก็เป็นตัวแทนของเรื่องนี้ได้ดี



     รู้ไหมครับว่า บริษัทน้ำมันใหญ่ๆ ทั้งหลายในโลกนั้นมีจำนวนความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ เพราะการจะขุดบ่อแล้วเจอน้ำมันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ขุดหลุมแรกไม่มีทางเจอแน่นอน ก็ต้องขุดหลุมที่ 2-3-4 ต่อไปเรื่อยๆ ว่ากันว่าต้องเจาะถึง 10 หลุมถึงจะเจอน้ำมัน
               


     เห็นไหมครับตั้ง 10 ต่อ 1 แต่เขาก็อดทนเพราะผลลัพธ์ที่ได้นั้นหอมหวานเสียเหลือเกิน ดังนั้นถ้าคุณบอกว่าตัวเองไม่มีทางทำได้ ลองถามตัวเองว่า ฉันพยายามมันถึง 10 ครั้งแล้วหรือยัง ถ้ายัง ลุกขึ้นไปทำต่อแล้วเรียนรู้จากความผิดพลาดให้มากที่สุด
               


     การผิดพลาดแล้วเรียนรู้นับว่า ฉลาด แต่การผิดพลาดแล้วไม่เรียนรู้จนมาผิดพลาดเรื่องเดิมนับว่า โง่ ครับ
               


     เพราะสิ่งสำคัญของความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ไอเดีย แต่ขึ้นอยู่กับคน ทัศนคติของคนเท่านั้นที่จะทำให้เรื่องใดๆ ก็ตามสำเร็จได้ เหมือนที่ Steve Jobs บอกว่า



     “ถ้าคุณเอาความคิดห่วยๆ ให้คนดีๆ ทำ คนดีเหล่านั้นจะทำให้ความคิดห่วยๆ กลับกลายเป็นของดีได้”
               


     “แต่ถ้าคุณมีความคิดดีๆ ความคิดที่ยอดเยี่ยม ความคิดที่เปลี่ยนโลกบางอย่างปล่อยให้มันไปอยู่ในน้ำมือของคนห่วยๆ ในเวลาไม่นานความคิดดีๆ เหล่านั้นก็จะกลายเป็นของห่วยในที่สุด”
               


     สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ความคิด แต่เป็นคนที่ลงมือ “ปั้นความคิด” นั้นให้เป็นรูปธรรมต่างหากครับ
               


     และคุณสมบัติของคนที่จะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมที่ดีได้มี 2 ข้อ นั่นคือ “ความอยากรู้อยากเห็น” และ “อดทน กัดไม่ปล่อย”
               


     ความอยากรู้อยากเห็นทำให้คุณสงสัยไปเสียทุกเรื่อง ตั้งคำถามไปเสียทุกอย่าง ท้าทายสิ่งคุ้นเคยที่เป็นอยู่ ไม่พอใจกับปัจจุบันจนสามารถมองเห็นปัญหา และเพราะปัญหาคือโอกาส ดังนั้นต้องเริ่มจากมองให้เห็นปัญหาถ้าอยากจะสร้างนวัตกรรมอะไรบางอย่างขึ้นมาจริงๆ ครับ
               


     และการอดทนกัดไม่ปล่อยก็คือการไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว เพราะครึ่งแรกคือการเป็นนักคิด นักตั้งคำถาม แต่ครึ่งหลังคือการทำให้ความคิดนั้นเป็นจริง ถ้าล้มทีสองทีแล้วท้อ ร้อยความคิดก็เปลี่ยนโลกไม่ได้
               


     เรื่องสุดท้ายที่ผมชอบมากอยู่ท้ายเล่ม ขอเล่าปิดท้ายในสรุปหนังสือเล่มนี้ให้ฟังก็แล้วกัน เป็นเรื่องของ “นวัตกรรมของเครื่องดูดฝุ่น” ที่เข้าใจลูกค้าว่า ต้องการอะไร โดยไม่ต้องประดิษฐ์อะไรที่ล้ำโลกด้วยเทคโนโลยีใดๆ เลย
               


     เรื่องเริ่มจากมีเครื่องดูดฝุ่นชนิดหนึ่งที่สามารถเอาถุงบรรจุฝุ่นไปทิ้งได้โดยไม่ต้องเลอะมือให้สกปรก ทำให้คนใช้ไม่ต้องกังวลเรื่องเครื่องดูดฝุ่นอีกต่อไป
               


     ฟังดูน่าทึ่งแม่บ้านน่าจะชอบ แต่รู้ไหมครับว่าผลลัพธ์นั้นกลับไม่ดีอย่างที่คาด ถึงแม้จะสะดวกสบายขนาดนี้แต่กลับไม่เป็นที่ยอมรับของเหล่าแม่บ้านเอาซะเลย เพราะบริษัทนี้ขาดความเข้าใจเหล่าแม่บ้านที่ต้องดูดฝุ่นเป็นประจำว่า เขาอยากเห็นผลลัพธ์จากการดูดฝุ่น อยากเห็นเศษฝุ่นเส้นผมมากมายที่สามารถดูดเข้าไปได้ เพื่อจะได้ภูมิใจกับผลงานของเขา
               


     แค่นั้นเองครับคือสิ่งที่แม่บ้านต้องการ หาใช่ถุงบรรจุฝุ่นที่มิดชิดมองไม่เห็นเศษฝุ่นใดๆ ด้านใน จนทำให้เหล่าแม่บ้านไม่แน่ใจว่าตกลงฉันได้ทำความสะอาดมันไปแล้วจริงๆ ใช่ไหม บ้านฉันไม่เหลือฝุ่นแล้วใช่ไหม หรือฉันต้องดูดฝุ่นใหม่กันแน่นะ
               


     ผมลองคิดต่อเล่นๆ ว่าถ้าบริษัทที่ผลิตเครื่องดูดฝุ่นปรับถุงบรรจุฝุ่นให้ใสสามารถมองเห็นเศษฝุ่นข้างในได้เมื่อไหร่ นั่นแหละครับถึงจะเรียกว่านวัตกรรมที่เข้าใจกลุ่มลูกค้าแม่บ้านอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะภูมิใจกับผลงานของตัวเองแล้ว มือยังสะอาดไม่เลอะฝุ่นอีกด้วย
               


     เพราะนวัตกรรมไม่เคยเริ่มต้นจากเทคโนโลยี แต่เริ่มจากการไปนั่งอยู่กลางใจของลูกค้า เริ่มต้นที่ “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ Empathy นี่แหละครับ
               
 







 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024