หรือจะหมดยุค Double Day? เมื่อกลยุทธ์ของถูกเริ่มไม่ขลัง ยอดช้อปออนไลน์ในจีนลดฮวบ 7 พันล้าน

TEXT : Nitta Su.

     ตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็มักได้ยินแต่ข่าวเศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้ ปิดกิจการอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าในไทย หรือต่างประเทศ ล่าสุดแว่วมาว่าแม้แต่ตลาดจีน ที่เป็นอีกแหล่งส่งออกรายได้หลักของไทย จากจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 1,400 ล้านคน สูงกว่าไทยถึง 20 เท่าตัว ก็ย่ำแย่ไม่ต่างกัน ถึงขั้นว่ายอดขายสินค้าออนไลน์ที่เคยสะพัดกว่าหลายพันล้านดอลลาร์ต่อเนื่องกันมาหลายปี ก็ดูจะไม่อู้ฟู่เหมือนเก่า จากเทศกาลช้อปปิ้งใหญ่ที่ลดราคาถูกสุดๆ ผู้คนแย่งกันซื้อ ก็เงียบลงไปถนัดตา ทั้งที่จีนเป็นต้นฉบับกลยุทธ์โปรโมชั่นขายของถูก Double Day Sale ยังไม่นับรวมข่าวแว่วที่ว่านักธุรกิจจีนเตรียมบุกไทยแบบเต็มสูบ

     ทำยังไงกันดีล่ะทีนี้ ผู้ประกอบการไทย? ต้องรับมือทั้งศึกนอก ศึกในกันหรือเปล่า ลองฟังข้อมูล และวิเคราะห์ไปตามๆ กัน

เทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ ยอดลดฮวบ คนไม่สนใจซื้อเหมือนก่อน

     JD.com เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน และผู้ค้าปลีกออนไลน์รายอื่นๆ เช่น Tmall ของ Alibaba Group และ Pinduoduo เผยยอดขายสินค้าในเทศกาล 618 หรือเทศกาลลดกระหน่ำกลางปี (ตรงกับวันที่ 18 มิถุนายนของทุกปี) ปี 2024 มียอดขายลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี

     สอดคล้องกับ Syntun ผู้ให้บริการข้อมูลการค้าปลีกที่ได้ออกมาประเมินว่าในเทศกาลช้อปปิ้ง 618 ที่ผ่านมา ซึ่งมีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับเทศกาล 11 หรือ วันคนโสด (11 พ.ย.ของทุกปี) ในปีนี้สามารถทำยอดขายได้เพียง 102.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงกว่า 7% หรือกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปี 2023 ที่ทำไว้ได้ประมาณ 109 พันล้านดอลลาร์ โดยสาเหตุหลักข้อหนึ่งน่าจะมาจากการที่ชาวจีนมีการใช้เงินอย่างรัดกุมมากขึ้น

     โดยในอดีตที่ผ่านมาธุรกิจอีคอมเมิร์ซถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างมากในการใช้จ่ายด้านการค้าปลีกของจีน ยกตัวอย่างในปี 2566 ยอดขายปลีกออนไลน์ทั่วประเทศสูงถึง 2.12 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 27.6% ของยอดขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดในประเทศ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน)

ปัจจัยภายในเป็นเหตุ เมื่อผู้บริโภคมีความรอบคอบมากขึ้น

     จากจำนวนผู้ซื้อที่ลดลง เว็บไซต์ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีนหลายแห่ง จึงหันมาใช้กลยุทธ์ส่วนลดมหาศาลเพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อสินค้ากันมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ Alibaba เสนอส่วนลด 50% สำหรับเสื้อผ้า Lululemon และ JD.com เสนอขาย iPhone ของ Apple ด้วยส่วนลดสูงถึง 20% รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีการจัดลดราคาหลายครั้งตลอดทั้งปี ตั้งแต่วันตรุษจีนจนถึงคริสต์มาส แทนที่จะจัดเฉพาะวันคนโสดหรือวันลดราคา 618 เท่านั้น

     มีการวิเคราะห์กันว่าการที่เศรษฐกิจของจีนหลังการระบาดใหญ่ยังคงฟื้นตัวช้า อาจเป็นผลมาจากปัจจัยภายในมากกว่าปัจจัยภายนอก

     Allison Malmsten กรรมการบริหารของ Daxue Consulting บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัยตลาดและกลยุทธ์ เผยข้อมูลว่าพบดัชนีการจัดซื้อจากตัวแทนของบริษัทขนาดใหญ่และรัฐวิสาหกิจ หดตัวลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกันตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งมาจากความมั่นใจของผู้บริโภคที่ต่ำลง บวกกับผู้คนมีความรอบคอบมากขึ้นในการซื้อสินค้า

     “ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ผู้คนมีความพิถีพิถันมากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจะซื้อสินค้าเพราะว่าพวกเขาต้องการมัน ไม่ใช่เพราะส่วนลดที่หวือหวา” Allison กล่าว

     Yaling Jiang ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยผู้บริโภคในจีนเจ้าของบทความ "Following the Yuan" แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าด้วยแคมเปญกระตุ้นการขายที่มีมากเกือบตลอดทั้งปี ทำให้เทศกาลประจำปีต่างๆ เหล่านั้นค่อยๆ สูญเสียความน่าดึงดูดใจไปเช่นกัน

“กิจกรรมการขายที่มากเกินไป ก่อให้เกิดความน่าเบื่อต่อการตลาด เพราะนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นลึกซึ้งยิ่งกว่า เมื่อชาวจีนเริ่มใช้เหตุผลมากขึ้นในการซื้อสินค้า ทั้งความคุ้มทุนและความจำเป็นมากขึ้นYaling กล่าว

เศรษฐกิจถดถอย วิกฤตอสังหาริมทรัพย์จีน ส่งผลกระทบวงกว้าง

     โดยมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า การที่ผู้คนหันมาใช้จ่ายน้อยลง มีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ความไม่แน่นอนในอนาคต ทำให้หลายคนอยากมีเงินออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน โดยอัตราการว่างงานของเยาวชนในประเทศจีนอยู่ที่ 14.9% ในเดือนธันวาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวในประเทศในไตรมาสแรกของปี 2024 อยู่ที่ 905 เหรียญสหรัฐฯ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน)

     อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำลง มาจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่มีแนวโน้มจะแย่ลงอีกมาก โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาบ้านใหม่ลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่าราคาบ้านใหม่ใน 70 เมืองใหญ่ของจีนลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน

     “โดยปกติ ผู้บริโภคชาวจีนมองว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นเสมือนหลักยึดและเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย แต่นับตั้งแต่ Evergrande Group กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สัญชาติจีน และบริษัทยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ล้มละลาย ความรู้สึกของผู้คนก็เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยมีความเห็นพ้องต้องกันมากขึ้นว่า มูลค่าทรัพย์สินจะยังคงลดลงแบบนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ” Yaling กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

ไทย หมุดหมาย ทางรอดนักธุรกิจจีน

     จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในจีน ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจในจีนหลายคนหนีตายหันออกมาตั้งรกราก ทำธุรกิจอยู่นอกประเทศกันมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีปัจจัยหลายอย่างเอื้ออำนวย ดังที่เราได้เห็นข่าวกันอยู่บ่อยๆ

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปี 2566 เผยมูลค่าการนำเข้าสินค้าจีนสูงถึง 4.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 41% ของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดของไทย ขณะที่ตลาดค้าปลีกไทยมีมูลค่าโดยรวม 4 ล้านล้านบาท ซึ่งหมายความว่าสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดไทยเกือบครึ่ง! มาจากสินค้าจีน ที่ส่งผลกระทบหนักน่าจะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าในหมวดแฟชั่นเครื่องแต่งกาย และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งวันนี้มีอัตราการผลิตในโรงงานไม่ถึง 50% ของกำลังการผลิต แถมยังไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ (ข้อมูลจากฐานเศรษฐกิจ)

     ทำไมไทยจึงเป็นเป้าหมายของจีน?

     นอกจากการออกมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลไทยที่เอื้อต่อการมาลงทุนของนักธุรกิจจีน อาทิ สิทธิพิเศษทางภาษี, Free Zone Warehouse

     ธีรพล แซ่ตั้ง คอลัมน์นิสต์ประจำกรุงเทพธุรกิจได้เขียนบทความวิเคราะห์ “ธุรกิจจีนบุกไทย ยิ่งโตไว ธุรกิจในไทย “ยิ่งตายเร็ว” !? โดยมองว่าการเข้ามาทำธุรกิจในไทยของคนจีนยุคเสื่อผืนหมอนใบเทียบกับยุคปัจจุบัน ไม่ดุเดือดเท่ากับทุนจีนทั้งเทาและไม่เทาที่เข้ามา โดยอดีตก่อนยุคอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสมัยใหม่เฟื่องฟู แม้การแข่งขันจะดุเดือดยังไง ก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ถึงขั้นพลิกเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ที่รวดเร็วจนตามแทบไม่ทัน

     ทุกวันนี้การที่จีนหนีเข้ามาทำการค้าขายในไทยมากขึ้น เป็นเพราะการแข่งขันในจีนนั้นดุเดือดกว่าไทยหลายเท่า ขณะเดียวกันจีนยังถูกอเมริกาและยุโรปหลายๆ ประเทศ กีดกันทางการค้าจากการป้องกันด้วยกำแพงภาษี รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ไทยจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจของจีน และจากความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานในอดีต ไทยเองยังต้องพึ่งพาจีน ทำให้ต้องบาลานซ์ความสัมพันธ์จากสองขั้วอำนาจระหว่างอเมริกาและจีน จึงไม่สามารถตั้งมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนได้ ทำให้แทบทุกธุรกิจในไทยถูกทุนจีนทยอยมาบุกและยึด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก ท่องเที่ยว เกษตร อุตสาหกรรม ยานยนต์ เทคโนโลยี อสังหา วัสดุก่อสร้าง การศึกษา โดยมีสัญญาณที่น่ากลัว คือ ในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงถึง 1.3 ล้าน ล้านบาท เป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

     โดยทางแก้ที่อาจช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรอดนั้น มองว่ามี 3 ส่วน คือ

  • ภาครัฐ ควรมีความพยายามและกล้าที่จะแก้ปัญหาจริงจังกว่านี้ให้ครอบคลุมทุกมิติก่อนไทยจะกลายเป็นอีก 1 มณฑลทางธุรกิจของจีนในไม่ช้า โดยควรฟังเสียสะท้อนจากภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกัน รวมถึงหาวิธีเจรจากับจีนให้เข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจไทยในปัจจุบัน

 

  • ภาคประชาชน มองว่าควรหันมาอุดหนุนสินค้าไทยกันให้มากขึ้น แต่ก็เข้าใจผู้บริโภคได้ดีว่า หากสินค้าราคาถูกกว่า คุณภาพใกล้เคียงกัน ก็ยากที่ใครจะไม่อุดหนุนสินค้าจีน จึงอาจต้องมีการเพิ่มมูลค่า หรือให้อะไรที่เพิ่มมากกว่าสินค้าจีนแก่ผู้บริโภค

 

  • ผู้ประกอบการธุรกิจ ควรวิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจอย่างใกล้ชิด 6 เดือน ถึง 1 ปีข้างหน้า ว่าหากมีสถานการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น จะไปต่อยังไง หรือธุรกิจน่าจะยังอยู่ต่อได้ไหม ควรกระจายความเสี่ยงไปทางใดได้บ้าง หาพันธมิตรใหม่ๆ หรือธุรกิจใหม่ หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้หนีจากสินค้าจีน เพื่อไม่ต้องแข่งขันด้านราคา

 

     และนี่คือ สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่เกิดขึ้น ที่กลับส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการธุรกิจไทย ทั้งที่ไปบุกตลาดจีน หรือแม้แต่อยู่ในประเทศ แต่โดนเขาเข้ามาบุก คงต้องปรับตัว เตรียมตั้งรับกันยกใหญ่แล้วล่ะ!

ที่มา : https://www.businessinsider.com/china-economy-so-bad-people-wont-buy-cheap-alibaba-items-2024-7?utm_source=ground.news&utm_medium=referral

https://www.bangkokbiznews.com/business/biz-bizweek/1135617#google_vignette

https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/editorial/594435#google_vignette

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ถึงยุค B2A ครองตลาด ต้องชนะใจอัลกอริทึมก่อนชนะใจลูกค้า เคล็ดลับสุดปัง Crumbl คุ้กกี้หมื่นล้าน

จากร้านคุกกี้ในเมืองเล็กๆ สู่แบรนด์ที่คนทั่วอเมริกาต่อคิวหน้าร้าน อะไรที่ทำให้ร้านคุกกี้เล็กๆ จากยูทาห์ กลายเป็น "คุ้กกี้พันล้าน" ด้วยยอดวิว 3.4 พันล้านบน TikTok และรายได้รวมแตะหลักพันล้านดอลลาร์?

รู้จัก ‘Fast Fashion Food’ เทรนด์ใหม่ธุรกิจอาหาร ไม่เน้นขยายสาขา เน้นเพิ่มแบรนด์ ทางรอดยุคเศรษฐกิจแย่

ทำอย่างไร? ให้ธุรกิจเติบโตไปต่อได้ แม้ยามเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ ชวนมาทำความรู้จักกับเทรนด์ใหม่ธุรกิจร้านอาหาร “Fast Fashion Food” กัน

กระดาษห่อของขวัญรูป “ขนมปัง” ไอเดียแพ็คเกจจิ้งสุดคิ้วท์! กินไม่ได้…แต่ทำให้อยากกินได้

มาดูการเปลี่ยนกระดาษห่อของขวัญธรรมดาให้เป็นก้อนขนมปังน่ากิน เมื่อถูกนำไปห่อเข้ากับสิ่งของต่างๆ กัน