ส่อง “KOREA 360” การใช้วัฒนธรรมนำธุรกิจ กลยุทธ์การขายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลแดนโสม

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

Main Idea

  • แม้คลื่นความนิยมเกาหลีกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี อาหาร

 

  • แต่รัฐบาลเกาหลีไม่ได้หยุดแค่นั้น ล่าสุดเปิด ศูนย์ “KOREA 360” ที่อินโดนีเซียเพื่อ จัดแสดงสินค้ามากกว่า 2,100 รายการจาก 230 แบรนด์

 

  • อนาคตจะเปิดศูนย์ KOREA 360 เพิ่มในอีกหลายประเทศ ตอกย้ำกระแสเกาหลีฟีเวอร์

 

     ต้องยอมรับว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ ความสำเร็จที่ว่าก่อให้เกิด “ฮันรยู” (Hallyu) หรือคลื่นความนิยมเกาหลีที่กำลังอิทธิพลจนกลายเป็นกระแสไปทั่วโลกโดยผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงและอาหาร แม้จะจุดกระแสเกาหลีฟีเวอร์จนติด แต่รัฐบาลเกาหลีไม่ได้หยุดแค่นั้น แต่ยังพยายามรักษากระแสนี้ให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง

     ล่าสุด เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ ประกอบด้วยกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวได้แท็กทีมกับ 3 กระทรวงได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารสุข และกระทรวงประมงเปิดศูนย์ “KOREA 360” โดยประเดิมที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซียเป็นแห่งแรก ศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์การค้าล้อตเต้ ช้อปปิ้ง เอเวนิว ตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการนำเสนอประสบการณ์ครอบคลุมรอบด้านเกี่ยววัฒนธรรมเกาหลี อาทิ สื่อความบันเทิงต่าง ๆ ไม่ว่าจะดนตรี ซีรีส์ ภาพยนตร์ อาหาร และเครื่องสำอางให้กับประชาชนในประเทศอื่น    

     บนพื้นที่ 1,170 ตารางเมตร “KOREA 360” ได้แบ่งพื้นสำหรับจัดแสดงสินค้าจากเกาหลีใต้ สตูดิโอสาธิตการทำอาหารเกาหลี ไปจนถึงสำนักงานให้คำปรึกษาและข้อมูลเกี่ยวกับเกาหลี สำหรับสินค้าที่จัดแสดงมีมากกว่า 2,100 รายการจาก 230 แบรนด์ ประกอบด้วยสื่อความบันเทิงเค-ป๊อปทุกแขนง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพ สินค้าในชีวิตประจำวัน อาหาร เครื่องดื่ม และทัวร์ท่องเที่ยว 

     ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนธันวาคม 4 กระทรวงเกาหลีพร้อมทั้งหน่วยงานรัฐ 8 องค์กรได้โหมโรงด้วยการจัดอีเวนต์เพื่อโปรโมท “KOREA 360” ก่อนหน้าแล้ว โดยมีการจัดคอนเสิร์ตเค-ป๊อป และจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอุตสาหกรรมประมงของประเทศ รวมถึงการฉายการ์ตูนเกาหลี การจัดเสวนาเกี่ยวกับสถานท่องเที่ยวในเกาหลี การสาธิตการแต่งหน้า และการตั้งโต๊ะให้คำแนะนำในการนำเข้าสินค้าเกาหลี  

     รมว.วัฒนธรรมกล่าวว่าการเปิดศูนย์ KOREA 360 มีความสำคัญในแง่ของการดึงผู้คนทั่วโลกให้สนใจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเกาหลี และทางกระทรวงวัฒนธรรมจะผนึกกำลังกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการวางกลยุทธ์เพื่อส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีโดยในอนาคตจะเปิดศูนย์ KOREA 360 เพิ่มในอีกหลายประเทศ  

     ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ที่สนามบินนานาชาติอินชอน กระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีได้มีพิธีเปิด Vivid Space ซึ่งเป็นสถานจัดงานมัลติมีเดียที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ด้วยเทคโนโลยีชั้นนำที่มีทั้งเอไอ วีอาร์ เออาร์ และวิช่วลเอฟเฟคเข้ามาเกี่ยวข้อง

     ภายใต้ความร่วมมือจาก Korea Creative Content Agency (KOCCA) และบริษัทท่าอากาศยานอินชอน Vivid Space ตั้งอยู่ที่อาคารผู้โดยสาร 1 และออกแบบมานำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับเกาหลีใต้ด้วยนวัตกรรมใหม่ล่าสุด โดยแบ่งเป็น 3 คอนเซปต์ ได้แก่ สเปซ 1-ทไวไลท์ แสดงสถานท่องเที่ยวทางธรรมชาติในเกาหลีที่ฉายภาพสามมิติทำให้ผู้ชมเหมือนหลุดเข้าไปในสถานที่นั้นจริง สเปซ 2- ดรีม ไฟลท์ เป็นการจำลองการออกแบบและบังคับเครื่องบินให้ล่องลอยบนฟ้า นอกจากนั้น ผู้โดยสารยังได้สัมผัสกับคอนเทนต์หลากหลายประเภท ทั้งหนัง ละคร เพลง และเกมผ่านช่องทางต่างๆ   

     สำหรับวิวัฒนาการของ “ฮันรยู” หรือคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีนั้นแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเริ่มตั้งแต่กลางปี 1996-ต้นปี 2000 ซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลีเริ่มได้รับความนิยมในต่างแดนแต่เป็นบางประเทศได้แก่ จีน ไต้หวัน และเวียดนาม ระยะที่ 2 เริ่มปี 2000-2007 นอกจากซีรีส์ และภาพยนตร์ ก็เริ่มมีเพลง วงดนตรี และเกมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของซอฟท์พาวเวอร์ ความนิยมแพร่หลายครอบคลุมทั่วเอเชีย

     และระยะที่ 3 เริ่ม 2008-ปัจจุบัน วัฒนธรรมที่เกาหลีต้องการส่งต่อครอบคลุมเกือบทุกด้าน รวมถึงเกม การ์ตูน อาหาร แฟชั่น และภาษา แถมยังสยายปีกด้านวัฒนธรรมไปหลายทวีปทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหลื และอเมริกาใต้ แม้จะทรงอิทธิพลบนเวทีโลก แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ยังทำงานต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้เกาหลีฟีเวอร์ยังอยู่ในกระแสและไม่จางหายไปโดยง่าย

ที่มา : https://www.koreatimes.co.kr/www/culture/2022/12/199_341028.html

https://www.korea.net/NewsFocus/Culture/view?articleId=225289

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2