ตลาดท่องเที่ยวปี 58 เงินจะสะพัดทั่วไทยเฉียด 8 แสนล้าน

     


    แม้นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทยก็ตาม แต่นักท่องเที่ยวไทยก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สร้างเม็ดเงินสะพัดไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การท่องเที่ยวไทยประสบภาวะวิกฤติ 

    หากจะให้มองทิศทางตลาด "ไทยเที่ยวไทย" ในปี 2558 มีหลายปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวกันของกลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน รวมถึงกลุ่มองค์กร และการทำการตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องร่วมกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสายการบินและธุรกิจโรงแรม รวมถึงสถาบันการเงิน 
 



    นอกจากนี้ คนไทยยังได้รับอิทธิพลจากสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งปันรูปภาพและประสบการณ์ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดต่างๆ ของไทย และเมื่อประกอบกับในปี 2558 ภาครัฐมีการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวไทยภายใต้แคมเปญ “ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558” ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น  แต่ก็ยังได้ให้ความสำคัญต่อการทำตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศเช่นกัน
 
    โดยเฉพาะการเน้นประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญใน 12 เมืองต้องห้ามพลาด ได้แก่ ลำปาง น่าน เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ เลย สมุทรสงคราม ราชบุรี ตราด จันทบุรี ชุมพร ตรัง และนครศรีธรรมราช ที่ส่วนใหญ่เป็นปลายทางยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวคนไทยอยู่แล้ว มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 90 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะต่างจากเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยอย่างภูเก็ตที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยเพียงร้อยละ 30 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในจังหวัดภูเก็ต
 



     ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภายใต้แคมเปญการท่องเที่ยว 12 เมืองต้องห้ามพลาดนี้ จะช่วยให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปสู่เมืองดังกล่าวเพิ่มขึ้นประมาณ 3,500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีแคมเปญดังกล่าว โดยแนวโน้มการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว ก็น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องในพื้นที่ 

     สำหรับผลจากมาตรการส่งเสริม 12 เมืองต้องห้ามพลาดของภาครัฐ คาดว่าจะยิ่งช่วยหนุนบรรยากาศการท่องเที่ยวของทั้ง 12 จังหวัด อย่างไรก็ดี บางพื้นที่ที่อาจจะมีการเติบโตที่โดดเด่น เช่น น่าน เพชรบูรณ์ เลย ตรัง ชุมพร ตราด เป็นต้น ส่วนหนึ่งก็มาจากจังหวัดดังกล่าวเป็นปลายทางที่คนไทยรู้จักและนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับในปัจจุบันมีธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำหลายรายเปิดเส้นทางการบินและเพิ่มจำนวนเที่ยวบินไปยัง 12 เมืองต้องห้ามพลาดมากขึ้น (เช่น น่าน ลำปาง เลย นครศรีธรรมราช เป็นต้น) นอกจากนี้บางจังหวัดอย่างบุรีรัมย์ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นปลายทางท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Destination) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม 

 

     
    แรงหนุนสำคัญอีกประการคือการนำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวทั้งแพ็กเกจทัวร์หรือค่าใช้จ่ายด้านที่พักในไทย มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลได้ แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มาตรการนี้น่าจะช่วยให้เกิดเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นประมาณ 3,800 ล้านบาท

    และจากปัจจัยแวดล้อมข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2558 จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจำนวนประมาณ 148.5 ล้านคน-ครั้ง  ซึ่งจะช่วยสร้างเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมูลค่าประมาณ 7.72 แสนล้านบาท โดยการขยายตัวที่โดดเด่นน่าจะมาจากการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยไปยังเมืองท่องเที่ยวในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) และภาคใต้ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันเกือบครึ่งของตลาดไทยเที่ยวไทยทั้งหมดในปีนี้ 

    สำหรับความคึกคักของตลาดไทยเที่ยวไทยในแต่ละภาคค่อนข้างแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านสภาพอากาศซึ่งส่งผลต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว อาทิ คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวสัมผัสอากาศหนาวเย็นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานในช่วงปลายไตรมาส 3 (ช่วงปลายฝนต้นหนาว) ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ของปีถัดไป 
 



    ขณะที่ภาคใต้เป็นปลายทางท่องเที่ยวที่คนไทยเลือกเดินทางไปตลอดทั้งปี ซึ่งรวมถึงในช่วงไตรมาส 3 ที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ฤดูฝน แต่คนไทยก็ยังเดินทางไปท่องเที่ยวในภาคใต้อยู่ ส่วนหนึ่งก็ด้วยความเข้มข้นของการจัดโปรชั่นต่างๆ ของผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยทดแทนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอตัวในช่วงดังกล่าว (ที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของต่างชาติ) เป็นต้น 

     อย่างไรก็ดี ภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน อาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยบางกลุ่ม ให้มีการปรับแผนการเดินทาง เช่น การเดินทางแบบเช้าไป-เย็นกลับ การเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ รวมถึงการใช้เวลาค้นหาข้อมูลต่างๆ มากขึ้น เพื่อแสวงหาโปรโมชั่นราคาค่าตั๋วเครื่องบินโดยสาร/ค่าห้องพัก เป็นต้น

 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024