Natural Hedge บริหารอัตราแลกเปลี่ยนแบบเสี่ยงต่ำ

 

 

 

       โจทย์ใหญ่ของ SME ผู้ส่งออก นำเข้าในคงหนีไม่พ้นแนวโน้มค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าและผันผวน นอกเหนือจากเครื่องมือทางการเงินที่ใช้บริหารอัตราแลกเปลี่ยนตามปกติ เช่น การซื้อสัญญาขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward Contract) การทำสวอปและออพชั่นแล้ว การบริหารความเสี่ยงแบบธรรมชาติ (Natural Hedge) เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน เมื่อต้องทำธุรกรรมนำเข้าส่งออกโดยมีหลักการ คือ ไม่นำตัวเข้าไปเสี่ยงบนวินัยทางการเงินที่ดี

       หัวใจสำคัญของ Natural Hedge คือ การสร้าง ‘สมดุล’ ระหว่างรายได้กับค่าใช้จ่ายหรือส่วนที่เป็นหนี้ ซึ่งเป็นเงินสกุลต่างประเทศให้มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนไปจนเกิดผลขาดทุน

       องค์กรที่นิยมใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงแบบนี้ ส่วนมากจะมีรายรับในรูปเงินตราต่างประเทศเป็นสัดส่วนสูงหรืออาจจะทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น ธุรกิจส่งออก มีฐานการผลิตในต่างประเทศและส่งเงินกลับเข้ามาบริษัทแม่ หรือราคาต้นทุน ราคาขายสินค้าต้องอ้างอิงราคากลางในตลาดโลก

       วิธีการบริหารต้นทุนอาจทำได้โดยจัดสัดส่วนระหว่างรายได้จากต่างประเทศให้มีสัดส่วนเท่าเทียมกับต้นทุนการผลิต หรือนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเช่นกัน เมื่อรายรับกับรายจ่ายเป็นเงินสกุลเดียวกัน โอกาสที่จะเกิดผลขาดทุนจะน้อยลง เช่นเดียวกัน อีกวิธี คือ บริหารส่วนที่เป็นหนี้หรือเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ทำธุรกรรมให้เป็นเงินต่างประเทศ เช่น กู้เงินจากต่างประเทศในสกุลเดียวกับรายรับที่เข้ามา

       นอกจากนี้ ยังต้องจับคู่ระยะเวลาการรับ-จ่ายเงินกับคู่ค้าจากต่างประเทศให้ Matching หรือเข้ามาพร้อมๆ กัน เช่น ทำสัญญารับเงินจากคู่ค้าอยู่ที่ 90 วัน แต่ทำสัญญาชำระเงินให้ลูกค้าที่ระยะเวลาสั้นกว่า คือ 30 วัน จะเกิดความเสี่ยงในช่วงเวลา 60 วันที่เป็นช่องว่าง แม้จะใช้เงินสกุลเดียวกันในการทำธุรกรรม ทำให้อาจต้องใช้เครื่องมือการเงินลากมาให้จับคู่กันมีช่องว่างสั้นที่สุด

       ตัวอย่างเช่น บริษัท ก.ทำธุรกิจส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ มีรายได้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมทั้งหมด ทำให้เกิดความเสี่ยงเวลาที่ปรับค่าเงินกลับเป็นสกุลบาท ฉะนั้นเมื่อบริษัทต้องการลดความเสี่ยงขาดทุนจากการแปลงค่าเงินกลับมาเมื่ออยู่ในประเทศไทย จึงหันมานำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มเป็น 40 เปอร์เซ็นต์

       หมายความว่าได้เกิด Natural Hedge โดยอัตโนมัติในตัวเองระหว่างรายได้กับรายรับที่เป็นเงินต่างประเทศเหมือนกัน ที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์บริษัท ต้องประกันความเสี่ยงด้วยวิธีอื่นทดแทน หรืออีกวิธีหนึ่งคือ บริษัท ก.ตัดสินใจกู้เงินจากต่างประเทศให้มีสัดส่วนเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของส่วนที่เป็นทุนหมุนเวียนในการชำระค่าสินค้าก็จะถือว่าเป็นการทำ Natural Hedge ในอีกทางหนึ่ง

       กล่าวคือ Natural Hedge เป็นวิธีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความเสี่ยง ‘ต่ำ’ ที่สุด ด้วยการบริหารงานหลังบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสที่จะขาดทุนจากความผันผวนของค่าเงิน บริษัทขนาดใหญ่ของไทย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม ปตท. เครือซีพี ฯลฯ ต่างยึดแนวทางดังกล่าวทั้งสิ้น โดยอยู่บนความเชื่อว่าไม่มีใครสามารถคาดเดาการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้ วิธีการป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุด คือ ไม่นำตัวเข้าไปเสี่ยงด้วยนั่นเอง

       ส่วนของการบันทึกบัญชีเพื่อรายงานการเสียภาษีนิติบุคคลต่อสรรพากรซึ่งจะต้องรายงานเป็นเงินสกุลบาทเท่านั้นแม้จะมีรายได้เป็นเงินสกุลอื่น กรณีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทโดยตรง แม้ตามกฎหมายจะต้องแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อถึงวันสิ้นปีตามราคาตลาดจริงหรือ Mark to Market ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวอาจเป็นจังหวะที่ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นได้แต่เป็นเพียงแค่การขาดทุนทางบัญชีเท่านั้นไม่ใช่การขาดทุนจริง

       สำหรับผู้ประกอบการ SME สามารถที่จะยึดแนวทางดังกล่าวมาใช้กับองค์กรได้เช่นกัน แม้ว่าหลักเกณฑ์การกู้เงินที่เป็นสกุลต่างประเทศอาจมีข้อจำกัดเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ทำธุรกิจส่งออกเป็นรายได้หลักอาจจะลำบากเรื่องของการบริหารแลกเปลี่ยน

       เนื่องจากวงเงินที่ธนาคารจะปล่อยให้ทำธุรกรรมระหว่างประเทศมีน้อยกว่าบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่ แต่ขอให้เริ่มต้นสร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่ก้าวแรกด้วยการใช้เงินอย่างถูกวิธีจนเติบโตเป็นบริษัทขนาดกลางที่มีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงิน ค่อยปรับฐานเงินทุนหมุนเวียนด้วยวิธี Natural Hedge จนเป็นมาตรฐานของบริษัท

       ตำราการบริหารการเงินทุกสำนักต่างระบุตรงกันว่าเงินทุนส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมดสมควรจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างชัดเจน คือ การลงทุนในธุรกิจหลักเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการเก็งกำไรไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน ราคาวัตถุดิบ ซึ่งเป็นการใช้เงินอย่างผิดวินัย แม้จะเก็งถูกทางได้กำไรก็ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน


       SME ไทยควรเริ่มสร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในอนาคต...!!!

 

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน