ฉีกภาพร้านก๋วยเตี๋ยวบ้านๆ ทายาทร้าน เซี๊ยม ใช้กราฟฟิกปรับลุคธุรกิจ เปลี่ยนร้านกว่า 40 ปี เป็นของดีจังหวัด

TEXT : Surangrak Su.

PHOTO : Siemnoodles

 

     แสงจากป้ายไฟตัวอักษรจีนสีเหลืองนวลอุ่นๆ ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าร้านบวกกับโคมไฟจีนสีแดงที่ห้อยระย้าลงมา ดูเข้ากันดีกับผนังสีแดงส้มของตัวร้าน แถมด้านในยังตกแต่งด้วยรูปโปสเตอร์แนววินเทจสไตล์จีนยุค 80 – 90 ให้อารมณ์คล้ายกับหลุดเข้ามาอยู่ในฉากหนังของหว่องกาไวอย่างไรอย่างนั้น

     ที่นี่ไม่ใช่ภัตตาคารหรู ไม่ใช่คาเฟ่ฮิปของเหล่าคาเฟ่เลิฟเวอร์ที่ชอบมาถ่ายรูปเล่น แต่คือ ภาพบรรยากาศของร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัดหนองคาย “เซี๊ยม” คือ ของชื่อร้านก๋วยเตี๋ยวหมูแดงดั้งเดิมอายุ 40 ปีที่เรากำลังพูดถึงอยู่ โดยวันนี้ได้ทายาทเข้ามาช่วยสานต่อปรับลุคสร้างแบรนด์ จากร้านเล็กๆ ในชุมชนให้กลายเป็นร้านรับแขกที่ใครไปใครมาก็อยากแนะนำชวนคนรู้จักให้มาลิ้มลอง

ฉีกภาพจำร้านก๋วยเตี๋ยวแบบเดิมๆ

     ธนกร เตียวศิริชัยสกุล หรือ โอ๊ต หนึ่งในทายาทที่เข้ามาช่วยสานต่อโดยใช้งานกราฟฟิกดีไซน์มาช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของร้านเล่าที่มาให้ฟังว่า เซี๊ยม คือ ร้านก๋วยเตี๋ยวของอาโกว (ป้า) และอาแป๊ะ (ลุง) ที่เปิดขายมากว่า 40 ปี โดย“เซี้ยม” ก็คือ ชื่อของป้า ตั้งแต่เด็กๆ เขาและน้องสาวจะมาคลุกคลีวิ่งเล่นที่ร้าน ช่วยเสิร์ฟก๋วยเตี๋ยว ช่วยเตรียมของในวันหยุดหรือช่วงปิดเทอมอยู่เสมอ ได้เห็นอาโกวอาแป๊ะทำงานหนักมาตลอด จึงเคยคุยกันในครอบครัวว่าอยากช่วยพัฒนาร้านให้ดีขึ้น

     โดยตัวเขาเองนั้นเรียนจบหลักสูตรครุศาสตร์สถาปัตยกรรมและการออกแบบ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อจบมาในช่วงแรกได้เข้าทำงานอยู่ในบริษัทเอเจนซี่แห่งหนึ่ง ยังไม่ได้กลับมาช่วยดูแลร้านในทันที จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อคุณพ่อของเขาได้ลองซื้อหนังสือเกี่ยวกับการลงโฆษณาในเฟซบุ๊กมาอ่าน ทดลองใช้มือถือถ่ายรูปและยิงแอดบนเฟซบุ๊ก ผลปรากฏร้านเริ่มเป็นที่รู้จัก มีคนสนใจสอบถามเข้ามาเยอะขึ้นว่าร้านตั้งอยู่ที่ไหน จึงทำให้เขาเริ่มมองเห็นลู่ทางความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาร้านอายุ 40 ปีแห่งนี้ให้ดีขึ้นได้

     โอ๊ตเริ่มต้นคิดวางแผนที่จะสร้างแบรนด์ขึ้นมา โดยในขณะนั้นก็ได้น้องสาว (กมลฉัตร เตียวศิริชัยสกุล - อีฟ) ที่เรียนจบมาทางด้านการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารโดยตรง นำร่องกลับไปช่วยบุกเบิกดูแลระบบหลังบ้านของร้านให้ก่อน โดยโอ๊ตเริ่มจากให้น้องสาวคอยถ่ายรูปที่ร้านส่งมาให้ก่อน ทั้งภาพบรรยากาศ และเมนูอาหาร จากนั้นจึงนำมาออกแบบกราฟฟิกดีไซน์ สื่อสารผ่านรูปภาพและข้อความออกไปที่หน้าเพจเฟซบุ๊กของร้าน โดยมี Keyword สำคัญของแบรนด์ คือ “ความเป็นจีน” เพราะตระกูลของเขาที่สืบเชื้อสายมาจากคนจีน และ “ความเก่า” ซึ่งสื่อถึงความเก่าแก่ของร้านที่อยู่มานาน

     นอกจากบนออนไลน์แล้ว เขายังออกแบบโปสเตอร์ไปติดที่ร้านด้วย รวมถึงค่อยๆ เริ่มปรับภาพลักษณ์ของร้านให้ดูดีทันสมัยขึ้นด้วย เช่น การริเริ่มนำกล่องกระดาษฟู้ดเกรดมาใช้แทนถุงพลาสติก เพื่อให้ลูกค้าสะดวกขึ้น เอาไปรับประทานที่ไหนก็ได้ และยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์

     “แรกๆ ก็โดนทักท้วงจากอาโกวอาแป๊ะเหมือนกันว่าจะเป็นการสิ้นเปลืองมากขึ้นหรือเปล่า เพราะราคาก๋วยเตี๋ยวยังไงก็ขายชามละ 40 บาทเท่าเดิม ดูเหมือนเราขาดทุนมากขึ้น แต่จริงๆ เรามองระยะยาว เพราะในขณะนั้นแอพฟู้ดเดลิเวอร์รี่กำลังจะเข้ามาในตัวเมืองหนองคาย ซึ่งพอทำไปได้ไม่นานก็เข้ามาจริงๆ เราก็สมัครเข้าใช้บริการได้เลย เพราะเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว นอกจากรายได้เพิ่มขึ้น ยังได้ช่วยกระจายแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น บางคนพอเขาได้ลองสั่งแล้ว ก็อยากตามมาที่กินร้านก็มี” โอ๊ตเล่าให้ฟัง

     หลังจากเข้ามาช่วยดูได้สักพักหนึ่ง ไม่นานโอ๊ตก็ลาออกมาช่วยดูเต็มตัวตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่ทว่าด้วยความที่ร้านเดิมนั้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก จึงทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้มาก การสื่อสารส่วนใหญ่จึงอยู่ในช่องทางออนไลน์ กระทั่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้ย้ายร้านไปที่ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงสามารถตกแต่งได้อย่างลงตัวมากขึ้น มีการคุมโทนให้เป็นสไตล์จีนย้อนยุค ตั้งแต่โทนสีที่ใช้ ป้ายไฟชื่อร้าน ข้าวของตกแต่งในร้าน และรูปโปสเตอร์ต่างๆ

ถอดสูตรลับกราฟฟิกดีไซน์ สไตล์เซี๊ยม

     โดยการนำงานกราฟฟิกดีไซน์มาใช้สร้างแบรนด์ของร้านเซี๊ยม มีส่วนประกอบจากหลายส่วนด้วยกัน เริ่มจาก

     โลโก้ โดย เซี๊ยม เป็นภาษาจีน แปลว่า “ป่าไม้” ส่วนหนึ่งในโลโก้ของเซี๊ยมจึงเป็นวงกลมล้อมรอบคล้ายรูปกลีบดอกไม้ ซึ่งสื่อความเจริญงอกงามของต้นไม้ใบหญ้าที่วันหนึ่งรอจังหวะ เวลา และโอกาสที่เหมาะสม ก็จะงอกงอกเบ่งบานเป็นดอกไม้ออกมา เหมือนกับร้านก๋วยเตี๋ยวเซี๊ยมที่ในอดีตอาจเคยลำบากมาก่อน จนวันนี้ธุรกิจสามารถเจริญเติบโตเป็นที่รู้จักขึ้นมาได้ โดยหากมองที่โลโก้ดีๆ หากดูตรงๆ จะคล้ายกับถ้วยบะหมี่จีน โดยมีเส้นตะเกียบคีบอยู่ด้านบน แต่หากมองเอียงไปด้านซ้ายจะเห็นตัวอักษรไทยเขียนว่า เซี๊ยม ติดเอาไว้

     การตกแต่งร้าน สีประจำแบรนด์ของเซี๊ยม คือ แดงส้ม ดังนั้นตั้งแต่โลโก้ ป้ายไฟ รวมถึงการตกแต่งร้าน จึงใช้โทนสีส้มแดงเป็นหลัก โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของตัวร้านจะกรุผนังด้วยไม้อัด ซึ่งให้สีออกน้ำตาลแดง

     โปสเตอร์ มาถึงงานดีไซน์บนหน้าเฟซบุ๊กและโปสเตอร์ตกแต่งร้านบ้าง โดยจะออกแบบมาให้มีกลิ่นอายคล้ายกับรูปโปสเตอร์หนังและโปสเตอร์โฆษณาสมัยก่อนในยุค 80 – 90 ผสมกับความเป็นจีน ซึ่งเป็นยุคบุกเบิกของร้าน ตัวอย่างเช่นโทนสีที่เลือกใช้จะเป็นลักษณะของแม่สี เช่น แดง เหลือง น้ำเงิน เขียว ที่ค่อนข้างจัดจ้าน ชัดเจน ตรงๆ ไม่ใช่โทนสีพาสเทล หรือมินิมอลเหมือนในยุคนี้ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะเปลี่ยนทุก 2 – 3 เดือน ตามเรื่องราวหรือแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น ตัวอย่างเช่นช่วงแรกที่ร้านเริ่มสมัครเข้าใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี ก็จะออกแบบเป็นเซตรูปถ้วยบะหมี่ออกมา

ไม่ใช่แค่ร้านก๋วยเตี๋ยว แต่มีความวาไรตี้มากขึ้น

     นอกจากการปรับภาพลักษณ์ใหม่ของร้านให้ดูดีมีเอกลักษณ์ แตกต่างจากร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วไปแล้ว โอ๊ตยังต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับร้าน ด้วยการปรับร้านให้มีความวาไรตี้มากขึ้น จากการรื้อฟื้นเมนูดั้งเดิมที่เคยทำขายออกมานำเสนอในรูปโฉมใหม่ มีการออกแบบฉลากให้ดูดีน่าซื้อ และมีความเป็นแบรนด์มากขึ้น

     “นอกจากก๋วยเตี๋ยว เราพยายามหาเมนูอื่นๆ เข้ามาเสริมด้วย เพราะอยากเพิ่มความวาไรตี้ให้กับร้านมากขึ้น ซึ่งเป็นเมนูดั้งเดิมที่เราเคยทำขายและก็เลิกไป เช่น หมั่นโถว ขนมจีบ ขนมต้ม เพื่อให้เป็นตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นกับลูกค้า ดึงคนเข้ามาในร้านมากขึ้น จากที่เคยสั่งแค่ก๋วยเตี๋ยว ก็มีโอกาสสั่งอย่างอื่นเพิ่มขึ้นด้วย เป็นการเพิ่มยอดขายได้อีกทาง หรืออย่างเมนูที่ทำขายกันอยู่แล้ว เช่น น้ำเก๊กฮวย, น้ำกระเจี๊ยบ จากเดิมที่แค่ใส่ขวดพลาสติใส เราก็นำมารีแบรนด์เลือกแพ็กเกจจิ้งใหม่เป็นขวดแก้ว ออกแบบฉลากให้ดูน่าสนใจขึ้น นอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้แล้ว ยังช่วยสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย” โอ๊ตเล่าถึงการรีโนเวตร้านแห่งใหม่ให้ฟัง

     ณ วันนี้ภาพของร้านเซี๊ยมจึงไม่ใช่เพียงแค่ร้านก๋วยเตี๋ยวอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นเสมือนของดี(ของจังหวัดที่ไว้ใช้รับแขกได้ร้านหนึ่ง) ร้านรับแขกแห่งหนึ่งของจังหวัดที่เวลาแขกไปใครมาก็อยากแนะนำให้รู้จัก และผลจากการใช้งานกราฟฟิกดีไซน์มาสร้างแบรนด์ของเขา ก็คือ

     “หลังจากที่เราปรับภาพลักษณ์ของร้านใหม่ ทำให้มีลูกค้าสนใจเข้ามาในร้านมากขึ้น ซึ่งจากเดิมจะมีเฉพาะกลุ่มลูกค้าเดิมที่รู้จักอาโกว แต่ตอนนี้มีทุกวัย บางคนมาจากต่างถิ่นไม่เคยเห็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่เป็นแบบนี้แวะมาถ่ายรูปเล่นบ้างก็มี บางคนมากินแล้วติดใจรสชาติชอบบรรยากาศจนขอซื้อแฟรนไชส์ ไปจนถึงขอซื้อโปสเตอร์ที่ติดในร้าน มีทุกรูปแบบ ที่เห็นบ่อยก็คือ ลูกค้าขาประจำแนะนำพาเพื่อนๆ มากิน

     “ซึ่งจริงๆ ถ้าพูดในแง่การค้าขาย แค่ทำอร่อย และสะอาดก็เพียงพอแล้ว เพราะความคาดหวังของคนส่วนใหญ่ ก็เพื่อไปกิน แต่ถ้าเราทำในสิ่งที่เขาไม่ได้คาดหวังว่าจะเจอ เช่น ใครจะคิดว่าจะมีงานอาร์ต งานกราฟฟิกดีไซน์ หรือการสร้างแบรนด์มาใช้ในร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งทำให้เขาเกิดความรู้สึกว้าว! สร้างการจดจำ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจขึ้นมาได้ ” โอ๊ตกล่าวทิ้งท้าย

เซี๊ยม

FB : Siemnoodles

Tel. 088 562 0407

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2