ปรากฏการณ์คลั่งรัก "น้องหมีเนย" สะท้อนอะไรในพฤติกรรมผู้บริโภค 2024

TEXT : Neung Cc.h

     ปรากฏการณ์ "น้องหมีเนย" หรือ "butter bear" ไอดอลสาวดาวรุ่งพุ่งแรงที่สามารถตกให้มัมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าด้อมเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดสร้างปรากฏการณ์ห้างแตกมาแล้ว ความร้อนแรงของน้องยังฮอตทำให้กลุ่มด้อมยอมเปย์ซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับน้องหมีเนย โดยไม่เกี่ยงราคา

     จะว่าไปน้องหมีเนยไม่ใช่อินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีชื่อเสียงมาก่อน หรือเป็นน้องหมาน้องแมวที่คนรู้จัก ตรงกันข้ามน้องหมีเนยคือมาสคอต แต่กลับทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่คลั่งรัก "น้องหมีเนย" ได้ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน? บทความนี้จะพาทุกท่านไปถอดรหัสพร้อมๆ กัน

     

เพราะความเหงามันโหดร้ายกว่าที่คิด

     ต้องยอมรับว่าในยุคสังคมก้มหน้านั้นทำให้คนเราเกิดความเหงาไม่น้อย ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าความเหงานั้นอันตรายไม่น้อย ถึงขนาดมีผลวิจัยที่บอกว่า “ความเหงาแบบเรื้อรัง” (Chronic Loneliness) เป็นอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน

     ดังนั้นพฤติกรรมที่ผู้คนไปคลั่งรักน้องหมีเนยส่วนหนึ่งจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึง pain point ผู้บริโภคในแง่ความรู้สึกที่มีทั้งความเหงา ความโดดเดี่ยว ความอยากมีเพื่อน หรืออาการท็อกซิกในชีวิตประจำวัน ยิ่งเหงาหลายคนก็มีโซเชียลเป็นเพื่อนใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ลดลง แต่พอมาอยู่ในโลกความจริงก็รู้สึกเหงาเหมือนเดิม

     “ไม่งั้นจะมีคำพูดว่าน้องหมีเนยสามารถฮีลใจได้หรือ คำว่าฮีลใจมันมีค่ามากนะคะ แสดงว่าสังคมทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความโหยหาความรู้สึกของการเติมเต็มมากกว่าเดิม” ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และสื่อสารการตลาด แสดงมุมองถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีต่อน้องหมีเนย

Cr.ภาพ butter bear

ความรู้สึกร่วม

     อีกหนึ่งพฤติกรรมของมนุษย์คือ การได้พูดคุยได้เม้าส์มอย ซึ่งโลกโซเชียลทำให้การพูดคุยส่งต่อได้ไวกว่าเดิมแบบทวีคูณ ทำให้หลายๆ คนอยากมีความรู้สึกร่วมในหัวข้อสนทนา หนึ่ง คือจะได้ไม่เป็นคนที่ตกยุคหรือพลาดข่าวสารอะไรไป สอง แสดงว่าเป็นคนที่อินเทรนด์ สาม คือ ไม่อยากเป็นคนตกขบวนและเป็นเสียงส่วนน้อยในสังคม สี่ จะได้เข้าพวก คือที่เรียกว่าแฟนคลับ ที่มีความรู้สึกร่วมกันมีความรู้สึกเป็นพวกพ้อง

ตอบสนองจินตนาการที่จับต้องได้

     ผศ.ดร.บุปผา ในอีกมุมหนึ่งคนที่ชอบน้องหมีเนยก็ไม่ได้มีแต่คนที่เหงาเท่านั้น แต่อาจมาตอบโจทย์กลุ่มคนที่ชอบอะไรที่น่ารัก หรืออะไรที่มาเติมเต็มจินตาการของตัวเอง

     “คนไทยเองก็เล่นตุ๊กตากันมาช้านาน ลึกๆ แล้วต่างคนก็จะมีตุ๊กตาในฝัน พอได้มาเจอตุ๊กตาน่ารัก ที่ไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน มีการใส่สตอรี่เข้าไป เป็นตุ๊กตาที่เต้นได้ ทุกอย่างมาเต็มจินตนาการสนุกกว่าเดิก็ยิ่งทำให้กลายเป็นที่รัก”

     “ในเชิงการตลาดสินค้าราคาดีที่สุดไม่ใช่แพงหรือถูก แต่คือราคาที่ลูกค้าพอใจจะจ่าย คำว่าลูกค้าพอใจจะจ่ายแสดงว่า emotional benefit คือคุณประโยชน์ทางความรู้สึกหรืออารมณ์ความรู้สึก การที่เขาได้เจอสิ่งที่เติมเต็มจินตนาการ มันเหมือนฝันแล้วฟินที่เป็นจริงได้ ก็เลยกลายเป็นถูกใจจ่ายหมด จ่ายไว จ่ายได้”

มนุษย์แม่ตัวมันผู้พร้อมซัพพอร์ต

     ถ้าพิจารณาไปถึงในกลุ่มคนที่คลั่งรักจะมีกลุ่มคนหนึ่งที่มักเรียกตัวเองว่ามัม อาจสื่อได้ถึงกลุ่มคนที่ไม่มีลูกแต่อยากมีใครสักคนหนึ่ง ที่ให้เขาได้รักซึ่งจะเป็นใครหรือเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจรวมถึงกลุ่มสาวโสด หรือคนที่แต่งงานแล้วไม่มีลูกก็ได้ ส่วนใหญ่ค่อนข้างมีฐานะอยู่ในกลุ่ม Gen X และ Baby Boomers เฉลี่ยอายุมากกว่า 45 ปี

     “การที่เป็นแม่ไม่ว่าลูกจะทำกิจกรรมอะไรหรือมีสินค้าอะไร แม่พร้อมสนับสนุนเหมือนเป็นคนในครอบครัว”