แพ็กเกจจิ้งรักษ์โลกมาแรง โตถึง 9 ล้านล้านบาทในปีที่ผานมา ยังสดใสตามดีมานด์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

     แค่หน้าตาสวยอย่างเดียวอาจไม่พอสำหรับแพ็กเก็จจิ้งในปัจจุบัน ในปีที่ผ่านมาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 6.2 หรือ 9 ล้านล้านบาท รวมถึงเทรนด์การเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานให้มากกว่าการเป็นหีบห่อหรือบรรจุสินค้าก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น

อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 18,162 ล้านบาท

     เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตเคียงคู่มากับธุรกิจ E-Commerce เมื่อคนสั่งของออนไลน์ ทำให้เกิดความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างมากตามไปด้วย ซึ่งส่วนสำคัญมาจากความต้องการใช้จากธุรกิจต่างๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ ปี 2564 ธุรกิจ E-Commerce มีมูลค่าการค้าสูงถึง 4.01 ล้านล้านบาท ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ก็เติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน

     ประเสริฐ หล่อยืนยง นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ภาคอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 18,162 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงที่ร้อยละ 18.34 ส่วนในไตรมาสที่ 2 มูลค่าการส่งออกบรรจุภัณฑ์ มีมูลค่า 19,026 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 22.03 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก ส่วนในไตรมาสที่ 3 - 4 คาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายน่าจะยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากเศรษฐกิจของคู่ค้าและในประเทศไทยที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด – 19 ได้ดีขึ้น การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงความเชื่อมั่นในด้านกำลังซื้อซึ่งจะเป็นอานิงส์ให้เกิดการผลิตบรรจุภัณฑ์และขยายการซื้อขายได้ทั้งในและต่างประเทศ

     “แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ในอาเซียน แต่สิ่งที่ยังต้องพัฒนาให้ดีขึ้นคือ เรื่องของปรับตัวตามตามกระแสโลก โดยเฉพาะจากปัญหาโลกร้อน ภัยพิบัติ การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีส่วนใกล้ชิดกับการผลิตบรรจุภัณฑ์โดยตรง ซึ่งผู้ผลิตต้องเข้มงวดกับโยบายเหล่านี้ให้มากขึ้น”

     ประเสริฐ กล่าวเพิ่มว่า ทั้งนี้ทางสมาคมได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการในเครือข่ายให้ความสำคัญกับ บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล บรรจุภัณฑ์ทดแทนจากวัสดุธรรมชาติ และหมึกพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมูลค่าของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 6.2 หรือ 9 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เช่น การปรับลดวัสดุให้น้ำมีน้ำหนักเบาเพื่อลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง การเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานให้มากกว่าการเป็นหีบห่อหรือบรรจุสินค้า การส่งเสริมงานวิจัยเพื่อยกระดับความแข็งแกร่งของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมิติใหม่เหล่านี้ จะถูกรวบรวมไว้ที่ มหกรรมบรรจุภัณฑ์ การพิมพ์นานาชาติและกระดาษลูกฟูกแห่งภูมิภาคเอเชีย 2022 เพื่อให้ผู้ประกอบการอื่นๆ สามารถเรียนรู้และนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ”

     อย่างไรก็ดีจากสภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน และความผันผวนของวัตถุดิบอย่างเช่น ราคากระดาษ ทำให้ผู้ผลิตกระดาษลูกฟูกไทยประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

     ต่อประเด็นดังกล่าว ชูศักดิ์ ดีตระกูลวัฒนผล นายกสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย ได้แสดงความคิดเห็นว่า นับเป็นหนึ่งในความท้าทายที่จะต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการควบคุมการผลิตให้สอดคล้องกับราคาวัตถุดิบที่มีการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาคุณสมบัติของเยื่อกระดาษให้มีความแข็งแรง ทนกับสภาวะต่างๆ และการพัฒนาการบริการควบคู่ไปกับการผลิต เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ต้องใช้กระดาษลูกฟูกในการหุ้มห่อสินค้า แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมกระดาษลูกฟูกไทยจะต้องเผชิญกับความผันผวน แต่ก็ยังพบโอกาสการเติบโตโดยเฉพาะจากอานิสงส์ของธุรกิจออนไลน์ที่ขยายตัวตามกำลังซื้อในช่องทางอีคอมเมิร์ซ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่จำเป็นต้องมีการใช้กระดาษลูกฟูกในปริมาณที่เพิ่มขึ้น  ตลอดจนเทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากกระดาษที่ยังคงโตตามกระแสความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG Economy Model) ตามนโยบายของรัฐบาล

     “สมาคมฯ มีเป้าหมายที่สำคัญคือ มุ่งเน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม การนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ และความพร้อมในด้านการปรับตัวให้สอดรับกับอุตสาหกรรมการพิมพ์ การผลิตบรรจุภัณฑ์ และบทบาทสำคัญของผู้ผลิตแผ่นลูกฟูก ตัวแปลงกล่องพับ กล่องแข็ง รังผึ้ง นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่ช่วยขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซ ทั้งนี้ มั่นใจว่ากลยุทธ์ต่างๆ จะช่วยในผลักดันให้เกิดการลงทุนและตอกย้ำให้ไทยเป็นผู้ผลิตที่มีศักยภาพและความน่าเชื่อถือในระดับภูมิภาค”

เทคโนโลยีการพิมพ์ในอนาคต

     ส่วนด้านเทคโนโลยีการพิมพ์นั้น พงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวว่า ในอนาคตการพิมพ์แบบดิจิทัลจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นเนื่องจากให้งานพิมพ์มีคุณภาพ พิมพ์ได้ในปริมาณมากและรวดเร็ว รวมไปถึงวัสดุการพิมพ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่างๆ เช่น การใช้หมึกพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หมึกพิมพ์ที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ 

     นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าเทรนด์ที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก คือ เทรนด์ปัญญาประดิษฐ์ ที่เป็นการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาทำงานเพื่อเพิ่มความรวดเร็ว ตรวจสอบย้อนหลังการทำงานได้ และลดความเสี่ยงจากการใช้แรงงานคน เทรนด์ 5G ที่เป็นการนำระบบสื่อสารที่ทันสมัยมาใช้ส่งข้อมูล หรือเห็นภาพทุกกระบวนการผลิตได้แบบเรียลไทม์ เทรนด์การพิมพ์และออกแบบแบบพรีเมียม ที่สะท้อนถึงความมีระดับ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับการใช้สินค้า เทรนด์การผลิตด้วย 3D Printing เช่น ในกลุ่มเครื่องจักรและยานยนต์ การออกแบบและบรรจุภัณฑ์  การแพทย์ เทรนด์ความปลอดภัย เนื่องด้วยผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด – 19 ภาวะทางสุขภาพอื่นๆ ที่ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น และ เทรนด์ความยั่งยืน สำหรับผู้บริโภคที่ให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผู้ผลิตและผู้พัฒนาต้องมีนโยบายนี้อย่างชัดเจน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024