​ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี’58… ยังไปต่อได้





    จากแนวโน้มการฟื้นตัวของความต้องการ HDD โลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เป็นผลบวกโดยตรงกับอิเล็กทรอนิกส์ไทย ซึ่งมีสินค้าหลักเป็น HDD และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 63 ของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และในปี 2557 อาจขยายตัวราวร้อยละ 4.5 ซึ่งเป็นแรงผลักดันหลักที่จะส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี 2557 ขยายตัวราวร้อยละ 4.8 หรือมีมูลค่าประมาณ 33,190 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

    และในปี 2558 คาดว่าความต้องการ HDD น่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ ซึ่งจะผลักดันให้การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี 2558 สามารถขยายตัวต่อได้ที่ร้อยละ 3.8-5.9 หรือมีมูลค่าประมาณ 34,450-35,150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
 


    ทิศทางอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มีแนวโน้มเปลี่ยนเข้าสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ขั้นต้นน้ำ (Microelectronics and Embedded System Design) มากขึ้น ซึ่งต้องใช้แรงงานที่มีความรู้ด้านการออกแบบเป็นสำคัญ แต่สำหรับการผลิตขั้นต้นน้ำที่ใช้ต้นทุนด้านเครื่องจักรสูง อาทิ การผลิต Wafer น่าจะเข้ามาภายหลังจากขั้นการออกแบบของไทยมีความเข้มแข็งเพียงพอ 

    สำหรับในปัจจุบัน การผลิตขั้นต้นน้ำในไทยยังมีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นขั้นกลางน้ำและปลายน้ำเป็นส่วนมาก ในส่วนของอุตสาหกรรมต้นน้ำของไทยจึงยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น Wafer Fabrication, PCB's Design, IC's Design เป็นต้น การที่จะพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ไทยได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องเพิ่มในส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำหรือขั้นตอนการออกแบบ การวิจัยและพัฒนา จึงจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่และนวัฒนกรรมได้ด้วยตัวเอง


    ปัจจุบัน ไทยกำลังประสบปัญหาเรื่องแรงงานฝีมือตึงตัว จึงส่งผลให้เกิดการปรับตัวในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยโดยเฉพาะขั้นปลายน้ำ (ขั้นประกอบชิ้นส่วน) และการผลิตชิ้นส่วนที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนซึ่งมีการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก โดยมีการย้ายฐานการผลิตในส่วนที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา เป็นต้น หรือมีปรับปรุงสายการผลิตเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Automation) เพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและการพึ่งพาแรงงานคน 

    นอกเหนือจากการปรับตัวในการผลิตขั้นปลายน้ำดังกล่าว การพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำก็ได้รับการสนับสนุนภายใต้แผนนโยบายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่จะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2558 ซึ่งมีใจความสำคัญในการให้สิทธิประโยชน์ตามลำดับความสำคัญของประเภทกิจการและคุณค่าของโครงการ โดยเฉพาะกิจการที่มีการวิจัยและพัฒนา มีกระบวนการผลิตซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีการผลิตสูง ทั้งนี้ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีการให้แรงจูงใจเป็นพิเศษเพื่อให้มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในกิจการการผลิต เช่น การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ และเทคโนโลยี Solid State Drive (SDD) เป็นต้น 
 

    กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แผนนโยบายการลงทุนฉบับใหม่ดังกล่าวน่าจะเป็นตัวกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่สำคัญ ในการมุ่งสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นต้นน้ำซึ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีแกนหลักของอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ไทยในอนาคต ส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำ คาดว่า จะมีการปรับเปลี่ยนไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้น ในขณะที่อิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายน้ำมีแนวโน้มที่จะมุ่งไปสู่การใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) มากขึ้นในอนาคต


RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024