ท่องเที่ยวและภาครัฐแรงส่ง GDP ขยายตัว





    สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 2 ปี 2015 ขยายตัว 2.8%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) ชะลอลงจาก 3.0%YOY ในไตรมาสก่อน และขยายตัวได้ 0.4%QOQSA (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล) เร่งขึ้นเล็กน้อยจาก 0.3%QOQSA ในไตรมาสแรก โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสสองนี้ถือว่าดีกว่าที่คาด

    เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 มีแรงสนับสนุนหลักจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ เศรษฐกิจภาคบริการยังเติบโตได้ดีจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง โดยธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารเติบโตสูงถึง 18.7% YOY การขนส่งและคมนาคมเติบโต 8.6% YOY ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโต 37.6% YOY 

    ในส่วนของการลงทุนภาครัฐในไตรมาส 2 เติบโตสูงถึง 24.7%YOY ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 37.8%YOY โดยเป็นการลงทุนทั้งด้านการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร แต่การก่อสร้างชะลอตัวลงบ้างเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ช้าลงและยังไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโครงการใหม่นอกเหนือจากที่กำลังดำเนินการ ในส่วนของการบริโภคภาครัฐเติบโต 4.6%YOY จากการซื้อสินค้าและบริการที่ยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง

    อย่างไรก็ตาม ผลผลิตภาคเกษตรยังหดตัวสูงและภาคอุตสาหกรรมยังอ่อนแอแม้ว่าตัวเลขภาคอุตสาหกรรมจะดีกว่าที่คาด เศรษฐกิจภาคการเกษตรหดตัวสูงถึง 5.9%YOY จากไตรมาสก่อนที่หดตัว 4.7%YOY โดยมาจากปัญหาภัยแล้งซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมมีการผลิตลดลง 0.7%YOY ตามการส่งออกที่หดตัวสูงและอุปสงค์ในประเทศยังเติบโตในระดับต่ำ 

    อย่างไรก็ดี การหดตัวของภาคอุตสาหกรรมดีกว่าที่คาดค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับเครื่องชี้วัดการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ที่หดตัวสูง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวถึง 7.6%YOY และดัชนีปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 3.8%YOY ในช่วงเวลาเดียวกัน

    การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงจากการซื้อสินค้าคงทน แต่สินค้าไม่คงทนและบริการยังเติบโตได้ การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมขยายตัวได้ 1.5%YOY ชะลอลงจาก 2.4%YOY ในไตรมาสก่อน เนื่องจากการบริโภคสินค้าในหมวดยานพาหนะหดตัวถึง 11.5%YOY และการซื้อเฟอร์นิเจอร์หดตัว 3.9%YOY ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำและธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ 

    นอกจากนี้ การบริโภคสินค้าไม่คงทน หรือสินค้าจำเป็นส่วนใหญ่ยังเติบโตได้ดี เช่น อาหารและเครื่องดื่มขยายตัว 2.5%YOY หมวดที่อยู่อาศัย ประปา และไฟฟ้า เติบโต 3.8%YOY เป็นต้น ขณะที่หมวดบริการขยายตัวดีทั้งด้านการท่องเที่ยวและโทรคมนาคม

    สำหรับการลงทุนภาคเอกชนกลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากเติบโตติดต่อกัน 3 ไตรมาส การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมหดตัว 3.4%YOY จากไตรมาสก่อนที่เติบโตได้ 3.6%YOY เนื่องจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรหดตัวสูงถึง 5.0%YOY ตามการนำเข้าเครื่องจักรที่ลดลงเพราะการผลิต การส่งออก และการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว

     ขณะที่การก่อสร้างยังเติบโตได้ 2.7%YOY ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 1.8%YOY จากการก่อสร้างอาคารสำนักงานและโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างที่อยู่อาศัยหดตัว 0.4%YOY จากที่เติบโต 1.5%YOY ในไตรมาสก่อน ตามกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ชะลอตัว

    ด้านดุลการค้าและบริการเกินดุลแม้การส่งออกจะหดตัวลงมาก ปริมาณการส่งออกสินค้ายังหดตัวถึง 4%YOY ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการโดยรวมหดตัว 0.3%YOY จากการชะลอตัวของการผลิตและการบริโภคในประเทศ แต่รายรับภาคบริการซึ่งมาจากรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวสูงถึง 25.1%YOY เพิ่มขึ้นจาก 14.6%YOY ในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2 เกินดุลถึง 4.2% ของ GDP

    อีไอซีคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจเติบโตได้ต่ำกว่าระดับ 3.0% ที่ประมาณการไว้เดิม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกจะสามารถเติบโตได้ 2.9% เท่ากับที่ประมาณการไว้เดิม และยังมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐและการท่องเที่ยว แต่ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่รุมเร้า เช่น การส่งออกที่หดตัวสูงกว่าที่คาดและรายได้ภาคเกษตรลดลงจากราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ตกต่ำตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม จากทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวกว่าที่คาดและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักร

SME Thailand เพื่อนคู่คิด ธุรกิจเอสเอ็มอี
ติดตามข้ัอมูลดีๆ เพื่อชาว SMEs ได้ที่ www.smethailandclub.com

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน