เกณฑ์การควบรวมธุรกิจจะคลอดได้ไหมในรัฐบาลนี้




เรื่อง     เดือนเด่น  นิคมบริรักษ์
             สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

    ประเทศไทยมีกฎหมายแข่งขันทางการค้าที่มีชื่อว่า พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่บังคับใช้กฎหมายนี้  


มาตรา 26 ของกฎหมายดังกล่าวห้ามการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดโดยการกำหนดให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าประกาศกำหนดเกณฑ์ส่วนแบ่งตลาด ยอดเงินขาย จำนวนทุน หรือสินทรัพย์ขั้นต่ำที่ธุรกิจที่ต้องการควบรวมกันต้องขออนุญาตก่อนการดำเนินการ  โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา  แต่เวลาล่วงเลยมาแล้ว 16 ปี  เกณฑ์ดังกล่าวก็ยังไม่คลอดซึ่งสะท้อนความล้มเหลวโดยรวมของการบังคับใช้กฎหมายนี้ซึ่งยังไม่สามารถเอาผิดธุรกิจใดได้เลยแม้แต่รายเดียวไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขายพ่วง การปฏิเสธที่จะขายสินค้าให้กับลูกค้าที่ขายสินค้าของคู่แข่ง หรือ การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับซัพพลายเออร์ ฯลฯ

    อนึ่ง กฎหมายมิได้กำหนดให้การควบรวมธุรกิจเป็นความผิด  หากแต่เป็นพฤติกรรมที่ต้อง “ขออนุญาต” หากเข้าเกณฑ์ที่กำหนด  เนื่องจากมีโอกาสที่จะส่งผลให้เกิดการผูกขาด ตัวอย่างที่ผู้อ่านอาจคุ้นเคยในอดีตคือ การควบรวมธุรกิจเคเบิ้ลทีวีระหว่าง UTV และ IBC มาเป็น UBC ทุกวันนี้ในปี พ.ศ. 2541 (ซึ่งยังไม่มีกฎหมายควบคุมการควบรวมธุรกิจ ณ เวลานั้น) 

    การรวมธุรกิจดังกล่าวแม้จะช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งสองรายประหยัดต้นทุนในการซื้อรายการภาพยนตร์จากต่างประเทศได้อย่างมากเพราะไม่มีคู่แข่ง  แต่ผู้บริโภคกลับไม่ได้รับอานิสงค์เท่าใดนัก  

    ในทางตรงกันข้ามกลับมีการยกเลิกหรือถอดรายการที่เป็นที่นิยมจากแพ็กเกจราคาต่ำทำให้ผู้ใช้บริการจำต้องเลือกใช้ “Gold Package” ที่มีราคาสูงกว่าและมีการปรับเพิ่มราคาหลายครั้งหลังจากนั้นนำไปสู่การร้องเรียนว่าบริษัทมีการใช้อำนาจเหนือตลาดในการกำหนดราคาที่สูงเกินควร   ตัวอย่างดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การควบรวมธุรกิจที่มีขนาดใหญ่แม้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจแต่อาจนำไปสู่การผูกขาดตลาดนั้นจำต้องกำกับควบคุม
 
    แม้ประสบการณ์ครั้งนั้นจะทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง  แต่รัฐบาลที่ผ่านก็ไม่มีรายใดคิดที่จะผลักดันเกณฑ์ดังกล่าวเนื่องจากมักได้รับแรงต่อต้านจากภาคธุรกิจทำให้ผู้บริโภคไทยได้แต่ “มองตาปริบๆ” ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมของ ธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ โรงภาพยนตร์ หรือ โรงพยาบาลที่ผ่านมา และต้อง “ก้มหน้ารับกรรม” หากการควบรวมดังกล่าวส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาดทำให้อัตราค่าบริการสูงขึ้น หรือ  คุณภาพหรือความหลากหลายของบริการลดลง

    ผู้เขียนมีความหวัง (แม้จะค่อนข้างริบหรี่) ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเสนอเกณฑ์ในการควบรวมธุรกิจและร่างแนวปฏิบัติการรวมธุรกิจซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนในการพิจารณาคำขอการรวมธุรกิจอีกครั้ง 

    โดยเกณฑ์ที่เสนอคือ ยอดเงินขายในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งก่อนหรือหลังการควบรวมธุรกิจไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และ ส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ร้อยละ 30 ขึ้นไป  ผู้เขียนเห็นว่า เกณฑ์ดังกล่าวน่าจะเป็นปัญหาสองประการ  

    ประการแรก เกณฑ์ที่เป็นสากลจะเป็นเกณฑ์รายได้หรือยอดขายของบริษัทโดยรวมมิใช่ยอดขายของสินค้าหรือบริการใดบริการหนึ่ง เพราะเป้าประสงค์ของการมีเกณฑ์คือการมี “ตะแกรง” ที่ใช้กรองการควบรวมธุรกิจที่อาจเกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดซึ่งจะขึ้นอยู่กับ “ขนาด”ของธุรกิจนั้นๆ โดยยังไม่จำเป็นต้องมีการพิจารณาในรายสินค้าหรือบริการที่จำหน่ายว่าการควบรวมจะมีผลให้เกิดความเสี่ยงจากการผูกขาดมากน้อยเพียงใด 

    เช่น หากมีการควบรวมระหว่างสายการบินแอร์เอเชียกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์  การตัดสินใจว่าจะต้องขออนุญาตหรือไม่นั่นควรพิจารณาจากรายได้รวมของบริษัททั้งสอง มิใช่รายได้จำแนกตามประเภทของบริการ เช่น บริการขนส่งผู้โดยสาร บริการเคเตอร์ริ่ง บริการเสริมอื่นๆ  ฯลฯ

    ประการที่สอง ซึ่งน่าจะเป็นปัญหามากนั่นคือ เกณฑ์ส่วนแบ่งตลาด  ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่มีการนำเสนอกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ต้องการจะรวมธุรกิจกันจะต้องประเมินส่วนแบ่งตลาดของสินค้าของตนเองทุกสินค้า 

    เช่น หากเป็น กรณีตัวอย่างที่กล่าวถึง บางกอกแอร์เวย์จะต้องคำนวณส่วนแบ่งตลาดสำหรับบริการขนส่งผู้โดยสารแบบประจำ แบบเช่าเหมาลำ บริการขนส่งสินค้า บริการเคเตอร์ริ่ง ฯลฯ ซึ่งอาจจะยังพอรับได้  แต่หากเป็นบริษัทที่มีสินค้าที่มีการจำหน่ายหลากหลาย เช่น บิ๊กซีกับคาร์ฟูในอดีตคงจะวุ่นน่าดูเพราะนอกจากจะต้องรู้ยอดขายของตนเองแล้ว  ยังจะต้องรู้ยอดขายของคู่แข่งทุกรายในตลาดอีกด้วยเพื่อที่จะสามารถคำนวณส่วนแบ่งตลาดของตนเองได้  บริษัทเอกชนไม่มีอำนาจที่จะเรียกข้อมูลดังกล่าวจากคู่แข่งได้

    ที่ยากกว่านั้นคือ นิยามของคำว่า “ตลาดสินค้า” ที่ใช้ในการคำนวณส่วนแบ่งตลาดนั้นมิใช่ตัวสินค้าที่บริษัทจำหน่ายอย่างเดียว เช่น ตลาดสินค้าของน้ำดื่มเป็ปซี่ อาจรวมโคล่า ไสปร์ท ตลอดไปจนน้ำส้ม minute maid หากเครื่องดื่มเหล่านี้สามารถทดแทนกันได้ในสายตาของผู้บริโภค  การคำนวณขอบเขตของตลาดสินค้าเป็นศาสตร์เฉพาะของการวิเคราะห์การแข่งขันซึ่งมีความซับซ้อนอย่างมาก  การคาดหวังว่าให้ผู้ประกอบการกำหนดขอบเขตของตลาดสินค้าของตนเองเพื่อที่จะคำนวณส่วนแบ่งตลาดว่าเกินเกณฑ์หรือไม่นั้นน่าจะไม่ถูกต้องนัก
    
    จากที่กล่าวมา  ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า  เกณฑ์ในการควบรวมธุรกิจควรพิจารณาจากตัวเลขรายได้รวมของบริษัทตามที่ปรากฏในงบรายได้ประจำปีเท่านั้นไม่ควรมีเกณฑ์ส่วนแบ่งตลาด  นอกจากนี้แล้ว ควรมีการพิจารณาใช้เกณฑ์มูลค่าสินทรัพย์อีกด้วยเพราะธุรกิจบางประเภทต้องใช้เงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสูงหากแต่อัตราค่าบริการไม่สูงนักทำให้อาจหลุดจาก ‘ตาข่ายกรอง” ในส่วนของยอดขายแต่ในทางปฏิบัติเป็นการรวมธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่อการผูกขาดสูง เช่น การควบรวมธุรกิจการประปาในเมืองเคมบริดจ์ในสหราชอาณาจักรเป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีเกณฑ์ทรัพย์สินด้วยโดยใช้ตัวเลขสินทรัพย์รวมของบริษัทตามที่ปรากฎในงบดุล  การมีเกณฑ์ที่ “ง่ายและชัดเจน” จะทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่าเมื่อไรจึงจะต้องขออนุญาตการรวมธุรกิจ  

นอกจากนี้แล้ว  การศึกษาเกณฑ์การขออนุญาตการควบรวมธุรกิจในต่างประเทศพบว่า ส่วนมากจะมีเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับบริษัทที่เป็น “ผู้ซื้อ (acquirer)” กับบริษัทที่เป็น “ผู้ถูกซื้อ (acquired) ที่ต่างกัน โดยเกณฑ์รายได้หรือสินทรัพย์ขั้นต่ำของบริษัทที่เป็นผู้ซื้อจะค่อนข้างสูง ประมาณ 3,000 – 8,000 ล้านบาท  ในขณะที่รายได้หรือสินทรัพย์ขั้นต่ำของบริษัทที่ถูกซื้อจะต่ำกว่าคือในช่วง  500-2,500 ล้านบาท  เพื่อที่จะสะท้อนว่าการที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เข้าไปซื้อกิจการที่เล็กกว่ายังคงจะต้องมีการตรวจสอบเพราะการดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นการสร้างอำนาจทางตลาดแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป”  

    ผู้เขียนเห็นความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง  ภาคธุรกิจมักมองว่าเป็นการห้ามมิให้ธุรกิจขยายตัวและเป็นการสร้างภาระให้แก่ธุรกิจและทำให้เกิดความล่าช้า  ผู้เขียนขอชี้แจงว่า การกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจ (merger control) มิได้ห้ามการควบรวมธุรกิจที่เป็นประโยชน์  หากแต่ต้องการจะ ‘ตรวจสอบ” การควบรวมที่ “อาจ” นำไปสู่การผูกขาดในตลาดเท่านั้น  การควบรวมในต่างประเทศส่วนมากได้รับการอนุญาตอย่างรวดเร็วจากสำนักแข่งขันทางการค้าเพราะไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการแข่งขัน (หลายประเทศไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำด้วยซ้ำไปทำให้การควบรวมทุกกรณีอาจถูกยับยั้งหรือถูกสั่งเพิกถอนภายหลังได้ หากผู้ประกอบการไม่ขอคำปรึกษาเบื้องต้น หรือ ขออนุญาตอย่างเป็นทางการจากสำนักแข่งขันทางการค้าบนหลักของความสมัครใจ)  

    อนึ่ง การกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจเป็นกฎกติกาที่เป็นสากล  เวลาธุรกิจไทยจะไปซื้อกิจการในต่างประเทศก็จะต้องมีการขออนุญาตหากการควบรวมเข้าเกณฑ์  กฎกติกานี้เป็น “เกราะ” ที่รัฐใช้ในการกลั่นกรองการลงทุนเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการและผู้บริโภคในประเทศจากการซื้อกิจการ ในอนาคตเมื่อมีการเปิดเสรีการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้นแล้ว  บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่อาจเข้ามาซื้อกิจการในประเทศได้จึงต้องมีเครื่องมือดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดจากการควบรวมธุรกิจซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคในประเทศที่อำนาจต่อรองน้อยกว่า  เมื่อนั้นธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่เคย “ค้าน” อาจต้อง “เรียกหา” กฎระเบียบฉบับนี้เพราะพบว่า “เหนือฟ้ายังมีฟ้า”

    ในขณะเดียวกัน  การกำกับดูแลจะต้องมีความชัดเจนว่าการควบรวมอย่างไรจึงอาจจะเป็นปัญหาซึ่งในประเด็นนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำร่างแนวปฏิบัติการรวมธุรกิจที่รับฟังความเห็นเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ไปแล้ว  ซึ่งอยู่ในกระบวนการปรับปรุง  ร่างฯ ดังกล่าวมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางในการพิจารณาผลกระทบต่อการแข่งขัน และได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาไว้ที่ 90 วัน  เพื่อที่จะป้องกันมิให้การตรวจสอบดังกล่าวทำให้เกิดความล่าช้าในการควบรวมธุรกิจเกินควร  

    ผู้เขียนหวังว่า การดำเนินการที่ผ่านมาทั้งหมดนี้จะสามารถนำไปสู่มรรคผลได้จริง เพราะประสบการณ์ในนานาประเทศชี้ชัดว่า เมื่อผลประโยชน์ของการเมืองและของธุรกิจขนาดใหญ่เกี่ยวโยงกันแล้ว  การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะเป็นหมันอย่างแน่แท้.
     

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน